“ใจสู่ใจ”ปฏิวัติความมั่นคงภายใน หลายชีวิตหลังกำแพงคุก ผู้ต้องขังหญิง

หลังกำแพงใหญ่มีลูกกรงและห้องสี่เหลี่ยมที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยมาตรการความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ผู้คนที่อยู่รวมกัน แตกต่างทั้งที่มา มีเรื่องราวหลากหลาย แต่ด้วยเงื่อนไขแห่งกฎหมายด้วยวิธีการที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” ทำให้ต้องมาอยู่ร่วมกัน สถานที่แห่งนี้ มันคือ “คุก” หรือเรียกกันว่า “เรือนจำ”นั่นเอง

มีโอกาสได้รับคำเชิญจาก ดร.ชเนตตี ทินนาม แห่งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เดินทางร่วมคณะเดินทางไปยัง “ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่”

การมาครั้งนี้ เพื่อติดตามโครงการ “ใจสู่ใจ” : นวัตกรรมการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อปฏิรูปภายนอก เป็นโครงการระยะที่สอง ต่อเนื่องจากโครงการระยะแรก โครงการนี้เกิดจากความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง

ภายใต้ความร่วมมือ สสส. ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

Advertisement

ต่อไปนี้คือเรื่องราวบางส่วน ตลอดช่วงเวลา 8 เดือน ในห้องสี่เหลี่ยมบนชั้น 3 ของตึกขนาดใหญ่สูง 5 ชั้น ที่รวบรวมเอาเพื่อนสมาชิกหลังกำแพงสามสิบกว่าชีวิต นั่งล้อมวงสนทนา ทำกิจกรรมร่วมกันทุกเดือน เดือนละสี่วันต่อเนื่อง มีรูปธรรมของ “ใจสู่ใจ” ที่สังคมควรได้รับรู้ว่าที่มาที่ไป ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่อาศัย “นวัตกรรม” ได้นำพวกเขาไปสู่เป้าหมายปลายทางอย่างไรบ้าง

ใจสู่ใจ

เกิดใหม่เมื่อได้เข้าคุก

อวยพร สุธนธัญญากร หัวหน้าทีมกระบวนกร โครงการ “ใจสู่ใจ” อธิบายว่า โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและมิติด้านในของสตรีต้องขัง ให้เห็นถึงคุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลง และใคร่ครวญตัวเอง รวมทั้งเสริมพลังให้ผู้อื่นด้วย

“เราเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ แต่ละคนที่เข้ามาอยู่ที่นี่มีประสบการณ์จากหลากหลายสาเหตุ การเข้ามาอยู่ในเรือนจำที่ขาดอิสรภาพ และมีกติกาที่ค่อนข้างเข้มข้น การทำงานกับผู้ต้องขังหญิง เพื่อเยียวยาจากภายใน เพื่อสร้างให้พวกเขา เข้าใจตนเองเพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น สร้างสภาวะรู้เนื้อรู้ตัว ใช้การฟัง ศิลปะ เพื่อให้ระบายออกมาจากจิตสำนึก เพราะหัวใจ ของสิ่งเหล่านี้ที่เราพยายามสร้างคือ เชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง” อวยพรกล่าว

Advertisement
จากซ้าย อวยพร สุธนธัญญากร  , ดร.ชเนตตี ทินนาม, อารีรัตน์ เทียมทอง
จากซ้าย อวยพร สุธนธัญญากร , ดร.ชเนตตี ทินนาม, อารีรัตน์ เทียมทอง

ขณะที่ ดร.ชเนตตี ได้อธิบายให้เห็นปัญหาของผู้ต้องขังหญิงว่า เรื่องใหญ่ของนักโทษหญิง ภายใต้กรอบความเป็นเพศนั้น ต้องเผชิญกับความเครียดมากกว่าผู้ชาย กระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตด้วยความเบิกบาน ให้รู้จักความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเปลี่ยนจากภายในของเขา ให้สามารถเผชิญต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นกระบวนการถอดรู้จากใจสู่ใจที่ต้องลึกลงไปในแต่ละคน

