น้ำโขงเมื่อยามแล้ง กับปัญหาเขื่อนจีน

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 กล่าวพาดพิงแม่น้ำโขงไว้ว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีตระพังโพยสีใสกินดี ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง” เป็นหลักฐานว่า แม่น้ำโขงเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งนั้น ตะกอนขุ่นอันละลายมาจากทางตอนเหนือของแม่น้ำก็จะเจือจางลง เมื่อตักขึ้นมาก็จะใสไม่ข้นขุ่นเหมือนหน้าน้ำหลาก สามารถนำมาดื่มกินได้ดี จนเอามาเปรียบกับน้ำในสระตระพังโพยของสุโขทัย แม่น้ำโขงจึงเป็นที่พึ่งอาศัยของชุมชนและอาณาจักรทั้งหลายในยามแล้งแห้งน้ำมาตลอดสายธารประวัติศาสตร์

ภาวะเอลนิโญ(El Nino) ที่ทำให้เกิดฝนแล้งต่อเนื่องในทวีปเอเชีย ระหว่างปี 2015-2016 สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ชาวเอเชียแปซิฟิกในด้านภาวะการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตลุ่มแม่น้ำสากลที่แม่น้ำไหลผ่านหลายประเทศ ซึ่งหากประเทศต้นน้ำเกิดปัญหาย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “การแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงทรัพยากรน้ำ จะเป็นสาเหตุความขัดแย้งครั้งใหม่ในทั่วโลก”

แม่น้ำโขง หรือ หลานชางเจียง ถูกสร้างเขื่อนกั้นเพื่อเก็บกักน้ำและปั่นกระแสไฟฟ้าให้แก่ทางตอนใต้ของจีน ปัจจุบันมีเขื่อนสร้างสำเร็จแล้ว 3 เขื่อน และมีแผนสร้างเพิ่มให้ครบ 7 เขื่อน โดยเขื่อนที่ใหญ่และมีผลกระทบที่สุดคือเขื่อนจิ่งหงในมณฑลหยุนหนาน ส่วนในลาวมีเขื่อนไซยะบุรีที่คืบหน้าก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง การกั้นแม่น้ำโขงดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ โดยในยามที่ฝนตกหนักน้ำไหลหลาก เขื่อนดังกล่าวยังช่วยชะลอและลดความรุนแรงของอุทกภัยได้บางส่วน และหากภัยแล้งเกิดขึ้นไม่มากนัก การเก็บกักน้ำไว้ช่วยให้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นและรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้ แต่หากฝนตกหนักมากจนล้นเขื่อน อุทกภัยก็จะเกิดขึ้นรุนแรงเฉียบพลันภายหลังการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนหรือเมื่อฝนไม่ตกยาวนาน แม่น้ำก็จะแห้งขอด ภาวะนิเวศเสียหายได้ รวมถึงปัญหาการกักตะกอนจากต้นแม่น้ำ ทำให้ประเทศปลายน้ำสูญเสียแร่ธาตุอาหารในดินที่จะได้จากตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมด้วย

การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการอุปโภคบริโภคของประชาชน ย่อมเป็นหน้าที่อันหนักหน่วงและยากลำบากสำหรับรัฐบาลของแต่ละประเทศ และเป็นภัยต่อความมั่นคงในทุกด้าน เพราะ “น้ำ” คือหนึ่งในปัจจัยต้นกำเนิดของการผลิต ไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร ไม่สามารถดำเนินการอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่ใช้ดื่มกินเพื่อดำรงชีวิตต่อไปได้

Advertisement

อิสราเอล เป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำชั้นยอดเยี่ยมทั้งในทางการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งกลางทะเลทรายให้ทำการเกษตรได้ อีกทั้งยังมีแนวคิดในการป้องกันทรัพยากรน้ำของชาติอย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกับจีน ที่เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำและการสำรองน้ำให้เพียงพอต่อประชาชนในประเทศอย่างมาก

แม้ว่าการจัดการแหล่งทรัพยากรน้ำอาจก่อความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเจรจาอย่างชาญฉลาดผนวกกับความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน และเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่เหมาะสม จะทำให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายด้านความมั่นคงจากการขาดแคลนน้ำไปได้ ที่สำคัญคือเราต้องตระหนักและรู้ทัน มีข้อมูลเพียงพอเพื่อบริหารจัดการ และแบ่งปัน “น้ำ” ทั้งในยามท่วมและยามแล้งให้ดีที่สุด

แม่น้ำโขงเมื่อแล้ง คงยากที่จะหาความสีใสกินดีดังเช่นเมื่อเจ็ดร้อยปีที่แล้ว แต่ความร่วมมือและการต่อรองกดดันอย่างสมดุล เข้าไปร่วมกันบริหารเขื่อน จะช่วยแก้ปัญหาน้ำโขงแล้งได้ เหมือนกับที่เวียดนามร่วมมือกันกดดันจีนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงมาบรรเทาภัยแล้งในที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image