จุฬาฯสู่ปีที่100

ภาพจากเฟซบุ๊ก 'อภินิหารตำนานจุฬา'

คนเราหากอายุเกินร้อยถือเป็นเรื่องมงคล

บริษัทที่อายุครบ 100 ปี แสดงถึงความยั่งยืนมั่นคง…น่าชื่นชม

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงาน 99 ปี คืนเหย้า…ก้าวสู่ 100 ปี จุฬาฯ

ฟังแล้วรู้สึกอิ่มเอิบใจ…จุฬาฯมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459 ที่ผ่านโน้น ถือเป็นวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้ง ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อ กลายเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมมาจวบจนปัจจุบัน

ตลอด 99 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งสมประสบการณ์เอาไว้มาก

ในโอกาสที่จะก้าวสู่ปีที่ 100 ที่จะมาถึงในวันที่ 26 มีนาคม 2560 ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ จึงจัดกิจกรรมตลอด 12 เดือนเพื่อเฉลิมฉลอง

กำหนดการคิกออฟไปเมื่อวันครบ 99 ปี วันเสาร์ที่ 26 มีนาคมที่่ผ่านมา

กิจกรรมที่แลเห็นมาแล้ว คือการสร้างสรรค์โปรแกรมกราฟิก จัดทำเป็นแอพพลิเคชั่น “CenIVP” ใน “มุมมองจุฬาฯ 360 องศา” เพื่อนำนิสิตเก่ากลับบ้าน

กลับบ้านผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตที่อยู่ในมือ

ต่อไปนี้ นิสิตเก่าและปัจจุบัน เพียงคลิกเข้าไปในเว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมนิสิตเก่าฯ

คลิกเข้าไปแล้วจะเห็นจุฬาฯในหลากมุม ทั้งมุมสูง แนวราบ หรือจะเจาะจงแวะเวียนไปยังคณะต่างๆ ก็ได้

วันที่พบกับ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ มีโอกาสได้เห็นตัวอย่าง เห็นภาพที่ปรากฏคมชัด และยังมีประวัติให้อ่านคร่าวๆ

ชวนให้ระลึกถึง…พระคุณของแหล่งเรียนมา…

และนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมปีนี้เป็นต้นไป กิจกรรมมากมายจะทยอยออกสู่สายตาสาธารณะผ่านคณะต่างๆ ทั้ง 22 คณะของจุฬาฯ

ทั้งนี้ นายเทวินทร์ และกรรมการสมาคมได้เตรียมงานมาก่อนหน้าแรมปี

มีการประชุมหารือ และประสานงานกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งได้ไอเดียประกอบกิจกรรมตลอดระยะเวลา 12 เดือน

แต่ละกิจกรรมน่าสนใจ แต่ที่เป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่เพื่อสังคม น่าจะเป็นการสร้าง “ปอดกลางเมือง”

สร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี !

สร้างขึ้นในพื้นที่ของจุฬาฯตั้งแต่ถนนบรรทัดทองถึงจุฬา ซอย 9 โดยเนรมิตพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว

ปลูกต้นไม้ ปลูกจิตสำนึก ปลูกความรู้-รักษ์ในธรรมชาติ

โปรเจ็กต์นี้ทำสำเร็จเมื่อไหร่ชุมชนบริเวณรอบข้างรวมทั้งคนเมืองกรุงคงได้อานิสงส์ไปเยอะ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแสดงผลงานความสำเร็จของจุฬาฯตลอด 99 ปี เป็นผลงานทั้งที่รวบรวมเป็นหนังสือ และที่เป็นถ่ายทอดออกมาในรูปแบบรายการโทรทัศน์

ทั้งนำเสนอผลิตผลนวัตกรรมที่เคยทำมาแล้ว และวางแนวการปฏิรูปต่อไปอีก 100 ปี

กิจกรรมที่นายเทวินทร์เปิดเผยมี อาทิ โครงการจัดทำหนังสือ เริ่มตั้งแต่หนังสือ “พระบรมวงศานุวงศ์กับจุฬาฯ”

หนังสือชุดพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน

หนังสือ 100 เรื่อง 100 ปีจุฬาฯ หนังสือจุฬาฯสู่อนาคต

หนังสือ ปฐมศตวรรษ สถาปัตยกรรม เล่ม 1 2 และ 3

โดยจะมีนิทรรศการงานสถาปัตย์ และตั้งโต๊ะเสวนาศิลปินแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดนตรี CU Band ที่จะจัดคอนเสิร์ตรวมพลังศิลปินนักร้องนักดนตรีจุฬาฯ บริเวณพื้นที่กลางแจ้ง

มีการแสดง CU Orchestra CU-Chorus กับกิจกรรมแสง สี เสียง บอกเล่าประวัติจุฬาฯ ณ เทวาลัย

พร้อมบอกกล่าวเรื่องราวเกร็ดต่างๆ ที่เป็นตำนานของจุฬาฯผ่านทางมิวสิคัล

ส่วนรายการต่อเนื่องตลอด 1 ปี เห็นจะเป็นรายการ “100 ปีเกียรติภูมิจุฬา” ซึ่งบันทึกคุณความดีของนิสิตเก่า แล้วนำไปออกอากาศทางทีวีดิจิตอลและโซเชียล มีเดีย

เท่านั้นยังไม่พอยังมีโครงการบ่มเพาะที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Chula Start Up Fund

เป็นการนำเอางานวิจัยเจ๋งๆ นวัตกรรมใหม่สดมาปฏิบัติ ก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

ส่วนจะเป็นรูปธรรมแบบไหน อย่างไร คงต้องติดตามชมกันต่อไป

ชมไปพร้อมๆ กับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีอีกมาก

ทั้งหมดนี้ เฉลี่ยแล้ว 1 เดือน จะจัดขึ้น 2 กิจกรรม ส่วนกิจกรรมใดจะจัดวันวอเวลาไหน คงต้องรอรายละเอียด

นายเทวินทร์บอกว่า กิจกรรมทั้งหลายมีมาก ทุกกิจกรรมจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ จึงขอถือโอกาสที่จุฬาฯกำลังย่างก้าวสู่ปีที่ 100

ขอให้ชาวจุฬาฯร่วมใจ เอื้อมมือมาช่วยกัน ทำกิจกรรมในโอกาสมงคล เพื่อความเป็นมงคลของตัวเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ

ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลักดันกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปตลอด 12 เดือนให้ประสบผล

เฉลิมฉลองการครบรอบศตวรรษ…

ฉลอง 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image