‘All Things Must Pass’-บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ทางดนตรีจาก Tower Records

ในยุคก่อนหน้านี้ ไม่มีใครปฏิเสธอิทธิพลของ Tower Records ในฐานะร้านเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ ด้วยเอกลักษณ์คู่สีแดงเหลืองและตัวอักษรเด่นเป็นสง่า ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1960 ที่เมืองซาคราเมนโต โดยรัสเซลล์ โซโลมอน ก่อนจะขยับขยายสาขาสู่ทั่วโลก-รวมถึงประเทศไทย

และนี่เป็นอีกครั้งที่ Documentary Club นำสารคดีชิ้นดีส่งตรงให้ถึงโรงภาพยนตร์ กับเรื่องราวตำนานที่ยังตรึงอยู่ในความทรงจำของคนฟังเพลงจำนวนมากในโลกอย่าง All Things Must Pass

 

Untitled

Advertisement

 

กล่าวสำหรับคนอายุ 30 ขึ้นไปหรือใกล้เคียง ชื่อ Tower Records คือหนึ่งในความทรงจำทางดนตรีที่มีร่วมกันอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ มากบ้างน้อยบ้าง หลายคนคงเคยไปแกร่วรอเพื่อนในร้านแถวสยาม รู้จักเพลงใหม่ๆ จากที่นั่นและอาจจะออกมาโดยไม่ได้ซื้ออะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ร่วมพูดคุยและถกเถียงกับพนักงานในร้านที่รู้เรื่องดนตรีดีเหมือนกางนิตยสารอ่าน

แต่สำหรับคนที่โตมากับยุค MP3 และการโหลดไฟล์เสียง (ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจการขายแผ่นเสียงของ Tower Records พังทลายลง) อาจไม่เข้าใจว่า ลำพังร้านเพลงร้านหนึ่งจะมีอิทธิพลอะไรกับคนในยุคนั้นนักหนา หรือวาดภาพบรรยากาศอันอุ่นหนาฝาคั่งด้วยคนฟังเพลงภายในร้าน จนการกลับมารวมตัวกันของพวกเขาเกือบจะเป็นงานเลี้ยงรุ่นย่อยๆ ไม่ออก

Advertisement

อาจทำให้คนอายุน้อยกว่า 30 หรือไม่มีประสบการณ์ร่วมกับร้านดนตรียักษ์ใหญ่ป้ายเหลืองแดงนี้หวั่นใจไปว่าจะดูหนังไม่สนุก

แต่ไม่ต้องกลัว โคลิน แฮงส์-ผู้กำกับ และชาว Tower Records ทำให้ทุกอย่างในเรื่องน่าดูมากๆ แม้เราไม่เคยไปเหยียบร้านแม้สักครั้ง

และนี่คือ 6 ข้อว่าทำไมวัยรุ่นควรไปดู All Things Must Pass

large_large_5JYu2MZaKHVHGQDo8uKo2oB0McO

 

1. นี่คือหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ทางดนตรี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tower Records คือหนึ่งในหน้ากระดาษของประวัติศาสตร์ดนตรีอเมริกัน จากยุคร็อกแอนด์โรล สู่ดิสโก้ และเข้าสู่ความเป็นเพลงป๊อปเต็มตัวในระยะหลัง

ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นบันทึกเส้นทางดนตรีที่ผูกพันกับเพลงและค่ายเพลงมากยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เมื่อกระแสดนตรีเปลี่ยน เทรนด์ฟังเพลงเปลี่ยน แผ่นเสียงในร้านย่อมเปลี่ยน หนังชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกระแสดนตรีและจบลงของมันอย่างเรียบง่ายเหมือนตัวร้านเอง

 

2. แสดงวิวัฒนาการบันทึกเสียงในโลกการฟังเพลง

นอกเหนือจากการบันทึกกระแสเพลงอเมริกัน All Things Must Pass ยังทำให้เห็นถึงเทคโนโลยีด้านการบันทึกเสียง เมื่อการเป็นเจ้าของบทเพลงสักเพลงยังทำไม่ได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก และคนที่พูดคุยเรื่องดนตรีด้วยได้ก็ไม่ได้หาเจอง่ายๆ เหมือนในโลกออนไลน์ อะไรจะดีไปกว่าการมุ่งหน้าเข้าสู่ร้านขายแผ่นเสียง ร่วมคัดสรร พูดคุยและถกเถียงกับลูกค้า-พนักงานร้านจนให้บรรยากาศผูกพันกันเหมือนครอบครัวใหญ่

