“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ อนาคตทางการเมือง และโอกาสของคนรุ่นใหม่

ในวัย 11 ปี เขาปรากฏตัวต่อสื่อครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ ในฐานะนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง (King”s Scholarship) คำพูดคำจาที่ฉะฉานเกินวัย นำพาเสียงชื่นชมว่าเขาคือ “อนาคตของประเทศ”

6 ปีต่อมา พ.ศ.2552 เขาได้รับพื้นที่จากสื่ออีกครั้ง ทว่าในบริบทและผลลัพธ์ที่แตกต่างไป

จะเป็นเพราะสถานที่ที่เขาอยู่ในวันนั้นคือทำเนียบรัฐบาล เพราะคนที่เขาเดินเคียงข้างคือ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้เป็นน้าชาย หรือเพราะความโดดเด่นในรูปลักษณ์ก็ตาม ทำให้ชื่อ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในวงกว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่เติบโตก้าวกระโดด ณ เวลานั้น

พริษฐ์สำเร็จการศึกษาสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นสาขาที่สร้างผู้นำอังกฤษหลายต่อหลายคน ที่สำคัญ เขายังเป็น คนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมโต้วาทีแห่งเมืองออกซ์ฟอร์ด (Oxford Union) หนึ่งในสมาคมนักเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ จนเป็นข่าวโด่งดังในเมืองไทยเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว

Advertisement

ทุกครั้งที่กลับบ้านเกิด นักเรียนอังกฤษคนนี้มักได้รับเชิญจากสื่อหลายสำนักให้ไปแสดงความคิดความเห็นในประเด็นต่างๆ กระทั่งปี 2561 ในวัย 25 ปี เขากำลังจะมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

แม้ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่า พริษฐ์คือบุคคลสาธารณะ แต่การมีตัวตนบนพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขาขยับเข้าใกล้คำนั้นมากขึ้นทุกที ซึ่งแน่นอนว่า สถานะดังกล่าวได้นำทั้งช่อดอกไม้และก้อนหินขนาดย่อมๆ มายังเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้

จากจุดเริ่มต้นของการเป็น “คนดัง” อย่างไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าเขาจะยินดียินร้ายต่อสถานะนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นไปแล้วคือ สังคมไทยให้ความสนใจต่อ สิ่งที่คิด สิ่งที่กำลังทำ และสิ่งที่จะทำ ของ พริษฐ์ วัชรสินธุ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

อย่างไรก็ดี ในเมื่อชีวิตมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีหลากหลายแง่มุม “มติชน” จึงมีความตั้งใจขยายขอบเขตของบทสนทนาครั้งนี้ให้ครอบคลุมหลายแง่มุมของพริษฐ์ด้วยเช่นกัน

คนภายนอกมองว่าคุณมีชีวิตที่เพียบพร้อม?

ผมว่าการมองคนอื่นจากภายนอกอาจทำให้ไม่รู้ตัวตนหรือภาระที่เขาต้องแบกรับจริงๆ เราเห็นเบื้องหลังของตัวเองว่าเราต้องเจออะไร การไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจึงเหมือนการเอาเบื้องหลังทั้งหมดของเราไปเปรียบเทียบกับไฮไลต์ของคนอีกคน เราไม่เห็นว่าเขาต้องพบอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น พอเอามาเทียบกันก็จะรู้สึกว่าคนนี้เก่ง คนนี้เพียบพร้อม ทั้งที่ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งผมไม่รวมตัวเองเข้าไปนะ เพราะรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำอะไรขนาดนั้น คนอาจจะมองว่าผมเพียบพร้อม แต่ความเครียดเบื้องหลังก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป

นอกเหนือจากการเรียน เรื่องไหนที่คิดว่าทำได้ดี และเรื่องไหนที่ทำได้ไม่ดี?

ผมเป็นคนเล่นกีฬาเยอะ เล่นด้วยความชอบ คิดว่าเล่นดีนะ ตอนอยู่ที่อังกฤษ เรียนโรงเรียนชายล้วน ถ้าไม่เล่นกีฬาก็ไม่แน่ใจว่าผมจะทำอะไรในแต่ละวัน

เรื่องที่ทำได้ไม่ดีคือดนตรีกับศิลปะ ผมเคยร้องเพลงตอนประถม รู้สึกว่าจะแบ่งเป็น 15 คะแนน คือ 5 คะแนนสำหรับจังหวะ 5 คะแนนสำหรับคำร้อง และ 5 คะแนนสำหรับทำนอง 10 คะแนนจาก 2 ส่วนแรกผมได้เต็มแต่ทำนองได้ 0 เพราะเพี้ยนมาก ส่วนเรื่องศิลปะ ผมคิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์สูง แต่อาจจะไม่ได้สะท้อนในภาพที่ตัวเองวาดขนาดนั้น

ทำไมจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่ไทย?

