อันเนื่องมาจาก ‘ศึกชิงกุ้ง’ ทัวร์จีนและการปะทะกันของวัฒนธรรม

ภาพนักท่องเที่ยวจีนช่วงชิงกุ้งในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่ปรากฏในวิดีโอคลิปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พูดกันตามตรงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไป-แต่ถามว่าดู ‘เซอร์เรียล’ ไหม คงต้องตอบว่า สำหรับบางคนแล้ว พฤติกรรมหลายอย่างของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งการพูดจา, การต่อแถว ไปจนกระทั่งการเข้าห้องน้ำ ล้วนเป็นเรื่องที่ ‘เหนือจริง’ ในความรู้สึกประมาณหนึ่ง

มากน้อยคงไม่คิดว่าจะได้เห็นใครชิงกุ้งกันดุเดือดปานนั้น

แต่จีนย่อมไม่ใช่ชนชาติเดียวที่ไปสร้างความกระอักกระอ่วนใจในต่างแดน เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธได้หรือว่าชาติอื่นๆ หรือแม้แต่คนไทยในต่างบ้านต่างเมือง ไม่เคยทำอะไรที่ขัดต่อวัฒนธรรมและสังคมของพื้นที่นั้นๆ

คงไม่เป็นการเกินเลยนักหากจะพูดได้ว่า มองให้ลึกลงไปกว่าฟุตเทจที่ปรากฏบนวิดีโอซึ่งแพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์ นี่ย่อมเป็นเรื่องของการปรับตัว การใช้ชีวิต ไปจนถึงสภาพแวดล้อมและสังคมซึ่งแตกต่างกันของแต่ละแห่ง

Advertisement

และใช่ไหม ว่านี่อีกเช่นกัน ที่ย่อมเป็นเรื่องที่เราสมควรจะทำความเข้าใจไว้ ในวันที่ยังต้องรับแขกบ้านแขกเมือง และไปเป็นแขกในบ้านอื่นเมืองอื่นอยู่เช่นนี้

ศึกชิงกุ้ง02

วิเคราะห์ปมปัญหาชิงกุ้ง ต้นเหตุจากการแย่งชิงพื้นที่ทรัพยากร

ไม่มีใครปฏิเสธถึงความกว้างใหญ่ของแผ่นดินจีนที่มีขนาดถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร และคงไม่มีใครปฏิเสธถึงจำนวนประชากรอันหนาแน่นนับพันล้านคน-ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอจะทำให้พื้นที่มหาศาลดังกล่าวคับแคบไปถนัดตา

Advertisement

เป็นที่มาของข้อสงสัยว่า ด้วยขนาดพื้นที่แผ่นดินและจำนวนประชากร เป็นสาเหตุให้การปกครองและทรัพยากรของรัฐเข้าถึงยาก จนนำมาสู่การต้องแย่งชิงวัตถุดิบในหลายๆ ประการหรือไม่

เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ภาพรวมภูมิประเทศของแดนมังกรไว้ว่า โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ในบางพื้นที่มักเป็นพื้นที่หุบเขา ขณะที่แม้จะมีพื้นที่ราบแต่ก็ไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา-ที่แน่นอนว่าใช้ปลูกไร่ไถนาตามวิสัยเกษตรกรได้เป็นอย่างดีด้วยพื้นที่และคุณภาพดิน

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ความอดอยากของประชากรจีนจะหมดไป

ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมถึงประเด็นประชากรในจีนซึ่งมีมากกว่าพันล้านคน “ด้วยจำนวนขนาดนี้ พูดได้ว่าประชากรของเขาเยอะมาก มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ทรัพยากร”
ลำพังประเด็นเรื่องการแย่งชิงกุ้งในร้านอาหาร จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะก่อนหน้านี้ เราต่างย่อมเคยได้ยินข่าวคราวของการทำไข่ปลอมหรืออาหารปลอมจากจีน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการดิ้นรนเอาตัวรอดในสภาพสังคมและประชากรที่แออัด-ซึ่งสภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดแต่ในพื้นที่ราบเท่านั้น เพราะแม้แต่สูงขึ้นไปบนไหล่เขา ย่อมมีผู้คนอาศัยอยู่และใช้พื้นที่เหล่านั้นทำกินในหลากหลายวิถีทาง

“แล้วต้องนึกด้วยว่า คนจีนหลายคนยังไม่ได้รับการศึกษามากมายอะไรนัก เพราะการปกครองคนที่มีความรู้มากนั้น มันยากสำหรับผู้ปกครอง”

