การสอนดนตรีเปลี่ยนไป ต้องพึ่งตัวเอง : คอลัมน์อาศรมมิวสิก

การศึกษาดนตรีของไทย ครูดนตรีจะต้องพึ่งพาตนเองในทุกระดับ หากจะถามว่า แล้วครูดนตรีจะหันไปพึ่งใคร ก็ตอบไม่ได้ว่าจะไปพึ่งพาใคร นอกจากจะเหมารวมเอาว่า ต้องพึ่งระบบการศึกษารัฐ ตั้งแต่เด็กเล็กกระทั่งจบชั้นอุดมศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ต้องดิ้นรนค้นคว้าหาความรู้เอง จะหวังพึ่งการศึกษาที่รัฐจัดให้ประชาชนก็ไม่มีคุณภาพเพียงพอ รัฐทำได้ก็เพียงเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ หากจะหวังพึ่งการศึกษารัฐเพื่อความเป็นเลิศหรือการประกอบอาชีพให้ได้นั้น รัฐก็ทำไม่ได้

เด็กไทยทั่วไปได้เรียนรู้ชีวิตโดยดูจากผู้ใหญ่ที่โกง สัมผัสผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัว เห็นผู้ใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบไร้ความเป็นธรรม ครั้นเมื่อ (เด็ก) เติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีโอกาสบ้าง ก็ดำเนินชีวิตเยี่ยงผู้ใหญ่ที่โกงและ เอาเปรียบมาก่อน ดังตัวอย่างที่เคยประสบพบเห็นมาใน วัยเด็ก สังคมไทยก็อยู่ในวงจรที่วนเวียนอย่างนี้ต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน

พ่อแม่ผู้ปกครองที่เชื่อว่าการศึกษาช่วยพัฒนาลูกและพัฒนาสังคมได้ ก็จะขวนขวายให้ลูกหลานได้มีชีวิตที่ดี เพื่อจะได้เรียนรู้และมีโอกาสที่ดีกว่า บางครั้งแม้จะเป็นเศษของโอกาสก็ตาม เพื่อจะนำสิ่งที่ดีไปใช้ในชีวิต มีชีวิตอยู่ในโลกที่ดีได้ พ่อแม่ที่มีโอกาสและมีกำลัง ก็จะส่งให้ลูกไปเรียนในต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป เพราะเขาไม่เชื่อในระบบการศึกษาของไทย นักเรียนที่ได้โอกาสมีทุนการศึกษา ก็จะเลือกไปเรียนที่ประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนเด็กที่ไม่มีโอกาสและพ่อแม่ไม่มีกำลัง ก็ต้องอยู่กับการศึกษาไทยต่อไปโดยไม่มีทางเลือก

อยู่อย่างยถากรรม โชคดีก็ได้โชคร้ายก็เสีย

Advertisement

รพินทรนาถ ฐากุร (Rabindranath Tagore พ.ศ. 2404-2484) ครูใหญ่คนสำคัญทางการศึกษาของอินเดีย นักปราชญ์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันตินิเคตัน (Shantiniketan) ซึ่งใช้ดนตรีและศิลปะเป็นหุ้นส่วนของการศึกษา ท่านมีความเชื่อเรื่องการศึกษามาก เชื่อว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนได้ เมื่อครั้งที่ท่านได้คุยกับมหาตมา คานธี เรื่องการปลดปล่อยเอกราชอินเดียจากอังกฤษ จะต้องทำให้คนในสังคมมีการศึกษาก่อน ให้คนได้มีความรู้ คนจะได้มีวิธีการทำงานที่จะได้บรรลุเป้าหมายในชีวิต ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาคนและสังคมให้มีประชาธิปไตยได้ รพินทรนาถ ฐากุร ยังได้ฝากมหาวิทยาลัยสันตินิเคตัน ขอให้นายกรัฐมนตรีอินเดียเป็นอธิการบดีของสันตินิเคตันโดยตำแหน่ง ซึ่งยังคงดำเนินอยู่กระทั่งปัจจุบัน ในการประสาทใบปริญญาแต่ละปี แม้ใบปริญญาจะเป็นใบไม้ แต่ก็ต้องคอยให้ท่านนายกรัฐมนตรีว่างจากภารกิจเสียก่อน นักศึกษาจึงจะได้รับใบปริญญา ที่สำคัญมากคือ นักศึกษาที่เรียนจบจากสันตินิเคตัน มีความสามารถในการเล่นดนตรีและมีความรู้เรื่องศิลปะทุกคน เพราะถือว่าเป็นวิชาพื้นฐานของชีวิต

มีคำถามว่า ทำไมเด็กทุกคนต้องเรียนดนตรี

การเรียนดนตรีของเด็ก มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประการด้วยกัน

