หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา (6)

ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่า จีนไปได้เรื่องหนุมานมาจากอินเดียเมื่อครั้งพระถังซำจั๋งไปสืบพระศาสนา ได้เชิญพระไตรปิฎกไปจากอินเดีย นอกจากแปลพระไตรปิฎกแล้วก็คงได้อ่านเรื่องรามายณะด้วย และคนจีนสมัยดึกดำบรรพ์ก็มีความเชื่อว่าลิงสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ ผู้ที่เจ็บป่วยหรือประสงค์จะให้สำเร็จการศึกษาหรือการค้าก็จะบูชาลิง เรื่องลิงของจีนคุณจรัสศรี จิรภาส ได้เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เห้งเจีย” เป็นการรวบรวมเรื่องลิงจีนที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ส่วนญี่ปุ่นนั้นก็ว่าได้รับความเชื่อไปจากจีนอีกต่อหนึ่ง

ส่วนคนไทยจะรู้จักลิงมาแต่ครั้งใดไม่พบหลักฐาน มาปรากฏเรื่องขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีผู้ขุดพบโลหะรูปวานร (หนุมาน) สมัยทวารวดีที่นครปฐม ต่อมามีการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณเขาหลวง บ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเข้าใจกันว่าจะเคยเป็นชุมชนถลุงเหล็กเมื่อประมาณ 2500 ปี มาแล้ว (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ 24 ฉบับที่ 9 เดือนกรกฎาคม 2546) สิ่งสำคัญที่ขุดพบก็คือ แผ่นโลหะรูปหน้าลิง มีที่สำหรับร้อยสายใช้คล้องคอ จึงเข้าใจว่าในครั้งกระโน้นจะนับถือรูปลิงเป็นเครื่องรางกันมาแล้ว

เมื่อครั้งสงครามโลก ไทยมีนาฏศิลป์เพิ่มขึ้นอย่างหนึ่งเรียกว่า “โขนสด” คือไม่มีคนพากย์ คนแสดงร้องเอกและร้องแบบหนังตะลุงคือ ขึ้นต้นว่า “อ่อ ออ เอิง เงย” เช่น หนุมานออกตัวก็จะร้องว่า “อ่อ ออ เอิง เงย หนุมานชาญสมร กระบี่วานรพักผ่อนกายา”

“กระบี่” นั้นมาจากบาลีว่า “กปิ” แปลว่าลิง แต่วานรนั้น G.E.Gerini (พระสารสาสน์พลขันธ์) อธิบายว่า

Advertisement

“คำว่า ชาติวานร” ก็ไม่ควรเข้าใจว่าเป็นชาติวานรคือลิง สัตว์เดรัจฉานแท้ๆ คือเป็นแต่คำพวกชาวอินเดียเรียกชาวป่าอย่างหนึ่งว่าชาติวานร…นักปราชญ์ผู้ รู้ภาษาสันสกฤตก็อธิบายว่า “วานร” คำนั้นแปลได้สองอย่าง คือชาว “วน” หรือชาวป่าอย่างหนึ่ง “วา” แปลว่าเหมือนกับ “นะระ” แปลว่า คน รวมความแปลว่า เหมือนคนหรือชาติคล้ายคน คืออธิบายว่าเป็นมนุษย์ชาติชาวป่า ที่สมมุติเรียกเปรียบกันมาแต่ก่อนว่า พวกชาติวานรดังนั้นแท้ๆ”

ข้อความข้างต้น ย.อ.ย. (G.E.G) ได้เขียนไว้ในเรื่อง “พงศาวดารการศึกษาสงครามของพระรามาวตาร” ตีพิมพ์ในเหนังสือ “ยุทธโกษ” ร.ศ.115 และความเห็นนี้ก็คล้ายกับผู้สนใจเรื่องหนุมานคนอื่นๆ แต่การอธิบายความหมายจะผิดกันบ้างเล็กน้อย คือบางท่านเข้าใจว่า “”วานร”” มาจาก “วน” (vana) คือป่า หมายเอาเป็นคนป่าเลยทีเดียว ยกมากล่าวเพื่อให้ทราบความคิดของนักปราชญ์แต่ก่อนเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image