ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ขอใช้สิทธิของมนุษยชาติ ‘ทวงคืน’ โพธิสัตว์ประโคนชัย

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

“ไม่มีประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ”

นี่คือถ้อยคำที่ออกจากปาก ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้มีบทบาทในการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “พระโพธิสัตว์” สัมฤทธิ์ อายุกว่า 1,300 ปี ซึ่งถูกระบุว่าเคยประดิษฐานอยู่ ณ ปราสาทปลายบัด 2 บนเขาปลายบัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประติมากรรมล้ำค่าอันจุดชนวนการ “ทวงคืน” จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้กลับมายังแผ่นดินอันเป็นต้นกำเนิด

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพียงข้อความในเฟซบุ๊กของคนเพียงไม่กี่คน ขยายผลมาสู่กระแสถาโถมในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กของกลุ่มคนที่สนใจในมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงเพจดังของบุรีรัมย์ ล้วนช่วยกันขยันแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาอย่างลุ่มลึกของนักวิชาการผู้นี้ที่ย้ำชัดว่า สนใจเรื่องราวของเขาปลายบัดมานานหลายปี ก่อนที่จะเกิดกระแสการทวงคืนโพธิสัตว์ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีจนาศะอันลึกลับ มีการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านถึงการลักลอบขุดเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

กระทั่งนำข้อมูลทั้งหมดไปมอบให้รองอธิบดีกรมศิลปากร และได้เป็นหนึ่งใน 2 วิทยากรหลักในงานเสวนาให้ความรู้เรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัย” ซึ่งสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จับมือกันจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุกลุ่มหนึ่งในที่ราบสูงโคราช เดิมเชื่อว่ามีเฉพาะอำเภอประโคนชัย จึงเรียกว่าประติมากรรมแบบประโคนชัย

Advertisement

ล่าสุด มีชาวบ้านร่วมสวมเสื้อรูปโพธิสัตว์เพื่อแสดงเจตนารมณ์การทวงคืน และติดป้ายตามร้านรวงมีข้อความ “สำนึก สิทธิ หน้าที่ คนบุรีรัมย์ทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ ปลายบัด 2 ประโคนชัย” รวมถึงเตรียมติดตั้งป้ายเรียกร้องให้บูรณะปราสาทปลายบัด 2 ซึ่งลงแรงวาดเองกับมือ

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทนงศักดิ์บอกว่า ชวนให้นึกถึงคราวทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แม้จะไม่ครึกโครมเทียบเท่า แต่ก็สะท้อนถึงความรับรู้ในสิทธิทางวัฒนธรรม รวมถึงความตระหนักในคุณค่าของโบราณวัตถุโบราณสถานในบ้านเกิดของตน

จุดเริ่มต้นกระแสทวงคืน

มีน้องที่รู้จักกันคนหนึ่ง ไปค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่าบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในต่างประเทศ นำประติมากรรมสัมฤทธิ์ออกมาประมูลขายในราคาหลักล้านโดยระบุว่ามาจากประโคนชัย บุรีรัมย์ เขาเลยเอามาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ผมเห็นแล้วชัดเจนว่าเป็นประติมากรรมแบบประโคนชัยจริง ก็มีการพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊กเรื่องข้อมูลเชิงวิชาการ และความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ส่วนกระแสเรื่องอยากได้คืนเกิดขึ้นทีหลัง เพราะโพสต์ของน้องคนนี้ถูกแชร์ออกไปเรื่อยๆ ต่อมามีคนอื่นๆ ไปค้นเพิ่มเติมอีกว่า มีประติมากรรมแบบนี้อีกหลายองค์ ที่ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ก็เอารูปมาเผยแพร่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ซึ่ง ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยในสหรัฐ กรุณาถ่ายภาพส่งมาให้ดู ถือเป็นองค์ที่งามและสมบูรณ์ที่สุด มีขนาดใหญ่เท่าๆ คนจริง ทำให้เป็นที่ฮือฮามาก ทำให้หลายคนเกิดความคิดว่าอยากขอคืนมาไว้ในเมืองไทย นอกจากนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่สนใจด้านนี้ เช่น โชติวัฒน์ รุญเจริญ ซึ่งจบจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ สม่ำเสมอผ่านเฟซบุ๊ก คนก็เริ่มสนใจมากขึ้นจนมีกระแสอย่างที่เป็นอยู่