ฉะนั้น สำหรับ ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ แล้ว ปัจจัยเรื่องภูมิประเทศจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่หล่อหลอมให้คนอยู่ยากลำบากมากไปกว่า วิธีการจัดการของรัฐบาลเองที่มีต่อประชาชนคนจีนนั่นเอง

 

(จากซ้าย) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ (ภาพจาก สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา), นิธิ เอียวศรีวงศ์
(จากซ้าย) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, เกรียงศักดิ์ พราหมณพันธุ์ (ภาพจาก สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา), นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักท่องเที่ยว และการปะทะกันของวัฒนธรรม

ความ ‘เซอร์เรียล’ ในฐานะนักท่องเที่ยว แม้คนจากประเทศจีนจะยึดครองชื่อเสียงด้านนี้ไว้ด้วยการมีข่าวคราวมาให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่นั่นย่อมไม่ได้หมายถึงว่า ชนชาติอื่นจะไม่เคยก่อวีรกรรมให้เป็นที่เวียนหัวต่อเจ้าบ้านเจ้าเรือน

ดังนั้น ประเด็นนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความเป็น “จีน” หรือ “ไม่จีน” เพราะนักท่องเที่ยวจากไทยเอง จะมากน้อยก็คงเคยเห็นผ่านตา ตามเว็บบอร์ดสาธารณะบ้างแล้วว่า เมื่อไปเที่ยวต่างบ้านต่างเมืองนั้น ก็ไปทำเรื่องที่ขัดกับวัฒนธรรมประเพณีบ้านเขาให้ได้รู้กันบ่อยๆ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวแดนมังกรนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการพยายามแย่งชิงทรัพยากรอันจำกัดแต่อย่างใด เพราะการอ้างเช่นนี้นั้น ย่อมเป็นการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ว่าประเทศจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์-ซึ่งหากอ้างตามแนวคิดของตะวันตกหรือเสรีนิยม ก็มักจะมองว่าปัญหาอย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์คือการจัดการทรัพยากร

“ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นประเด็นอื่นมากกว่า เช่น วัฒนธรรมการค้า อย่าลืมว่าชาวจีนนั้นเป็นคนอยู่ในวัฒนธรรมการค้า โดยเฉพาะการค้าขายแบบขั้นปฐมภูมิมากๆ การค้าเป็นเรื่องการซื้อมาแล้วขายไป กดต้นทุนให้ต่ำ ปั่นราคาขาย เป็นการค้าที่มุ่งสร้างส่วนต่างระหว่างราคาขายและต้นทุนนั่นเอง”

ดังนั้น สำหรับศิโรตม์แล้ว นักท่องเที่ยวจีนหลายคนยังมีโลกทรรศน์แบบพ่อค้ายุคเก่าอยู่ ที่พยายามจะได้ทรัพยากรในต้นทุนที่ต่ำสุด และได้ประโยชน์กลับมามากสุด

ขณะที่คนจีนหลายคนมีฐานะทางการเงินที่ดีมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการออกท่องเที่ยวไปยังต่างแดน-เป็นครั้งแรก พร้อมทัศนคติว่า การท่องเที่ยวคือการลงทุน

“วัฒนธรรมการค้าในมือของนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่เคยเข้ามาในสังคมโลกเลย ทำให้พวกเขามองว่าการท่องเที่ยวคือการลงทุนชนิดหนึ่ง”

“เหมือนเขาจ่ายเงินมาท่องเที่ยว แล้วก็ควรได้ผลตอบแทนจากการท่องเที่ยวกลับมาสูงสุด”

และอะไรจะวัดความคุ้มค่าได้ง่ายดายมากไปกว่า ‘การกิน’ เพราะนั่นหมายความโดยตรงถึงการ ‘จ่ายต่ำ ได้มาก’

“เขาอยู่ในโลกที่ทุกอย่างต้องกดราคาให้ต่ำ ประกอบกับที่พวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเดินทางท่องเที่ยว โลกทัศน์ของเขาคือการกดทุนให้ต่ำและกระชากราคาขาย มันคือการนำวัฒนธรรมแบบนั้นมาอยู่ในโลกสมัยใหม่ และด้วยธรรมชาติของการท่องเที่ยว การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมแบบนี้มันเยอะที่สุดอยู่แล้ว”

