‘หัวเว่ย’ อวดศักยภาพ ผู้นำนวัตกรรม5จี

ความเป็นจริงเกี่ยวกับโลกดิจิทัลในเวลานี้ก็คือยิ่งนับวันมนุษย์ต้องการการบริโภคข้อมูลดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์การใช้งานที่ผ่านมาบ่งบอกเอาไว้ว่า ปริมาณของดาต้าและจำนวนของการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 18 เดือน

ยิ่งความต้องการบริโภคข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ความต้องการความจุ หรือขีดความสามารถที่จะรองรับปริมาณข้อมูลและปริมาณการเชื่อมต่อย่อมเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

นั่นหมายถึงความต้องการในแง่ของการใช้งานของบุคคลทั่วไป แต่หากพิจารณารวมไปถึงพัฒนาการทางด้านธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ยิ่งตระหนักมากขึ้นถึงความจำเป็นในการสร้างสรรค์เครือข่ายไร้สายใหม่ขึ้นมา ความต้องการขององค์กรธุรกิจเหล่านี้มีศักยภาพเต็มเปี่ยมในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ก่อให้เกิดการประยุกต์การใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตใหม่ๆ รวมทั้งการก่อให้เกิดแหล่งรายได้

ใหม่ที่จะกระจายความมั่งคั่งออกไป พร้อมๆ กับการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น และมั่นคงยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

แต่ยังติดกับอยู่กับปัญหาคอขวดของเครือข่ายที่ไม่สามารถรองรับหรือเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และสังคมใหม่ๆ ดังกล่าวขึ้นมา

ภาวะคอขวดดังกล่าว หากไม่เกิดขึ้นเพราะปัญหาในเชิงกายภาพ (เช่น ไม่สามารถเดินสายเคเบิลใยแก้วเข้าไปถึงจุดที่ต้องการได้) ก็เกิดขึ้นเนื่องเพราะปัญหาในเชิงศักยภาพ (เครือข่ายไร้สายครอบคลุมทุกพื้นที่ก็จริง แต่ไม่สามารถรองรับได้ ทั้งในแง่สปีดและในแง่ของปริมาณ)

smart-car

นั่นคือสาเหตุสำคัญของการพัฒนาระบบเครือข่ายการสื่อสารไร้สายที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางมากที่สุดมาตั้งแต่เริ่มแรกที่ก้าวหน้าขึ้นมาเป็น 2 จี จาก2จี เป็น 3จี จาก 3จี เป็น 4จี ถนนแห่งการสื่อสารด้วยข้อมูลดิจิทัลของเรา ขยายกว้างมากขึ้นตามลำดับ ทำให้การสื่อสารของเราเร็วขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement

ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร คือผู้จัดสรรบริการเครือข่ายเหล่านั้นให้กับประเทศต่างๆ มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 3จี และ 4จี

แต่ในขณะที่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเรา เพิ่งสนุกกับการได้ลิ้มรสประสบการณ์ 4 จี หัวเว่ยก็เริ่มคิดถึงเครือข่ายการสื่อสารในยุคถัดไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมหัวเว่ยถึงสามารถก้าวไปไกลกว่าและเร็วกว่าในการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของโครงสร้างและในแง่ของสถาปัตยกรรมเครือข่ายครั้งสำคัญที่ไม่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

นั่นคือการเปลี่ยนผ่านจากยุค 4จี ไปสู่ยุค 5จี

touch internet

หัวเว่ย เริ่มต้นค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเครือข่าย 5จี ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “โพลาร์ โค้ดดิ้ง” ที่มีความเสถียรได้ก่อนใคร, สามารถนำเสนอ “สไพลซิง เราเตอร์” สำหรับเครือข่ายออกมาได้เป็นรายแรก และประสบความสำเร็จในการทดลองการเชื่อมต่อ 5จี ในห้องปฏิบัติการทดลองเพื่อพิสูจน์แนวความคิด และประสบความสำเร็จในโครงการ 5จี นำร่องมาแล้วมากมาย

หยาง เฉาปิ่น ประธานไลน์ผลิตภัณฑ์ 5จี ของบริษัท ยืนยันว่า หัวเว่ยได้รับประสบการณ์และความรู้มากพอสำหรับอำนวยให้เกิดความพร้อมต่อการประเดิมเครือข่าย 5จี ในเมืองใหญ่ๆ ในจีนได้ภายในปี 2019 นี้

ไรอัน ติง ประธานกลุ่มธุรกิจแคร์ริเออร์ ของหัวเว่ย พูดถึงเป้าหมายหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเอาไว้น่าสนใจอย่างมากว่า เป็นไปเพื่อการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ซึ่งนับวันยิ่งขยายออกไปหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วก็จะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของบุคคลทั่วไปนั่นเอง

