‘กรมชล’ เปิดแผนจัดการน้ำ 20 ปี รับอีอีซี พัฒนาของเดิม-พึ่งแหล่งน้ำในประเทศ

“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” 

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงจร เฉกเช่นในวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และค่อยเป็นค่อยไป

แต่กระนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการพัฒนา การศึกษาเพื่อหาแนวทางการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขอย่างเหมาะสม

เช่นเดียวกับในการวางแผนจัดการน้ำของระบบชลประทาน ที่นอกจากจะต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ เมื่อบ้านเมืองเกิดการขยายตัว วิถีชีวิตเปลี่ยน ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ “ความต้องการน้ำ” จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ภารกิจของ “กรมชลประทาน” ที่เพิ่มเข้ามา ไม่พ้น “การจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ” โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลต้องการยกให้เป็น “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ “อีอีซี” ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี

Advertisement

เพิ่มศักยภาพของเดิม
ปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง

ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา การบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุไว้ถึง ความสำคัญของพื้นที่อีอีซี ว่าตั้งอยู่ใจกลางของการเติบโตของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ เอเชียตะวันออก อินเดีย และอาเซียน เป็นประตูสู่เอเชีย เนื่องจากเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบขนส่งคมนาคมที่ทันสมัย ประกอบกับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ และมีงบลงทุนที่สูงที่สุดในภูมิภาคถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการกระจายรายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค กล่าวคือ จะเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะมีการวางแผนพัฒนาน้ำเพื่อรองรับอีอีซี ซึ่งมีการวางแผนในระยะยาวถึง 10 ปีนั้น คงต้องหันมาจัดการกับปัญหาเรื้อรังภายในประเทศเสียก่อน นั่นคือ “อุทกภัยและภัยแล้ง”

สอดคล้องกับที่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวในกิจกรรมสื่อสัญจรครั้งที่ 1 หลังลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาสภาพการณ์และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนร่วม ความตอนหนึ่งว่า ในการพัฒนาต้องศึกษาของเก่าก่อนพัฒนาของใหม่ ว่ามีอะไรอยู่แล้ว ต้องเพิ่มเติมอะไร เช่น มีแผนที่พัฒนาช่องทางระบายน้ำแก้มลิงที่มีอยู่ เนื่องจากประสิทธิภาพลดลงไปมาก

Advertisement

นายเฉลิมเกียรติกล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้กรมชลประทานยังมี โครงการศึกษาการปรับปรุงระบบชลประทานในลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง เพื่อพัฒนาพื้นที่ในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองสียัด คลองระบม และคลองหลวง มีความจุรวม 575 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาพื้นที่ชลประทานกว่า 4 แสนไร่

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์

เนื่องมาจากการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้ยังเผชิญปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานจึงพิจารณาก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำ และอาคารชลประทานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงเตรียมการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินมากขึ้น จากทุ่งนากลายเป็นชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และบ่อเลี้ยงปลา ทำให้พื้นที่สำหรับรองรับน้ำลดลง รวมทั้งอาคารชลประทานเดิมมีข้อจำกัด ลำน้ำเดิมตื้นเขินคับแคบ เมื่อน้ำหลากมาจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเสียหาย เพราะฉะนั้นจากแนวทางในการศึกษา ส่วนหนึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ เช่น เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหลวงจาก 98 ล้านลูกบาศก์เมตร อีก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่งในลุ่มน้ำคลองท่าลาด ความจุรวมประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดปริมาณน้ำหลาก

อ่างเก็บน้ำบางพระ อนาคตศูนย์กลางบริหารจัดการน้ำ จ.ชลบุรี สำหรับความต้องการใช้น้ำในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันยังต้องก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทาน ปรับปรุงลำน้ำให้กว้างขึ้น รองรับอัตราการไหลของน้ำได้มากขึ้น ปรับปรุงคลองส่งน้ำหรือท่อลอด ที่เป็นปัญหาต่อการไหลของน้ำหลากจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกก่อนลงแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสำคัญบางสายเพื่อช่วยหน่วงน้ำ และจัดจราจรทางน้ำบริเวณจุดรวมน้ำที่สำคัญคือ แยกคลอง 5 สาย ที่บริเวณ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ให้ดีขึ้น โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน เริ่มต้นในเดือน พ.ค. 2560 และจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค. 2561

