วิกฤตการณ์ ‘คุกคามทางเพศ’ ประเด็นร้อนจากฮอลลีวู้ดสู่สถานการณ์ในไทย

ในเดือนแห่งความรักที่ “กุหลาบแดง” คล้ายว่าเป็นตัวเอก เป็นสื่อแทนความรักที่ผู้หญิงหลายคนใฝ่หา

ทุกคนอาจจะหลงลืมไปว่า ครั้งหนึ่ง “กุหลาบขาว” ได้เบ่งบานอย่างซื่อตรงบนเวทีมอบรางวัลทางดนตรีระดับโลก แกรมมี่ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 60 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“ดอกกุหลาบสีขาว สื่อความหมายถึง ความหวัง สันติภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความต้านทาน” ด้วยเหตุนี้จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์การรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิง ภายใต้แคมเปญ Time’s Up movement ซึ่งมีศิลปินระดับโลกหลายคนพร้อมใจติดเข็มกลัดดอกกุหลาบสีขาว แสดงจุดยืนในการต่อต้านการคุกคามทางเพศ

เรียกกระแสฮือฮา และสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมโลกไม่น้อย

Advertisement
นิค โจนัส และเคลลี คลาร์กสัน นักร้องชื่อดัง ร่วมติดเข็มกลัดดอกกุหลาบขาว เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิง เครดิตภาพ (REUTERS)

แต่หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ในวงการภาพยนตร์เองได้ให้ความสำคัญในการแสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน เฉกเช่นใน งานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ ที่บุคลากรในวงการภาพยนตร์พร้อมใจกันแต่งกายในชุดสีดำ ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังเกิดกรณีดาราสาวออกมาเปิดโปงการถูกคุกคามทางเพศโดยโปรดิวเซอร์ชื่อดังของวงการฮอลลีวู้ด อย่าง “ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน” ที่ใช้ตำแหน่งและอิทธิพลในวงการมาบีบบังคับหญิงสาวที่อยากสร้างฝัน มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ให้สนองความต้องการของตัวเอง

ตลอดจนอีกข่าวที่ฮือฮาไม่แพ้กันคือ กรณี “แลร์รี นาสซาร์” หมอกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งเคยได้รับหน้าที่ดูแลนักกีฬายิมนาสติกหญิงรุ่นเยาว์ในทีมชาติสหรัฐอเมริกา ก่อเหตุล่วงละเมิดเด็กหญิงในทีม และขู่ให้เก็บเป็นความลับ

แลร์รี นาสซาร์ เครดิตภาพ (AFP PHOTO)

ความเจ็บปวดที่เด็กหญิงได้รับถูกเก็บเอาไว้มานาน จนพวกเธอพร้อมที่จะออกมาเรียกร้องต่อศาล ในที่สุดนายแลร์รีถูกพิพากษาให้จำคุก 175 ปี

Advertisement

เป็นอีกข่าวที่ “สะเทือนใจ” และ “เขย่า” สังคมโลกให้หันมาใส่ใจกับประเด็น “คุกคามทางเพศ” มากขึ้น และที่สำคัญคือ “ผู้หญิงซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำ ไม่ใช่คนผิด พวกเธอไม่จำเป็นต้องรู้สึกกลัว หรืออับอาย”


เหลียวหลังมอง สถานการณ์คุกคามทางเพศในไทย

มองแต่สถานการณ์ในต่างประเทศ อาจจะดูไกลตัว หันกลับมามองสถานการณ์การคุกคามทางเพศในไทยกันบ้าง

“วิกฤต” หากใช้คำนี้บรรยายสถานการณ์ คงไม่ดูเกินเลยสักนิด

เพราะหากสังเกตจากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ จะเห็นข่าวเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศถูกนำเสนออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวดังเมื่อปลายปี 2560 ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขระดับหัวหน้า ลวนลามและทำอนาจารพนักงานในที่ทำงาน โดยใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่ตลอดเวลาว่า หากขัดขืนจะไม่มีการต่อสัญญาว่าจ้างงานต่อไป

หรือใน แวดวงสื่อมวลชน ก็มีข้อเท็จจริงที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์จนนำไปสู่การตรวจสอบผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศหรือไม่ จากผลการตรวจสอบปรากฏว่า “ไม่ผิดปมคุกคามทางเพศ มีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้างตามประสาคนที่ใกล้ชิด”

ยังคงมีข่าวในทำนองเดียวกันนำเสนอผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเหตุเกิดในสถาบันที่มีความสำคัญในการหล่อหลอมและให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ อย่าง “สถาบันการศึกษา” ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างหนัก หลังมีภาพบทสนทนาระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งและเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.2 ในลักษณะชู้สาว ตลอดจนใน “สถาบันครอบครัว” ก็เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศไม่น้อย อาทิ ลูกสาวติดต่อผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยพาแจ้งจับพ่อแท้ๆ หลังถูกบังคับทุบตีและข่มขืนนาน 8 ปี ขณะที่แม่แท้ๆ รับรู้ แต่ทำได้เพียงไปขอยาคุมกับเพื่อนบ้านมาให้ลูกสาวกิน

หรือบางทีสถานการณ์การคุกคามทางเพศในไทยอาจเกินคำว่า “วิกฤต” ไปแล้ว? 