ผมไปเรียนที่อังกฤษเกือบ 10 ปี ตั้งแต่อายุ 13 ปี ตั้งเป้าหมายไว้แล้วระดับหนึ่งว่า ในที่สุดอยากจะกลับมาเมืองไทยเพื่อพัฒนาประเทศไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่ผมคิดว่าเหมาะสม

ตอนแรก ผมตัดสินใจทำงานที่ต่างประเทศ เพราะอยากรู้ว่าแต่ละประเทศมีข้อแข็งหรือข้อบกพร่องยังไง สามารถนำบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ที่ประเทศไทยได้ขนาดไหน ตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังจะออกจากงาน อยากออกมาค้นหาตัวเอง

โปรเจ็กต์อย่างหนึ่งที่ผมเริ่มทำในตอนนี้คือรายการทีวีชื่อ “เห็นกับตา” เหตุผลที่ทำเพราะก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยได้อยู่ประเทศไทย พอกลับมาจึงอยากเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศมีอะไรบ้าง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการศึกษาไทย?

ผมเชื่อว่าโอกาสของคนที่เกิดมาควรจะเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ผลลัพธ์เท่าเทียมกัน คนหนึ่งตั้งใจทำงานมาก อีกคนไม่ขยัน ผลลัพธ์เขาไม่ควรเท่ากัน แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ อะไรก็ตามที่เราเลือกไม่ได้ ไม่ควรจะมาทำให้เราได้เปรียบหรือเสียเปรียบในชีวิต

โอกาสทางการศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่เราใช้สู้กับความเสียเปรียบที่อาจจะติดตัวเรามาตอนเกิด ผมเห็นคนต่างจังหวัดขวนขวายเข้ามาเรียนที่ กทม. ซึ่งเป็นเรื่องน่านับถือ แต่ผมอยากสร้างประเทศที่ทำให้เขาไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น ไม่ว่าคุณเกิดที่จังหวัดไหน สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันได้

ทางหนึ่งในการลดเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายประชานิยมกลับถูกโจมตี?

อย่างแรก ถามว่านโยบายควรจะมีคนชอบเยอะไหมในระบอบประชาธิปไตย ผมก็ว่าควร เพราะท้ายที่สุดแล้วจะให้คนกำหนดทิศทางของประเทศ คนต้องมีส่วนร่วมมาบอกว่าชอบนโยบายนี้ ผมคิดว่าข้อเสียหรือแรงต่อต้านเรื่องประชานิยมนั้น เกี่ยวกับเรื่องการได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนมากกว่า ผมไม่ได้คิดว่านโยบายที่เป็นประชานิยมไม่ดีเพราะคนชอบเยอะ แต่ข้อบกพร่องอาจอยู่ที่ว่านโยบายพวกนั้นเป็นนโยบายระยะสั้นหรือเปล่า หรือเป็นนโยบายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว แล้วข้อมูลได้รับการถกเถียงเพียงพอหรือยัง

อย่างที่สอง ประชานิยม ควรถูกศึกษาว่ามีเนื้อหาที่ดีต่อประเทศอย่างไร ในการนำเสนอก็เหมือนเวลาเราเห็นโฆษณาสินค้า ข้อดีข้อเสียของสินค้าสามารถศึกษาได้ แต่การนำเสนอบางครั้งอาจครอบงำข้อเท็จจริง

เรื่องประชานิยมจึงตอบยากจริงๆ ผมคิดว่านโยบายควรสะท้อนความต้องการของประชาชน แต่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควรได้รับข้อมูลครบถ้วนและสามารถคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

เพราะเป็นเจนวาย (Gen Y) จึงเจ็บปวด?