Advertisement

ประการแรก เด็กเรียนดนตรีเพื่อให้เป็นคนเต็มคน ดนตรีสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเด็ก ดนตรีช่วยให้เด็กมองโลกในแง่ดี ดนตรีเป็นเรื่องของเสียงที่ไพเราะ เมื่อเด็กได้ยินเสียงที่ไพเราะผ่านทางหู เมื่อเสียงที่ดีผ่านเข้าไปตามรูขุมขน เด็กก็จะรู้สึกขนลุก เพราะเสียงที่ไพเราะจะแทรกเข้าไประหว่างอณูของร่างกาย ทำให้โมเลกุลในร่างกายขยายตัว การขยายตัวของโมเลกุลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาทำให้เกิดความเจริญ ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ได้พัฒนาดีขึ้น จิตใจได้พัฒนาให้ดีขึ้นด้วย ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต และเด็กมีความรู้สึกที่เบิกบานใจเมื่อได้เล่นดนตรี

ดนตรีช่วยพัฒนาให้เด็กมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น ช่วยพัฒนาให้เด็กมีศักยภาพความเป็นเลิศได้ และทำให้เด็กมีปัญญา สามารถที่จะแก้ปัญหาชีวิตได้
ประการที่สอง การเรียนรู้ดนตรีเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าในยามทุกข์หรือยามสุขก็มีดนตรีเป็นเพื่อนได้ ดนตรีเป็นเพื่อนที่ดีของเด็ก ดนตรีไม่เคยทำให้เด็กผิดหวัง ดนตรีเป็นสัจธรรมไม่ทรยศต่อชีวิต ในทุกชีวิต ทุกยุค ทุกสมัย และทุกกาลเวลา ขงจื๊อสอนให้เด็กเรียนดนตรีทั้งเพื่อใช้ในพิธีกรรมและเพื่อความสุขส่วนตัว ดนตรีนำความสามัคคีสู่ปวงชนŽ

ประการสุดท้าย เด็กเรียนดนตรีเพื่อเป็นพื้นฐานของอาชีพ หากเด็กมีความสามารถที่สูง เรียนรู้จากครูที่ดี มีการฝึกซ้อมดนตรี จากความพยายามและความมุ่งมั่น ก็สามารถที่จะใช้ดนตรีในการประกอบอาชีพได้ สำหรับอาชีพดนตรีของไทย

ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นอาชีพนานาชาติไปแล้ว ดนตรีไม่ได้เป็นวิชาชั้นต่ำอย่างแต่ก่อน ไม่ได้เป็นวิชาเต้นกินรำกินหรือเป็นวิชาข้างถนนอีกต่อไป ในปัจจุบัน ประเทศไทยขายการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก ดนตรีเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สังคมต้องการเพื่อใช้รองรับธุรกิจการท่องเที่ยว ดนตรีในร้านอาหาร ดนตรีในโรงแรม ดนตรีในสถานบันเทิง ดนตรีในพิธีกรรม ดนตรีที่ต้องใช้ศักยภาพความเป็นเลิศ ต้องอาศัยฝีมือนักดนตรีที่เป็นมาตรฐานนานาชาติ

ย้อนมาดูการพัฒนาวิชาดนตรีและการพัฒนาครูดนตรีของไทย ลำพังครูดนตรีที่จบการศึกษาเวลานี้ ครูดนตรีมีคุณภาพต่ำถึงต่ำมาก ครูดนตรีไม่สามารถที่จะสอนวิชาดนตรีให้เด็กเก่งได้ เด็กต้องไปเรียนดนตรีกับครูพิเศษนอกโรงเรียน การที่จะสร้างมาตรฐานการศึกษาดนตรีให้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญจึงยาก การส่งคนไปเรียนดนตรีในต่างประเทศเพื่อให้กลับมาพัฒนาการศึกษาดนตรีในชาตินั้นยาก ในที่สุดครูดนตรีต้นแบบก็ถูกกลืนหมด กำลังถดถอยเมื่อยล้าและอ่อนแรง

ดนตรีกลายเป็นเรื่องของความรู้ สามารถค้นหาความรู้ได้จากห้องสมุด การท่องบ่น การทรงจำ เป็นมาตรฐานการศึกษาทั่วไป แต่การเล่นดนตรีให้เป็น เล่นดนตรีให้เก่ง กลายเป็นเรื่องยาก เพราะว่ามีครูดนตรีที่เก่งน้อย ครูที่ไม่เก่งในการเล่นดนตรีมีมากกว่า เด็กไทยจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้เรียนดนตรีกับครูที่เก่ง

การสอนดนตรีเครื่องสายสากลในโรงเรียนสามัญ เป็นเรื่องใหม่สำหรับการศึกษาไทย ครูเครื่องสายนั้นหายาก ในขณะที่นักดนตรีที่เล่นเครื่องสายมีงานมากขึ้น แต่ก็ไม่นิยมเป็นครูดนตรี เพราะมีความเข้าใจว่า คนที่เป็นครูดนตรีคือเล่นดนตรีได้ไม่เก่ง ดังนั้น โครงการอบรมครูดนตรีที่สอนเครื่องสาย จึงเป็นทิศทางใหม่ของการศึกษาดนตรีของไทย

