ฉีกขนบโรงเรียนแบบเก่า ถอดหัวใจ ‘สาธิต มธ.’ มีอะไรมากกว่า ‘ไร้เครื่องแบบ’

ทุกการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก

บนโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทุกอย่างหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ ที่มีเอไอเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งทำหน้าที่แทนมนุษย์ ส่งผลให้หลายๆ อาชีพค่อยๆ หายไป

ว่ากันว่ายุคข้างหน้าอันใกล้ คนเราไม่จำเป็นต้อง “เก่ง” ไม่จำเป็นต้อง “เป๊ะ” แต่ต้อง “คิดเป็น” มีทักษะ แก้ปัญหาเป็น ไม่แปลกถ้าจะเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่เราอาจไม่รู้จักมากมาย

ภารกิจของการสร้าง “คน” จึงไม่ง่าย

บทบาทของสถานศึกษาจำต้องพลิกตัวขนานใหญ่ ความเป็นเลิศไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง แต่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่เพาะบ่มทักษะใหม่ๆ เป็นพี่เลี้ยงนำพาให้เด็กๆ ได้ทดลอง เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ค้นหาแรงบันดาลใจ และพบตนเองในที่สุด

Advertisement

ครูและหลักสูตรจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center)

ทุกวันนี้จึงเห็นสถานศึกษาหลายต่อหลายแห่งที่ปรับเปลี่ยนรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป “สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ติดกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คืออีกสถานศึกษาที่น่าจับตามอง!

ด้านหน้าโรงเรียน

โซเชียล ดราม่า

บทเรียนเสริมความแกร่งให้เด็กน้อย

เปิดเรียนได้เพียงเทอมเดียว ประเด็นของการเป็นโรงเรียนมัธยมแห่งเดียวที่ไม่ต้องสวมเครื่องแบบก็ถูกจุดกระแสร้อนระอุอยู่บนโลกโซเชียล ในแง่ดีคือ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักกับโรงเรียนมัธยมน้องใหม่ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยไม่ต้องโฆษณาแต่อย่างใด

ศิริรัตน์ ศิริชีพชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้นักข่าวติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์กัน

“จริงๆ แล้วที่นี่มีเครื่องแบบ แต่เป็นเครื่องแบบที่เรียบง่าย เหมาะกับการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรม เป็นเสื้อทีเชิ้ตมีตราธรรมจักรที่อกซ้าย และกางเกงขายาว โดยเด็กนักเรียนจะแต่งทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ที่นี่จะมีตลาดนัด เราจึงให้เด็กๆ สวมเครื่องแบบเพื่อจะสามารถแยกออกว่าใครเป็นนักเรียน และใครคือคนนอก”

โดยทุกเงื่อนไขของโรงเรียนจะมาจากการตกลงร่วมกันของโรงเรียนและเด็กนักเรียน รวมทั้งผู้ปกครองด้วย

กับกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นบนโซเชี่ยล ผอ.ศิริรัตน์ ยอมรับว่ามีบางคนที่หลุดไปบ้าง ลงไปตอบโต้ แต่เพียงพักเดียวก็สามารถจัดการตัวเองได้

เช่นเดียวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางโรงเรียนไม่ได้ห้ามการใช้ แต่สอนให้เด็กๆ รู้จักความเหมาะควร ทุกคนจะรู้ว่าเมื่อได้เวลาเรียนจะวางโทรศัพท์เอาไว้ข้างนอก

(จากซ้าย) ศิริรัตน์ ศิริชีพชัยยันต์, รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี, สิทธิโชค ทับทอง รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ

ปลดล็อกขนบโรงเรียนมัธยม

“เวลาพูดถึงการศึกษามันเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน!”

