พลิกชีวิต ‘บ้านสาแพะ’ 4 ปี รายได้ 18 ล้าน ด้วยศาสตร์พระราชา

บ้านสาแพะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เคยเป็นหมู่บ้านที่แห้งแล้งที่สุดเพราะผืนดินเบื้องล่างเป็นดินจากเขาหินปูน ไม่อุ้มน้ำ แต่วันนี้ชุมชนแห่งนี้ประสบความสำเร็จกับบริหารจัดการน้ำ ด้วยระบบ “สระพวง” 

ไม่เพียงมีน้ำกินน้ำใช้ ยังสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี คนในชุมชนมีชีวิตใหม่ที่ไม่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะทุ่มเวลาทั้งหมดไปทำเกษตร

ถามว่าชุมชนมีรายได้มากแค่ไหน?

“พ่อหลวงคง” ยิ้มบางๆ ก่อนจะตอบว่า ปีที่แล้วมีรายได้ 18 ล้านบาท ส่วนปีนี้ชุมชนตั้งเป้าที่ 20 ล้านบาท

“บ้านสาแพะ” คือหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการ “เอสซีจีรักษ์น้ำ…เพื่ออนาคต” เริ่มจากการจัดการน้ำชุมชน แล้วขยายผล มีการวางระบบ โดยสร้างสระขนาดใหญ่บนพื้นที่ด้านบน แล้วต่อท่อกระจายน้ำยังสระลูก-สระหลานที่อยู่พื้นที่ลดหลั่นลงมา ตามระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการทำเกษตรกรรม เรียกว่า “ระบบเกษตรแบบสระพวง”

Advertisement

“บ้านผมก็เหมือนหมู่บ้านทั่วไปในภาคเหนือที่มีการบุกรุกทำลายป่า พอมีคนสัมปทานตัดไม้ในป่า ชาวบ้านรู้จักคำว่าเลื่อย หนักเข้ากลายเป็นว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา ป่าก็เริ่มพังแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราก็ตายหมู่”

พ่อหลวงคง-คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ หมู่ 3 อ.แจ้งห่ม จ.ลำปาง บอกและอธิบายเพิ่มเติมว่า ภูเขาบ้านผมเป็นดินขาวทั้งหมด ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ นอกจากร่องลำห้วยเท่านั้น แต่เรื่องการชะลอน้ำเป็นการนำแนวของพระองค์ท่านมาทำ ประกอบกับได้โอกาสจากผู้ใหญ่พาไปดูการจัดการน้ำในหลายๆ ที่และเอามาประยุกต์เข้ากับชุมชน

Advertisement

ทว่าการจะให้ลูกบ้านเปลี่ยนวิถีความเชื่อแบบเดิมๆ ไม่ง่าย

“ผมใช้วิธีเดียวกับการขายประกัน ขาย (แนวคิด) พี่น้องก่อน เริ่มแรกมีแค่ 12 คน เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ญาติผู้ช่วยและญาติผม ค่อยๆ ทำกัน โดยเอสซีจีมีการนำนักศึกษาจากหลายๆ ที่มาช่วยทำ เป็นเหมือนการตบหน้าว่าทำไมคนในหมู่บ้านไม่ลุกขึ้นมาทำ ปล่อยให้ที่อื่นต้องมาช่วย

“ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน ซึ่งทุกอย่างมีงานวิจัยรองรับ ในตอนเริ่มต้นต้องอาศัยความเข้มแข็ง ข่มขู่บ้าง ใช้กฎหมู่บ้านบ้าง ทุกคนห่อข้าวมากินด้วยกันเหมือนเป็นการละลายพฤติกรรม ค่อยๆ เห็นความสำคัญของป่า แล้วเห็ดที่เคยหายไปก็เริ่มมีให้เห็น หมูป่าก็กลับมา” พ่อหลวงคงบอก และย้ำว่า

“บางคนคิดว่าคนเฉพาะพื้นที่ตรงนี้ได้น้ำ แต่ตาน้ำใต้ดินเริ่มกลับมา แอ่งน้ำใต้ดินคือประปาหมู่บ้านที่เราใช้อยู่ เมื่อปี 2558-2559 แล้งมาก ต้นไม้ยืนต้นตาย แต่บ้านผมผ่านวิกฤตนี้มาได้ มีน้ำหล่อเลี้ยง 163 ครัวเรือน เราทำ 2,000 กว่าฝาย ลำห้วย 800 ฝาย สามารถบันดาลน้ำให้เราได้เลยจากปีเริ่มต้น 2556 ค่อยๆ ทำไป แต่ใช้เวลานานหน่อย หัวใจสำคัญคือ การเสียสละ อย่าง ‘สระพวง’ นี้ ทุกคนเสียสละที่ดิน คนละ 2-3 งาน บางคน 1-2 ไร่ เป็นการเสียสละด้วยกัน”