แผนพัฒนาเพื่อรองรับอีอีซีในระยะ 20 ปี

นายเฉลิมเกียรติกล่าวเสริมว่า ด้านการรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในระยะ 20 ปีข้างหน้า มีการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปีละประมาณ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในพื้นที่ และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทองก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ

“อ่างฯคลองสียัดออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยซึ่งมีปริมาณปีละ 285 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงไม่เต็มอ่างฯ เป็นที่มาของแนวคิดผันน้ำส่วนเกินของอ่างฯคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว เนื่องจากน้ำล้นอ่างฯทุกปีมาเติม” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สถานีสูบน้ำพานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ใน จ.ชลบุรี ที่ได้รับผลกระทบ กรมชลประทานจึงต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย การประปาในแต่ละภูมิภาค และภาคการเกษตร ที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมีการกำหนดกรอบแนวทางขึ้นมาในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย ที่ทางกรมชลประทานให้ความสำคัญ

ในขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและรักษา สำนักงานกรมชลประทานที่ 9 กล่าวว่า ใน แผนพัฒนาเพื่อรองรับอีอีซี แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะ 10 ปี และ 20 ปี โดยใน แผนพัฒนาระยะ 10 ปี กรมชลประทานตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดหาน้ำเพิ่มอีก 354 ล้าน ลบ.ม./ปี ดังนี้

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค

1.แผนงานปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม (เพิ่มความจุ) อ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ประกอบด้วย หนองค้อ หนองปลาไหลบ้านบึง มาบประชัน คลองหลวง และคลองสียัด 2.แผนงานพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี 4 แห่ง ประกอบด้วย พะวาใหญ่ ประแกด คลองวังโตนด คลองหางแมว โดยในส่วนของคลองวังโตนดต้องขอให้ ครม.ช่วยเร่งรัด เนื่องจากหากไม่ผ่านการอนุมัติจัดสร้าง จะไม่สามารถผันน้ำเข้ามาใช้ได้ 3.แผนงานเชื่อมโยงแหล่งน้ำ/ผันน้ำ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงคลองชลประทานพานทองเพื่อรองรับระบบผันน้ำจากคลองชลประทานพานทองไปยังอ่างฯบางพระ และโครงการผันน้ำจากอ่างฯประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรี 4.แผนงานสูบน้ำกลับท้ายอ่างฯ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างประแสร์ และโครงการปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับอ่างฯหนองปลาไหล และ 5.แผนการป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง คือ อ.เมือง จ.ระยอง และลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง อ.พนัสนิคม อ.พานทอง จ.ชลบุรี (พื้นที่อุตสาหกรรม)

นอกจากนี้ยังมี แนวทางเพื่อรองรับความต้องการน้ำระยะ 20 ปี ที่ตั้งเป้าไว้ว่าต้องจัดหาน้ำเพิ่มขึ้นอีก 220 ล้าน ลบ.ม./ปี ประกอบด้วย 1.พัฒนาแหล่งน้ำในประเทศที่มีศักยภาพเพื่อการเกษตรร่วมกับอีอีซี และ 2.การผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงนอกพื้นที่อีอีซี (ในประเทศ) โดยในส่วนนี้นายเกรียงศักดิ์เผยว่า ในที่ประชุม ครม.สัญจร ครม.เห็นชอบในการจัดหาแหล่งน้ำใหม่ และในแผนการบริหารน้ำฉบับนี้เน้นที่การพัฒนาแหล่งน้ำภายในประเทศ ด้วยน้อมนำเอาพระราชดำริของในหลวง ร.9 “การระเบิดจากข้างใน” มาปรับใช้

กล่าวคือต้องพึ่งพาตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในที่นี้หมายถึงเราต้องหาแหล่งน้ำภายในประเทศ และพัฒนาศักยภาพที่มีให้ดีขึ้น

เร่งรัด ครม.อนุมัติอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
หวั่นผลกระทบลูกโซ่

นายมงคล ประสิทธิ์คุ้มเพียร หัวหน้ากองแผนและวิชาการ การประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 กล่าวว่า ในแผนพัฒนาเพื่อรองรับอีอีซี ระยะ 10 ปี ของกรมชลประทานนั้น ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมและทบทวนสิ่งแวดล้อมแล้ว และอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลเพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา วอนขอ ครม.ช่วยเร่งรัด เพื่อจะได้เริ่มโครงการรองรับการพัฒนาในระยะ 10 ปี เพราะหากไม่มีการดำเนินการจะเกิดผลกระทบต่อการประปาใน จ.ฉะเชิงเทราได้

