มหกรรม ‘เพชรบุรี..ดีจัง’ สื่อ-สร้าง-สาน เปิดพื้นที่เยาวชนต้นแบบ

ถึงวันนี้เล็กไม่ได้แล้วสำหรับงาน “เพชรบุรี..ดีจัง” ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2554 ห้วงปีแรกหวังแค่ให้ “เพชรบุรี..ดีจัง” เป็นงานปลุกชุมชนสองริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีและบริเวณโดยรอบในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีให้ตื่นรู้ในแง่มุมรักษ์ถิ่นกำเนิด การอนุรักษ์ และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่น

ปีต่อมาขยายวงออกไปเชิญชวนเยาวชนในพื้นที่สร้างสรรค์ทั้ง 8 อำเภอใน จ.เพชรบุรี รวมกว่า 20 กลุ่มให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายและดำเนินกิจกรรมในแนวทาง “เพชรบุรี…ดีจัง” อย่างเป็นรูปธรรม

เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายเยาวชนของจังหวัดต่างๆ ที่มีรูปแบบงานแนวทางเดียวกันนำกิจกรรมมาร่วมงาน “เพชรบุรี..ดีจัง” ในลักษณะเหย้า-เยือน

ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนด้านทุนดำเนินงานคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี, เทศบาลเมืองเพชรบุรี, สถาบันอาศรมศิลป์, วัดใหญ่สุวรรณาราม และสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบุรี ด้วยดีเสมอมา

Advertisement

งาน “เพชรบุรี..ดีจัง” ในแต่ละปีมีชื่องานต่อท้ายเปลี่ยนกันไป เพื่อให้มีความหมายและสอดคล้องกับรูปแบบงาน

เพชรบุรี02

งานปีนี้ชื่อ “เพชรบุรี..ดีจัง ฯลฯ” ที่ต้องมีเครื่องหมาย “ไปยาลใหญ่” ต่อท้าย เนื่องจากกิจกรรมขยายตัวมากขึ้น หลากหลายขึ้น การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนแตกแขนงไปจากเดิมมากมาย

Advertisement

งานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ “เพชรบุรี..ดีจัง! Forum” วันที่ 18 มีนาคม ทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นการชุมนุมพบปะของศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ประวัติศาสตร์และงานศิลปะ โดยนายเอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์และคณะ

มีนิทรรศการผลงานของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ใช้เมืองเพชรบุรีเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ถ่ายทอดออกมาเป็นหุ่นจำลอง ภาพถ่าย ภาพเขียน เวอร์นาด็อก หนังสือ และผลงานรูปแบบอื่นๆ นิทรรศการชุด “พิศเมืองเพชร” ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดซุ้มกิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้เยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ร่วมงานได้มีกิจกรรมร่วมกัน ช่วงค่ำมีเวทีการแสดง อาทิ หุ่นเงาละครชุมชน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วงดนตรีทีเค แบนด์ นำโดย พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง การแสดงหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

สำหรับวันที่ 19-20 มีนาคม กิจกรรมมีขึ้นที่ใจกลางเมืองเพชรบุรี โดยใช้ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเพชร เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในพื้นที่ ต.ท่าราบ และ ต.คลองกระแชง เป็นที่จัดงาน

ฝั่งท่าราบตลอดแนวริมน้ำย่านตรอกบ้านนารายณ์ไปจนจรดตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีกลิ่นอายชุมชนชาวจีนเก่า นำเสนอวิถีชีวิตชุมชนชาวจีน นิทรรศการภาพถ่ายเก่าเมืองเพชร สินค้า อาหาร และขนมโบราณย้อนยุค

ส่วนฝั่งคลองกระแชง ตลอดแนวถนนคลองกระแชงริมแม่น้ำและสวนสุนทรภู่ วัดพลับพลาชัย มีกิจกรรมลานศิลปะ พื้นที่อ่านยกกำลังสุข กิจกรรมเท่าทันสื่อ ฯลฯ เชื่อมงานไปถึงบริเวณถนนริมน้ำหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมีกิจกรรม “เทศบาลปันยิ้ม อิ่มเอม ทั้งเมือง” โดยเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในจวนผู้ว่าฯเปิด “เรือนกฤษณา” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้เป็นสถานที่ประทับ เปลี่ยนพระอิริยาบถเมื่อคราวเสด็จฯเยือน จ.เพชรบุรี ในเรือนมีของเก่าทรงคุณค่ามากมาย ให้ผู้สนใจเข้าไปเที่ยวชม

เพชรบุรี03

นอกจากสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีแล้ว ตลอดแนวถนนดำเนินเกษม ฝั่งคลองกระแชง ตั้งแต่ลานน้ำพุข้างศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงหน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร มีกิจกรรมน่าดูน่าชมตลอดแนวถนน อาทิ กิจกรรมชวนลูกทำของเล่น โดยเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 องค์กรท้องถิ่นใน จ.เพชรบุรี, กลุ่มกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเด็กจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย, ศิลปหัตถกรรมจากเครือข่ายเยาวชนเพชรบุรี..ดีจัง จาก 8 อำเภอใน จ.เพชรบุรี ฯลฯ

