วิกฤตการณ์ ‘เฟคนิวส์’ ที่โลกยัง ‘ก้าวไม่พ้น’

เฟคนิวส์ (Fake news) หรือ “ข่าวปลอม” ได้สร้างปัญหาต่อสังคมโลกมาโดยตลอด

ที่ชัดเจนและสั่นสะเทือนที่สุด เห็นจะเป็น “ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกชนิดที่ไม่มีใครคาดหมาย

ปรากฏการณ์นี้เกิดจาก “มือที่ 3” นำข้อมูลและโปรไฟล์ส่วนตัวของผู้ใช้ “เฟซบุ๊ก” ชาวอเมริกันกว่า 50 ล้านคน ใช้ในทางการเมือง เพื่อบ่งชี้บุคลิกภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนนำไปสู่เหตุการณ์พลิกผันที่ส่งให้ทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้สำเร็จ

ส่งผลต่อ “ความน่าเชื่อถือ” ของ “เฟซบุ๊ก” จน มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ต้องออกโรงขอโทษผ่านแฟนเพจ ระบุตอนหนึ่งว่า บริษัทมีความรับผิดชอบในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน หากไม่เป็นเช่นนั้น เฟซบุ๊กก็ไม่สมควรจะได้รับความเชื่อมั่นในการใช้งานจากผู้ใช้ทุกคน

Advertisement

ข้ามมาฝั่งไทยเองก็ไม่ต่างกัน เรื่องการเชื่อและแชร์ “ข่าวปลอม” โดยขาดการไตร่ตรอง เช่น การใช้แพทย์ทางเลือกรักษาโรคติดต่อให้หายได้ การล้างหน้าด้วยโซดาช่วยกระชับรูขุมขน หรือใช้น้ำเย็นล้างหน้า แก้อาการแพ้จากสารปรอท และสเตียรอยด์ ฯลฯ

เป็นที่น่าวิตกเหลือเกินว่าในยุคที่ข่าวสารพัฒนาและเผยแพร่ได้รวดเร็วเช่นนี้ “เฟค นิวส์” จะทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือไม่ วงเสวนา “วิกฤต Fake news ในนิเวศธุรกิจสื่อ” จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงชวน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ., ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มธ. และ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานกรรมการ บริษัท อะแดป ครีเอชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแพลตฟอร์ม 77kaoded และ Money2know ร่วมพูดคุย ไขปริศนา และพากันหาทางออกว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้อย่างไร

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

‘เฟคนิวส์’ ไม่ใช่เรื่องใหม่

แพร่กระจายไว และสำเร็จยิ่งยวด

เกิดความสงสัยตั้งแต่ต้นกำเนิด ตลอดจนความเป็นไปของ “เฟคนิวส์” ว่าเป็นอย่างไรนั้น

Advertisement

เรื่องนี้ อดิศักดิ์ เผยว่า การเกิดขึ้นของ “ข่าวปลอม” มีมานานแล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงหรือการมีอยู่ของโซเชียลมีเดีย กระทั่งสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทว่ายุคสมัยก่อนในสื่อสิ่งพิมพ์จะมี “บรรณาธิการ” เป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนส่งไปถึงผู้อ่าน แม้จะพบเห็นช่วงก่อนเลือกตั้งในรูปแบบ “ใบปลิวเถื่อน” ตีพิมพ์ข้อความใส่ร้ายต่างๆ แต่การแพร่กระจายก็ยังช้ากว่าโซเชียลดังปัจจุบัน

สังเกตว่าเมื่อข้อมูลข่าวสารไหลบ่าอย่างรวดเร็ว ผู้คนมัก “ใช้อารมณ์ความรู้สึก” ในการเสพหรือรีแอ๊กกับข่าวนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็น “ข่าวปลอม” ยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) หรือการมีปฏิกิริยาต่อเนื้อหาข่าวจะสูงกว่า “ข่าวจริง” อีกทั้งการมี “โซเชียลมีเดีย” เป็นตัวขับเคลื่อน ยิ่งทำให้เห็นการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น