เมื่อต้องรองรับอุตสาหกรรมแตกต่างกันมากขึ้น เป็นธรรมดาที่ข้อกำหนดที่ต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมเหล่านั้นก็จะยิ่งหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทำให้การขยับขยายระบบนิเวศที่แวดล้อมโลกดิจิทัลอยู่ให้กว้างขวางกว้างไกลออกไปเป็นสิ่งจำเป็น

“เป้าหมายของหัวเว่ย ก็คือการสร้างระบบนิเวศแบบหลายระดับ ซึ่งสามารถบูรณาการเอาโซลูชั่นทางธุรกิจและโครงข่ายสาธารณูปโภคเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน สิ่งนี้จะอำนวยให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถก้าวรุดหน้าต่อไป ขยายตัวเติบโตต่อเนื่องและประสบความสำเร็จต่อไปได้ในอนาคต”

ไรอัน ติง อุปมาโครงสร้างสาธารณูปโภคด้านโทรคมนาคม และอุปกรณ์อัจฉริยะในยุค 5จี ทั้งหลายที่หัวเว่ยมุ่งเน้นพัฒนาว่า เปรียบเสมือน “ผืนดินอุดมสมบูรณ์ผืนหนึ่ง” ซึ่งเป็นปริมณฑลอันเป็นพื้นฐานสำหรับให้ข้อมูลข่าวสาร, ระบบอัตโนมัติต่างๆ และเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหลายได้พัฒนาขึ้น เติบใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

“ในผืนดินอันอุดมนี้ หุ้นส่วนทั้งหลายสามารถนำคอนเทนต์, แอพพลิเคชั่นและคลาวด์ของตนมาเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้นั่นเอง”

เพื่อให้ “ผืนดิน” ดังกล่าวนี้มีความอุดมสมบูรณ์เต็มเปี่ยมอย่างแท้จริง หัวเว่ยเชื่อว่าจำเป็นต้องฝังระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เอาไว้ภายในบริการของตนเอง, ในเครือข่ายของตนเอง เพื่อให้สามารถให้บริการที่ยืดหยุ่นหลากหลายได้มากกว่า ในเวลาเดียวกันก็ยังอำนวยให้เกิดพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในการปฏิบัติงานของบริษัทเองด้วย

“เอไอ” ในทรรศนะของหัวเว่ยกลายเป็น “เทคโนโลยีอเนกประสงค์” ที่สามารถหลอมรวมเข้าไว้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของหัวเว่ย รวมทั้งในโซลูชั่นต่างๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่ายที่เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมด้วยให้เพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวง

ตัวอย่างเช่น เอไอสามารถทำหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการเครือข่ายแล้วเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งซึ่งในยุค 4จี ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ในยุค 4จี มีพารามิเตอร์ราว 200 พารามิเตอร์ ที่เครือข่ายจำเป็นต้องกำกับว่าต้นทางมาจากไหนและจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่ใด แต่เมื่อถึงยุค 5จี ปริมาณของพารามิเตอร์ที่จำเป็นต้องจัดการ ณ เวลาหนึ่งๆ นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นอย่างน้อย 50 เท่า มีเพียงแต่ระบบเอไอเท่านั้นที่สามารถจัดการกำกับพารามิเตอร์ดังกล่าวได้เรียบร้อยและชัดเจนโดยที่ใช้เวลาเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

“นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงเชื่อว่าเราจำเป็นต้องผนวกรวมเอไอเข้ากับระบบเครือข่าย 5จี ของเรา” ไรอัน ติงระบุ

หัวเว่ยไม่เพียง “เชื่อ” เฉยๆ แต่ยังลงมือทำไปแล้ว แพลตฟอร์ม เอไอของบริษัทเรียกว่า “แอทลาส” ถูกไรอัน ติง ให้นิยามเอาไว้ว่า “เป็น คอมพิวติง โซลูชั่น ที่ประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมาก” นั่นเอง

ในทรรศนะของหัวเว่ย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านจากยุค 4จี สู่ยุค 5จี ในระยะแรกๆ จะแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดผ่านอุปกรณ์ที่ติดตั้งระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไว้ภายใน (ไอโอที) และอุปกรณ์ประเภทที่แสดงผลเป็นภาพและเสียงมากกว่าอย่างอื่น ยุค 5จี จะทำให้การให้บริการวิดีโอความละเอียดสูงกลายเป็นบริการพื้นฐาน ที่เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

ยุค 4จี ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ประสบผลสำเร็จในของอุปกรณ์เสมือนจริงอย่าง “วีอาร์ เฮดเซต” ที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้ใช้แบบที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ อย่างแท้จริง เช่นเดียวกันกับความล้มเหลวของอุปกรณ์ประเภทเออาร์ (ความจริงเสริม) อย่างเช่น กูเกิลกลาส หรือกระจกอัจฉริยะ

ความล้มเหลวดังกล่าวนั้น ไม่ได้ล้มเหลวเพราะเทคโนโลยีของอุปกรณ์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเครือข่ายไม่เอื้ออำนวย