‘ชายเป็นใหญ่’ รากปัญหาความรุนแรงทางเพศ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า ตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิสตรีในด้านต่างๆ เหมือนว่าสังคมกำลังเปลี่ยนในแง่ที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในแต่ละบทบาทและหน้าที่มากขึ้น เช่น ผู้หญิงในบทบาทของนักการเมือง ปลัด หรือข้าราชการ แต่ในขณะเดียวกันทำไมยังมีผู้หญิงถูกข่มขืน ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว มากขึ้นกว่าเดิม หรือกล่าวได้ว่าไม่ต่างจากเดิม นั่นแสดงให้เห็นว่ารากแนวคิดเรื่อง ชายเป็นใหญ่ ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ยังเข้มข้น และไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ส่วนเหตุผลว่าทำไมทัศนคติชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่ จะเด็จให้เหตุผลว่า ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่มีการปลูกฝังและสอนสั่งมาตั้งแต่ในกลุ่มสถาบันครอบครัว สอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ทำงานบ้านไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และสอนให้ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี ทำงานบ้าน ถ้าแต่งงานไปแล้วต้องปรนนิบัติสามี ส่วนผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว เป็นเจ้าของครอบครัว ประกอบกับในระบบการศึกษาของไทยที่มีส่วนในการตอกย้ำทัศนคติแบบนี้

กล่าวคือ มีหลักสูตรที่กดทับความเป็นหญิง

“ผมเองเจอกับตัว คือลูกเรียนอยู่ประมาณชั้นประถมตอนปลาย ในวิชามีการสอนโดยแบ่งเป็นช่องเลยว่า ‘ผู้ชาย’ ต้องมีความเข้มแข็ง ร้องไห้ไม่ได้ อีกช่องหนึ่งเป็นช่อง ‘ผู้หญิง’ บอกว่า เป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ต้องทำงานบ้าน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าในหลักสูตรที่สอนเด็กๆ จะมีการกล่าวถึงผู้หญิงในบทบาทของแม่บ้านอยู่ตลอด และมีการสอนแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ในระบบมหาวิทยาลัยเองก็มีการสอนเรื่อง Gender น้อยมาก” จะเด็จกล่าว และว่า

สื่อมวลชนก็มีส่วนในการสร้างภาพจำ โดยเฉพาะละครที่มีฉากข่มขืน เช่น พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วต่อมารักกัน นางเอกก็ยอม ซึ่งในด้านความเป็นจริงจุดนี้เป็นเรื่องของ “ความรุนแรงในครอบครัว” โดยฉากแบบนี้วนเวียนมาให้เห็นเป็นประจำในละครส่วนมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องบทบาททางการเมือง และการมีส่วนร่วม ที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก

รวมถึงยังคงมีค่านิยมที่กดทับผู้หญิง เช่น การสอนเกี่ยวกับ “เรือน 3 น้ำ 4” ที่ผู้หญิงต้องไหว้สามีก่อนเข้านอน ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นการผลิตซ้ำและบ่มเพาะทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่


‘ขึ้นครู’ ค่านิยมที่ขาดการกล่อมเกลา

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศว่า จากสถิติที่ทางมูลนิธิเก็บมาตลอดพบว่า สาเหตุมาจาก การขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เห็นได้ชัด บ่งชี้ว่า คนที่กระทำเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น เป็นนายจ้าง หัวหน้า เช่น ข่าวของกระทรวงสาธารณสุขที่ลวนลามลูกน้องจนมีการออกมาร้องเรียน และในเคสที่ทางมูลนิธิรับเรื่องมา ผู้กระทำมักเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

“ผู้ชายไม่ได้ถูกฝึกมาว่าหากคุณมีความต้องการทางเพศ คุณไปข่มขืนเขาไม่ได้ เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่เป็นการคุกคามทางเพศ การฝึกแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันมีการฝึกว่า ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า พอเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น จะมีค่านิยมที่ว่า การเข้าผับ-บาร์ คือการเป็นผู้ใหญ่ หรือในบางกลุ่มก็บอกว่าให้ไปใช้บริการทางเพศ เพื่อให้เด็กผู้ชายได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เป็นช่องทางในการแสดงความเป็นชาย นอกจากนี้ยังมีค่านิยมเรื่อง ‘การขึ้นครู’ อีกด้วย จุดนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการกล่อมเกลาผู้ชายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีน้อยมาก เพราะฉะนั้นเวลาเกิดความต้องการทางเพศ เขาคิดว่าทำใครได้ เขาก็จะกระทำได้หมด”

