หลากมุมมองถึง ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ชีวิตและผลงาน ปัญญาชนแห่ง’ยุคสมัย’

วันที่ 5 พฤษภาคมนี้ เป็นวันครบรอบการจากไปครบ 50 ปีของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน ปัญญาชน และนักปฏิวัติชาวไทย

ผลงานที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกให้เราได้ศึกษา มีทั้งความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โฉมหน้าศักดินาไทย, อดีต ปัจจุบันและอนาคตสตรีไทย หรือกระทั่งตำนานนครวัด ฯลฯ ที่ยังคงทันสมัยและให้แง่คิดกับสังคมแม้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมากว่าครึ่งศตวรรษ

ในโอกาสนี้ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะผู้ดูแลวิชา มธ.111 ประเทศไทยในมิติทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา เรื่อง “จิตร ภูมิศักดิ์: ไทยสยาม ขอมเขมร กัมพูชา และอังกอร์” ที่ห้องริมน้ำ มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา

‘จิตร ภูมิศักดิ์’

2 ประเด็นกัดไม่ปล่อย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เพื่อฉายให้เห็นภาพของชายชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” เริ่มต้นด้วยการบรรยายของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำถามที่น่าคิดว่า ถ้าผมสนใจจิตร จะสนใจแง่ไหน?

Advertisement

สุทธาชัยมองว่าจิตรเป็นชาวลัทธิมาร์กซ์ งานของจิตรมีร่องรอยของมาร์กซ์ คือ หารากเหง้าของประชาชนชนชั้นล่าง เขาไม่สนชนชั้นนำเลย

“จิตรเป็นลัทธิมาร์กซ์เมื่อไหร่ ตอนเด็กๆ เขาใช้ชีวิตที่พระตะบอง สมัยนั้นไม่ใช่กัมพูชา แต่เป็นส่วนหนึ่งของไทย ตอนนั้นเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม ซึ่งพ่อของจิตรเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ถูกส่งไปประจำที่พระตะบอง เขาเลยโตที่นั่น เข้าใจว่าจิตรอาจจะถูกโจมตีว่าเป็นเขมร พอหลังสงครามไทยต้องคืนดินแดน จิตรต้องย้ายกลับมา แม่ย้ายมาทำงานที่ลพบุรี

“มองว่าจิตรวัยเด็ก จิตรเป็นนักชาตินิยม เคียดแค้น โกรธ หวังว่าวันหนึ่งเขาจะตีเอาดินแดนคืน เข้าอักษรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2493 เริ่มฉายแววว่าเป็นกวีที่มีความสามารถ แต่ช่วงนั้นหลังการปฏิวัติจีน เป็นยุคเฟื่องฟูของสังคมนิยมในเอเชีย สุภา ศิริมานนท์ ออกหนังสือชื่อ อักษรสาส์น เป็นความรู้ทั่วไป คณะอักษรศาสตร์เองก็เป็นสังคมนิยมมากขึ้น มีคนเขียนบทความประมาณว่าโลกต้องเป็นสังคมนิยม แล้วจิตรก็อ่าน คิดว่าจิตรตื่นตัวและสนใจลัทธิมาร์กซ์ช่วงนี้” สุธาชัยกล่าว

Advertisement

ย้อนให้ฟังอีกว่า ในช่วงปี พ.ศ.2493 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นักศึกษาก้าวหน้ามาก มีหนังสือเชิงสังคมนิยมมากมายมหาศาล แต่น่าแปลกว่าจุฬาฯ เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีใครเคลื่อนไหว คิดว่าจิตรคงอึดอัดมาก ในที่สุดปี 2496 จิตรได้ทำหนังสือ “๒๓ ตุลา” ของจุฬาฯ เขียนบทความหลายเรื่อง มีชิ้นหนึ่งวิจารณ์ศาสนา วิจารณ์พระ ที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย นี่กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จุฬาฯรับไม่ได้ นำมาสู่การที่จิตรถูกโยนบก หนังสือถูกยึดก่อนเผยแพร่ และถูกพักการเรียน

pra01280359p1

มีสองอันที่น่าสนใจ คิดว่าจิตรมีประเด็นที่สนใจและกัดไม่ปล่อยอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ ศาสนาและปัญหาสตรี