“ยิ่งเมื่อสังคมภายนอกยังไม่เข้าใจพวกเขา ตีตราว่าเป็นคนที่ศีลธรรมต่ำ ยิ่งทำให้เกิดการลดทอนความเป็นคนลงไปอีก กระบวนการเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ต้องขังด้วยตนเอง ให้มองโลกในเชิงบวก” ดร.ชเนตตีย้ำขยายความทิ้งท้าย

ศิลปะคือกระบวนการเรียนรู้หนึ่งสำหรับผู้ต้องขังเพื่อการเยียวยาจิตใจในลักษณาการของการถ่ายทอดอารมณ์ ความนึกคิดออกมาเป็นเรื่องราว “ศิลปะจากโลกหลังกำแพง” เพราะศิลปะเป็นเสมือนพื้นที่อิสระ ที่จะสามารถปลดปล่อยตัวตนออกมาให้สามารถมองเห็นตนเอง ระบายอารมณ์ ความรู้สึก ที่บางครั้งไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำ หรือเหตุผลได้

หรือกิจกรรม “หยดหมึก” เติมต่อรอยเปื้อนเพื่อสร้างสรรค์ โดยการแจกกระดาษสีขาวว่างเปล่าให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นวิทยากรนำเอาสีดำไปป้ายลงบนกระดาษสีขาว เหมือนกับมันถูกแปดเปื้อน ซึ่งไม่อาจที่จะลบล้างให้ขาวสะอาดได้ดังเดิม แต่เราสามารถที่จะต่อเติมให้มันเป็นผลงานที่มาจากความสร้างสรรค์ เพื่อก่อกำเนิดความหมายใหม่จากตัวเรา เป็นต้น

“ไม่มีใครอยากทำผิด แต่ตอนทำก็รู้ แล้วรู้ว่าผลจะเป็นยังไง ตอนก้าวข้ามประตูเรือนจำ รับไม่ได้ หดหู่ แม้รู้ว่านี่คือผลที่ต้องรับ วันนั้นไม่เข้าใจ เคียดแค้น แต่วันนี้ เรียนรู้ ยอมรับ จะไม่ทำอีก พร้อมกับทบทวนตัวเองและได้ข้อสรุปบางอย่างว่าเหมือนได้เกิดใหม่เมื่อได้เข้าคุก” เสียงของผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งที่สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอดีต

ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงอีกคนเล่าในอีกมุมว่า

รู้ไหม? คุกให้อะไรอีก “คุกให้การพิสูจน์ความรัก นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พ่อแม่ฉันคือคนที่รักฉันจริงแท้แน่นอนที่สุด” คนอื่นมาเยี่ยมมาหาบ้าง แต่พ่อแม่สม่ำเสมอ ไม่เคยหมดรักจากลูกที่ทุกคนเรียกว่า “คนเลว” คนนี้เลย

กว่า 8 เดือน ที่ความรู้สึกหลากหลายได้นำพาให้พวกเขาได้เรียนรู้ตัวเอง และความเข้าใจผู้อื่น สามารถที่จะตอบคำถามชีวิต ปฏิวัติความมั่นคงภายใน ผ่านการฟังด้วยหัวใจ การดูแลกันและกัน การพยายามฝึกรู้เนื้อรู้ตัว และตระหนักรู้ต่อคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต จนในที่สุด…

“โครงการนี้ทำให้หนูรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีอะไรในชีวิตน่าท้อถอย แต่มีเพียงอย่างเดียวคือ เมื่อได้ออกไปใช้ชีวิต หนูจะดูแลแม่และครอบครัวให้ดีที่สุด”

นี่คือเสียงที่ผู้ต้องขังหญิงบอกด้วยแววตาที่มุ่งมั่นระคนปนกับหยดน้ำนัยน์ตาที่ค่อยๆ ไหลออกมา

ไม่ต้องหาคำตอบอีกต่อไปว่า “ใจสู่ใจ” สำเร็จไหม

ย่างก้าวแห่งความเปลี่ยนแปลง

โครงการจบ แต่ชีวิตใหม่เริ่มต้นอีกครั้ง

ตลอด 8 เดือน ในห้องสี่เหลี่ยมบนชั้นสาม ตึกใหญ่สูง 5 ชั้น สามสิบกว่าชีวิตนั่งล้อมวงสนทนา ทำกิจกรรมทุกเดือน เดือนละสี่วันต่อเนื่องกัน และนี่คือผลผลิตรุ่นที่สอง