จากสถิติที่รวบรวมพบว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นคนใกล้ตัว มากกว่าคนแปลกหน้า เช่น พ่อข่มขืนลูก พ่อเลี้ยง ลุง อา หรือแม้แต่คนที่เป็นแฟนกันยังมีการขืนใจกัน ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มีส่วนกระตุ้นคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ในงานเลี้ยงต่างๆ หรือแม้แต่ในกรณีที่รุ่นพี่พยายามมอมเหล้ารุ่นน้องเพื่อกระทำการคุกคามทางเพศ เป็นต้น 

นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่า การคุกคามทางเพศโดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 10-15 ปี เป็นอันดับหนึ่ง และ 15-20 ปี ในลำดับถัดมา เพราะฉะนั้นเด็กที่ไม่มีอำนาจต่อรอง หรือยังมีวุฒิภาวะไม่มากพอ จึงมีโอกาสเสี่ยงจะถูกผู้กระทำซึ่งเป็นคนใกล้ตัว ใช้อำนาจกระทำการคุกคามทางเพศ หรือหลอกไปข่มขืน สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง


สังคมต้องมอบพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำออกมาร้องทุกข์อย่างเป็นมิตร

ในด้านมาตรการการแก้ไขปัญหาคุกคามทางเพศ จะเด็จเสนอว่า จากการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ปัญหาที่เจอคือ ช่องว่างทางกฎหมาย เกี่ยวกับผู้ถูกกระทำที่มีอายุมากกว่า 18 ปี สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยเจรจาได้ เพราะฉะนั้นในหลายเคสพอไปแจ้งความตำรวจรู้ว่ามีช่องว่างแบบนี้ ก็จะนำไปสู่การไกล่เกลี่ย เพราะว่าคนที่ข่มขืนมีอำนาจเหนือกว่าก็ไปหาตำรวจ และดำเนินการไกล่เกลี่ยกัน จึงคิดว่าต้องแก้ตรงนี้ก่อนว่า “จะทำยังไงให้เคสข่มขืนไม่มีการไกล่เกลี่ย” ไม่ว่าผู้กระทำจะอายุเท่าไหร่ เพราะในขณะเดียวกันผู้ถูกกระทำเองไม่ได้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเท่านั้น ในวัยผู้ใหญ่อายุเยอะๆ ก็มีเหมือนกัน ดังนั้นช่องว่างทางกฎหมายตรงนี้ควรได้รับการแก้ไขก่อน

ต่อมา กลไกเฉพาะหน้า คือ สังคมต้องสนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำไปแจ้งความ สนับสนุนให้เกิดการร้องทุกข์มากกว่านี้ เพราะหากสังคมยังมีอคติว่า ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนคือผู้หญิงไม่ดี เพราะแต่งตัวโป๊ ไปเดินในที่เปลี่ยว หรือมีความเข้าใจว่าต้องการแบล๊กเมล์ฝ่ายชายแล้วมาโวยวายทีหลัง แนวคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกกระทำส่วนมากถูกคุกคามทางเพศอย่างจริงจัง ซึ่งไม่มีใครต้องการเป็นผู้ถูกกระทำหรอก

มาตรการการแก้ไขจึงต้องรวมไปถึง ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติในการรับแจ้งความ โดยการไม่ตั้งคำถามในเชิงกดทับฝ่ายถูกกระทำ เช่น เรื่องการแต่งกาย ไปเดินในที่ตรงนี้ทำไม ถูกข่มขืนจริงไหม ซึ่งจริงๆ ในปัจจุบันก็มีการใช้พนักงานสอบสวนหญิงเข้ามาช่วยสอบสวนแล้ว ถือเป็นอีกทางออกหนึ่ง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “การอบรมปรับทัศนคติตำรวจให้การรับร้องทุกข์เป็นมิตรมากขึ้น ไม่ใช่การกระทำซ้ำ”

นอกจากนั้นมาตรการสำคัญอีกอันคือ ควรมี หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่อง Gender และการปรับทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ในระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการทำวิจัยทำหลักสูตรมาหมดแล้ว ติดอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ดำเนินการนำไปใช้ ประกอบกับ การอบรมเลี้ยงดูแบบใหม่ในสถาบันครอบครัว ที่ต้องสอนให้เด็กรู้จักความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงและผู้ชายต้องเท่าเทียมกัน สอนให้ลูกผู้ชายให้เกียรติผู้หญิง ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ตลอดจนสอนให้ลูกผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้อง ต่อรอง หรือต่อสู้ในสิทธิของตนเอง

และสุดท้ายคือ ต้องมีการ ปฏิรูปสื่อ ให้มีการคัดกรองฉากข่มขืน การใช้ความรุนแรงทางเพศให้หมดไป หรือหากจะมีฉากต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องกำหนดเวลาฉายให้เป็นเวลา เช่น หลัง 22.00 น. หรือ 00.00 น. เป็นต้นไป

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดสถานการณ์การคุกคามทางเพศ “สังคม” ต้องช่วยกันวิพากษ์วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การโทษผู้หญิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image