กฎหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง สิทธิกร ตั้งศิริ เจ้าของรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์

ในฐานะนักเรียนกฎหมาย การได้รับคัดเลือกจาก “กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ให้เป็นผู้รับรางวัล “รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์” ประเภทนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2559 จึงถือเป็น “รางวัลชีวิต” ที่ตอบโจทย์และเตือนใจว่าเรียนกฎหมายเพื่ออะไร

สิทธิกร ตั้งศิริ หรือภูมิ คือผู้ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประเภทนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2559

ภูมิ จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1

เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 เป็นบุตรชายคนเล็กของ นายสมนึก ตั้งศิริ และนางสุภาพร ตั้งศิริ มีอาชีพเป็นวิศวกรและพยาบาลตามลำดับ มีพี่สาวที่มีอายุห่างกัน 3 ปี คือ นางสาวสุชญา ตั้งศิริ

Advertisement

เจ้าของรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ คนล่าสุด เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า ด้วยการที่แม่เป็นพยาบาล ตั้งแต่เด็กแม่จึงพาเขาไปโรงพยาบาลด้วยในวันทำงาน

เขาจบการศึกษาชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยด้วยเกรดเฉลี่ย 3.89 โดยระหว่างเรียนนั้น ได้รับทุนการศึกษาประเภทนักเรียนที่มีผลการศึกษาสูงสุด 20 อันดับแรก “Top 20 Scholarship” โดยเลือกเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพราะมองว่าได้เรียนรู้แง่มุมที่หลากหลาย

“รู้สึกว่าได้เรียนกว้างดี ได้เรียนวิทยาศาสตร์ สมมุติว่าไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ คงไม่เห็นภาพแบบวิทย์เลย”

Advertisement

หลายคนอาจคิดว่า ผลการเรียนดีขนาดนี้คงเป็นเด็กเนิร์ด กิจกรรมไม่ยุ่งมุ่งแต่เรียน

แต่ไม่ใช่!

ระหว่างเรียน ภูมิ บอกว่าชอบทำกิจกรรม สมมติมีแข่งตอบปัญหา มักจะขออาจารย์เพื่อลงแข่งเสมอ กระทั่ง ป.3 ได้เข้าเป็นสมาชิกคณะนักร้องประสานเสียง BCC Boy’s Choir ของโรงเรียนตั้งแต่ ป.6 ก็มีโอกาสได้แสดงละครเพลงเรื่อง “มนต์รักเพลงสวรรค์” (The Sound Of Music) ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยรับบทเคิร์ท ลูกชายคนที่ 4 ของกัปตันวอนแทรปป์ (Captain von Trapp) พระเอกของเรื่อง

เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เมื่อเข้าเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ได้เป็นหนึ่งในคณะนักร้องประสานเสียงวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปยังเมืองคาร์โอเร ประเทศอิตาลี เพื่อแข่งขันขับร้องประสานเสียงรายการ “Venezia in Musica 2014” ประเภทนักร้องกลุ่มขนาดเล็กผสม (mixed chamber choir) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

ส่วนความสนใจด้านกฎหมายนั้น สิทธิกร เล่าว่า เกิดจากความคิดว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

“ก่อนหน้านั้นชอบด้านเศรษฐศาสตร์ คิดว่าทำให้เราเข้าใจสังคม ส่วนความชอบกฎหมายเข้ามาตอนท้าย มาจากความคิดที่ว่า ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างหนึ่ง เราก็ควรจะมีพื้นฐานกฎหมาย จะได้เข้าใจสถาบันต่างๆ ว่าทำงานอย่างไร ดูนามธรรมมากเลยเนอะ” สิทธิกร ตอบพร้อมหัวเราะ

ขณะอยู่ปี 2 เขาได้ร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวแทนคณะนิติศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ระดับในประเทศ) ในการแข่งขันว่าความในศาลจำลอง ทำให้ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันว่าความในศาลจำลอง รายการ Philip C. Jessup International Law Moot Court Competition ครั้งที่ 54 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองในการเขียนคำฟ้อง แถลงการณ์ด้วยวาจาต่อหน้าคณะกรรมการ และสร้างข้อต่อสู้ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย

ซึ่งตามปกติแล้ว คนที่จะร่วมแข่งขันรายการนี้ส่วนใหญ่ควรเป็นนิสิต ปี 3 หรือปี 4 เพราะจะได้เรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ เขาและเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนที่อยู่ปี 2 เหมือนกันจึงต้องช่วยกันติว และได้รับความช่วยเหลือพี่นักศึกษาปริญญาโทซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมอีกคนหนึ่ง

จากการไม่ทิ้งกิจกรรม พ.ศ.2557 เขาได้รับยกย่องเป็นนิสิตผู้สร้างชื่อเสียงด้านศิลปะและวัฒนธรรม, นิสิตผู้สร้างชื่อเสียง, นิสิตผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยด้านการบริหาร, นิสิตดีเด่น ของคณะนิติศาสตร์ รวมทั้งได้รับยกย่องเป็นนิสิตดีเด่นระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2557

พ.ศ.2558 ได้รับทุนการศึกษา Spring School Scholarship ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance : CPG) เพื่อศึกษากฎหมายเยอรมันเบื้องต้นเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ Westf?lische Wilhelms-Universit?t M?nster ประเทศเยอรมนี

รางวัลและกิจกรรมที่สาธยายข้างต้นนั้นแค่ “น้ำจิ้ม” เพราะยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรและงานจิตอาสาอีกนับแทบไม่หวาดไม่ไหว

สำหรับนักเรียนกฎหมาย ที่มุ่งมั่นทำประโยชน์เพื่อสังคม การได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประเภทนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2559 จึงถือเป็น “รางวัลชีวิต”

“ที่เราทำมาตลอด 4 ปี เราไม่ได้หวังผลตรงนี้หรอก ถ้าไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไร”

ภูมิ บอกว่า ชอบกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมีแรงบันดาลใจจากศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน และคณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การได้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงเป็นเครื่องเตือนใจในอนาคต ว่าทำไมจึงสนใจและอยากทำงานด้านนี้

ทั้งนี้ สิทธิกร ตั้งศิริ จะเข้ารับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2559 ในวันที่ 5 เมษายน นี้ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 สนใจเรียนกฎหมายได้อย่างไร?

ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เราควรจะมีพื้นฐานด้านกฎหมาย เพื่อเข้าใจสถาบัน องค์กรต่างๆ ว่าทำงานอย่างไร

กฎหมายเหมือนเครื่องมือ เช่น เราอยากให้คนได้รับความคุ้มครองในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งภาครัฐต้องเคารพสิทธินี้ หากรัฐไม่เคารพก็มีกลไกกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ กรณีนี้ กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือเพื่อให้เราได้รับความคุ้มครอง ส่วนตัวจึงมองว่ากฎหมายเป็นพลังสนับสนุนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

แรงบันดาลใจอีกส่วนคือพี่สาว ที่บ้านไม่มีใครเรียนนิติศาสตร์เลย แต่พี่สาวเรียนนิติ ม.ธรรมศาสตร์ จึงคิดว่าพี่สาวเรียน มธ. แล้ว เราเรียนจุฬาฯก็แล้วกัน จะได้มีหลายค่าย (ยิ้ม)

เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ก็หาจุดที่ชอบในทุกวิชา แม้จะเป็นวิชาที่เรียนยากอย่างกฎหมายแรงงานซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก ก็พยายามหาจุดที่ชอบ คิดว่ารู้เพื่อเป็นประโยชน์กับการทำงานในอนาคต

เลือกเรียนกฎหมายธุรกิจ แต่ไม่ทิ้งกฎหมายระหว่างประเทศ?