สุทธาชัยบอกว่า หนังสือที่ออกมา “โฉมหน้าศักดินาไทย” คิดว่าในสมัยนั้น พ.ศ.2500 เป็นเรื่องตื่นเต้นมากๆ ก้าวหน้า เล่มนี้การค้นคว้า การอ้างอิง ใช้หลักฐานน่าจะล้ำยุคไป 15-20 ปี ความน่าตื่นเต้นคือการใช้ข้อมูลละเอียดมาก จุดเด่นของเรื่องนี้คือ จิตรให้ความสำคัญมากกับลักษณะทางวัฒนธรรมของศักดินา การศึกษา และสตรี จิตรถูกจับทันทีที่รัฐประหาร เพราะถูกมองว่าเป็นตัวอันตราย นักคิดนักวิชาการไทยอันตรายเสมอ เพราะว่าเผด็จการคับแคบ ประเด็นที่จิตรกัดไม่ปล่อยคือ สตรี

“หรืออย่าง ‘อดีต ปัจจุบัน อนาคตสตรีไทย’ มองว่าเป็นงานที่เด่นที่สุดในเรื่องสตรีไทย เพราะไปไกลกว่างานค้นคว้าสตรีก่อนหน้านี้มหาศาล ก่อนหน้านี้มีงานประเภทนี้ แต่ไม่หนักแน่นและเป็นระบบนัก ประเด็นหลักคือ อธิบายสถานะสตรีในระบบศักดินา ที่เป็น sex object วัตถุทางเพศอย่างเดียว”

เขียนหนังสือในคุก

งานที่ลบล้างความ’คลั่งชาติ’

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มต้นเสวนาด้วยการโชว์หนังสือเล่มหนึ่งของจิตรที่มีอิทธิพลต่อผู้สนใจเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นอย่างมาก นั่นคือเล่มที่มีชื่อปกว่า ‘ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ของสำนักพิมพ์สยาม

“ผมมีหนังสือของจิตรจำนวนมาก ห่อปกพลาสติกอย่างดี เก็บไว้อย่างเรียบร้อย เล่มนี้เมื่อหยิบขึ้นมา คำถามแรกคือ หนึ่งสัปดาห์จะอ่านไหวไหม เมื่อเริ่มอ่านคำนำครั้งที่ 1 ซึ่งเขียนโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อ 20 มิถุนายน 2519 ก็เห็นว่าเป็นหนังสือทรงคุณค่า แต่ก็ยากที่จะกล้ำกลืน คำนำบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนในคุก หลังการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 จิตรถูกจับเข้าคุก หลังจากนั้นก็อยู่ในคุกจนถึงธันวาคม 2507 ซึ่ง 6 ปีที่อยู่ในคุก จิตรนั่งเขียนงานจำนวนมาก เมื่อออกมาก็เอาต้นฉบับไปให้สุภา ศิริมานนท์ สุภาเอาต้นฉบับของจิตรใส่กล่องขนมปัง ฝังดินไว้ในสวนที่บ้าน ผ่านไป 10 ปีก็ขุดขึ้นมา มามอบให้มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นั่นคือการเริ่มต้นของการดูต้นฉบับและเป็นที่มา”

ธำรงศักดิ์กล่าวว่า จิตรพัฒนางานตั้งแต่ พ.ศ.2493 ทศวรรษนั้นสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือเรื่องอยุธยา สุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารึกสุโขทัย แม้แต่นักกฎหมายอย่าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ยังลงมาเล่นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง ส่วนหลวงวิจิตรวาทการก็เป็นคนสร้างแนวคิดเรื่องการสร้างมหาอาณาจักรไทย ที่มีงานออกมาในรูปนิยาย ละคร และเพลง ทำให้เกิดอุดมการณ์เกรียงไกรมาก หลวงวิจิตรวาทการกลับมาอีกครั้งและฟื้นสุโขทัยให้ยิ่งใหญ่