Advertisement

ทำไมบอกว่าปราสาทปลายบัด 2 สำคัญกว่าพนมรุ้งและเมืองต่ำ

เพราะปราสาทหลังนี้ และพื้นที่บริเวณนี้พบประติมากรรมแบบประโคนชัยเป็นจำนวนมาก มีบันทึกว่ามากกว่า 300 องค์ ประติมากรรมกลุ่มนี้ แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการหล่อสัมฤทธิ์ขั้นสูง โดยหล่อเป็นรูปพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน สะท้อนถึงการเป็นดินแดนที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และต่อเนื่องมาโดยตลอด กระทั่งเกิดราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งเป็นราชวงศ์สำคัญที่จะปกครองอาณาจักรเขมรต่อไปในภายหน้า ถ้าไม่มีสัมฤทธิ์กลุ่มนี้ ก็ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ

นอกจากนี้ ถ้ามองในเชิงศิลปะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญของโลกชาวฝรั่งเศสอย่าง ศาสตราจารย์ฌอง บวซซิลิเยร์ บอกว่า ประติมากรรมชุดนี้จะเรียกว่าศิลปะเขมรก็ไม่ได้ มอญก็ไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น มันไม่เหมือนที่ไหนเลย ซึ่งจุดนี้แหละที่สำคัญในการศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนแถบนี้

ด้วยเหตุผลข้างต้นเลยคิดว่าไทยควรเสนอให้ปราสาทปลายบัด 2 เป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทหินอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกัน

แน่นอน ผมศึกษามานาน ทั้งค้นคว้าเรื่องจารึก ลงพื้นที่คุยกับชาวบ้านตั้งแต่ปี 2554 เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้เสนอให้กรมศิลปากรผนวกปราสาทปลายบัดเป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ และเส้นทางพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

การที่คนบุรีรัมย์กลุ่มหนึ่งเริ่มเขียนป้ายเรียกร้องให้บูรณะปราสาทปลายบัด 2 เป็นเค้าลางความสำเร็จด้านการเผยแพร่ความรู้

นั่นแสดงว่าเขาเห็นความสำคัญแล้ว และทำอย่างไรให้กรมศิลป์กับชาวบ้านไปในทางเดียวกัน รักและหวงแหนสิ่งที่เป็นสมบัติของชุมชน ผมมองว่าเรื่องนี้เรามีหน้าที่หลักคือให้ความรู้กับชุมชน ให้เขาคิดต่อไปว่า ประติมากรรมสัมฤทธิ์มีความสำคัญ

เทียบกับกรณีทับหลังนารายณ์ ทำไมกระแสยังน้อยกว่ามาก

อาจเพราะความขัดแย้งระหว่างข้อมูลจากกรมศิลป์ กับข้อมูลจากนักวิชาการนอกกรมศิลป์ คือเราเห็นว่าโพธิสัตว์ชุดนี้เจอที่เขาปลายบัด แต่กรมศิลป์บอกไม่มีหลักฐานรูปถ่าย ผมก็งงว่า ยังต้องพิสูจน์อะไรอีก ในเมื่อเอกสารประกอบการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ก็บอกว่ามาจากเขาปลายบัด งานสัมมนาระดับโลก มีเอกสารประกอบเป็นปึ๊ง ว่าเป็นประติมากรรมแบบประโคนชัย มาจากปราสาทปลายบัด 2 ฝรั่งให้ความสำคัญมาก ชาวบ้านก็เล่าเหตุการณ์ตรงกันว่ามีการลักลอบขุด ทุกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ต่างจากทับหลังนารายณ์ ซึ่งตอนนั้นทุกคนมีข้อมูลชุดเดียวกันหมด อยากได้คืน อยากเอากลับมาติดปราสาทหินพนมรุ้ง

 

ท้องถิ่นต้องกระตุ้นราชการ ให้รัฐบาลดำเนินเรื่องนี้อย่างจริงจังถึงจะเป็นไปได้ ลำพังกรมศิลป์ ไม่มีทาง อย่างกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขนาดคนรู้จักปราสาทหินพนมรุ้งกันเยอะ ราชการทวงมา 10 ปี ไม่สำเร็จ สุดท้ายคนไทยทั้งในและต่างประเทศผนึกกำลังกัน ถึงจะได้คืนมา แต่ก็เสียเงินไปเยอะ ไม่ใช่ได้ฟรีๆ

 

