ตะลุยงานสัปดาห์หนังสือ สำนักพิมพ์’มติชน’ ชวนค้น’ประวัติศาสตร์’เพื่อสร้าง’อนาคต’

“14 ตุลา นำมาซึ่งความใส่ใจต่ออดีต และเหตุที่ใส่ใจต่ออดีตก็เพราะคนไทยกำลังวางเส้นทางอนาคตของสังคมตนเอง ความทรงจำทำให้เรามีสมรรถภาพที่จะวางอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน ความทรงจำก็ไม่ใช่สิ่งที่ลอยมาจากอดีตล้วนๆ แต่ถูกกำหนดขึ้นจากความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่เราต้องการด้วย”

ตอนหนึ่งในบทความเรื่อง “อดีตในอนาคต” ผลงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ที่สะท้อนเหตุผลของการให้ความสำคัญและใส่ใจอดีต

ด้วยความตระหนักในคุณค่าของ “ประวัติศาสตร์” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 44 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-10 เมษายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำนักพิมพ์มติชนได้ยกทัพหนังสือมาให้บรรดาหนอนนักอ่านได้เลือกสรรอย่างจุใจ ภายใต้ธีม “ประวัติศาสตร์คืออนาคต”

Advertisement

ทำไมต้อง ‘ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต’

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ดูแลงานแปลและหนังสือศิลปวัฒนธรรม เกริ่นว่า หนังสือของสำนักพิมพ์มติชนพิมพ์งานประเภทประวัติศาสตร์ออกมาจำนวนมาก ปีนี้จึงเลือกใช้ธีมนี้เป็นธีมหลัก

“อย่างที่เรารู้กันว่า อดีตคือฐานแห่งการเรียนรู้เพื่อเข้าใจปัจจุบัน แล้วจะได้วางแผนสู่อนาคตว่าเราอยากดำรงชีวิตแบบไหน อยากให้คำตอบแบบไหนในสังคม แล้วหนังสือที่เราทำออกมาในงานนี้ ไม่ได้มีเพียงหนังสือของศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหนังสือของกองแปลกองไทย ที่ออกมาเพื่อกุมธีม “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต”

“ตอนนี้สังคมไทยเกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ขั้ว คล้ายกับที่ อ.ชาญวิทย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า สังคมตอนนี้อยากได้ความรู้ที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาสังคมไทย เราคิดว่าโจทย์นี้น่าจะเป็นทางออกให้สังคมไทยได้”

Advertisement

อพิสิทธิ์ย้ำว่า หนังสือประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์มติชน ไม่ได้อยากให้เชื่อทั้งหมด แต่ให้รู้จักตั้งคำถาม สังเกต ถกเถียงกันโดยมีหลักฐานและเหตุผลมารองรับ อธิบายซึ่งกันและกัน เช่นงานเขียนเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ซึ่งตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม ล่าสุดทำออกมา 2 เล่มคือ การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6 กับ เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งแต่ละเล่มมีมุมมองต่างกัน

pra01250359p1

5 ปกใหม่ เอาใจคอประวัติศาสตร์

สำนักพิมพ์มติชนมีหนังสือออกใหม่ที่ออกมาครอบคลุมธีมประวัติศาสตร์ คือ อนาคต ได้แก่ การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ผลงานของ เทพ บุญตานนท์ ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475 ผลงานของ ศราวุฒิ วิสาพรม อยู่ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ส่วนงานแปลคือ ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา เขียนโดย หวังหลง แปลโดยเขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย และสุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2558 โดยศูนย์ข้อมูลมติชน ซึ่งในอนาคตข้างหน้า หนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง และอีกเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผลงานของ ภาณุ ตรัยเวช แอดมินของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ในไวมาร์เยอรมัน”

มณฑล ประภากรเกียรติ หัวหน้ากองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ อธิบายถึงหนังสือแต่ละเล่มว่า

“การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6” เกี่ยวกับการครองราชย์ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งกองทัพเปลี่ยนไปมีรูปแบบกองทัพแบบตะวันตกซึ่งมีกระทรวงกลาโหมทำงานอย่างชัดเจน กองทัพไม่ได้ขึ้นตรงกับกษัตริย์อย่างช่วงก่อนหน้านั้น ทำให้รัชกาลที่ 6 ไม่มีกำลังทหารส่วนพระองค์

“หนังสือเล่มนี้พยายามบอกว่า ตลอดยุคสมัยของพระองค์ท่าน ทรงพยายามดึงกองทัพมา ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่ง่ายเลย เพราะอำนาจในกองทัพทั้งหมดกลับตกไปอยู่กับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จะทราบว่ารัชกาลที่ 6 จะทำอะไร ต้องให้ 2 พระองค์นี้อนุมัติเท่านั้น ข้ามหน้าข้ามตาไม่ได้เลย

“ขณะเดียวกัน พระองค์ก็พยายามหาทางออก โดยการตั้งกองเสือป่า กรมทหารรักษาวัง ทั้งๆ ที่มีกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์อยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านพยายามสร้างกองทัพขึ้นมา” มณฑลอธิบาย

ก่อนเล่าคร่าวๆ ถึงหนังสือ “ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475” ว่า งานที่ผ่านมาเรื่องปฏิวัติ พ.ศ.2475 มีการผลิตออกมาจำนวนมาก แต่เล่มนี้เป็นอีกมุมมอง เน้นไปเรื่องราษฎร สามัญชน คนธรรมดาอย่างเรา พ่อค้า คนธรรมดา นักวิชาการต่างๆ ว่าก่อนการปฏิวัติราษฎรมีพลังอย่างไร ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างไรบ้าง และหลังปฏิวัติ ชีวิตของคนเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ - มณฑล ประภากรเกียรติ
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ – มณฑล ประภากรเกียรติ

“ที่ผ่านมาเราจะอธิบายแต่ว่า คณะราษฎร์กับราชวงศ์แย่งชิงอำนาจกันอย่างไร แต่เล่มนี้เป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์การเมืองโดยโฟกัสที่คนธรรมดาอย่างเดียว ซึ่งเป็นมุมมองใหม่อีกมุมมอง”

อพิสิทธิ์เสริมว่า ส่วน “ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา” เป็นหนังสือแปล ผู้เขียนต้องการเปรียบเทียบระหว่างโลกฝ่ายตะวันตกกับตะวันออก เปรียบเทียบว่าคนทั้งสองโลกต่างกันยังไง มีวิธีการพัฒนาประเทศอย่างไร เปรียบเทียบให้เห็นโดยยกบุคคลสำคัญมาเปรียบเทียบกัน เช่น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร กับ ซูสีไทเฮา เพื่อให้คนอ่านเห็นว่าทำไมประเทศยิ่งใหญ่อย่างจีนไม่เจริญเหมือนฝั่งตะวันตก

ส่วน “บันทึกประเทศไทย 2558” เป็นการรวมเนื้อหาข่าวในปี 2558 หลายหมวดหมู่ เราจะเห็นภาพรวมว่าปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สมมุติอีก 50 ปีข้างหน้าถ้าเราอยากศึกษาว่าปี 2558 เกิดอะไรขึ้น เล่มนี้จะเป็นหลักฐานหนึ่งที่ช่วยได้

อีกเล่มคือ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” เล่าเรื่องสาธารณรัฐไวมาร์ บอกเล่าว่าฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ใช้ประวัติศาสตร์ล้วนๆ แต่คล้ายงานวรรณกรรม เพราะใช้ทั้ง

งานวรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ และหลักฐานประวัติศาสตร์ เพื่อเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในสาธารณรัฐไวมาร์

2 วงเสวนาจัดเต็ม ข้อมูล-เกร็ดประวัติศาสตร์

29 มีนาคม วันแรกของงานหนังสือ สำนักพิมพ์มติชนได้จัดวงเสวนา “เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง” โดยวิทยากรคือ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คนหนึ่งในเมืองไทย

อพิสิทธิ์อธิบายว่า ตอนแรก คุณศันศนีย์ วีระศิลป์ชัย มีผลงานกับ สนพ.มติชน ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก คือ “ลูกท่านหลานเธอ” พระประวัติของเจ้านายที่เป็นสตรีในวังซึ่งเจ้านายแต่ละพระองค์ทรงมีความสามารถที่แตกต่างกันไป แต่เล่มนี้ทาง สนพ.มติชนคุยกับศันศนีย์ว่าอยากได้เป็นผู้ชาย เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 2554 แล้วเสร็จปี 2556-2557 โดย มณฑล เป็นบรรณาธิการ เขามีมุมมองตรงกับศันศนีย์ว่า เจ้าฟ้าเจ้าชายในหนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศ

มณฑลเสริมว่า พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่ศึกษาที่ยุโรป เมื่อกลับมาก็ช่วยอภิวัตน์สยามให้ทัดเทียมตะวันตก เป็นแนวคิดของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพยายามพลิกฟื้นสยามโดยใช้พระราชโอรส ในเล่มนี้จะเสนอหลายด้าน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์-ด้านทหารเรือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ-ด้านทหารบก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ด้านการแพทย์ เป็นต้น

อพิสิทธิ์บอกว่า จุดเด่นคือคุณศันศนีย์เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ จึงมีเกร็ดบางอย่างที่เราไม่ค่อยรู้ คนเขียนก็เอามาเรียบเรียงให้เราได้รู้

อีกวงเสวนาของ สนพ.มติชนจัดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน คือ “เรื่องเล่าในพระราชบันทึกประวัติล้นเกล้ารัชกาลที่ 6” โดยวรชาติ มีชูบท

อพิสิทธิ์อธิบายว่า คุณวรชาติมีเอกสารบางอย่างที่ยังไม่เคยเผยแพร่ เอามาเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ

“เหตุการณ์บางอย่างที่ รัชกาลที่ 6 ท่านทรงบันทึกไว้ บางอย่างเราก็ไม่รู้เบื้องหลังว่าที่ท่านเขียนคืออะไร ทำไมเขียนอย่างนั้น แต่คุณวรชาติ ค้นเอกสารมา แล้วบรรยายว่ารัชกาลที่ 6 หมายถึงอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร โดยที่ใช้เอกสารที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนเอามาประกอบการเขียน เช่น เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งอาจารย์คัดมาบางช่วงเพื่อมาอธิบาย สนุกมาก

“คาดว่างานเสวนาครั้งนี้ แกคงจะเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เรื่องสมัยรัชกาลที่ 6 ได้สนุก จึงจัดขึ้น” อพิสิทธิ์ย้ำ

อพิสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าประวัติศาสตร์ยุคไหนก็น่าค้นหาเสมอ อดีตบางอย่าง เป็นบทเรียนที่เราเห็นจากประวัติศาสตร์ เราอยากซ้ำรอยกับมันไหม อยากหมุนกลับไปที่เดิมไหม หรือเราจะก้าวสู่อนาคต

ส่วนมณฑลบอกว่า เราไม่สามารถไปสู่อนาคตได้เลยถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถ้าเราไม่รู้จักรากเหง้าที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด เรียนรู้จากการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรียนรู้จากการใช้นโยบายรัฐกับประชาชนอย่างไร ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีบทเรียนอย่างนี้ เราก็จะไม่มีอนาคตที่จะเดินออกไป อาจจะซ้ำรอยเก่าหรือไปทางใหม่

ฉะนั้น การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ศึกษาประวัติศาสตร์ เท่ากับการศึกษาอนาคตเหมือนกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image