“งานเขียนชิ้นนี้ของจิตรที่เริ่ม คือ ต่อต้านความคิดความรู้ในมหาอาณาจักรไทย อุปทานของความคลั่งชาติ หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค ภาคแรกบอกว่าสยามคือใคร, ภาคที่ 2 ใครคือขอม 2 ภาคแรก จิตรพยายามบอกว่า สยามคือใคร ถ้าอ่านแบบดูหนัง จะรู้ว่าจิตรต้องการคุยอะไรกับเรา เมื่อจิตรเริ่มต้นว่า ดร.บรรจบ ไปเจอคนอัสสัม มีนามสกุลว่าสยาม จิตรบอกว่า อย่าเชื่อ อาจเป็นแค่คำพ้องเสียง จิตรตามหาคำว่า ‘ชาม/สยาม’ ในสายตาอัสสัม ทุกคนมองท่านอย่างไร ท่านมองตัวเองอย่างไร คนอื่นมองท่านอย่างไร”

ธำรงศักดิ์บอกว่า จิตรทำให้เราตามไปเรื่อยๆ ว่าใครมองอะไร ในแต่ละบท ซึ่งบทที่ 16-17 จิตรจะบอกว่า สยามเป็นชื่อที่ถูกเรียกมาจากตรงไหนในโลกโบราณ สยามเพิ่งถูกเรียกให้กลายเป็นชื่อรัฐโดยรัชกาลที่ 4 สมัยยังทรงผนวชเป็นภิกษุ เวลาส่งทูตไปไหนท่านจะใช้ว่ามาจากสยามรัฐ ส่วนก่อนหน้านั้นจิตรบอกว่า ใช้คำว่า ชาม ซาม สาม เสียม

“ขณะที่ในภาคที่ 2 จิตรบอกว่า ในดินแดนเหล่านี้มีคนที่ถูกเรียกว่าอะไรบ้าง จิตรบอกว่าลักษณะ 2 ด้านของชื่อชนชาติ คือ ถูกดูถูก เช่น เจ๊ก อีกด้านคือ ‘ข้าคือคน’ จิตรยกตัวอย่างเรื่อง ข่า เยอะมาก ข่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับไปเป็นขี้ข้า กดต่ำในสังคม ข่าพยายามหาทางออกของตัวเองกระทั่งเป็น ลาวเทิง ที่จิตรบอกว่าเป็นการบอกว่า ข้าคือคน ต่อให้แกจะเรียกยังไง ข้าคือส่วนหนึ่งที่สร้างประเทศลาว โปรดเรียกข้าว่า ลาวเทิง

“พออ่านหนังสือของจิตร อ่านไปอ่านมา อารมณ์ความเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนอื่นเริ่มเข้ามา อ่านเสร็จแล้วจึงรู้ว่า ประชาธิปไตยเป็นทางออกของประเทศไทย” ธำรงศักดิ์กล่าวปิดท้ายอย่างน่าคิด

และหนังสือความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ นี่เองที่เขาบอกว่า ช่วยลบล้างความคลั่งชาติแบบผิดๆ

ผู้’เปิดทาง’

เขมรศึกษาที่ล้ำยุค

ศานติ ภักดีคำ
ศานติ ภักดีคำ

ขณะที่ ศานติ ภักดีคำ จากสาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พูดถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็นผู้ที่ “เปิดทาง”

