“กรุณาสัมผัส” ด้วยหัวใจ ศิลปะจากโลกแห่งความมืด

ในบางครั้งเพราะเรามองเห็นทุกอย่างชัดเกินไป ทำให้คุ้นชินกับการมองสิ่งต่างๆ แล้วก็ปล่อยผ่านไป จนลืมที่จะใช้มือเข้าไปสัมผัส ใช้จมูกเข้าไปดมกลิ่น หรือแม้แต่ใช้สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างการใช้ “หัวใจ” ในการรับรู้เรื่องราวสิ่งต่างๆ รอบตัว

งานศิลปะก็เช่นกัน คนทั่วไปมักมองเห็นศิลปะต่างๆ แล้วมีความรู้สึกเพียงแค่ว่ามันก็สวยดี ทั้งๆ ที่เราไม่รับรู้หรอกว่ามันสวยอย่างไร แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่งานศิลปะหรือการวาดรูปนั้นถือเป็นเส้นขนานและเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาเลยก็ว่าได้ นั้นคือกลุ่มผู้บกพร่องทางสายตา

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงศิลปะกับผู้บกพร่องทางสายตา หลายๆ คนคงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ คนตาบอดจะวาดภาพได้อย่างไร แต่ ณ วันนี้มันไม่ใช่อีกต่อไป เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าชุดวาดรูป “เล่นเส้น”

“เล่นเส้น” คือชุดวาดรูปสามมิติ โดยฝีมือการประดิษฐ์คิดค้นของ “กล่องดินสอ” กลุ่มนักพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อคนพิการทางสายตา ด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า แม้ผู้พิการทางสายตาจะไม่สามารถเรียนรู้จากการมองเห็นได้ แต่เราใช่ว่าจะไร้จินตนาการและความคิดฝัน จึงเป็นที่มาของการใช้กระดานหนามเตยและกลุ่มด้ายสีเป็นอุปกรณ์สำหรับการวาดภาพสามมิติ

Advertisement

สำหรับคนที่มีสายตาปกติ “เล่นเส้น” คงไม่ใช่สิ่งที่น่าสนหรือน่าตื่นใจมากนัก แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดตลอดแล้ว มันกลับเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด

ที่น่าปลื้มใจนักคือ การที่ผลงานตนเองได้จัดแสดงในนิทรรศการ “กรุณาสัมผัส” (Please Touch) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กผู้ที่มีปัญหาทางสายตาได้เข้าถึงและพัฒนาศักยภาพทางศิลปะ “หนูไม่ได้ชอบวาดรูปนะคะ แต่หนูชอบที่มันสามารถจินตนาการตามที่หนูคิดได้”

“น้องลูกปลา” นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พูดถึงความพิเศษของการวาดรูปโดยวิธีเล่นเส้น ผลงานของน้องลูกปลาสะท้อนอะไรหลายอย่าง น้องลูกปลาเล่าว่า ผลงานของตัวเองมีชื่อว่า “ภาพใหม่ที่อยู่บนท้องฟ้า” มีกลุ่มดาวต่างๆ มีพระอาทิตย์ ก้อนเมฆ หัวใจ ลอยอยู่บนท้องฟ้า

Advertisement

ส่วนศิลปินตัวเล็กที่ใจไม่เล็กตามตัวอีกคน น้องบาส นัทพล ทั้งโครต นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เล่าว่ารู้สึกดีใจที่ได้วาดรูปและมีคนมาชมผลงาน สำหรับผลงานของน้องบาสเต็มไปด้วยความรู้สึกที่อยากจะสะท้อนสังคมในปัจจุบัน

น้องบาสเล่าว่า ได้ยินข่าวตามทีวีและโทรทัศน์ถึงการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วม ไฟป่า และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย มันทำให้รู้สึกอยากวาดขึ้นมา

จากคำบอกเล่าของน้องทั้งสองคนบอกเลยว่าเป็นจินตนาการที่สุดยอดจริงๆ ในขณะที่โลกของน้องมองเห็นเพียงสีดำ แต่กลับรับรู้และตื่นกลัวกับปัญหาที่เราหลายๆ คนมองผ่านไป

 

โลกมืด03

แล้วถ้าคนสายตาปกติมาสร้างผลงานด้วยวิธี “เล่นเส้น” จะออกมาเป็นแบบไหน วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชาวไทยคนแรกที่ผลงานได้ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น เล่าถึงความรู้สึกหลังจากลอง “ปิดตา” วาดภาพว่า เวลาที่เราวาดรูปเรามักใช้ตาในการมองควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงาน มันทำให้เราสนใจแต่ว่า รูปจะออกมาเป็นอย่างไร จะสวยไหม จะมีคนชอบหรือเปล่า แต่พอลองปิดตาวาดด้วยวิธีเล่นเส้นทำให้เราลืมโลกภายนอกไปหมดเลย