จะตอบว่าเจ็บปวดกว่าคนสมัยก่อนก็อาจจะประเมินความท้าทายของคนยุคอื่นต่ำไป เจนวายโชคดีหลายอย่างที่เกิดในสภาวะที่ไม่มีสงครามโลก โลกสมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เจนวาย แต่ส่งผลต่อทุกเจเนอเรชั่น ดังนั้นความท้าทายคือทำยังไงให้เราปรับทักษะความรู้ที่มีให้สะท้อนถึงความต้องการของเศรษฐกิจได้ต้องมีการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต

นโยบายประเทศไทย 4.0 หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของโลกแค่ไหน?

นโยบายประเทศไทย 4.0 มีเจตนาค่อนข้างดีตรงที่เริ่มคิดว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงจะสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรได้บ้าง แต่รายละเอียดนโยบาย ผมขอไม่วิเคราะห์

ส่วนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่แน่ใจว่าประเทศอื่นมีหรือเปล่า โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประชาธิปไตย เพราะนโยบายหรือยุทธศาสตร์ชาติต้องมีความยืดหยุ่นระดับหนึ่ง อย่างที่บอกว่าสังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผมไม่รู้เลยว่าอีก 20 ปี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถ้าเราลองคิดถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ อูเบอร์ ถ้าให้คนเมื่อ 20 ปีที่แล้วมากำหนดนโยบายของวันนี้ ก็อาจจะทำไม่ได้

เห็นด้วยไหมที่มีการมองว่าประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย เพราะฝ่ายหัวก้าวหน้าไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีให้กับประชาชน?

เมื่อพรรคฝั่งซ้ายประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งน้อยลง คำถามคือ ประชาธิปไตยน้อยลงหรือเปล่า ผมกลับมองว่าไม่ใช่ ผมมองว่าประชาธิปไตยมี 2 ด้าน

1.ระบบ คนที่เข้ามามีอำนาจ เขามาจากการเลือกตั้ง มาจากรัฐประหาร หรือทางอื่น 2.นโยบายหรืออุดมการณ์ของพรรคการเมือง สะท้อนถึงหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยขนาดไหน อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ใช่ฝั่งซ้าย เขาอาจไม่เห็นด้วยกับหลักการหลายอย่างของประชาธิปไตย เช่น อาจไม่เห็นด้วยว่าโอกาสของคนควรจะเท่าเทียมกัน แต่เขามาจากการเลือกตั้งนะ ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าการที่พรรคฝ่ายขวาชนะการเลือกตั้งจะหมายความว่าเขาเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฝ่ายซ้าย แต่ฝ่ายขวาอาจไม่ให้ความสำคัญกับหลักการบางอย่างที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ระหว่าง “ความดี” กับ “ความสามารถ” ของนักการเมือง ประชาชนควรชั่งน้ำหนักอย่างไร?

ผมไม่อยากให้ประชาชนต้องมาชั่ง ประเทศไทยเท่าที่ผมเห็นมีทั้งคนดีและมีความสามารถอยู่มาก น่าจะถามมากกว่าว่า ทำยังไงให้คนพวกนั้นเอาตัวเองเข้ามาเสนอชื่อเป็นตัวแทนของประชาชน เพราะตอนนี้ถ้าผมไม่บอกว่าเป็นงานการเมืองแล้วไปถามเพื่อนว่าให้เลือกระหว่างสองงาน 1.งานบริษัทเงินเดือนมั่นคง 2.งานสัญญา 4 ปีแต่อาจหยุดสัญญาก่อนหน้านั้นก็ได้ แล้วสมัครใหม่อีกทีก็ตอบไม่ได้ว่าใช้เวลากี่ปี ทำงานนี้มีคนเกลียดคุณแน่นอน ความเป็นส่วนตัวก็ไม่มี ทุกอย่างที่ทำจะอยู่ในสายตาสาธารณะหมด ต้องถามว่าคนดีและมีความสามารถหลายคนจะเลือกตรงนี้ไหม

แล้วถ้าเป็นคุณไอติมจะเลือกไหม?

