เจาะเวลาหาอดีต : คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน

ชีวิตนี้เคยแอบคิดเล่นๆ ว่าสักวันจะต้องหาโอกาสไปเยือนสุสานจิ๋นซีสักครั้ง เพราะดันไปอ่านนวนิยายเรื่อง เจาะเวลาหาจิ๋นซีŽ ซึ่งมี หวงอี้Ž นักประพันธ์ชาวฮ่องกงเป็นผู้เขียน

ปัจจุบันเขาเสียชีวิตแล้ว

นวนิยายเล่มเดียวกันนี้ น.นพรัตน์Ž เป็นผู้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งผมอ่านแล้วชอบมาก อ่านแล้วเกิดความรู้สึกร่วม จนอยากย้อนเวลากลับไปหาอดีตบ้าง

อยากจะเข้าไปพัวพันประวัติศาสตร์จีนสมัยรัฐฉิน

Advertisement

ซึ่งมี จิ๋นซีฮ่องเต้Ž ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิฉินเป็นผู้ปกครอง

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไป

ในเวลาไล่เลี่ยกันขณะนั้น นวนิยายเรื่องเจาะเวลาหาจิ๋นซียังถูกสร้างออกมาเป็นละครโทรทัศน์ด้วย ส่วนหนึ่งฉายที่ฮ่องกง และส่วนหนึ่งฉายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

Advertisement

โดยผู้รับบท จิ๋นซีฮ่องเต้Ž คือ กู่ เทียนเล่อŽ นักแสดงมากฝีมือชาวฮ่องกง

ผมมีโอกาสดูละครโทรทัศน์เรื่องนี้ด้วย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะออกอากาศประมาณปี 2544 หรือ 17 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้น ตลอดระยะเวลา 17 ปีผ่านมา ผมจึงเฝ้ารอว่า…เมื่อไหร่หนอจะมีโอกาสไปสุสานจิ๋นซี เมืองซีอาน ประเทศจีนสักครั้ง

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีโอกาสไป

จนผมลืมเรื่องนี้เสียสนิท

แต่แล้วจู่ๆ เมื่อต้นเดือนเมษายนผ่านมา ผมกลับได้รับเทียบเชิญจากอาศรมสยาม-จีนวิทยาให้ไปร่วมทัศนศึกษาบุกบ้านบูเช็คเทียน เรียนรู้สุสานจิ๋นซี ณ เมืองเฉิงตู, ก่วงหยวน และซีอาน

ตื่นเต้นมากครับ

ผมไม่รีรอที่จะรีบตอบรับทันที ยิ่งเมื่อดูรายละเอียดของงาน ปรากฏว่าไม่ได้ไปแค่สุสานจิ๋นซีเท่านั้น หากในแต่ละวันยังมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ อีกจำนวนมาก

เริ่มตั้งแต่วันแรก มีโอกาสเยี่ยมชมย่านศิลปะ และดนตรีแห่งใหม่ของเมืองเฉิงตู เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Eastern Suburb MemoryŽ สถานที่แห่งนี้เป็นเขตโรงงานเก่าแก่ของเมือง ที่ไม่เพียงจะผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กับประเทศ ยังผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย

ปัจจุบันเขาดัดแปลงเป็นแกลเลอรี่อาร์ต ที่ไม่เพียงจะขายของอันทันสมัย หากยังเป็นลานดนตรีเพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ของจีนมาเปิดการแสดงด้วย ดังนั้น ทุกๆ วันคนหนุ่มสาวชาวจีนจึงนิยมมาเที่ยวสถานที่แห่งนี้กันค่อนข้างมาก

พอตอนเย็นผมมีโอกาสดูการแสดงโชว์เปลี่ยนหน้ากาก

จริงๆ โชว์นี้ผมเคยเห็นจากสารคดีมาอยู่บ้าง แต่พอมาดูของจริง คนละเรื่องเลย เยี่ยมมากๆ ครับ แต่จะเป็นอย่างไรบ้างเดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟังวันหลัง

คืนนี้ผมนอนเฉิงตู 1 คืน

พอวันรุ่งขึ้นนั่งรถไฟความเร็วสูงเพื่อไปทัศนศึกษาด่านเจี้ยนเหมินกวน หรือด่านเกียมก๊กในสามก๊ก ซึ่งเป็นปราการด่านธรรมชาติอันแข็งแกร่งของแคว้นจ๊กก๊ก

นี่ก็ไฮไลต์สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

ต่อจากนั้น ผมก็ไปเยี่ยมชมวัดหวงเจ๋อซื่อ วัดประจำพระนางบูเช็คเทียน ซึ่งชื่อ บูเช็คเทียนŽ เชื่อว่าพวกเราคงค่อนข้างคุ้นเคย เพราะช่อง 3 เคยนำมาฉายทางโทรทัศน์เมื่อปีที่แล้ว

