‘พม่าระยะประชิด’ ตีแผ่เรื่องราวชีวิตพม่าในไทย

“พม่า” ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ปัจจุบันแรงงานชาวพม่าได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนไปได้

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น และก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ “มิวเซียมสยาม” จึงจัดนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ในอีกมุมมอง และเพื่อจะก้าวผ่านอคติด้านเชื้อชาติ ผ่านสิ่งที่นิทรรศการนำเสนอใน “ระยะประชิด”!!!

ภายในนิทรรศการนั้นแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ หนึ่ง โซน “เกสต์เฮาส์ (Guest (?s) House)” แกะรอยเส้นทางชีวิตของชาวพม่าในประเทศไทยผ่าน 3 ที่

Advertisement

ได้แก่ “ที่มา-ที่เป็นอยู่-ที่ไป” โดยที่มาคือการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และค้นหาคำตอบว่า ชาวพม่ามีความหวังหรือความใฝ่ฝันอย่างไร จึงตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย ที่เป็นอยู่คือการเผยกลยุทธ์การใช้ชีวิตระหว่างอยู่ในประเทศไทย ทั้งในแง่ของการสร้างเนื้อ

สร้างตัว การอยู่ร่วมกับสังคมไทย การปรับตัวและการใช้ชีวิตภายใต้อคติของคนไทยที่มีต่อพม่า

ฉัตรยอดเจดีย์ชเวดาจำลอง
ฉัตรยอดเจดีย์ชเวดากองจำลอง

โดยในส่วนนี้มีการอัญเชิญ “ฉัตรยอดเจดีย์ชเวดากองจำลอง” มาจากวัดเชิงเขา อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีประสบการณ์ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวพม่า

Advertisement

ส่วนที่ไปคือการจัดแสดงบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของชาวพม่า เพื่อสะท้อนข้อคิดจากประสบการณ์การทำงานในประเทศไทย ทบทวนความฝันและการมองไปยังอนาคต

ขณะอีกโซนหนึ่งคือ โซนเกสเฮาส์ (Guess House) นำเสนอบทบาททวนมายาคติต่างๆ ของคนไทยที่มีต่อพม่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทย รวมทั้งนำเสนอแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีรากฐานกันอย่างน่าสนใจ ด้วยการนำเสนอผ่านลูกเล่นการเดา หรือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เห็นบางครั้งอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น โดยมีชาวพม่าคอยแนะนำตลอดการเข้าชม

.ราเมศ พรหมเย็น
ราเมศ พรหมเย็น

ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยาม กล่าวว่า หากมองภาพใหญ่ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า อาจให้ความรู้สึกว่าทั้งสองชาตินี้มีความใกล้ชิดกัน แต่หากพิจารณาในแง่ของปัจเจกชนนั้นจะพบว่าความเข้าใจของคนไทยต่อชาวพม่าในไทยยังมีจำกัด

“ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจมีกรอบอคติที่สร้างขึ้นจากความไม่เข้าใจ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการอยู่ร่วมกันภายใต้ประชาคมอาเซียน”

“ดังนั้น มิวเซียมสยามในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ จึงได้เปิดตัวนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชนชาวพม่าในประเทศไทย สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพม่าให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยในวงกว้าง และให้ทุกคนเปิดใจทำความรู้จักผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา”

นายราเมศกล่าวถึงรายละเอียดของนิทรรศการต่อว่า “พม่าระยะประชิด” จึงเป็นนิทรรศการที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของชนชาวพม่าในประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้จากการนำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ในระยะประชิด อาทิ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และอินโฟกราฟิก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Guest (?s) House” พื้นที่เล็กๆ แห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้สิ่งใหม่

“พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยในมิติต่างๆ มาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน ด้านเศรษฐกิจที่แรงงานชาวพม่านับล้านเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ด้านวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี ศาสนา หรืออาหาร รวมไปถึงด้านการเมืองและด้านการศึกษาที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-พม่า มาเป็นระยะเวลากว่า 67 ปี” นายราเมศกล่าวทิ้งท้าย