โดยอธิบายให้เข้าใจด้วยว่า ยุคนั้นถ้ามองกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทย จิตรเขียนเรื่องความเป็นมาของคำสยามฯ, ตำนานนครวัด ฯลฯ ซึ่งในช่วงนั้นการศึกษาเรื่องเขมรศึกษาสำหรับประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ลี้ลับมาก ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แม้จะมี อ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ ซึ่งเกิดที่พระตะบอง แล้วมาบวชที่กรุงเทพฯ แล้วได้ทำงานที่สำนักหอสมุดและกลายเป็นนักอ่านจารึก ที่สุดก็โอนสัญชาติมาเป็นคนไทยอาจเรียกว่าเป็นคนแรกของไทยที่เปิดมิติเรื่องการอ่านจารึก แต่การศึกษาเรื่องที่จะลงไปในเชิงนิรุกติศาสตร์ของเขมรโบราณ เราอาจจะเรียกได้ว่าจิตรเป็นคนแรกที่นำเสนอประเด็นนี้อย่างเป็นระบบที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษามา

การนำเสนอของจิตรเป็นการเปิดมิติใหม่ในสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาภาษาเขมรโบราณอย่างเป็นระบบมาก่อน แม้จะมีการพูดถึงจารึกอยู่บ้าง แต่ว่ายังไม่มีการจัดระบบหรืออธิบายเชิงนิรุกติศาสตร์ชัดเจนนัก แต่จิตรก้าวหน้าและมีความรู้หลายแขนง ที่จะนำมาสังเคราะห์ให้เกิดความรู้ใหม่ๆ

ศานติบอกว่า ถ้าอ่านตำรานิรุกติศาสตร์ ที่มีบทความหรือผลงานของจิตรสอดแทรกอยู่ จะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภาษาเขมรโบราณ เช่น คำว่ากลาโหม จิตรแทบจะเป็นคนแรกที่เปิดประเด็นว่าคำว่ากลาโหมไม่ได้มาจากสันสกฤต แต่เรารับมาจากเขมรโบราณ โดยอ้างอิงจารึกเขมรโบราณทั้งที่พบในประเทศไทย และบันทึกของ ยอร์ช เซเดส์ นี่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่อาจเรียกว่าล้ำยุคเกินสมัยสำหรับคนในยุคนั้น

นักวิชาการหนุ่มยกตัวอย่างที่จิตรอธิบายคำเดียวนี้ไว้ว่า

“กลาโหม” ถ้ามองเชิงสันสกฤต คำว่า “โห-มะ” เป็นสันสกฤต แน่นอน แต่ ‘กลา’ จิตรเทียบกับทั้งเขมรโบราณ ใช้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว งานของจิตรได้ค้านกระแสสังคม และนักวิชาการสมัยนั้น อย่าง เถา ศรีชลาลัย, หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งต่างบอกว่าขอมไม่ใช่เขมร แต่เป็นชาติพันธุ์ที่สาบสูญไปแล้ว

“กลาโหม” มาจาก “กรลา” ตรงกับคำไทยว่า “กะลา” แต่เขมรปัจจุบันใช้ “กฬา” ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่นอกเหนือจากว่ามาจากไหน แต่จิตรยังเป็นคนที่เปิดประเด็นว่า ทำไมคนเอาคำนี้มาใช้ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับทหาร

เพราะด้วย “กรลา” แปลว่าสถานที่ ส่วน “โห-มะ” คือ “พิธีบูชาไฟ” จิตรยังเชื่อมโยงไปยังภาพที่ปราสาทหิน แถบเดียวกับเสียมกุกมีภาพการแห่ และบอกว่า เวลากองทัพจะยกไปรบ จะมีบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคนที่ดูแลสถานที่บูชาไฟ คือ สมุหพระกลาโหม ดังนั้น เมื่ออยุธยารับคตินี้มา ทำให้เราเอาคำนี้มาใช้กับทหาร แล้วเป็นตำแหน่งที่คู่กับ สมุหนายก (สมัยพระบรมไตรโลกนาถ)