ระบบสระพวงสระแม่
สระลูก

ทว่าจะให้เกิดความยั่งยืนมีใช้เพียงพอทั้งปี ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีที่เรียกว่า “เกษตรประณีต” แบบใช้น้ำน้อย

ที่สำคัญคือ ทุกกระบวนการจัดการน้ำต้องมีการวางแผนอย่างเข้าใจ เพราะแม้จะมีระบบสระพวง แต่ถ้าไม่รู้ต้นทุนน้ำที่มีอย่างแท้จริง เกษตรกรใช้น้ำอย่างไม่มีแผน น้ำย่อมไม่เพียงพอที่จะใช้ไปตลอดทั้งปีกับพื้นที่ที่มีน้ำจากธรรมชาติเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น

เช่นที่บ้านสาแพะแห่งนี้ที่พ่อหลวงคง บอกว่า เรื่องน้ำควบคุมได้ โดยไม่ต้องรอฝน แต่ละรอบกำหนดให้การใส่น้ำห้ามเกิน 300 ลิตร ทั้งหมดมี 1 ล้านกว่าลิตร เป็นเกษตรที่ไม่ใช่น้ำเยอะ

“การทำงานโดยทุกอย่างต้องมีการวางแผนตั้งแต่การเตรียมดิน ความลึกของร่องดิน หมู่บ้านผม 10 หมู่บ้านร่วมงานวิจัยหมด โดยมี สกว.ส่วนหนึ่ง และมีเอสซีจีเข้ามาสนับสนุนส่วนหนึ่งได้ผลงานมาใช้จริง เมื่อก่อนชาวบ้านไม่รู้ว่าต้นไม้หนึ่งต้นใช้สามารถแปรรูปได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ชาวบ้านรู้แล้ว เช่นรู้ว่าหน้าแล้งไม้ต้นขนาดนี้ สามารถอุ้มน้ำให้เราได้กี่ลิตร เราก็จะเก็บเรื่องใบไม้โซนที่เราดูแลว่าปีนี้ร่วงเท่าไหร่มาชั่งน้ำหนัก ก็จะรู้แล้ว

“ตอนนี้หลังจากทำเกษตรประณีต ที่เราเห็นชัดเจน ไม่มีการพนันแล้ว อย่างมวยตู้แทบไม่รู้จักแล้ว เพราะเรามีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนต่อคน”

เมื่อมีน้ำเกษตรกรรมก็กลับคืนมา

สำหรับ ผลผลิตทางการเกษตรของบ้านสาแพะ คือ การทำเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก เพราะแม้จะมีระบบสระพวง แต่ถ้าจะปลูกไม้ผลเหมือนที่อื่นคงทำไม่ได้เพราะน้ำไม่พอ ฉะนั้นต้องเลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย ที่นี่จึงทำเกษตรเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก โดยที่การผสมพันธุ์พืชนั้นจะไม่ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ เพราะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้

“เรามีหน้าที่แค่ดูแลและทำคุณภาพให้ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะมีวิกฤตข้าว ตรงนี้ไม่เกี่ยว หมู่บ้านผมจะตื่นเช้ากว่าหมู่บ้านอื่น 2 ชั่วโมง และกลับหลังหมู่บ้านอื่น 2 ชั่วโมง ตอนนี้เรามีน้ำ เราทำได้ 12 เดือน โดยที่เราต้องเอาความขยันมาเป็นตัวตั้ง เมล็ดพันธุ์บวบส่งจีน ส่วนอินเดียค่อนประเทศกินมะระของที่นี่”

หลังผสมเกสรแล้วจะห่อไว้ป้องกันแมลง

แม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องของตลาด เรื่องการขนส่ง เพราะมีคนจัดการให้และมารับผลผลิตถึงไร่ แต่พ่อหลวงคงบอกอย่างมุ่งมั่นว่า เมล็ดพันธุ์ถือเป็นเงินเดือนของทุกคน แต่อีก 5 ปี จะมีผลผลิตที่บริหารจัดการเอง คือ “มะม่วงโชคอนันต์” โดยใช้ตอจากมะม่วงป่าคือมะม่วงกะล่อน ที่ทนแล้ง ส่วนมะม่วงโชคอนันต์ปีหนึ่งให้ผล 3 ครั้ง

“ถ้าประเมินไม่ผิด ผมคิดว่ามะม่วงโชคอนันต์จะได้รับความนิยมรองจากทุเรียน ซึ่งญี่ปุ่นเพิ่งนำเข้าเป็นครั้งแรก ตรงนี้จะเป็นเหมือนโบนัสให้กับชุมชนของเรา”

ปัจจุบัน บ้านสาแพะมีสระพวง 7 สระ ทำให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปี 30,400 ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกร 100,000 บาทต่อปีต่อราย เกิดรายได้รวมในชุมชนปี 2560 มากถึง 18 ล้านบาท
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image