ตอนปี 3 ต้องเลือกสาขา ซึ่งมีกฎหมายธุรกิจ กฎหมายแพ่งอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน ซึ่งวิชาที่เลือกเรียนต่อไปในปี 3-4 ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาธุรกิจกับระหว่างประเทศ เช่นกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะปกติ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่ใช้ในยามสงคราม อีกแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ชอบกฎหมายระหว่างประเทศคือ ศ.วิทิต มันตาภรณ์

ยกตัวอย่างสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย กฎหมายมนุษยธรรมจะตอบว่าทุกฝ่ายในความขัดแย้งสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ห้ามฆ่าพลเมือง ห้ามทำลายสถานศึกษาหรือโรงพยาบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกฝ่ายในความขัดแย้งผิดทั้งหมด ซึ่งเราต้องเอากฎหมายพวกนี้ไปพูดในที่ประชุมระหว่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา

ร่วมแข่งขันว่าความในศาลจำลองกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกา?

ตอน ม.6 พอรู้ตัวว่าอยากเรียนกฎหมายก็เปิดเว็บไซต์ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เห็นภาพรุ่นพี่ถ่ายรูปในการแข่งขันว่าความในศาลจำลองกฎหมายระหว่างประเทศ ตั้งใจว่าต้องลงแข่งรายการนี้ให้ได้ เข้าปี 1 จึงหาข้อมูลว่ารุ่นพี่คนไหนลงแข่งบ้างเพื่อขอคำปรึกษา และมีโอกาสได้ดูการว่าความในศาลจำลอง ได้นั่งเรียนกับเขาว่าเรียนอะไรกัน ซึ่งตอนนั้นไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้แต่ว่าชอบ

ขึ้นปี 2 จึงมีเปิดรับสมัคร จึงลองยื่นใบสมัคร ซึ่งวิชากฎหมายระหว่างประเทศเขาเรียนกันปี 3 ผมยังไม่ได้เรียนจึงต้องไปค้นคว้า หาอ่านในห้องสมุด หลังจากนั้นก็เขียนคำฟ้องส่ง แล้วได้รับเลือกให้ไปคัดตัว โดยการพูดให้กรรมการฟัง สุดท้ายได้เป็น 1 ใน 4 คนซึ่งประกอบด้วยรุ่นพี่ ป.โท 1 คน และเพื่อนปี 2 อีก 2 คน แต่ละคนเก่งแบบสุดๆ ยกเว้นผมที่อาจจะน้อยที่สุด (ยิ้ม) ตอนนั้นทุกคนช่วยกันเพราะยังไม่ได้เรียนเหมือนกัน

หลังจากชนะรอบในประเทศแล้ว จึงมีสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไปอเมริกาเพื่อร่วมแข่งขันรายการ Philip C. Jessup International Law Moot Court Competition ครั้งที่ 54 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การแข่งมีประมาณ 4 รอบ มีโอกาสได้เจอกับมหาวิทยาลัยจากอังกฤษ จากรัสเซีย รวมถึงเบลเยียม

ในรอบแรก ต้องแข่งทั้งหมด 4 ครั้ง คือในทีมจะแบ่งเป็นฝ่ายโจทก์และจำเลย พูดต่อหน้ากรรมการ 3 คน ซึ่งผมเป็นฝ่ายจำเลย 2 รอบ โดยกรรมการจะทำหน้าที่ขัดตลอดเวลาด้วยคำถามที่เราไม่คาดคิดมาก่อน เช่น เรื่องสถานะความเป็นรัฐของเกาะที่ถูกน้ำทะเลท่วมซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เราก็บอกไปว่าเกาะนั้นไม่มีที่ดินอยู่แล้ว จึงสิ้นความเป็นรัฐเพราะไม่ครบองค์ประกอบความเป็นรัฐ กรรมการจะถามว่า องค์ประกอบนี้เกิดขึ้นมาเพื่อพิจารณาความเป็นรัฐว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่เอามาพิจารณาว่ารัฐสิ้นสุดอย่างไร มันคนละหลักกัน ซึ่งตอนนั้นคิดไม่ออกว่าทำอย่างไร แต่ก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้

แม้ไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ได้นำมาถ่ายทอดสู่น้องๆ ซึ่งปัจจุบัน แต่ละทีมมีพัฒนาการขึ้นมาก

ทำไมตัดสินใจสมัครคัดเลือกเพื่อรับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์?