การอบรมครูเครื่องสายในไทยนั้น ต้องเชิญวิทยากรมาจากต่างประเทศ ครูเครื่องสายในภูมิภาคนี้ก็ไม่เข้มแข็งพอ ซึ่งหมายรวมถึงครูในพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มักจะเข้าร่วมการอบรมในไทยด้วย โดยอาศัยครูต้นแบบเครื่องสายที่มาจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย เยอรมนี เพราะว่ามีครูเครื่องสายที่แข็งแรงกว่า สอนดนตรีได้ก้าวหน้ากว่า ครูดนตรีในประเทศที่เจริญแล้วมีมาตรฐานเดียวกัน

การศึกษาของไทยนั้น เพิ่งจะตื่นตัวเรื่องการ พัฒนาครูเครื่องสาย (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล เบส) แม้จะช้าไปแล้ว แต่ก็ยังดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อครูเครื่องสายรู้ตัวว่าจะต้องพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาฝีมือ ครูดนตรีก็ต้องใช้วิธีดำเนินการนอกระบบ ต้องจัดฝึกอบรมกันเอง ต้องติดต่อหาครูต่างชาติมาช่วยฝึกอบรม ต้องลงทุนเพื่อหาเพื่อนครูที่มีอุดมการณ์เข้าร่วมฝึกอบรมให้มีจำนวนเพียงพอกับค่าใช้จ่าย

การฝึกอบรมครูดนตรีแบบนี้ ในโรงเรียนของรัฐจะทำไม่ได้ เพราะครูดนตรีของรัฐจะไม่ลงทุนในการพัฒนาตัวเอง ครูดนตรีของรัฐจะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการ รอคอยให้รัฐหรือโรงเรียนส่งเข้าฝึกอบรม เมื่อครูของรัฐที่ถูกส่งไปเข้าฝึกอบรม ก็มักไม่นิยมเข้าห้องเรียน จะหนีไปเที่ยว เมื่อได้เซ็นชื่อรับเบี้ยเลี้ยงเสร็จ ดังนั้น การฝึกอบรมครูดนตรีของรัฐ จึงยังห่างไกลคุณภาพการพัฒนาการศึกษา กลุ่มครูดนตรีที่รวมตัวกันพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นครูที่อยู่ในโรงเรียนตามมาตรา 15 (2) ที่ยังแข็งแรงด้านฝีมือ อุดมการณ์ และคุณภาพ แม้จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยอยู่ แต่ก็มีประสิทธิภาพสูง ครูดนตรีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครูดนตรีที่มีกิจการของตัวเองและอยู่ในโรงเรียนเอกชน

ข้อด้อยของครูดนตรีพิเศษเหล่านี้ ต้องลงทุนสูง ต้องจ่ายเงินค่าเล่าเรียนเอง เพื่อใช้เป็นค่าวิทยากร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ซึ่งมีราคาสูง ครั้นเป็นครูดนตรีที่มีคุณภาพ ก็ต้องเลือกนักเรียนที่ตั้งใจเรียน นักเรียนที่มีฐานะที่จ่ายค่าเล่าเรียนได้ เด็กที่เรียนก็ต้องมีเครื่องดนตรี พ่อแม่ต้องมีฐานะลงทุนเรื่องการศึกษาให้กับลูกได้ แม้จะมีเด็กจำนวนจำกัด แต่เป็นจำนวนที่มีคุณภาพสูง สำหรับการศึกษาดนตรีในเมืองไทย ทำให้ดนตรีเป็นวิชาที่เรียนแพงและการลงทุนสูง

ครูเครื่องสายที่เข้าฝึกอบรมเพื่อสอนดนตรีเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับการศึกษาไทย เมื่อเด็กได้เตรียมความพร้อมเรื่องดนตรีตั้งแต่แรกเกิด พออายุได้ 3 ขวบ ก็เริ่มเรียนเล่นเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเล่นเปียโน ไวโอลิน การร้องเพลง หรือเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานดนตรีในชีวิตเด็กได้ แนวทางนี้กำลังได้รับความนิยมจากพ่อแม่รุ่นใหม่มากขึ้น แม้เด็กจะเกิดน้อยลง แต่เด็กทุกคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ดูแลลูกได้ ก็จะส่งลูกไปเรียนดนตรี โดยที่พ่อแม่ต้องให้เวลาเรียนร่วมกับลูกตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งลูกอายุได้ 3 ขวบทีเดียว

กว่าจะถึง 3 ขวบ พ่อแม่ก็เริ่มสนใจดนตรีอย่างจริงจังมากขึ้น พ่อแม่กลายเป็นผู้ฟังดนตรีที่ดี พ่อแม่จำนวนหนึ่งเริ่มผลักดันให้ลูกได้เรียนดนตรีเป็นอาชีพ หรืออย่างน้อยก็ใช้ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิตลูก 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image