“ความจริงเสมือน หรือวีอาร์ ถ้าหากจะให้เกิดความรู้สึกเหมือนประสบการณ์จริงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลมหาศาลถึงระดับหลายร้อยกิกะบิต ซึ่ง 4จี ไม่สามารถรองรับได้ในเวลานี้” ฉิว เหิง ประธานปฏิบัติการด้านการตลาดไร้สายอธิบาย “ยิ่งไปกว่านั้น ความหน่วงของเครือข่ายสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนเครือข่าย 4จี ในเวลานี้ อยู่ที่ราว 50 มิลลิเซคันด์ ซึ่งยังไม่พอเช่นเดียวกัน”

ไม่พอต่อการเอื้อให้เกิดการประมวลผลอย่างฉับไว้แล้วออกคำสั่งให้รถอัตโนมัติเบรก ซึ่งนั่นอาจหมายถึงชีวิตของผู้โดยสารที่อยู่ภายใน

มาตรฐาน 5จี กำหนดเอาไว้ให้ค่าความหน่วงของเครือข่ายดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 มิลลิเซคันด์ ในการทดลองเครือข่าย 5จี ของหัวเว่ย ค่าความหน่วงที่ทำได้อยู่ที่เพียง .03 มิลลิเซคันด์เท่านั้นเอง

นอกจากวีอาร์, เอไอ, รถยนต์อัตโนมัติ และไอโอทีแล้ว หัวเว่ยยังคำนึงถึงระบบการทำงานอัตโนมัติในโรงงานที่มีการควบคุมทางไกลตลอดเวลาผ่านเครือข่าย 5จี เป็นลำดับต่อไป ยังคำนึงถึงโดรนอัจฉริยะที่เชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลา ควบคุมได้จากทุกที่ผ่านเครือข่าย 5จี ที่จะช่วยให้การประยุกต์ใช้โดรนสามารถทำได้หลากหลายมาก ตั้งแต่ใช้เพื่ออุตสาหกรรมไปจนถึงการใช้งานทางด้านการเกษตรกรรม

นั่นหมายถึงการเอื้ออำนวยให้เกิดโรงงานผลิตอัตโนมัติ ระบบจัดการการจราจรอัตโนมัติที่จะนำไปสู่ความเป็น “เมืองอัจฉริยะ” และ “สังคมดิจิทัล” ที่แท้จริงในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ หวัง เซี่ยวหยุน ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีของไชนา โมบายล์ หนึ่งในพาร์ทเนอร์ร่วมพัฒนา 5จี กับหัวเว่ย บอกว่า ถ้าเปรียบ 4จี ว่าเป็นเสมือนการสร้างถนน 5จี ก็เป็นการสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมา

ปีเตอร์ โจ ประธานฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์เครือข่ายไร้สายของหัวเว่ย ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่าหัวเว่ยทำงานเรื่อง 5จี มากว่า 10 ปีแล้ว และเตรียมประกาศนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับ 5จี ในงานโมบายล์ เวิร์ลด์ คองเกรส (เอ็มดับเบิลยูซี) ที่นครบาร์เซโลนา ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ อุปกรณ์รองรับ 5จี ที่จะเปิดตัวในงานดังกล่าวมีครบถ้วนตั้งแต่ต้นทางไปจนจรดปลายทาง ตั้งแต่คอร์เน็ตเวิร์ก, อุปกรณ์สำหรับทรานมิสชั่น, อุปกรณ์สำหรับคลื่นวิทยุ ตลอดจนเทอร์มินัลทั้งหมด

“เวลานี้ เราเริ่มสร้างเครือข่าย 5จี ใน 10 เมืองใหญ่ในประเทศจีน ดังนั้นในปีนี้ก็จะได้รับรู้เกี่ยวกับ 5จี ที่เป็นข่าวคราวการใช้เครือข่ายใหม่นี้ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้นจากหลายเมืองเหล่านั้น และอื่นๆ 5จี ไม่ใช่อนาคตอีกแล้วแต่เป็นปัจจุบัน เราเพียงแต่เปิดประตูการเชื่อมต่อให้กว้างขวางออกไป ออกไปสู่การเชื่อมต่อของสังคมที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ”

นวัตกรรมสำหรับสังคมดิจิทัลยุค 5จี เหล่านี้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นโดรนในยุค 5จี, วีอาร์ในยุคที่ทั้งโลกเชื่อมต่อถึงกัน เรื่อยไปจนถึงระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเอไออยู่เบื้องหลัง และระบบโรงงานผลิตอัจฉริยะทั้งหลาย ถูกนำมาอวดศักยภาพก่อนหน้าที่จะเปิดตัวให้เห็นกันทั่วโลกในงานเสวนา “5จี เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ร่วมกับ หัวเว่ย, อีริคสันและควอลคอมม์ จัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ที่ห้องอินฟินิตี โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์

“หัวเว่ยพร้อมแล้วที่จะเปิดสวิตช์ 5จี” สำหรับโลกและสำหรับประเทศไทย ปีเตอร์ โจ ยืนยันเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image