คอลัมน์ โลกสองวัย : เริ่มปลายเดือนนี้ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ปลายเดือนนี้ 29 มีนาคม 2561 เริ่ม “เทศกาลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46” และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 สำนักพิมพ์ทั้งหลายเตรียมนำหนังสือที่จัดพิมพ์ใหม่หลายเล่มหลายเรื่องออกขายในราคาพิเศษ

สำนักพิมพ์มติชน (ที่เก่า-เวลาเดิม) ปีนี้เปลี่ยน “ลุค” ใหม่ บนผนังกว้าง 7 เมตร ยาว 27 เมตร เป็นภาพ เขียน “สตรีทอาร์ต” – จากฝีมือของ “กราฟฟิตี้” เมืองไทย พัชรพล “อเล็ก เฟส” แดงรื่น นักวาดภาพบนกำแพง ที่เป็นภาพน้องหนูเด็กน้อยสามตา “มาร์ตี้” เต็มผนังให้น้องหนูที่ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติได้ชื่นชมกันในร่ม ไม่ต้องยืนตากแดดชมบนผนังตึกร้างริมถนน

เป็นอย่างไร วันที่ 29 มีนาคม พบกันที่สำนักพิมพ์มติชน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ มติชนประเดิมด้วยหนังสืออ่านสนุกหลายเล่ม เพิ่งพิมพ์เสร็จหมาดๆ ใหม่ๆ

Advertisement

เรื่องที่ไม่เคยเล่าใน “วังต้องห้าม” ผู้เขียนคือ หวังอีเฉียว ผู้แปลคือ ชาญ ธนประกอบ ผู้แปลเรื่องของแจ๊ก หม่า มาแล้วหลายเล่ม ราคา 255 บาท

ดร.หวังอีเฉียวบอกไว้ว่า ระหว่างอ่านเอกสารประวัติศาสตร์มากขึ้นได้ค้นพบหลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยว กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ภายในวังต้องห้าม – พระราชวังต้องห้ามที่ตั้งตระหง่าน ณ กลางใจของใจกลางของกรุงปักกิ่งมานานกว่า 600 ปี – กลุ่มคนที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ล้วนมีตัวตนอยู่จริง

อีกเล่ม แค่ชื่อเรื่องก็น่าสนใจต้องอ่าน “ผัวเดียวเมีย…เดียว” อาณานิคมครอบครัวในสยาม ที่ สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ บอกว่า “ทำให้มีเมียคนเดียว ประเทศของเรายังไม่พร้อม จักทำให้คนเดือดร้อน” ราคา 290 บาท

Advertisement

ช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชนชั้นปกครองสยามมองว่า “ผัวเดียวเมียเดียว” คือ “ของนอก” ที่จะก่อปัญหานานัปการ จึงรักษาจารีต “ผัวเดียวหลายเมีย” ไว้ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตกและความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่ผลักดันให้ผู้คนออกมาวิจารณ์ปัญหาเพศสภาพ เพศวิถี และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในที่สุดประเทศไทยทุกวันนี้มีประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนับถึงกว่าล้านคน

ว่ากันสนุกๆ ในจำนวนผู้ชาย 10 คน จะเหลือผู้ชายแท้ๆ สักกี่คน ใครรู้บ้าง

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 29 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2561 สำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือใหม่นอกเหนือ จาก 2 เล่มนั้น อีกนับสิบเล่ม ทั้งหนังสือแปลกับหนังสือของนักเขียนหลายคน

หนังสือแปลน่าอ่าน มีอาทิ ร้าวรานในวารวัน – The Glass Palace ผู้เขียนคือ Amitav Ghosh ผู้แปลคือ ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ ราคา 550 บาท

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา – I did not kill my husband ผู้เขียนคือ หลิวเจิ้นอวิน ผู้แปลคือ ศุณิษา เทพธารากุลการ ราคา 360 บาท

หากหัวใจไม่สามัญ – A Strangeness in My Mind ผู้เขียนคือ ออร์ฮาน ปามุก ผู้แปลคือ นพมาส แววหงส์ ราคา 630 บาท

The Godfather ผู้แปลคือ ธนิต ธรรมสุคติ (พิมพ์ครั้งที่ 15) ราคา 370 บาท, อยากลืมกลับจำ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นบรรณาธิการ ราคา 360 บาท

หนังสือประจำปีของ “หนุ่มเมืองจันท์” โลกที่เห็น เป็นอย่างที่มอง ประเดิมงานนี้ ราคาเท่าไหร่พรุ่งนี้บอก

เล่มนี้ก็น่าอ่าน ใครที่ชอบญี่ปุ่นต้องอ่าน Japan Dark Side ถึงร้ายก็รัก ผู้เขียนเจ้าของงานเขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นน่าอ่านหลายเล่ม เกตุวดี Marumura ราคา 200 บาท

เล่มที่ขอแนะนำปิดท้ายวันนี้ ผู้เขียนเป็นทนายความ มีหน้าที่หลายตำแหน่ง เป็นประธานมูลนิธิศาลเจ้าโจซือ ก๋ง ตลาดน้อย มูลนิธิโรงเจเสี่ยงเข่งตึ๊ง (ธนบุรี) มูลนิธิฮกเกี้ยนวัฒนา นายกสมาคมฉกเกี้ยนแห่งประเทศไทย กรรมการตรวจสอบมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียว และ ฯลฯ บอกชื่อใครก็รู้จัก

สัก กอแสงเรือง ผู้เรียกตัวเองว่า “คอลัมนิสต์อารมณ์ขัน” เขียนเรื่อง “ผู้ก่อการดี” เป้าหมายเพื่อสร้างรอยยิ้ม เพิ่มมุมมองในนานาทรรศนะ เติมความรู้ เติมความสุข และอารมณ์ขันต้องเติมทุกวัน ตายแล้วขันไม่ได้ ราคา 199 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image