กลางสี่แยกเพ็ชรนคร ถ.ดำเนินเกษม ตัด ถ.ชีสระอินทร์ และบนสะพานจอมเกล้า และลานสุนทรภู่ มีการแสดงของกลุ่มเยาวชนทั้งเวทีใหญ่และเวทีย่อย อาทิ หุ่นละครเล็ก โขน ของกลุ่มโรงโขนเพชรบุรี, ละครชาตรี ของกลุ่มละครชาตรีบ้านครูแอ๋ว, หนังตะลุง ของกลุ่มรากไทย, โขนรามเกียรติ์ ของกลุ่มโขนเด็กบ้านแหลม, ละครหุ่นคน ของกลุ่มละครหุ่นคนคณะแม่เพทาย, กลองยาวกะเหรี่ยง ของกลุ่มโผล่งเพชรตะนาวศรี, การแสดงวัฒนธรรมไทยทรงดำ ของกลุ่มรักษ์หนองปรงและกลุ่มรักษ์วัฒนธรรมบ้านเขากระจิว, ลิเกฮูลู ของกลุ่มจันทร์เสี้ยว ฯลฯ

นายจำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ประสานงานกิจกรรมเพชรบุรี..ดีจัง กล่าวว่า ตลอด 5 ปีของการจัดกิจกรรมได้เน้นย้ำให้เครือข่ายเยาวชนเป็นผู้วางแผนรูปแบบงาน ตนและคณะแค่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กระทั่งวันนี้เยาวชนแต่ละกลุ่มเติบโตเป็นกำลังกล้าแข็ง สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้เอง คณะทำงานสามารถแยกกิจกรรมเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มต้นแบบ กับกลุ่มขยายผล โดยกลุ่มต้นแบบเริ่มตั้งแต่ปี 2554 ส่วนกลุ่มขยายผลนับเนื่องจากปี 2555 เป็นต้นมา

“เราสามารถขยายพื้นที่การเรียนรู้จากบ้านบ้านเดียว เป็นการเรียนรู้ไปทั้งชุมชน สังเกตได้ว่าชาวบ้านตื่นตัวมาร่วมกิจกรรมกับเด็กมากขึ้น มีผู้มาเที่ยวชมงานมากขึ้น งบประมาณในการจัดงานยังคงได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และ อบจ.เพชรบุรี เป็น 2 องค์กรหลักที่ไว้วางใจและคอยช่วยสนับสนุนกิจกรรมเราด้วยดีตลอดมา เชื่อว่าเด็กเครือข่ายนี้จะเป็นสื่อ สร้าง สาน ให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไปและเป็นแม่แบบสำคัญให้แก่เยาวชนในพื้นที่อื่นที่สนใจด้วย” นายจำลองกล่าว

ด้านนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าฯเพชรบุรี ประธานเปิดงานเมื่อตอนเย็นวันที่ 19 มีนาคม ณ เวทีบนพื้นที่กลางสะพานจอมเกล้า กล่าวถึงงานนี้ว่า งานนี้เป็นงานเรียนรู้ของนักเรียนนอกโรงเรียน 3 วันของการจัดงานถือว่าเป็นห้วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของเยาวชนและผู้ปกครองเด็กที่มีโอกาสทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน เครือข่ายเพชรบุรี..ดีจัง สามารถสานต่อกิจกรรมได้ต่อเนื่องกันถึง 5 ครั้ง และประสบความสำเร็จทุกปี ตนเป็นคนเพชรบุรีรู้สึกภาคภูมิใจกับกิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินเมืองเพชร

รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 ของ สสส. กล่าวว่า ติดตามงานนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ปีนี้ก็มาเดินชมกิจกรรมทุกเส้นทางตลอดสองฝั่งแม่น้ำเพชร เห็นว่าวิถีชีวิตชุมชนและงานศิลปกรรมของที่นี่มีความเป็นเอกลักษณ์ แม้แต่ในแม่น้ำเพชรก็มีของดีอยู่จำนวนมาก เช่น ถ้วยโถโอชาม วัสดุโบราณอันมีคุณค่า ถูกงมนำขึ้นมาให้ชม ทั้งยังพบว่าวัด ชุมชน กลุ่มช่างเมืองเพชร สถาบันการศึกษา ให้ความร่วมมือกับงานนี้เป็นอย่างดี ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับทุกเครือข่ายเยาวชนของที่นี่ เขามีความภาคภูมิใจในวิถีของแผ่นดินบ้านเกิดที่พรั่งพร้อมด้วยของดีมากมาย จุดนี้เองทำให้ สสส.เกิดแรงบันดาลใจที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมของพวกเขาเพื่อจะได้พัฒนางานต่อไป

รูปแบบงานที่นี่สามารถเป็นโมเดลให้แก่กลุ่มเยาวชนในจังหวัดอื่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ด้วย

“กิจกรรมเพชรบุรี..ดีจัง ในห้วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าความสุขเริ่มต้นได้จากคนในชุมชนนั่นเอง สสส.มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาสนับสนุน เยาวชนที่นี่ขยันมาก มีความสามัคคีร่วมกันผลักดันสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นด้วยความคิดของพวกเขาเอง ผมมาทุกปี กิจกรรมปีนี้บอกได้เลยว่าผมประทับใจมาก” รศ.จุมพลกล่าว

“เพชรบุรี…ดีจัง” จะยังคงก้าวต่อไป โดยเยาวชน ของเยาวชน และเพื่อเยาวชน ในจังหวัดเพชรบุรี และเป็น “สื่อ สร้าง สาน” ต่อเนื่องเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่นอย่างไม่รู้จบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image