ตูซาร์ นวย
ตูซาร์ นวย

ในด้านของ ตูซาร์ นวย อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 26 ปี ได้เล่าถึงอดีตที่เข้ามาประเทศไทย ว่า ตอนแรกพูดภาษาไทยยังไม่ได้ เมื่อถูกถามว่ามาจากไหน พอบอกว่ามาจากพม่า น้ำเสียงสีหน้าของคนถามเปลี่ยนทันที ถึงแม้ว่าต่อมาจะพอพูดภาษาไทยได้ แต่พอรู้ว่าเป็นคนพม่าสีหน้าของคนถามก็เปลี่ยนเช่นเคย แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาคนไทยเริ่มเปลี่ยนมองตนในแง่ที่ดีขึ้น

“ตอนเด็กๆ น้องสาวเคยโดนคุณครูให้ยืนบนเก้าอี้ทั้งวัน ที่สำคัญคุณครูเคยพูดประโยคหนึ่งว่า พม่าคือศัตรูของคนไทย เขาไม่อยากสอนเด็กคนนี้ ตอนนั้นเลยรู้ว่าคนไทยเกลียดพม่าขนาดไหน” ตูซาร์ นวย เล่าอดีตที่จำฝังใจ

ภาพบรรยากาศภายในนิทรรศการ
ภาพบรรยากาศภายในนิทรรศการ

ขณะที่ ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” นักเขียนและช่างสารคดี ได้กล่าวว่า ถ้าเป็นคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับตนส่วนมากจะมองพม่าเป็นศัตรู เนื่องจากในอดีตหนังสือวิชาประวัติศาสตร์มักจะนำเรื่องราวสมัยสงครามมาประกอบการเรียน โดยมีรายละเอียดที่เน้นย้ำตลอดว่า เชลยจากอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปถูกกดขี่อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ฝังใจคนในรุ่นก่อน

“คนรุ่นผมค่อนข้างฝังใจเรื่องนี้มาก ทั้งที่ในสมัยโบราณไทยก็ไปตีเมืองอื่นแล้วก็กระทำแบบนั้นเช่นกัน เพราะว่านั่นเป็นวิถีสงครามสมัยโบราณ แต่กลับไม่ได้ระบุไว้ในแบบเรียน

“ขณะที่เราเองก็เคยกวาดต้อนแรงงานชาวพม่า ชาวลาว ขุดคลอง โดนยุงกัดจนแสบเป็นที่มาของชื่อ คลองแสนแสบ”

ธีรภาพกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันชาวพม่ากลับไม่ได้มองเราเป็นศัตรูขนาดนั้น เขามองว่าศัตรูของเขาคือเจ้าอาณานิคมที่มากดขี่พวกเขามากกว่า ที่สำคัญคือเขามองว่าสงครามในอดีตมันจบไปแล้ว

“การเปิดประชาคมอาเซียนเป็นเงื่อนไขให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้เปิดตาอีกข้างหนึ่งมองไปยังเพื่อนบ้านว่าเขาเป็นเช่นไร มีข้อดีอย่างไร และสงครามในประวัติศาสตร์ไม่ควรที่จะเอามาเกี่ยวข้องในปัจจุบันอีกต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่สามารถลบล้างความคิดเห็นรุ่นก่อนว่าให้เลิกเกลียดชังเพราะเขาเรียนมาอย่างนั้น แต่ประชาคมอาเซียนจะทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นใหม่ในการที่จะเป็นเพื่อนกัน และแน่นอนคนรุ่นเก่าค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา

ชาวไทยเยี่ยมชมนิทรรศการ
ชาวไทยเยี่ยมชมนิทรรศการ

“90% ของแรงงานพม่ามาทำงานที่คนไทยไม่ทำ ปัจจุบันถ้าไม่มีแรงงานพม่ามาเสริมงานในส่วนต่างๆ อุตสาหกรรมของไทยอาจถึงขั้นล่มสลายได้

“เพราะฉะนั้นแรงงานพม่ามีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาหนีความยากจนมาเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน” ธีรภาพกล่าว

เริ่มทำความรู้จักกับพม่าประเทศเพื่อนบ้าน และ “ปรับทัศนคติ” ในระยะประชิด ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image