“คนที่ตั้งใจทำเฟคนิวส์ต้องมี ‘แรงจูงใจ’ หากไม่มีคงไม่ทำ อาทิ แรงจูงใจทางธุรกิจ การขายยา อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ลักษณะชวนเชื่ออยากให้เป็นจริง เช่น โรคมะเร็งสามารถหายได้ด้วยยา xxx ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ แต่เพื่อนส่งมาให้ แล้วกลับเชื่อมากกว่าหมอบอก

นี่เป็นเฟคนิวส์แบบหนึ่งที่เราเจอทุกวัน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์จะเห็นเฟคนิวส์ด้านสุขภาพมากที่สุด” อดิศักดิ์กล่าว

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.วิไลวรรณ ที่ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า เฟคนิวส์ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว เพียงแต่ในสมัยก่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารไม่ได้รวดเร็ว ข่าวสารเหล่านี้จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ ณ วันนี้ เฟคนิวส์อยู่ในรูปแบบออนไลน์ มีความรวดเร็วมากกว่า จึงทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ

“ข่าวปลอมกลับมามีประเด็นอีกครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผลออกมาเกินความคาดหมาย เพราะไม่มีใครคิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ตำแหน่งประธานาธิบดี นี่เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก

สิ่งนี้เผยให้เห็นการทำงานของข่าวปลอมที่ทำให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ตรงกับความต้องการ หรือตรงกับความรู้สึกของคนอเมริกา ส่วนตัวยังคิดว่าข่าวปลอมทำงานร่วมกับ Hate Speech ด้วย”

ต่อกรณีนี้ ผศ.ดร.วิไลวรรณยังบอกด้วยว่า แม้ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดี แต่คำว่า “เฟคนิวส์” ยังสถิตอยู่กับเขา เห็นได้จากการที่ทรัมป์ใช้เรื่องข่าวปลอมลดความน่าเชื่อถือคนทำสื่อ เช่น อ้างถึงสำนักข่าว CNN นำเสนอข่าวปลอม ซึ่งเป็นวิธีการลดความน่าเชื่อถือของสื่ออย่างหนึ่ง

“อีกกรณีหนึ่งคือ ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ทำงานได้ผลในโลกตะวันตกที่รัฐบาลจะออกกฎหมายควบคุมบรรดาข่าวปลอม จึงเกิดคำถามกับคนทำสื่อด้วยกันว่า รัฐบาลจะหยิบยกข่าวปลอมมาสร้างความชอบธรรมในการสร้างกฎหมายควบคุมสื่อ เพื่อแทรกแซงหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อหรือไม่”

ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม

อินเตอร์เน็ต vs ประชาชน

ผลสะเทือนแห่งการบริโภคสื่อ

ขณะที่ ฐิติรัตน์ มองว่า “เฟคนิวส์” เป็นพัฒนาการของสังคมช่วงหนึ่งที่กำลังเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพียงแต่ปริมาณข้อมูลนั้นมหาศาล โดยต้องจัดการอะไรสักอย่างซึ่งเป็นรีแอ๊กชั่นที่ถูกต้อง ควรมองเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า วันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเป็นเรื่องธรรมดา และจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อย่างอื่น

“เฟคนิวส์มองให้เป็นปัญหาแล้วเหนื่อย ไม่สู้มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายและพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้นดีกว่าหรือ?”

พร้อมเสนอว่า เรื่องเฟคนิวส์มีมานานแล้ว หากเป็นสมัยก่อนจะอยู่ในสภากาแฟ แต่ขณะนี้เฟคนิวส์อยู่ในทุกกลุ่ม ทุกที่ แม้กระทั่งหน้าเฟซบุ๊กเราเอง

จึงมีผู้สนใจวิเคราะห์ว่า เพราะเหตุใดถึงทำให้ “อินเตอร์เน็ต” ส่งผลกระทบต่อการบริโภคสื่อของประชาชน

1.ความเป็นนิรนาม ทำให้คนกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่กล้าในพื้นที่ปกติ มีข้อดีคือ บรรดาคนชายขอบที่ถูกกดทับโดยสภาพสังคม เช่น กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT สามารถรวมตัวกันได้เร็วกว่าแต่ก่อน แต่ข้อเสียคือ การไม่รับผิดชอบต่อการกระทำ