นายมงคล ประสิทธิ์คุ้มเพียร

เนื่องจากในปัจจุบันการประปาใช้บริการน้ำจากกรมชลประทานกว่า 70% เป็นหลัก ส่วนอีก 30% ประกอบด้วยซื้อน้ำจากภาคเอกชน หรือในบางพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน จะมีการขุดอ่างเล็กๆ เก็บน้ำไว้ใช้ และในบางพื้นที่ที่เป็นรอยต่อน้ำไม่เพียงพอ ก็อาศัยการซื้อน้ำจากฝ่ายนครหลวงเข้ามาให้บริการ

นายมงคลกล่าวต่อว่า ใน 10 ปีต่อจากนี้อาจจะยังไม่เกิดผลกระทบแต่ในอีก 10 ปีถัดไปนั้นอาจได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ปริมาณน้ำเต็มประสิทธิภาพในการให้บริการ เนื่องจากในบางพื้นที่ เช่น ชลบุรี สร้างอ่างไม่ค่อยได้แล้ว ต้องอาศัยจังหวัดข้างเคียง เช่น จันทบุรี หรือ สระแก้ว ในการผันน้ำเข้ามาเพิ่มเพื่อต่อขีดความสามารถในการให้บริการครบทุกภาคส่วน

สำหรับการรองรับอีอีซีนั้น โดยเบื้องต้นการประปาได้ประสานหน่วยงานราชการก่อนตามที่มีนโยบายของทางรัฐบาลจัดลงมา อย่างเช่น ในพื้นที่แหลมฉบัง ที่ EECd ดิจิทัลปาร์ค พอเริ่มก่อสร้างก็จะมีการใช้น้ำ หรือในส่วนในทางบางจันท์ จ.จันทบุรี EECi และ ปตท.ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นโจทย์ที่ได้รับทราบมาว่าจะมีการลงทุน และอีกส่วนหนึ่งคือเมืองใหม่ ข้างสนามบินอู่ตะเภา ที่รัฐบาลจะประกาศเมืองใหม่ รวมไปถึง จ.ฉะเชิงเทรา ที่จะกลายเป็นเมืองน่าอยู่ ตรงนี้เราก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าสู่การวิเคราะห์ว่ามีความต้องการน้ำเท่าไหร่ เมื่อกรมชลประทานจะไปเพิ่มความจุตรงไหน เราก็ไปประสานงานตรงนั้น และวางท่อมาให้บริการ

วอร์รูมน้ำ เครือข่ายเข้มแข็ง
ภาคอุตสาหกรรม-รัฐ รับทิศทางน้ำ

นายโชคชัย ทวิสุวรรณ ผจก.แผนกวิศวกรรมแผนโครงการ East Water เผยว่า ในภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลเรื่องน้ำตั้งแต่ปี 2548 เพราะในปีนั้นมีปัญหาขาดแคลนน้ำ จากนั้นจึงมีการตั้งกลุ่ม ศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (Water War Room) ภาคตะวันออก ขึ้นมา ประกอบด้วย East water, กรมชลประทาน และผู้ใช้น้ำ โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะมาประชุมร่วมกันเพื่ออัพเดตสถานการณ์น้ำอยู่เสมอว่ามีปริมาณเพียงพอหรือไม่ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ เพราะในเรื่องสถานการณ์น้ำ ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและมีความกังวลมาก

นายโชคชัย ทวิสุวรรณ

ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการวางแผนงานจะมีการนำเสนอให้ทุกฝ่ายได้รับทราบในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการใช้น้ำ แนวโน้มการใช้น้ำ โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำเรื่องขอใช้น้ำเข้ามา เนื่องจากในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมทุกครั้งจะต้องมีการยื่นเรื่องขอใช้น้ำมาที่ East water และนำไปเก็บเป็นข้อมูล พอความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ได้นำไปเสนอในกลุ่มวอร์รูม และรับฟังข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เช่น โครงการไหนควรเร่งทำให้เสร็จก่อน หรือต้องเพิ่มเติมตรงไหน ตามลำดับความสำคัญ

หากกล่าวโดยภาพรวมแล้ว นับจากที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเมื่อปี 2548 ด้านแผนงาน และโครงการต่างๆ ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งประสบปัญหาอุทกภัยอีกครั้งในปี 2558 ซึ่งก็สามารถผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนงานที่เราวางไว้และดำเนินการจนแล้วเสร็จ โดยความร่วมมือของกลุ่มวอร์รูมที่นับว่าเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image