“น่าสนใจมาก ว่าจิตรไปถึงขั้นตรงนั้นแล้ว ขณะที่นักวิชาการอื่นของไทยยังไปไม่ถึง งานของจิตรคือ ก้าวหน้า ล้ำยุค ในช่วงเวลานั้นๆ แม้กระทั่งตอนนี้ ยังมีการศึกษาเรื่องนี้ไม่มากนัก แม้บทความเรื่องพิมาย จิตรก็อ้างการศึกษาเรื่องจารึก เขาเป็นคนแรกที่เขียนว่า พิมายสร้างก่อนนครวัด แต่ปัจจุบันที่เราพูดถึงนครวัด เรามักจะบอกว่า พิมายเป็นศิลปะแบบนครวัด ทั้งที่พิมายเป็นต้นแบบนครวัด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในบันทึกชัดเจน” ศานติกล่าว

ถ้ามองในแง่นิรุกติศาสตร์ จิตร เป็นคนแรกที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผยลงสื่อ ให้คนทั่วไปได้อ่านทำความเข้าใจในเรื่องนี้

งานของจิตร นอกจากเห็นมิติอิทธิพลของคำเขมรโบราณ ศานติมองว่า ยังมีมิติในทางกลับกัน

“จิตรเป็นคนแรกที่มองว่า เขมรก็ได้รับอิทธิพลอยุธยาไปเหมือนกันเช่น ตำแหน่งยศ โดยจิตรเปิดประเด็นให้เห็นว่า ไทยไม่ใช่ผู้รับเขมรโบราณเท่านั้น แต่ไทยยุคต้นรัตน โกสินทร์ ก็ส่งอิทธิพลไปถึงกัมพูชาด้วย ทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของผู้รับและผู้ให้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ถ้าเขายังอยู่ เราคงได้อ่านวิทยานิพนธ์ที่เขาร่างไว้ แต่ไม่ได้เขียน ถ้าเขียน จะมีงานมาสเตอร์พีซ อีกชิ้นทันที” ศานติกล่าว

อัจฉริยะแห่ง’ยุคสมัย’

แม้ยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นักวิชาการรุ่นใหม่อีกคนรับช่วงต่อพูดถึงผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนไปดูพระปรางค์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และที่ลพบุรี ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกัน และจิตรเป็นคนแรกที่เปิดประเด็นในเรื่องเหล่านี้

นักวิชาการหนุ่มบอกว่า จิตรเปิดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ 2 ชาติ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลงมา เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จิตรบอกว่าต้องเป็นโองการแช่งน้ำพระพัทธะสัตยา หมายถึง ข้อผูกมัดสัตย์สาบาน ซึ่งตรงกับการแช่งน้ำ

“สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม คือ งานของจิตรที่เป็นงานวิชาการ ทั้งหมดทำในคุกช่วงอายุ 28-33 ปี อย่างหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้ง 3 เล่มนี้ประหลาดมาก เพราะพูดถึงรอยต่อที่บางคนเรียกว่า ยุคมืดของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตอนแรกผมยังไม่เข้าใจในอัจฉริยภาพของจิตร แต่มาคิดถึงตัวเองว่า ผมคงทำไม่ได้หากไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่เขาทำได้ ทำในคุกด้วย

“สิ่งที่จิตรทำออกมา สะท้อนให้เห็นว่าจิตรอ่านข้อมูลที่เป็นภาษาฝรั่งเศสเยอะมากๆ ตัวชิ้นงานที่จิตรใช้ สิ่งที่จิตรใช้ ที่ไม่ใช่แค่จารึก แต่มีโบราณสถานและหลักฐานเชิงประจักษ์อื่นๆ นอกจากนี้เขายังใช้ตำนานและนิรุกติศาสตร์ ด้วย” ศิริพจน์กล่าวทิ้งท้าย

นี่คือหลากหลายนักวิชาการที่ได้มาให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตและผลงานของปัญญาชนที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย

เนื่องในวาระใกล้ครบรอบ 50 ปี การจากไปของเขา

“จิตร ภูมิศักดิ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image