2.ไร้การควบคุมคุณภาพ เนื่องจากข่าวที่ได้มาไม่ผ่านการกรองเหมือนสำนักข่าวในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

3.มีผู้เสพข้อมูลมหาศาล คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ยากจะหลีกหนี สามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

4.แหล่งชุมชนคนสุดโต่ง และคนชายขอบ เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ ทำให้บางคนกล้าพูดในสิ่งที่สังคมทั่วไปอาจไม่ยอมรับ หรือหากพูดในสังคมธรรมดาจะไม่กล้าพูด เพราะจะถูกมองไม่ดี เรื่อยไปถึงการ “แชร์” ที่หากเป็นสมัยก่อนผู้คนจะตรึกตรองถึงความถูกต้อง แต่ในปัจจุบันสามารถ “แชร์” ได้ทันที โดยไม่สนใจการให้เหตุผลใดๆ

และ 5.การเป็นตลาดเสรีแห่งความคิดอันหลากหลาย หรือห้องแห่งเสียงสะท้อน สามารถนำเสนอได้ทั้งข้อเท็จจริง ความเชื่อ ข่าวลือ อคติ

โดย “อินเตอร์เน็ต” ทำให้เข้าถึงสิ่งที่อยากเห็น อยากฟัง มากกว่าความหลากหลาย จนกลายเป็นปัญหาตามมาว่า อินเตอร์เน็ตทำให้เกิดความหลากหลายขึ้นจริงหรือไม่?

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

แง้ม’ทางออก’ที่ทุกฝ่ายต้องตามให้ทัน

ฐิติรัตน์ยังบอกอีกว่า “ข่าวปลอม” มักเกิดจากความผิดพลาด ความไม่เท่าทันของสื่อ หรือกระบวนการทำงานไม่รัดกุม รวมถึงอาจเกิดขึ้นเพราะต้องการล้อเลียน สร้างกระแส ทั้งเพื่อผลทางธุรกิจ การเมือง หรืออื่นๆ สร้างความเดือดร้อน เช่น ชักชวนก่อการร้าย ตลอดจนสร้างความเกลียดชัง

ส่วน “ทางออก” ของปัญหาเหล่านี้คือ กระตุ้นการแข่งขันของสื่อด้วยข้อมูล พร้อมสร้างความรู้เท่าทันข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี เช่น ฐานข้อมูล Fact Checking อีกทั้งควรสร้างความรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน ตลอดจนกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เสพสื่อด้วย

โดยกำหนดให้สื่อเปิดเผยแหล่งเงินทุนในช่วงเวลาอ่อนไหว บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ หรือใช้อำนาจลบในกรณีฉุกเฉิน และมีโทษอาญาสำหรับกรณีร้ายแรงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นักกฎหมายมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ และไม่จำเป็นต้องให้กฎหมายมีบทบาทมากนัก เพราะอาจเกิดความกลัว จน “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เนื่องจากการมีกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป อาจนำไปสู่การเลือกไม่สื่อสาร จนท้ายที่สุดเกิดเป็นบรรยากาศตึงเครียดในสังคมได้

“ข่าวปลอม ไม่ได้สะท้อนปัญหาเรื่องสื่ออย่างเดียว แต่สะท้อนปัญหาของภาครัฐด้วย โดยภาครัฐต้องตระหนักถึง ‘ความสำคัญของการอธิบายต่อประชาชน’ รัฐต้องทำงานกับข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยแต่ละหน่วยต้องจัดสรรและนำเสนอข้อมูลให้แก่ประชาชน และต้องออกมาโต้แย้งข่าวปลอมที่ปล่อยออกมาอย่างทันท่วงที”

“ในโลกตะวันตกมีความตื่นตัวและจัดการกับสิ่งนี้แล้ว แต่การ ‘จัดการ’ ไม่ได้หมายถึงการใช้อำนาจทางกฎหมายทำให้เฟคนิวส์หายไป แต่เป็นลักษณะการตั้งศูนย์เพื่อนำเสนอข้อมูลในประเด็นที่ถูกต้อง”

แฟ้มภาพ

เลือกตั้งเฟคนิวส์

และแผนจัดการชลประทานข้อมูล

“การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นเฟคนิวส์หรือไม่”