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกและว่า ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยสร้างความทุกข์ให้กับคนทุกระดับ สำหรับนักเรียน ทุกข์เพราะเครียด ต้องติววิชา เพื่อให้สอบผ่านได้ ขณะที่พ่อแม่และผู้ปกครองทุกข์ว่า ลูกไปโรงเรียนจะเป็นอย่างไร สอบได้มั้ย สามารถแข่งกับคนอื่นได้หรือไม่ และยังมีโจทย์ใหม่อื่นๆ เข้ามาเติมอีก เช่น เรื่องการศึกษา เพศศึกษา เกิดช่องว่างมากมาย

โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ แม้จะขึ้นชื่อว่า “โรงเรียนสาธิต” แต่ความแตกต่างคือ เราไม่ได้เน้นที่ให้นิสิตเข้ามาสอน เพราะเราไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านนี้

“คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เปิดมาได้ 3 ปี ขณะที่สาธิตธรรมศาสตร์ เปิดได้เพียง 2 ปีเท่านั้น แม้ว่าคณะคุรุศาสตร์จะเปิดมาถึง 32 ปีก็ตาม แต่ที่โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของคณะวิทยาการเรียนและศึกษาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้างครู แต่มุ่งที่การสร้างนวัตกรรมทางสังคม โรงเรียนแห่งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา โดยเราต้องการปลดล็อกระบบการศึกษาที่ผ่านมา”

รศ.ดร.อนุชาติบอกอีกว่า ครูและหลักสูตรการศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา

ต้องมีครูที่เป็นกองหน้ากล้าท้าทายคำถาม กล้าแหวกธรรมเนียม เปลี่ยนหลักสูตร โดยตั้งอยู่บนฐานการเรียนรู้แบบ 2based project based เรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน เชื่อว่าองค์ความรู้นี้อีกสักระยะจะถูกนำไปขยายต่อยังโรงเรียนอื่นๆ

“เราเชื่อว่าเด็กมีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างจากเรา ทำอย่างไรเราจะเชื่อมโยงและจับมือไปด้วยกันได้” นี่คือโจทย์ของการสร้างหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนี้ โดยตั้งความหวังว่าอย่างน้อยภายใน 3 ปี เด็กในโรงเรียนเราจะต้องค้นหาแรงบันดาลใจลึกๆ ให้เจอ ไม่ใช่แค่คิดแต่ว่าโตไปจะเป็นหมอเป็นวิศวกร

เราพยายามสื่อกับพ่อแม่ว่าให้ลดความกดดันลูกๆ ให้ถามว่า “โตขึ้นอยากทำอะไร”

เราเชื่อว่าโลกอนาคตอันใกล้อาชีพจะเปลี่ยนไปมาก จึงอยากเปิดตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้เด็กๆ ค้นพบแรงบันดาลใจ ค้นพบศักยภาพของตนเองฉะนั้นหน้าที่ของโรงเรียนคือ ทำให้ศักยภาพของเขาไปให้สูงที่สุด และไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น

บรรยากาศภายในห้องเรียน

พ่อแม่คือระบบนิเวศของลูก

ประเด็นสำคัญหนึ่งของหลักสูตรของที่นี่ การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งหนึ่งในนิเวศที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้นคือ พ่อแม่/ผู้ปกครอง

นับตั้งแต่การคัดเลือกเด็กนักเรียนเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 1 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่านักเรียนคนไหนจะได้เรียนที่นี่คือ “ความอยากเรียน”

เพราะการปฏิวัติการเรียนการสอนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่/ผู้ปกครองเป็นสำคัญ

รศ.ดร.อนุชาติเล่าให้ฟังว่า สาธิต มธ.นั้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนโจทย์ที่ว่าอยากจะสร้างนักขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา

“ถ้าเราอยากปฏิรูปการศึกษา เราต้องถอยออกมาดูว่ามนุษย์มีปัญหาอะไรบ้าง เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาต่างจากเรามาก โตมากับเทคโนโลยี มีรูปแบบชีวิตอีกแบบหนึ่ง มีการใช้ภาษาอีกแบบ เราต้องพลิกโผอย่างรุนแรง”