“ไม่สนแล้วว่าใครจะรู้สึกอย่างไร หรือว่ารูปจะสวยหรือไม่สวย สิ่งที่เราเห็นคือข้างในเรา เรามีใจกับมัน เรามีความเงียบสงบอยู่กับมัน เรามีจินตนาการ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน วันนี้ได้มาเห็นผลงานของน้องๆ รู้สึกว่าเขาต้องรู้สึกแบบเราแน่เลย ซึ่งในรูปมันไม่ได้ตรงกับที่เราจินตนาการ ไม่ได้เหมือนที่เราอยากวาด แต่ว่ามันได้ความรู้สึก”

วิศุทธิ์เล่าต่อว่า ผลงานที่เลือกใช้สีเพียงสีเดียวเพราะว่าอยากให้น้องๆ จับดูแล้วรู้ว่าคือรูปอะไรโดยไม่ต้องมีคนคอยอธิบายว่ามีสีอะไรบ้าง มันจะได้เห็นเท่าๆ กันทั้งคนที่มองด้วยตาและคนที่สัมผัสมันด้วยใจ

(ซ้าย) วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชาวไทยคนแรกที่ผลงานได้ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น (ขวา) โลกในความมืดที่ไม่มืดอีกต่อไป
(ซ้าย) วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชาวไทยคนแรกที่ผลงานได้ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น (ขวา) โลกในความมืดที่ไม่มืดอีกต่อไป

จากเจ้าของผลงาน มาฟังความรู้สึกของผู้เข้าชมบ้าง

เจน นิรมิต เล่าว่า สัมผัสรูปในตอนแรกเราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันเป็นรูปอะไรถ้าเราไม่อ่านคำบรรยายภาพประกอบ ฉะนั้น ผู้บกพร่องทางสายตาต้องมีสัมผัสที่ดีมากแน่ๆ เพราะสามารถจดจำและจินตนาการได้ว่าเส้นด้ายเหล่านี้เรียงร้อยเป็นรูปอะไร และสื่ออะไรออกมา ขณะที่เราต้องใช้เวลาในการดูและเข้าใจมัน

มันอาจจะใช้เวลานานสักหน่อยต่อการสัมผัสรูปในแต่ละรูป เราลองตัดการรับรู้ทางสายตาแล้วใช้มือสัมผัส ให้ใจเป็นตัวจินตนาการว่าสิ่งที่เราสัมผัสนั้นคือรูปอะไร และรับรู้ว่ารูปวาดเหล่านี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ ทุกรูปมีเรื่องราวของมันเองที่ผู้วาดส่งถึงเรา และมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตเพราะเรามัวแต่มองด้วยตาเพียงอย่างเดียว

(ซ้ายบน) "My Name" น้องเตย-วาสนา เต็มมูล อายุ 17 ปี ตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด อยากเขียนชื่อตัวเองได้ จึงเป็นที่มาภาพนี้ที่น้องเตยสามารถเขียนหนังสือได้ด้วยตัวเอง (ขวาบน) "เมืองไทยในฝัน" ของน้องบิ๊ก-ธีระพงษ์ กันนิยม (ซ้ายล่าง) ธรรมชาติเมืองไทยในความฝัน น้องนุ๊ก-อดิศักดิ์ คำหวาน อายุ 20 ปี (ขวาล่าง) "คิ้วต่ำ" อนุชิต คำน้อย นักเขียนภาพประกอบ
(ซ้ายบน) “My Name” น้องเตย-วาสนา เต็มมูล อายุ 17 ปี ตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด อยากเขียนชื่อตัวเองได้ จึงเป็นที่มาภาพนี้ที่น้องเตยสามารถเขียนหนังสือได้ด้วยตัวเอง (ขวาบน) “เมืองไทยในฝัน” ของน้องบิ๊ก-ธีระพงษ์ กันนิยม (ซ้ายล่าง) ธรรมชาติเมืองไทยในความฝัน น้องนุ๊ก-อดิศักดิ์ คำหวาน อายุ 20 ปี (ขวาล่าง) “คิ้วต่ำ” อนุชิต คำน้อย นักเขียนภาพประกอบ

นอกจากผลงานของน้องๆ จาก 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โรงเรียนธรรมิกวิทยา โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา และโรงเรียนศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน จ.ลพบุรี ยังมีผลงานของ 12 ศิลปินดัง อาทิ ศิลปินแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก จิตรกรผู้ได้รับรางวัลทุนเกียรติยศ “ศิลป์ พีระศรี”-ผศ.วุฒิกร คงคา ศิลปินหญิงร่วมสมัย-ศ.กัญญา เจริญศุภกุล นักวาดภาพประกอบ “คิ้วต่ำ” และ “มุนิน” นักวาดการ์ตูนมืออาชีพ ฯลฯ

ร่วมสัมผัสเรื่องราวที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ในโลกแห่งความมืด ภาพวาดแห่งจิตนาการ ในนิทรรศการ “กรุณาสัมผัส” ระหว่างวันที่ 15-24 มีนาคม 2559 ณ โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image