‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ชวนทอดน่อง ‘เมืองสุพรรณ’ ฟังสุ้มเสียงสำเนียงเหน่อ สำรวจ ‘คันดิน’ ยุคแรกสร้าง

“ป้อมลอย” กลางน้ำ คล้ายเกาะในคูเมืองสุพรรณบุรีฝั่งตะวันตก

เดินทางเข้าสู่ปีที่ 2 แล้วสำหรับรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงศ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” โดยจะเริ่มทริปแรกของปีในวันอังคารที่ 23 มกราคมนี้ ตอน “เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา” ปักหมุดกันที่ “เมืองสุพรรณ” อันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไม่อาจแยกออกได้จากประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ที่มีชื่อเก่าแก่มาแต่ยุคโบราณว่า “สุวรรณภูมิ”

เมืองสุพรรณบุรีในวันนี้ เต็มไปด้วยสถานที่งดงามซึ่งเดินทางผ่านกาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกำแพง คูเมือง ป้อมปราการกลางน้ำ วัดวาอารามที่ยังคลาคล่ำด้วยผู้คน แม้กระทั่งซากเจดีย์ที่พังทลาย ก็กลายเป็นเสน่ห์ของเมืองเก่าที่มีเรื่องเล่าไม่รู้จบ

ตรวจภาพถ่ายเก่า สำรวจแนวคันดินยุคแรกสร้าง

ท่ามกลางความทันสมัยของสุพรรณบุรีที่เป็นจังหวัดสำคัญของภาคกลาง หากย้อนหลังกลับไปในอดีต เมืองแห่งนี้มีชุมชนตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำท่าจีน ทุกวันนี้ยังหลงเหลือแนวกำแพงอิฐ ฝั่งตะวันตก ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรง โดยประกอบด้วยคูน้ำ คันดิน และแนวอิฐทอดยาวถึง 3,500 เมตร นอกจากนี้ ยังมีป้อมซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่กลางน้ำดูสวยงามแปลกตา คล้ายเกาะในคูเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า บรรยายภาพกำแพงเมืองสุพรรณบุรีว่า

Advertisement

“เมืองสุพรรณบุรีมีกำแพง เป็นสองฟากเหมือนเมืองพิษณุโลกยื่นขึ้นไปจากฝั่งแม่น้ำราว 25 เส้น ดูกว้างประมาณ 6 วา นอกเชิงเทิน”

สำหรับประตูเมืองตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมนบนแนวกำแพงเมืองเก่า โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบของกรมศิลปากรในบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิม

ส่วนกำแพงฝั่งตะวันออก นับเป็นไฮไลต์ในทริปนี้ โดย ขรรค์ชัยและสุจิตต์ จะชวนลงเดินเท้าสำรวจพื้นที่โดยรอบซึ่งไม่เหลือตัวกำแพงให้เห็นอีกแล้ว ทว่ายังมีร่องรอยเก่าบริเวณ ถนนเณรแก้ว เชื่อว่าเป็นแนวคูน้ำคันดินเมืองสุพรรณ สมัยแรกสุด

Advertisement

ทริปนี้ จะมีภาพถ่ายทางอากาศของเมืองมาให้ร่วมตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอย่างน่าตื่นเต้นไปพร้อมๆ กัน

แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านกลางเมืองสุพรรณ

เปิดพงศาวดารเหนือ เยือนเจดีย์ร้าง ‘วัดสนามชัย’

อีกหนึ่งโบราณสถานที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือน ได้แก่ วัดสนามชัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก ปรากฏนามในพงศาวดารเหนือ ระบุว่า พระเจ้ากาแต ให้มอญน้อยออกไปสร้างวัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.1706 จากอารามสำคัญสู่การกลายสภาพเป็นวัดร้าง โดยเหลือเพียงเจดีย์ประธาน และร่องรอยอุโบสถ วิหาร รายล้อมด้วยกำแพงแก้ว ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทีมงาน “มติชนทีวี” จะเปิดมุมมองใหม่ของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ด้วยภาพมุมสูงจากโดรน ที่สะท้อนให้เห็นถึงแผนผังอันงดงามชวนจินตนาการถึงคืนวันที่รุ่งโรจน์

ภาพมุมสูงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี มองเห็นพระปรางค์และผังวัดทั้งหมดรวมถึงบ้านเรือนในปัจจุบันที่รายล้อมหนาแน่น

ถอดรหัสจารึกลานทอง ย้อนตำนาน ‘มหาธาตุ’ เมืองสุพรรณ

นับเป็นวัดสำคัญที่พลาดไม่ได้เมื่อไปทอดน่องยังเมืองสุพรรณ เพราะ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” เป็นวัดเก่าแก่ที่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะ “ลานทอง” อันปรากฏจารึกอักษรขอมภาษาบาลีซึ่งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกษัตริย์สองพระองค์ในยุคกรุงศรีอยุธยาที่โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์พระปรางค์

มีคำแปลดังนี้

“พระราชาแห่งอโยชฌผู้ยอดเยี่ยมที่ประชาชนรู้จักโดยพระนามว่าพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผู้สูงส่งยอดเยี่ยมพระองค์ใด ทรงให้สร้างพระสถูปนี้ไว้ ณ ที่นี้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูปองค์นี้ที่พระจักรพรรดิ์พระองค์นั้นได้สร้างไว้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา

(ต่อมา) พระโอรสของพระองค์ซึ่งทรงเป็นจอมราชในแผ่นดินทั้งนั้นทรงเป็นพระราชาธิราช ทรงให้สร้างอีกตามเค้าเดิม และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ของพระมุนีเจ้าไว้ภายในห้อง (กรุ) พระราชาทรงเลื่อมใสในพระสถูป ทรงบูชาพระสถูปนี้ด้วยเครื่องบูชา มีทองคำเป็นต้น ทรงกระทำความปรารถนาดีว่าด้วยบุญของข้าพเจ้านี้ ขอข้าพเจ้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต”

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางเมืองสุพรรณบุรี ประกอบด้วยพระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธาน สง่างามตามอย่างศิลปกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ก่อด้วยอิฐสอปูน มีมุมซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ด้าน ฐานย่อมุมลดหลั่น ลวดลายปูนปั้นรูปมกรและนาคถูกประดับไว้อย่างงดงาม เช่นเดียวกับเทพนม อุบะ และกลีบบัว ทั้งยังมีชั้นวิมานจำลองซ้อน 7 ชั้น ส่วนยอดประดับด้วยนภศูล

นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอีก 2 องค์ รวมถึงอุโบสถ วิหารน้อย และเจดีย์ราย อีกทั้งพระพุทธรูปหินทรายซึ่งเคยเป็นที่กราบไหว้สักการะของผู้คน

วิหารหลวงวัดป่าเลไลยก์

อัศจรรย์วัดป่าเลไลยก์ กระทบไหล่ ‘ขุนช้างขุนแผน’

ปิดท้ายที่จุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วไทยอย่างวัดป่าเลไลยก์วรวิหารที่สุดอลังการด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมชั้นเลิศ โดยเป็นอารามเก่าแก่มาตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1800 ก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา

ในวรรณคดีชิ้นเอกอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน พลายแก้วบวชเณร สะท้อนความสำคัญของวัดแห่งนี้โดยบ่งชี้ว่าเป็นศูนย์กลางของชาวเมืองสุพรรณบุรียุคนั้น โดยบรรยายถึงงานบุญสงกรานต์และเทศน์มหาชาติที่แสนคึกคัก

ข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ

ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า

จะทำบุญให้ทานการศรัทธา

ต่างมาที่วัดป่าเลไลยก์”

และ

“อยู่มาปีระกาสัปตศก

ทายกในเมืองสุพรรณนั่น

ถึงเดือนสิบจวนสารทยังขาดวัน

คิดกันจะมีเทศน์ด้วยศรัทธา

พระมหาชาติทั้งสิบสามกัณฑ์

วัดป่าเลไลยก์นั้นวันพระหน้า

ตาปะขาวเฒ่าแก่แซ่กันมา

พร้อมกันนั่งปรึกษาที่วัดนั้น”