เริ่มตั้งแต่กิจกรรม “ครอบครัวสาธิต” เป็นกิจกรรมก่อนคัดเลือกเด็กจะมีขึ้นก่อนเปิดเรียนราว 7-8 เดือน เพื่อให้ได้ลิ้มลองรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้ช่วงวันศุกร์-วันเสาร์ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับผู้ปกครอง เช่น เรียนรู้การทำอาหาร การดำนา ฯลฯ ซึ่งเด็กที่ผ่านกิจกรรมบางคนบอกว่า ตั้งแต่ไปดำนากลับมาก็กินข้าวไม่เหลือสักเมล็ดเดียว

รศ.ดร.อนุชาติอธิบายให้ฟังว่า ประโยชน์ของการร่วมกิจกรรมครอบครัวสาธิต คือ ทำให้เด็กได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ รู้จักการ “รับฟัง” เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อน เท่ากับเป็นการเรียนรู้การทำงานกันเป็นทีม ขณะเดียวกันได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ได้รู้ว่าคนเรา “ผิดได้” ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์เสมอไป

ข้อดีอีกประการคือ ทำให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง สิ่งที่ตนเองชอบ ผ่านประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมที่ได้เรียนรู้

ที่โถงกลาง : ทุกตารางนิ้วคือพื้นที่ของการเรียนรู้

ความสุขและเสียงหัวเราะ

โรงเรียนที่เด็กทุกคนอยากมา

เช้าวันที่แวะเข้าไปเยี่ยมๆ มองๆ เก้าโมงกว่าแล้ว แต่สิ่งที่ได้เห็นที่ด้านหน้าอาคารคือ เด็กๆ ราว 10 คน พูดคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับจับจูงจักรยานขี่ออกไปนอกเขตพื้นที่-โรงเรียน

ไม่ใช่แค่ไม่มีเครื่องแบบอย่างที่คนภายนอกตั้งข้อสังเกต แต่ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนนอกกรอบ ไม่มีสอบ ไม่มีเกรด มีการปรับเปลี่ยนตารางเรียนทุกเทอม

รศ.ดร.อนุชาติบอกว่า สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์ สอนโดยใช้ภาษาไทย แต่ในปีแรกจะเน้นการเรียนภาษา ทุกคนจะได้เรียน 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน เพราะภาษาคือพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ

หลักสูตรจึงต้องรื้อใหม่หมด โดยนำเอาส่วนดีของหลักสูตรอื่นๆ เช่น จากฟินแลนด์ สิงคโปร์ เยอรมัน และญี่ปุ่น มาปรุงและสร้างเป็นเนื้อหาหลักสูตรของเราเอง

โดยการเรียนแบ่งเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์ 1.คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2. ภาษาและการสื่อสาร 3.มนุษย์และสังคม 4.ศิลปะและสุนทรียะ 5.สุขภาพและสุขภาวะ เหล่านี้มาออกแบบเป็นกระบวนวิชา

เราไม่มีวิชาลูกเสือหรือเนตรนารี แต่มีวิชาอยู่รอดและปลอดภัย

ทั้งนี้ วิชาที่เติมเข้าไปค่อนข้างมากคือ “สุขภาวะ” รวมทั้งมีวิชา “วัยรุ่นศาสตร์” สอนตั้งแต่ ม.1-ม.6

“ที่นี่ไม่มีเกรด แต่มีการประเมินร่วมกับครูว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร” ซึ่งในกรณีที่ต้องการไปเรียนต่อที่อื่น จะมีการประเมินผลเป็นเกรดให้ ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่า มีนักเรียนหลายคนที่ไปล็อบบี้ผู้ปกครองให้มารับช้าๆ เพราะยังสนุกกับการได้อยู่กับเพื่อนๆ”

สำหรับคนที่ยังคาใจ เรียนที่นี่แล้วมีโควต้าเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ รศ.ดร.อนุชาติยิ้มอ่อนแล้วบอกว่า

“ตอนนี้ยังไม่มีโควต้า เดี๋ยวจะกลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย ซึ่งเท่าที่ดูพัฒนาการแล้วไม่เป็นที่น่ากังวล”

การเรียนรู้แบบนอกกรอบ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image