แต่แผ่นเสียงก็ถูกแทนที่อย่างช้าๆ ด้วยแผ่นซีดีที่บันทึกเสียงได้คมชัดกว่าแม้จะต้องจ่ายแพงขึ้นอีกนิด ซึ่งลำพังนั่นก็เป็นปัญหามากพออยู่แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเท่ากับการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตและการดาวน์โหลดไฟล์เพลงอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และคาราคาซังกันอยู่ในโลกของคนดนตรีนั่นเอง

แต่สำหรับคนวัย 25 ลงไป การเกิดขึ้นของ MP3 และไฟล์เพลงย่อมเป็นที่น่าสนใจเสมอ และ All Things Must Pass ก็ไม่ลืมที่จะบอกเรื่องราวของมันไว้ในหนังเรื่องนี้ผ่านรอยยิ้มและคราบน้ำตาของทีมงาน

3. ฟังดนตรีหลากรส

นับเป็นหนึ่งในคุณงามความดีของหนังที่ทำให้ได้ฟังแทร็กสุดฮิตของยุค 70 ไล่เรื่อยมาจนยุค 90 ที่ก็แน่นอนว่าสำหรับหลายๆ คนแล้วอาจยังไม่เคยได้ยินชื่อเพลง นี่นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความรู้จักกับเพลงฮิตของคนรุ่นลุง รุ่นป้า น้า อา ที่เมื่อครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยใช้เวลาช่วงหนึ่งในชีวิต รัก เพ้อ และบ้าคลั่งไปกับดนตรีเหล่านี้เหมือนเราๆ นี่เอง

ewrwer

4. ไอดอลของเราที่ครั้งหนึ่งก็เคยบ้าคลั่งไปกับ Tower Records

อย่างเดฟ โกรห์ล (ฟู ไฟเตอร์ส) ที่ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมายนักที่อยากเป็นพนักงานของ Tower Records นอกเหนือจากการได้ฟังเพลงดีๆ และได้ไว้ผมทรงฮิตสมัยนั้นไปพร้อมๆ กัน หรือเอลตัน จอห์น ที่ทุกวันอังคารตอน 10 โมงเช้าจะต้องนั่งลิมูซีนไปซื้อเพลงจากร้าน จนร้านต้องขยับมาเปิดตอน 8 โมงให้เขาในที่สุด

 

5. โหด มันส์ ฮาตามประสาคนดนตรี

ความที่เป็นหนังที่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของการตั้งร้านดนตรี ที่ก็ก่อตั้งด้วยความใจถึงและบ้าบิ่น ด้านหนึ่งมันจึงเป็นแหล่งรวมมนุษย์ที่ทำอะไรสุดขีดขั้วมาอยู่ด้วยกัน และนั่นเองที่ทำให้หลายๆ จังหวะของหนังเรียกเสียงหัวเราะลั่นโรง ทั้งพนักงานผู้ที่เมามาแล้วแต่ยังมีแรงมาเปิดร้านด้วยความรับผิดชอบ หรือความบ้าไม่คิดหน้าคิดหลังของหัวหน้าที่นำมาสู่เรื่องเพี้ยนๆ ที่เรียกเสียงฮาได้ในท้ายที่สุด

 

6. หัวเราะร่า น้ำตาริน

จะมากน้อย สำหรับหลายๆ คน Tower Records อาจเป็นสถานที่ที่มากกว่าการมาฟังเพลงฟรี, รอเพื่อน, เดตแฟน แต่ย่อมเป็นพื้นที่ของความทรงจำส่วนหนึ่งที่ได้รู้จักกับโลกของดนตรีอเมริกัน ในวันที่อินเตอร์เน็ตยังไม่ทรงพลังอย่างวันนี้ จะมีอะไรที่เป็นสื่อได้ดีกว่าแผ่นเสียงดีๆ สักแผ่นและเพื่อนร่วมฟังเพลงที่เพิ่งรู้จักกันในร้าน และการได้เห็นพื้นที่เหล่านี้ปิดตัวลงอย่างสงบ ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปวันต่อวัน จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ปวดหัวใจไม่น้อย

แต่การเกิดขึ้นและจากไปของ Tower Records คือสิ่งยืนยันได้ดีถึงการไม่อาจทวนกระแสเชี่ยวกรากของเทคโนโลยี รวมถึงการดิ้นรนเอาตัวรอดของคนในวงการดนตรี และเหนืออื่นใด นี่เป็นหนังที่ฉายให้เห็นเพื่อนร่วมงานที่รักและผูกพันลึกซึ้งยิ่งกว่าเพื่อนร่วมงาน ลูกค้าที่สนิทและวางใจพนักงานเสมือนเพื่อนอีกคนในชีวิต

และท้ายที่สุด-เหล่าคนบ้าพลังที่ร่วมกันก่อตั้งร้านขายเพลงที่เป็นมากกว่าร้านขายเพลง

กระทั่งกลายเป็นตำนานอยู่ในทุกวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image