บันทึกประวัติศาสตร์ ‘มหากาพย์เขาพระวิหาร’ จากมุม ‘นพดล ปัทมะ’

pra01290359p1

ข้อพิพาทเก่าแก่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 และศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้ตกเป็นของประเทศกัมพูชา ไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลอันเป็น “ปัญหา” ตกค้างมาจนกระทั่งทุกวันนี้

กำลังพูดถึงกรณี “ปราสาทพระวิหาร”

บางคนเรียกว่านี่คือ “ระเบิดเวลา” ที่หลงเหลือมาจากยุคอาณานิคม เห็นว่าเป็น “ประวัติศาสตร์” บาดหมางที่ต้องร่วมกันชำระและทำความเข้าใจกันสักยกใหญ่ และมองข้ามความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของนั้นไป

Advertisement

ไทย-กัมพูชา ควรมีท่าทีในการจัดการปราสาทพระวิหารที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

ข้อพิพาทที่สิ้นสุดไปแล้วกว่า 40 ปี กลายมาเป็นเรื่องเป็นราวเข้มข้น ในห้วงยามที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตปัญหาทางการเมือง

ปราสาทหินบนเทือกเขาพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อจัดการคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทว่าเมื่อถึงเวลาสูญเสีย กลับกลายเป็นประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน

Advertisement

หนึ่งในห้วงยามที่เข้มข้นที่สุดคงหนีไม่พ้นช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี พ.ศ. 2551 ขณะที่ สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่ นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

กลายเป็นคดีความที่ นพดลต้องต่อสู้ โดยเฉพาะกับข้อครหา “ขายชาติ” มายาวนานกว่า 7 ปี กว่าที่ฝุ่นควันต่างๆจะคลี่คลาย

ทั้งหมดเขาได้เล่าไว้ใน “บันทึกประวัติศาสตร์ มหากาพย์เขาพระวิหาร” หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งจะออกจากแท่นพิมพ์สดๆ ร้อนๆ

มหากาพย์’คดีความ’
ลำดับแห่งเรื่องราว

“คำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกับพูชา แม้ไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ นอกจากนั้นยังถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนไปลงนาม”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคม 2551 ส่งผลให้กำลังใจของนพดลแทบจะหล่นหายไปในความรู้สึก

“คำแถลงการณ์ร่วม” ที่เขาและเจ้าหน้าที่ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อปกป้องเขตแดน กลับถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเรื่องของการทำให้เสียดินแดน รัฐมนตรีต่างประเทศผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่างเขาถูกข้อครหาว่า “ขายชาติ”

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความแปลกแปร่งของคำวินิจฉัยที่ออกมา กรณี “อาจมี” หรือเห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมนี้เป็น “หนังสือสัญญา”

pra01290359p2
“ผมทราบเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้จากเอสเอ็มเอสของเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ขณะที่เครื่องบินกำลังเคลื่อนตัวเข้าหารันเวย์เพื่อบินจากสนามบินโตรอนโตไปลอนดอน เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ควิเบก แคนาดา ในระหว่างนั่งเครื่องบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ผมก็ตัดสินใจแล้วว่าจะลาออกและเริ่มเขียนคำกล่าวที่ใช้ในการแถลงข่าวลาออก แม้สิ่งที่ผมและกระทรวงกระทำไปเพื่อปกป้องดินแดนก็ตาม ผมใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจ เพราะผมต้องการให้รัฐบาลซึ่งมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนำสามารถฝ่ามรสุมการเมืองแก้ปัญหาประชาชนต่อไป”

คือ ความรู้สึกตอนหนึ่งของนพดล บันทึกไว้ในช่วงนี้

ในหนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์ มหากาพย์เขาพระวิหาร” หากใครได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบจะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน ที่แฝงฝังอยู่ในการอธิบายข้อโต้แย้งต่างๆ

ดังนั้น แม้จะมีคำเฉพาะซึ่งเกี่ยวกับ “คดีความ” อยู่เยอะ แต่ทว่าก็อ่านเข้าใจได้ง่าย ยิ่งในส่วนที่เหมือนการถาม-ตอบ คล้ายผู้เขียนได้กำลังชักชวนเราคุย และระบายความในใจที่เขาอัดอั้นนั้นให้เราได้ฟัง