การปะทะกันของวัฒนธรรมดังกล่าวคือการที่นักท่องเที่ยวจากสังคมหนึ่ง นำวัฒนธรรมของตัวเองเข้ามาปะทะในพื้นที่ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ นำมาสู่ความไม่เข้าใจหรือกระอักกระอ่วนของคนในพื้นที่นั้นๆ

“เทียบกัน ถ้าเคยขึ้นรถเมล์หรือรถทัวร์แล้วพบชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่งหรือคนตะวันตก เขาจะมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งคือชอบเอาเป้หรือกระเป๋ามาวางไว้บนที่นั่งข้างๆ เขาเสมอ เสมือนว่านั่นคือที่ของเขา ขณะที่คนไทยจะไม่ทำเพราะเกรงใจกัน”

นี่จึงไม่ใช่เรื่องจีนหรือไม่จีน แต่เป็นเรื่องของคนในวัฒนธรรมหนึ่ง-สังคมหนึ่ง ที่ไม่รู้จะวางตัวอย่างไรในพื้นที่ใหม่ๆ นั่นเอง

รากเหง้าแห่งวัฒนธรรมจีน

“จริงๆ แล้วชาวจีนเป็นชนชาติที่สุภาพมากนะครับ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว “ผมเคยอ่านงานของพระยาอนุมานราชธน ชาวจีนนั้นมีประเพณีและการใช้วาจาคำพูดที่สุภาพ เรียบร้อยและถ่อมตัวที่สุด เพราะพวกเขาโตมากับลัทธิขงจื๊อ ซึ่งเน้นย้ำว่าคนไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ คนเดียว แต่ทุกคนเป็นพ่อ เป็นลูก เป็นเมีย เป็นผัว เป็นนายและเป็นบ่าวของผู้คนรอบๆ”

“ขงจื๊อเน้นประเด็นนี้ที่ว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและคนอื่น เรามีหน้าที่ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร”

ทว่า ขงจื๊อนั้นถูกทำลายไปในช่วงแรกๆ ที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และแม้ปัจจุบัน รัฐบาลจีนจะพยายามรื้อฟื้นลัทธินี้ขึ้นมาใหม่ แต่ก็แพ้ให้กับกระแสใหญ่ที่โหมซัดประเทศจีนอย่างทุนนิยม

ดังนั้น ความยากลำบากที่ขงจื๊อต้องเผชิญจึงมีอยู่สองครั้งสองคราวด้วยกัน ครั้งแรกคือการที่จีนเปลี่ยนประเทศให้มาเป็นคอมมิวนิสต์-และครั้งถัดมา เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนตัวเองให้เป็นทุนนิยม ซึ่งเน้นปลดปล่อยให้คนเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนโดยรอบ

“พูดได้ว่าทุนนิยมมีอิทธิพลมากทีเดียว และคนจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยสัก 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นคนที่เพิ่งเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต พวกเขาคือคนที่ประสบความสำเร็จ พอมีเงินเก็บและมาเที่ยวต่างประเทศ มีการศึกษาไม่สูงนัก”

“แต่ทั้งหมดเหล่านี้ ถูกทุนนิยมกลืนเข้ามา จะไม่มีลักษณะแบบขงจื๊ออีกแล้ว”

“แต่ยาก” เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่าขงจื๊อจะกลับมามีอิทธิพลในจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งหรือไม่ของนิธิ “เหมือนพุทธศาสนาในไทยที่ร่วงโรยไปเรื่อยๆ”

แต่นั่นย่อมไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวจีนจะไม่อาจปรับตัวให้เข้าสู่สังคมอื่นในโลกได้ นักวิชาการอิสระให้ความเห็นว่า หากพวกเขาได้เดินทางออกนอกประเทศบ่อยมากกว่านี้

การปรับตัวย่อมเป็นเรื่องที่จะตามมาในภายหลังอย่างแน่นอน

เหล่านี้คือกระแสทรรศน์ต่อการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เชี่ยวกรากอยู่ในหมู่เจ้าถิ่น ซึ่งหากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่ว่านี่คือการอิหลักอิเหลื่อต่อการเผชิญหน้ากันในความต่างของวัฒนธรรม

ซึ่งหากยอมรับและเข้าอกเข้าใจกันได้ในพื้นฐานเบื้องต้น ที่สุดแล้วย่อมลดระดับความกราดเกรี้ยวที่มีต่อผู้มาเยือนได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image