(หัวเราะ) อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนที่หนักแน่นในอุดมการณ์ จากที่ตอบเรื่องทีมลิเวอร์พูล หนึ่งในอุดมการณ์ตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนต่างประเทศมา ผมตอบเสมอว่าไม่รู้ว่าอาชีพไหน แต่อาชีพที่ผมรักน่าจะเป็นอาชีพที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ในทางใดทางหนึ่ง ถามว่างานการเมืองเป็นตัวเลือกหนึ่งไหมที่ผมกำลังพิจารณาอยู่ ก็ยอมรับว่าเป็น

ผมว่าการทำงานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีเสน่ห์ ถ้าผมช่วยจากข้างนอก ผมนั่งวิเคราะห์ว่าทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศคือทางนี้ ผมก็จะแนะนำหรือช่วยผลักดันนโยบาย แต่มันไม่มีกลไกอะไรเลยที่มาเตือนผมว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือเปล่า ในฐานะคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะมีกลไกนี้ตลอด คือ 1.ทุก 4 ปี คุณต้องเอาความคิดของคุณมาเสนอประชาชน และ 2.แม้อยู่ในวาระทำงานทางการเมือง ไม่ได้มีการเลือกตั้ง คุณก็สามารถได้ยินคำร้องเรียนของประชาชนได้ ทำให้เราได้ปรับความคิดเข้าหาปัญหาของประชาชนได้ง่ายขึ้น

ตอนนี้คิดว่ามีเรื่องไหนของประเทศไทยที่ดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่ลงกว่าในอดีต?

ผมยอมรับว่าด้วยอายุ 20 ต้นๆ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบได้ดีนัก แต่อย่างหนึ่งที่ผมเห็น คือคนไทยมีความคิดเห็นทางการเมืองค่อนข้างเยอะ คนรุ่นใหม่มีความคิดอยากจะกำหนดประเทศชาติเยอะขึ้นมาก เพียงแต่คนที่อยากเอาตัวเองเข้ามาทำงานด้านนี้อาจจะยังไม่มากเพียงพอ

ส่วนเรื่องที่เหมือนเดิม ผมว่าเรื่องประชาธิปไตยก็สำคัญ เพราะพอมีรัฐประหารครั้งสุดท้าย ผมคิดว่าอดีตจะซ้ำรอยหรือเปล่า ถ้าเราย้อนกลับไปรัฐประหารครั้งที่แล้วปี 2549 เกิดในเงื่อนไขคล้ายกัน คือมีกระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นของครอบครัวหนึ่งที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมเคยพูดสมัยเด็กๆ ว่าอยากเห็นการเมืองไทยข้ามตรงนี้ไปให้ได้ ไม่อยากเห็นประเทศชาติต้องแตกแยกเพราะคนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ ของคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของครอบครัวชินวัตรกับคนอีกกลุ่มที่รู้สึกต่อต้านเพราะเรื่องคอร์รัปชั่นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ประเทศจะก้าวหน้าได้ถ้าเราข้ามจุดที่ประเทศชาติแบ่งแยกจากเรื่องครอบครัวเดียว

ผมเข้าใจเจตนาของรัฐประหารครั้งที่แล้ว คือเข้ามาเพราะความแตกแยกมีมากจนอาจเกิดความรุนแรงอันตรายต่อประชาชน และหน้าที่หลักของทหารคือดูแลความมั่นคงของประเทศชาติ เข้ามาเพื่อรักษาความมั่นคงไว้ ถามว่าจำเป็นต้องเข้ามาในรูปแบบนี้ไหม ผมก็ไม่แน่ใจนะ จำเป็นต้องเข้ามาขนาดนี้ไหม ผมก็ไม่แน่ใจ แต่เข้าใจถึงเจตนาว่าทำไมถึงเข้ามา แต่ผมกลัวว่า พอมีรัฐประหารครั้งนี้แล้วประเทศจะข้ามตรงนี้ไปได้ไหม ถ้ากลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้วจะยังมาถกเถียงเรื่องในอดีตอีกหรือเปล่า

การรัฐประหารยังเป็นกลไกที่จำเป็นต่อการคลี่คลายทางออกของการเมืองไทย?

ตอบยาก ผมยอมรับว่าหน้าที่ของทหารเป็นหน้าที่ที่น่ายกย่อง คือเขาเสียสละชีวิตเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ถามว่าการรักษาความมั่นคงจำเป็นถึงขนาดต้องเข้ามามีอำนาจทางการเมือง 4-5 ปีไหม ผมไม่แน่ใจ ดูจากต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว สถานการณ์ของเขาอาจไม่ดุเดือดเท่าที่ประเทศไทยมีเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว แต่มันก็มีการควบคุมความมั่นคงในรูปแบบอื่นที่จะไม่ต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองขนาดนี้

อยากเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไร?

อยากเห็น 2 อย่างคือ ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และประเทศไทยปฏิรูปหลายอย่างเพื่อให้โอกาสของคนเท่าเทียมกัน

ความฝันสูงสุด?