ผศ.ดร.วิไลวรรณตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ได้อย่างเฉียบขาด แม้ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศก็ตาม แต่การโยนคำถามเรื่อง “การเลือกตั้ง” ลงในสังคมตอนนี้ ทำให้เริ่มเห็นเค้าลางการถกเถียงที่เริ่มแบ่งขั้วการเมืองเกิดขึ้น

“ปัจจุบันผู้รับสารอาจยังรู้ไม่เท่าทันสื่อและที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากจริง เฟคนิวส์จะถูกนำมาใช้อย่างไร เพราะคนที่เป็นนักข่าวสายการเมืองจะรู้ดีว่าตอนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้น ข่าวปลอมจะทำงานในชุมชนอย่างแรงอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันถูกขยับมาในโลกออนไลน์ แล้วข้อมูลข่าวสารยิ่งไวกว่า

“หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นจริง ข่าวปลอมจะทำงานภายใต้สังคมไทยอย่างไร และประชาชนทั่วไปจะรับมืออย่างไร?”

คล้ายๆ กับที่อดิศักดิ์กล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องถกกันว่า ก่อนการเลือกตั้ง หรือกำหนดวันเลือกตั้งได้แล้ว โซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทำงานของพรรคการเมืองจะเป็นไปอย่างไร

“จำได้ว่า การเลือกตั้งครั้งหลังสุดหรือก่อนหน้านั้นเริ่มจากวิทยุชุมชน นักการเมืองในท้องถิ่นมีวิทยุชุมชนเป็นกระบอกเสียง สร้างทั้งเฮตสปีช ทั้งข่าวปลอมในแง่การคุยโม้ต่างๆ รวมถึงใช้โจมตีฝั่งตรงข้าม จากนั้นเป็นทีวีดาวเทียม แล้วมาโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลไกของโซเชียลมีเดียเอื้อต่อการเลือกข้าง ปิดตาไม่เห็นอีกฝั่งมากกว่าทีวีดาวเทียมเสียอีก”

ทุกวันนี้มีสื่อหลากหลาย ผู้ออกแบบโปรแกรมคงไม่คาดการณ์ว่าโซเชียลมีเดียจะขยายตัวขนาดนี้ โดยอดิศักดิ์เปรียบเสมือนการสร้างเมืองที่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้ ทำให้ข้อมูลไหลบ่าท่วมท้น คล้ายกับ “ชลประทานข้อมูล”

ทั้งนี้ เขาได้เสนอแนวคิด “การสร้างระบบ” เพื่อรับมือกับการไหลบ่าของข้อมูล ซึ่งนำมาจากงานวิจัยของตนเอง ด้วยการแบ่งเป็น “ข้อมูลร้อน” และ “ข้อมูลเย็น”

สำหรับ “ข้อมูลร้อนที่เป็นบวก” อดิศักดิ์บอกว่า ควรให้ข้อมูลนั้นแพร่กระจายถึงทุกคน บนทุกแพลตฟอร์มอย่างรวดเร็ว แต่ “ข้อมูลร้อนที่เป็นพิษ” ควรจัดการตัดท่อ ไม่ให้กระจายออกไป

กลับกันที่ “ข้อมูลเย็นเชิงบวก” หรือข้อมูลดี เห็นควรให้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยทั้งภาครัฐในการจัดระบบข้อมูล เพิ่มการติดตาม ลงโทษผู้ให้ข้อมูลเป็นพิษ รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานให้เป็นแบบ Network of Network

“การสร้างระบบต่อสู้กับข่าวปลอมคือ อาศัยพลังของผู้บริโภคเข้าช่วย ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และสิ่งที่รัฐควรทำนั่นคือ การจัดสรรงบประมาณ ไม่บริหารแบบรวมศูนย์ ร่วมงานกับเครือข่ายต่างๆ ทำเป็น Network of Network ให้ได้”

ฉะนั้น การบริโภคข่าวสารของประชาชนต้องไม่เริ่มที่การแชร์มั่ว เช็กให้ชัวร์ก่อนถึงแชร์ แต่ต้อง “ชัวร์” จนอยาก “แชร์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image