ปัจจุบัน นอกจาก “เรือนขุนช้าง” เรือนไทยขนาดใหญ่ภายในวัด และรูปปั้นขุนแผน-นางพิมที่ตั้งอยู่หน้าวิหารหลวงแล้ว ทางวัดยังให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องขุนช้างขุนแผนบริเวณรอบวิหารคด โดยจิตรกรหลักคือ “เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย” ชาวอำเภอสองพี่น้อง ร่วมกับจิตรกรอีกกว่า 10 ท่าน

ขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมสำคัญสะท้อนชีวิตขุนนางยุคปลายอยุธยา ต่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยซ่อนไว้ซึ่งประวัติศาสตร์สังคมของผู้คนตระกูลไทย-ลาว โดยไม่เพียงเป็นเรื่องราวที่ให้ความบันเทิง หากแต่เป็น “คำบอกเล่า” คล้ายตำนานศักดิ์สิทธิ์ของตระกูลไทย-ลาว ที่โยกย้ายจากลุ่มน้ำโขง ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกเกือบพันปีมาแล้ว ที่มีศูนย์กลางอยู่ในสุพรรณภูมิ

จากนั้นได้รับความนิยมแพร่กระจายไปสู่กรุงศรีอยุธยา เป็นเพลงขับลำของชาวบ้านที่ต่อเติมพล็อตออกไปอีก ต่อมาในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการแต่งเป็นกลอน รวมถึงมีการขับเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนสืบมาจนทุกวันนี้

พระธรรมมหาวีรานุวัตร ดำริให้สร้างวิหารคดที่วัดป่าเลไลยก์เมื่อ พ.ศ. 2539 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2542 จากนั้นมีการเขียนจิตรกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างสวยงาม

เปิดเรื่องเล่า ‘หลวงพ่อโต’ จากตำนานพระพุทธเจดีย์

ไม่เพียงเรื่องราวหลากสีสันอย่างขุนช้างขุนแผนที่เกี่ยวพันกับวัดแห่งนี้ เพราะยังมีพระพุทธรูปสำคัญให้กราบสักการะด้วยความศรัทธา อย่าง “หลวงพ่อโต” ประทับนั่งห้อยพระบาท บนผนัง 2 ข้าง มีรูปลิงกับช้าง ถวายน้ำผึ้ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ว่า

“….พระพุทธรูปป่าเลไลยก์องค์ใหญ่ที่เมืองสุพรรณบุรี เดิมก็สร้างตามแบบทวารวดี เป็นปางประทานปฐมเทศนา ครั้นนานมาหักพัง มาปฏิสังขรณ์ในสมัยลังกาวงศ์ จึงแปลงเป็นพระป่าเลไลยก์…”

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์

สืบปริศนาความ ‘เหน่อ’ สำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยา

นอกเหนือจากการทอดน่องไปยังสถานที่ต่างๆ ยังมีวัฒนธรรมเลอค่าน่าภาคภูมิอย่าง “สำเนียงเหน่อ” อันเป็นเอกลักษณ์ของคนสุพรรณฯ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสำเนียงหลวงในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ดังมีร่องรอยเป็น “ขนบ” อยู่ในการละเล่นโขน เมื่อถึงเจรจาโขนต้องใช้สำเนียงหลวงอยุธยา ซึ่ง “เหน่อ” สืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ถ้าใช้สำเนียงกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถือว่า “ผิดขนบ”

ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าทั้งไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ และพระเจ้าแผ่นดินในยุคนั้น ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวันด้วยสำเนียงที่ปัจจุบันเรียกกันว่าเหน่อนั่นเอง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในรายการคุณภาพซึ่งไม่เพียงมอบความบันเทิงผ่านสถานที่สวยงาม หากแต่เข้มข้นด้วยข้อมูลที่เป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์อันไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


รายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา” ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” วันอังคารที่ 23 มกราคมนี้ เวลาประมาณ 14.00 น. จากตัวเมืองสุพรรณบุรี โดยในครั้งนี้มี ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ม.รามคำแหง วิทยากรรับเชิญ พร้อมด้วย นพพร เพริศแพร้ว นักร้องดังจากรายการ The Winner is คนสุพรรณโดยกำเนิดมาร้องเพลง “เหน่อ” ให้รับชมรับฟังอย่างเพลิดเพลิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image