ผมว่าทุกคนอยากมีความสุขกับชีวิต อยากอายุ 60-70 ปี แล้วมองย้อนกลับมาว่าไม่ได้เสียโอกาสอะไรไป ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก โอกาสที่ได้พัฒนาประเทศ โอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับคนที่เรารัก

ถ้าทำงานการเมืองในอนาคต จะสังกัดพรรคใด?

ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามีพรรคใดบ้าง หัวหน้าพรรคมีใครบ้าง อย่าพูดดีกว่าเรื่องพรรคการเมือง เขายังไม่ปลดล็อก ผมพูดไม่ได้ (หัวเราะ)

“อยากหนักแน่นและมั่นคงในอุดมการณ์” คำมั่นของชายวัย 25

ด้วยความที่เป็นคนค่อนข้างจริงจัง พริษฐ์ วัชรสินธุ เผยว่าเวลาที่มีหลายเรื่องเข้ามาพร้อมกันเขามักจะเครียด และจะหาทางออกโดยนั่งวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมจึงเครียด แล้วก็แก้ไปทีละจุด อะไรต้องจัดการก่อน-หลัง

ครั้งหนึ่งเขาเคยสัมภาษณ์ Jack Gleeson นักแสดงจากซีรีส์เกมออฟโธรน (Game of Thrones) พอถามว่าเขาชอบตัวละครใดในซีรีส์เรื่องนี้ ไอติมนิ่งนึกนานก่อนจะตอบว่า “ผมชอบทีเรี่ยน (Tyrion) เพราะเป็นตัวละครที่สามารถอยู่รอดได้ทั้งๆ ที่ถูกกดขี่ ข่มเหง แล้วก็ใช้ความฉลาดในการแก้ปัญหา ไม่ใช้กำลัง”

ส่วนเรื่องฟุตบอล ไอติมเผยว่าเขาเป็นแฟนบอล “ลิเวอร์พูล”

“หลายคนบอกว่า แฟนเราอาจจะมีหลายคนในชีวิต แต่ทีมฟุตบอลเรามีทีมเดียว เพื่อนผมหลายคนจะเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จแล้ว สังเกตได้ว่าคนที่อายุ 30-40 ปี

จะเชียร์ลิเวอร์พูลเยอะมาก เพราะตอนนั้นสโมสรประสบความสำเร็จเยอะ ผมไม่รู้ว่าผมดวงซวยหรือเปล่า พอเริ่มเชียร์ ลิเวอร์พูลก็เริ่มไม่ได้ถ้วย แต่ก็ยังเชียร์ลิเวอร์พูลอยู่”

ขณะที่หลายคนบอกว่าแฟนบอลลิเวอร์พูลต้อง “หนักแน่น มั่นคง”

ไอติมสะท้อนตัวเองว่า

“ผมเป็นคนที่อยากหนักแน่นและมั่นคงในอุดมการณ์ของตัวเอง” และอธิบายว่า ตัวเองอยากเสมอต้นเสมอปลายในความเชื่อ หนักแน่นต่อความคิด ถ้ามองว่าแฟนบอลลิเวอร์พูลทุกคนเป็นคนอย่างนั้นก็เป็นเรื่องดีเพราะน่าจะทำให้คนอยากมาเชียร์ลิเวอร์พูลมากขึ้น

ก่อนมาถึงคำถามที่สาวๆ รอคอย

ถามถึงเรื่องสเปกผู้หญิงที่ชอบ เขาบอกว่าไม่มีตายตัว แต่มองว่าสิ่งที่จะทำให้คนรักกันอยู่ด้วยกันได้คือ “ความเท่าเทียม”

“ในความเชื่อส่วนตัวของผม คนสองคนถ้าจะรักกันได้และยาวนาน ต้องเท่าเทียมกัน ในทางที่ว่าถ้าเราจะทำอะไรสักอย่าง ต้องรู้สึกว่าเขาจะโอเคกับเรื่องนี้ไหม ก็กลับมาถามตัวเองว่า ถ้าเขาทำอย่างนั้นกับเรา เราจะโอเคหรือเปล่า ผมคิดว่าถ้าเราทำให้มีความเท่าเทียมกันเป็นหลัก จะทำให้ปรับความเข้าใจกันได้ง่ายมากขึ้น”

ปิดท้ายคำตอบด้วยรอยยิ้มสดใส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image