เมื่อปี 2557 รุ่นพี่ที่คณะคือ “พี่นภ” นภกมล หะวานนท์ ได้รับรางวัลประเภทนักศึกษากฎหมายดีเด่น ตอนนั้นผมอยู่ปี 3 ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่คิดว่าตัวเองจะถึงขั้นพี่นภซึ่งเขาเรียนเก่งมาก ไบรท์ ให้คำปรึกษาดี มีวิธีการมองสิ่งต่างๆ

ทราบข่าวประกาศรับสมัครจากเจ้าหน้าที่คณะนิติศาสตร์ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงลองยื่นดู นั่นเป็นโอกาสที่ทำให้ได้อ่านประวัติของ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อย่างจริงจัง มีโอกาสทบทวนตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไรจากที่ได้ร่ำเรียนมา เพราะรางวัลนี้ให้คนที่มีผลการเรียนดีแน่นอน ด้านวิชาการเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ต้องมีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ ที่อยากทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตอนนั้นทำอยู่ในองค์กรเอกชนจึงได้ทบทวนตัวเอง พบว่าอยากฝึกงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกฎหมายที่ชอบ

สัมภาษณ์เสร็จ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะโทรแจ้งผลกับคนที่ได้รางวัลช่วงเย็น ซึ่งวันนั้นผมต้องไปเยี่ยมเพื่อนที่บวชและจำวัดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่พอดี นั่งรอที่สนามบินจนถึงประมาณ 1 ทุ่ม เครื่องจะขึ้นแล้วยังไม่มีโทรศัพท์เข้ามา ก็คิดว่ากรรมการคงประชุมเสร็จตั้งแต่ 6 โมงแล้ว คงไม่ได้เลยไม่มีใครโทรมา พอเครื่องถึงเชียงใหม่แล้วจึงเปิดโทรศัพท์ เพื่อนก็โทรมาถามว่าได้หรือเปล่า เพราะเขาได้ยินมาว่าเด็กจุฬาฯได้ พอวางสายแล้วจึงดูมือถือว่าใครโทรมาหรือเปล่า พบว่ามีสายไม่ได้รับ จึงโทรกลับไป ปรากฏว่าได้รางวัล ดีใจมากๆ ส่วนครอบครัวไม่เห็นว่าแม่ดีใจขนาดไหน ท่านถามว่า “ได้ด้วยหรอ” แล้วก็เงียบไปสักพัก คงตื่นเต้นที่สุดแล้วครับ (ยิ้ม)

 

 

…ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีการคุ้มครองสิทธิในระดับที่ดี แต่การคุ้มครองมันไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่กับเจ้าหน้าที่ว่าปฏิบัติอย่างไรกับประชาชน มันเป็นการแก้ปัญหาที่ข้างล่างด้วย…

 

อ่านประวัติ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ แล้วประทับใจ และได้เรียนรู้อะไร?

(นิ่งคิด) ผมว่าท่านยึดในหลักศาสนาพุทธ เช่น ความซื่อสัตย์ ความเมตตากับเพื่อนร่วมงาน ท่านนำไปใช้กับวิชาชีพของท่านซึ่งเป็นนักกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นมากที่นักกฎหมายต้องมีคุณธรรม อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษา แล้วท่านก็เป็นคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี

ระหว่างทางที่จะเติบโตในสายอาชีพ เราต้องเรียนรู้จากสิ่งเล็กๆ ที่เราทำก่อน ทำให้มันดี แล้วผลดีต่างๆ จะตามมาและดีไปเรื่อยๆ อย่าง อ.สัญญา ท่านทำโดยไม่หวังผลว่าที่ทำเพื่อเป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต ซึ่งมองว่าจุดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เหมือนตอนนี้ ทุกคนอยากเป็นคนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ เราน่าจะปรับจุดโฟกัสใหม่ ว่าเราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ผมก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งที่ตามมาก็เป็นเรื่องของผล

ประทับใจก็ตรงนี้แหละครับ ที่ อ.สัญญา ทำสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้ดีที่สุด รวมถึงเรื่องคุณธรรม และการรักษาคุณธรรมในวิชาชีพด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในกฎหมายไทย ที่ผ่านมาดีพอหรือยัง?

เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้ว มีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีการคุ้มครองสิทธิในระดับที่ดี แต่การคุ้มครองมันไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่กับเจ้าหน้าที่ว่าปฏิบัติอย่างไรกับประชาชน มันเป็นการแก้ปัญหาที่ข้างล่างด้วย

สิ่งที่ดีที่ประเทศอื่นชื่นชม เช่น สิทธิของ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่รัฐปกป้องสิทธิ์ในการเข้าถึงการแพทย์ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เรื่องของเด็กก็มีกฎหมายระบุว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นสัญชาติใด มีสิทธิเรียนระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือ ให้สัญชาติกับคนในพื้นที่ชายขอบของประเทศ แต่ก็มีด้านไม่ดีเหมือนกัน เช่น การคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

ถามว่าประเทศไทยทำเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ดีไหม ดีนะ แต่ว่ายังดีได้อีก

ล่าสุดคือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เป็นอีกอันที่ก้าวหน้าในการห้ามเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือคนที่มีเพศวิถีแตกต่าง นี่เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง แต่ก่อนเราไม่มีคำนิยามของ “การเลือกประติบัติ” ในกฎหมาย นี่นับเป็นครั้งแรกที่กฎหมายไทยรับรองว่า ‘การเลือกประติบัติ’ คืออะไร ซึ่งต่อไปเราอาจได้เห็น พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่เป็นเพศเดียวกัน ก็ได้

ใครๆก็มองว่านักกฎหมาย”หัวหมอ”?

ผมว่าน่าจะไม่ใช่ “หัวหมอ” เนื่องจากเราเรียนมา เราต้องระวังให้มากที่สุด อย่างผม เดี๋ยวนี้จะเซ็นอะไรก็ต้องอ่านให้ดี เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบมองว่านักกฎหมายก็มีทั้งคนที่เอาความรู้มาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองซึ่งมันทำได้ กับนักกฎหมายที่เอาความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งสำหรับผม จรรยาบรรณวิชาชีพกฎหมายคือ ต้องให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกความ ถ้าเรารับที่จะช่วยเหลือเขาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าต้องทำในสิ่งที่ขัดกับสิ่งที่เชื่อ หรือยึดถือ คงไม่ทำยังมีคนดีๆ อีกหลายคนที่ทำงานด้านนี้แล้วไม่ได้หวังผลเรื่องเงินขนาดนั้น เราสามารถทำได้ ทำวิชาชีพของเราให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ผมเลยอยากทำตรงนี้มากกว่า เพราะอยู่กับมันได้ การช่วยเหลือนั้นทำได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

การรู้กฎหมายในสังคมไทย?

เหมือนได้เรียนกฎหมายแล้วไปออกค่าย บางครั้งก็สงสาร สมมุติเขาไปทำอะไรแล้วไม่รู้กฎหมายก็อาจจะโดนเอาเปรียบ เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็น คือ รัฐบาลต้องให้การศึกษาอะไรกับเขา

เราไม่ได้ว่าเขาไม่ดีที่ไม่รู้ เพราะเขาไม่มีโอกาส อย่างผมอยู่กรุงเทพฯก็มีโอกาสเข้าถึงการเรียน เข้าถึงรัฐบาลมากกว่าชาวบ้านต่างจังหวัด ฉะนั้น น่าจะให้ความสำคัญกับการศึกษา การศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพคนซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องลงทุน

 

DSC_0167

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image