วันสุดท้ายของโครงการได้จัดให้ผู้ต้องขังหญิงพบกับครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้บรรดาญาติๆ เข้ามาภายในทัณฑสถานได้

บรรยากาศวินาทีที่ญาติก้าวเข้ามาพาให้ต่อมน้ำตาทำงานอย่างอัตโนมัติ ต้องปลีกตัวออกไปยืนหลบมุมเฝ้ามองรอยยิ้ม อ้อมกอด และความห่วงใย ที่ถ่ายทอดให้แก่กันและกัน นานขนาดไหนไม่รู้ที่เขาไม่ได้พบกัน นานขนาดไหนไม่รู้ที่ไม่สัมผัสอ้อมกอดนั้น

ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งในสามสิบกว่าชีวิต ไม่มีญาติมาพบ แต่แววตาของพวกเขาที่มองเพื่อนก็สื่อสารให้เข้าใจได้ว่าความรู้สึกเหล่านั้นถ่ายทอดมาสู่ “ใจและใจ” ของพวกเขาอย่างไร

แม้ไม่ได้พบในวันนี้แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รักกัน

pra01010459p2

วิทยากรท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “ภายใต้ตัวตนของคนเรา ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาก็ตาม ความรักก็ยังเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจคนเราให้ยืนหยัดได้เสมอ ยิ่งจากคนใกล้ ที่ปัจจุบันขณะต้องไกลกัน ด้วยเงื่อนไขต่างๆ แต่ความรักก็ทำให้พวกเขานี้ มี “ความหวัง” ให้มองเห็นปลายทางที่สดใสได้”

อารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ บอกว่า การที่สนับสนุนให้มีโครงการนี้ เพราะการที่จะรู้จักตัวเราต้องมาจากภายใน และต้องลึกลงไปถึงความรู้สึกภายใน ซึ่งมันออกมาโดยธรรมชาติของเขาเอง ผลของกิจกรรม ทำให้สามารถวางแผนให้กับผู้ต้องขังก่อนออกไปจากเรือนจำได้ การที่เขามาอยู่ในนี้ ความทุกข์เยอะ ความกดดันก็มีมาก ทุกคนมีความเปราะบางว่าจะอยู่ หรือจะตาย เมื่อต้องเข้ามาสู่สถานที่แห่งนี้ โครงการนี้ให้ความอิสระ ให้ความไว้วางใจ เราสบายใจกับผู้ต้องขังมากขึ้น เพราะที่นี่มีผู้ต้องขังจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยกว่า

แม้ว่าโครงการในระยะที่สองของผู้ต้องขังหญิง ในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จะจบลง แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้จะจบลงตามไป คงแต่เป็นการเริ่มต้นอีกก้าวใหม่ของชีวิต สามารถเข้าใจตนเอง เห็นคุณค่า และเข้าใจสังคมมากขึ้น

อย่างที่ผู้ต้องขังหญิงอีกคน เขียนบอกไว้ในกิจกรรมหนึ่งว่า เขาจะสร้างสะพานโดย “สะพานที่จะทอดไปในอนาคต จะใช้ความพยายามทั้งหมดที่มี จะใช้ความเข้าใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ใจเย็น ตั้งใจและเริ่มปรับปรุงตัวเองใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปสู่อนาคตของตนเอง”

สำหรับการสร้างความตระหนักในคุณค่าตัวเองให้กับสตรีผู้ต้องขังกว่าสามสิบชีวิตนั้น มองในเชิงปริมาณแล้วดูน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังกว่าสองพันชีวิต แต่หัวใจของกระบวนการนอกจากผู้ต้องขังสามารถใคร่ครวญตัวเองแล้ว ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปขยายผลต่อยอดเป็น “แกนนำ” โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นแรงสำคัญในการทำงานควบคู่กันไป

เชื่อว่าถ้าหากใครหลายคนได้มาสัมผัสกับกิจกรรมนี้ จะต้องบอกกับตัวเองว่ามิติการมองโลกของตัวเราช่างคับแคบเหลือเกิน

จะเป็นการดีกว่ามั้ยถ้าเราจะเรียนรู้ และทำความเข้าใจใหม่ให้กับตัวเอง ไปพร้อมๆ กับผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image