เดือนหงายที่ชายโขง : ลาวเลือกตั้ง ความแตกต่างและการก้าวย่างครั้งใหม่

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2016 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ 8 และสมาชิกสภาประชาชนแขวงชุดแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แต่กระนั้น การเลือกตั้งของลาวก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบเสรีประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล และไม่อาจเอามาเทียบเคียงได้กับสถานการณ์ในประเทศไทยทั้งหมด

ที่ผ่านมาการเลือกตั้งของ สปป.ลาวเป็นเหมือนพิธีการที่จัดขึ้นเพียงฉากหน้าเท่านั้น เนื่องจากประเทศลาวมีเพียงพรรคเดียว คือพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และผู้สมัครเกือบทั้งหมดที่ได้รับเลือกตั้งก็มาจากพรรคเดียวนี้ มีเพียงผู้สมัครอิสระที่ได้รับความเห็นชอบจากพรรครัฐไม่กี่คนได้เข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติครั้งที่ 8 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีข้อแตกต่างจากครั้งก่อนหลายประการ ได้แก่ การที่มีผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ลงสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระแสข่าวสารที่ทันสมัยและการเข้าถึงสื่อมวลชนในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ผู้สมัครอิสระที่ได้รับอนุญาตจากพรรครัฐเพื่อลงสมัคร สามารถใช้สื่อส่วนตัวเพื่อสื่อสารไปยังผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มากยิ่งขึ้น

Advertisement

ชาวลาวที่เริ่มมีฐานะดีขึ้นจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนที่ผ่านมา นับแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน 5 ปีที่แล้วก็ได้รับการศึกษาระดับสูงขึ้นโดยไม่ต้องรอทุนจากภาครัฐ รวมถึงตัวอย่างการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศอื่น ก็เป็นผลให้ชาวลาวกระตือรือร้นกับการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าในอดีต

อีกประการหนึ่งคือ ในกองประชุมใหญ่สภาแห่งชาติครั้งที่ 10 ได้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ สปป.ลาว โดยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนแขวง เพิ่มเติมขึ้นจากสภาแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจและงบประมาณ ลดขั้นตอนการส่งเรื่องเพื่อตัดสินใจดำเนินการตามแนวนโยบายลง จากเดิมที่ต้องส่งมาพิจารณาในสภาแห่งชาติ ก็ให้สภาประชาชนแขวงลงมติตัดสินในเรื่องราวเกี่ยวกับแขวงของตนเองได้

นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่เกินคาดกับการที่พรรครัฐส่วนกลางยอมปล่อยอำนาจที่เคยกุมไว้เบ็ดเสร็จ กระจายลงให้แก่หน่วยการปกครองระดับย่อยลงไปในเรื่องสำคัญต่างๆ เป็นครั้งแรกนับแต่ปฏิวัติประชาชนสำเร็จ

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีนักวิชาการทั้งของลาวและตะวันตก วิเคราะห์ว่า เกิดจากอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นของชนชั้นกลาง พ่อค้า และนักเรียนนักศึกษาอาจารย์ ซึ่งผลิบานขึ้นภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและกฎหมายระลอกที่สองในปี 2011 หรือในกองประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติครั้งที่ 7 โดยหากติดตามการประชุมสภาแห่งชาติ จะพบว่า สมาชิกสภาแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและคานอำนาจของคณะศูนย์กลางพรรค หรือกรมการเมือง ในประเด็นต่างๆ อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะประเด็นการให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติในการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า สัมปทานป่าไม้และสวนยางพารา และสัมปทานเหมืองแร่ ซึ่งก่อปัญหาให้แก่พื้นที่สัมปทานในต่างแขวงอย่างรุนแรง และเกิดการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่หลายครั้ง

แตกต่างจากสภาแห่งชาติชุดก่อนๆ ที่เป็นเหมือนเพียงตรายางรับรองการปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีและผู้นำประเทศเท่านั้น โดยล่าสุดสภาแห่งชาติชุดที่เพิ่งหมดวาระไป ได้ลงมติระงับการให้สัมปทานป่าไม้และเหมืองแร่กว่า 300 โครงการที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติทั้งหมด เพื่อศึกษาหาความคุ้มค่าและรักษาสภาพแวดล้อมที่เริ่มทรุดโทรมลง

สภาแห่งชาติ สปป.ลาวชุดใหม่ และสภาประชาชนแขวงชุดแรก จึงเป็นความหวังใหม่ของการมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองของชาวลาวมากขึ้นกว่าเดิม

โดย กกต. ของ สปป.ลาวคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและรับสื่อทันสมัยได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะยอมให้มีพรรคการเมืองอื่นเข้าแข่งขันก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image