กล่าวสำหรับลำดับของเรื่องคดีความ นพดลได้บันทึกไว้อย่างละเอียด โดยสรุปคือ

ในปี พ.ศ.2549 กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ในคำขอนั้นแนบแผนที่รุกล้ำที่อ้างสิทธิทับซ้อนไปด้วย (ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไทย และกัมพูชาต่างอ้างสิทธิในพื้นที่นี้) ไทยคัดค้านคำขอ จนคณะกรรมการมรดกโลกมีมติเลื่อนออกไปในการประชุมสมัยหน้า ปี พ.ศ.2551 ที่ประเทศแคนาดา

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 นพดล ปัทมะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหลือเวลา 5 เดือนก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น

เขาและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเร่งทำงานอย่างหนัก เพราะคำขอของกัมพูชายังคงค้างอยู่ในวาระพิจารณารอบนี้ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ คือ ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามคำขอนั้น พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจะมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเสียไป

มีการพยายามเจรจาตกลงเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน แต่ก็ไม่เป็นผล

จนที่สุด นพดลและเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเดินทางไปหารือ 3 ฝ่ายที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ไม่ให้นำขึ้นทะเบียนมรดกโลก ให้ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาอยู่แล้วเท่านั้น

กลายเป็น “คำแถลงการณ์ร่วม” ที่กัมพูชายอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีเรื่องพื้นที่ทับซ้อน

“การขึ้นทะเบียนมรดกโดยเฉพาะตัวปราสาทตามแนวทางของคำแถลงการณ์ร่วม จึงช่วยไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเป็นมรดกโลก และทำให้ไทยสามารถรักษาสิทธิทางเขตแดนไว้อย่างสมบูรณ์…กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน” นพดลกล่าวไว้ในบทคัดย่อของหนังสือ

และคำแถลงการณ์ร่วมนี่เองที่ถูกนำมาบิดเบือน ใช้เป็นเครื่องมืออย่าง “จงใจ” และ “ไม่รู้ข้อมูล” หรือ “พวกมากลากไป” ในห้วงยามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “ม็อบเสื้อเหลือง” ในช่วงเดียวกันนั้น

เกิดคดีความต่างๆ ตามมาถึงตัวนพดล ดังที่เป็นข่าวทราบกันดี

แต่เหนืออื่นใดคือ สิ่งที่เจ้าตัวบอกว่าน่าเจ็บใจที่สุดก็คือการโดนข้อครหาว่า “ขายชาติ” ทั้งๆ ที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องผืนแผนดินไทย

pra01290359p3
บันทึก’ความในใจ’
และคำอโหสิของ’นพดล’

“คำแถลงการณ์ร่วมถูกทำให้เป็นประเด็นการเมือง และการบิดเบือนทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนในที่สุดกัมพูชาไปยื่นขอตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี พ.ศ.2554 ผมเห็นความมุ่งมั่นและสม่ำเสมอในการโจมตีผมเรื่องคำแถลงการณ์ร่วม ถ้านักการเมืองใช้ความพยายามดังกล่าวไปในการสร้างนโยบายและทำงานให้ประชาชน ผมเชื่อว่าจะมีโอกาสได้รับคึวามนิยมทางการเมืองขึ้นมาก”

นพดลเขียนคำนำไว้ตอนนี้อย่างน่าคิด เหน็บแนมอีกพวกฝ่ายได้อย่างเจ็บจี๊ดที่ใจ

ตั้งแต่บทแรกของหนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์ มหากาพย์เขาพระวิหาร” ไปจนกระทั่งบทสุดท้าย หากค่อยๆ ทำความเข้าใจกับเรื่องราวอย่างละเอียด เสมือนเรากำลังได้อ่านนิยายชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งต้องต่อสู้มาอย่างยากลำบาก เพราะมีทั้งจุดเริ่มต้น ความขัดแย้ง จุดสูงสุดของความขัดแย้ง และการคลี่คลาย บทสรุปที่ได้รับ

จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้อ่านได้ทั้ง เอาเรื่อง เอารส และรับความรู้ไปในคราวเดียวกัน

นพดลบันทึกไว้ว่า นับตั้งแต่มีการเจรจาและจัดทำคำแถลงการณ์ร่วม ก็ถูกโจมตีใส่ร้ายด้วยความเท็จอย่างรุนแรง ทั้งจากนักการเมือง กลุ่มการเมืองและผู้สนับสนุนของพวกเขา พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันแรกที่มีการอภิปราย ก็ระดมคนอภิปรายแต่เช้ายันค่ำ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ตามด้วย ส.ส.อีกหลายคน กว่าจะได้ตอบข้อซักถามก็ตอนสี่ทุ่มกว่าที่คนดูทางบ้านคงจะเข้านอนเป็นส่วนใหญ่

“แต่ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติไว้วางใจผม ท่านที่ไม่ได้ฟังผมในวันนั้น ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งทุกประเด็นว่าผมทำสิ่งที่ถูกต้อง และผมคือผู้ปกป้องดินแดน”

ไม่จบแค่ในสภา พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้ายื่นเรื่องถอดถอนนพดล ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และชี้มูลความผิด ต่อด้วยส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน แต่วุฒิสภาลงมติไม่ถอดถอน

ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ก่อนที่สุดท้ายทุกอย่างจะคลี่จาง และท้องฟ้าของนพดลกระจ่างใส เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558

“..ผมไม่ได้ ‘ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด’ และไม่ได้ ‘ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต’

“7 ปี ที่ผ่านมาผมต้องทนต่อการใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวหาเท็จว่าขายชาติ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามต่างๆ นานา ญาติและผู้ใช้นามสกุลปัทมะได้รับผลกระทบ ขนาดหลานไปโรงเรียนยังถูกเพื่อนล้อว่าขายชาติ แต่ก็ยืนหยัดใช้นามสกุลนี้ ผมถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง ไมว่าการปิดกระทรวงการต่างประเทศประท้วงด่าทอด้วยคำหยาบคาย ไปประชุมที่แคนาดาก็ส่งคนไปถือป้ายประท้วง กลับไทยก็มีการจัดคนแห่ไปต้อนรับแบบถือป้ายประท้วงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จนต้องมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยนำออกจากสนามบิน พี่สาวซึ่งอยู่บ้านแฝก โคราช ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำนาอยู่ดีๆ ยังมีคนจัดม็อบไปล้อมบ้านและปราศรัยโจมตีผมด้วยถ้อยคำหยาบคาย และการใส่ร้ายด้วยความเท็จในโซเซียลมีเดียอย่างไร้ความปรานีก็กระทำกันต่อเนื่องตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

“พวกเขาไม่รู้หรอกว่าผมเจ็บปวดขนาดไหน ญาติพี่น้องผมถูกระทำย่ำยีขนาดไหน การกระทำอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งนักการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้สนับสนุน ผมต้องยืนหยัดต่อสู้ชี้แจงโดยลำพังด้วยความอดทนมาตลอด 7 ปี”

คือความในใจของนพดลที่ได้บันทึกไว้ หลังจากที่ทุกอย่างคลี่คลาย

เขาได้อโหสิกรรมให้กับทุกคนที่เคยสร้างกรรมไว้กับตนเอง ทั้งคนที่เจตนา คนที่รู้ว่าเท็จแต่เลือกที่จะเชื่อ และคนที่หลงเชื่อเพราะฟังเขาเล่ามาแต่ไม่ไตร่ตรอง

หนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์ มหากาพย์เขาพระวิหาร” นอกจากจะมีคำอธิบายเกี่ยว “มายาคติ” ต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว ในภาคผนวก ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมากมายมาเป็นประจักษ์หลักฐาน

เพื่อจะได้ไม่ต้องเชื่ออย่าง “ไม่ลืมหูลืมตา”

เพื่อจะได้เข้าใจ เท่าทัน และไม่หลง “คลั่งชาติ” จนกลายเป็นผู้จุดไฟแห่งสงครามนั้นเสียเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image