เรื่องนี้ก็เล่าได้ยาวอีกเหมือนกัน ตกตอนบ่ายผมไปทัศนศึกษาผาพระพุทธรูปพันองค์ ก่อนที่จะนั่งรถไฟความเร็วสูงอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองซีอาน

เมืองซีอานที่ผมคุ้นเคยชื่อนี้เป็นอย่างดี

เพราะนอกจากจะมีไฮไลต์สำคัญที่ผมอดทนรอคอยมานานกว่า 17 ปี เพื่อต้องการมาสุสานทหารดินเผาจักรพรรดิจิ๋นซี ผมยังมีโอกาสไปเยี่ยมชมอุทยานน้ำพุร้อนหวาชิงฉือของ หยางกุ้ยเฟยŽ อิสตรีผู้มีความงามไร้ที่เปรียบ ทั้งยังเป็น พระสนมของพระเจ้าถังเสวียนจง แห่งราชวงศ์ถังด้วย

ทั้งสองเรื่องนี้มีอะไรเล่าให้ฟังเยอะทีเดียว แต่ขอข้ามไปตอนกลางคืนก่อน เพราะมีโอกาสดูโชว์การแสดงย้อนยุคสมัยราชวงศ์ถัง แน่นอนต้องเกี่ยวเนื่องกับพระนางหยางกุ้ยเฟยและพระเจ้าถังเสวียนจงด้วย

พอรุ่งขึ้นอีกวัน ผมมีโอกาสไปเดินบนกำแพงเมืองโบราณซีอาน โดยมีความยาวประมาณ 14 กม. ความสูง 12 เมตร ทั้งยังมีโอกาสเยี่ยมชมจัตุรัสหอกลอง และ จัตุรัสหอระฆัง สถาปัตยกรรมโบราณสมัยราชวงศ์หมิง

พร้อมๆ กับมีโอกาสเยี่ยมชมชุมชนชาวมุสลิมโบราณ โดยภายในชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะมีร้านอาหารข้างทางมากมาย หากยังมีมัสยิดชิงจิ้ง มัสยิดโบราณ เก่าแก่อายุหลายร้อยปีเพียงแห่งเดียวในโลกที่มีสถาปัตยกรรมจีนผสมผสานอย่างลงตัว

น่าสนใจมากครับ

ผมชื่นชมสถานที่แห่งนี้ไม่นาน ต้องนั่งรถไฟความเร็วสูงกลับมาที่เมืองเฉิงตูอีกครั้ง เพื่อเตรียมตัวกลับเมืองไทยในวันรุ่งขึ้น แต่กระนั้น ก่อนกลับมีโอกาสเดินเล่นถนนโบราณควานจ๋ายเซี่ยงจื่อ แปลเป็นไทยว่า ซอยกว้าง-ซอยแคบ

ถนนแห่งนี้ถือเป็นถนนคนเดินที่น่าสนใจ เพราะสองข้างทางเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมโบราณ แต่ภายในกลับขายสินค้าร่วมสมัย ทั้งร้านกาแฟ อาหาร และเครื่องประดับต่างๆ

ถือเป็นนถนนไฮไลต์สำคัญของเมืองเฉิงตูทีเดียว

ที่ใครมาต้องลองแวะสักครั้ง

รับรองจะรื่นรมย์อย่างแน่นอน

ที่ผมเล่าให้ฟังทั้งหมดตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายไม่มีอะไรมากหรอกครับ แค่อยากจะบอกว่านับตั้งแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไปผมจะมาบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละสถานที่ให้ฟังอย่างละเอียด

เพราะผู้ที่ร่วมทริปไปกับผมครั้งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้กับคณะของพวกเรา หากยังเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนอย่างหาตัวจับยากอีกด้วย

คนหนึ่งคือ ประสิทธิ์ ฉกาจธรรมŽ ผู้อำนวยการอาศรมสยาม-จีนวิทยา และอีกคนหนึ่งคือ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น ในแต่ละสถานที่ที่เรามีโอกาสเยี่ยมชม และทัศนศึกษา จึงอุดมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จีนมากมาย

ทั้งยังเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

จนทำให้เชื่อว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเล่าผ่านผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน จึงไม่เหมือนกับผู้นำทัวร์คนอื่นๆ เป็นแน่ แต่จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น

โปรดติดตามฉบับหน้า เพราะผมจะเล่าเรื่องสุสานทหารดินเผาจักรพรรดิจิ๋นซีให้ฟังก่อนครับ

ฉบับนี้ยั่วน้ำลายแค่นี้ก่อน (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image