ข้อแนะนำถึงกรมศิลปากรต่อกรณีนี้

กรมศิลป์ควรคิดเรื่องดำเนินการขอคืนเลย ไม่ต้องหาหลักฐานแหล่งที่มาแล้ว เพราะมันชัดเจนมาก สิ่งจำเป็นสุดลำดับแรกคือ ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถานโบราณวัตถุในพื้นที่ ผมคิดว่ากรมศิลป์ควรคืนพระพุทธรูปนาคปรกองค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครให้ชุมชน เพราะพระพุทธรูปองค์นั้น เคยขุดเจอที่ปราสาทปลายบัด 2 ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านที่เล่าตรงกันหมด เป็นความรู้สึกร่วมของเขา หรืออย่างน้อยที่สุดจำลองมาให้บูชาก็ยังดี ชาวบ้านเขาเรียกร้องอยากเห็นของจริง นั่นจะมีค่าสำหรับการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์

ลำดับต่อมา ควรดำเนินการขั้นต่อไปให้เป็นรูปธรรม คือ คุยกับกระทรวงวัฒนธรรมและรัฐบาล อาจเจรจากันรัฐต่อรัฐ มันถึงจะสำเร็จ ประสานงานกับต่างประเทศ โดยต้องชี้แจงกับชุมชนให้เห็นความตั้งใจในการทวงคืน

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

ทำไมไทยไม่ลงนามในอนุสัญญา The Unesco convention 1970 ที่ว่าด้วยการคืนโบราณวัตถุระหว่างประเทศ

อาจกลัวผลกระทบที่จะตามมา หลายประเทศก็ไม่เซ็น เช่น ญี่ปุ่นกับอเมริกา เพราะว่ามีโบราณวัตถุต่างๆ ที่เขาสะสมไว้ คงไม่อยากวุ่นวายเรื่องการคืนสมบัติของประเทศอื่นๆ ที่ตัวเองได้รับมา ประเทศไทยก็เป็นลักษณะเดียวกัน อาจเกรงว่าเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจะทวงคืนเยอะ แต่จริงๆ แล้วโบราณวัตถุจากประเทศกัมพูชาแทบไม่มีเลยในพิพิธภัณฑ์ไทย ที่เห็นๆ อยู่คือโบราณวัตถุในวัฒนธรรมขอมที่พบในดินแดนไทยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีพระโพธิสัตว์ ก็ใช้อนุสัญญานี้ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ลักลอบออกนอกประเทศ เกิดขึ้นก่อนอนุสัญญา ที่ทำได้คือใช้หลักศีลธรรม และการเจรจาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล แม้อเมริกาจะไม่มีหน่วยงานแบบกรมศิลป์ แต่เชื่อว่าสามารถคุยกับพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นเอกชนที่ดูแลโดยมูลนิธิต่างๆ ได้ โดยอาจตกลงกันว่าเราจะทำของจำลองส่งให้ แล้วคุณคืนของจริงมาได้ไหม เพราะมีการลักลอบนำออกไปโดยมิชอบ หรือให้เราคืนมาแล้วยืมจัดแสดงก็ยังได้

เมื่อไม่นานมานี้ พิพิธภัณฑ์ที่ครอบครองโพธิสัตว์ประโคนชัย เพิ่งคืนรูปสลัก 4 ชิ้น ให้กัมพูชา เขาใช้วิธีไหน

เรื่องมีอยู่ว่า ประติมากรรมจากเมืองเกาะแกร์หายไปจากโบราณสถาน แล้วถูกนำไปประมูล มีนักข่าวอเมริกันขุดคุ้ย เจอขบวนการค้าโบราณวัตถุ มีการนำสืบพบคนที่มีเส้นสายในการค้าและขบวนการส่งออกโดยผ่านทางประเทศไทย นำไปสู่การที่ศาลสั่งให้บริษัทประมูลเปิดเผยข้อมูลการได้มาของโบราณวัตถุ การได้คืนก็เกิดจากการเจรจาระหว่างรัฐบาล

โพธิสัตว์ประโคนชัยก็คาดว่าออกไปอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน แสดงว่ามีความเป็นไปได้ในการทวงคืน

สำคัญสุด คือท้องถิ่นต้องกระตุ้นราชการ ให้รัฐบาลดำเนินเรื่องนี้อย่างจริงจังถึงจะเป็นไปได้ ลำพังกรมศิลป์ ไม่มีทาง อย่างกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ขนาดคนรู้จักปราสาทหินพนมรุ้งกันเยอะ ราชการทวงมา 10 ปี ไม่สำเร็จ สุดท้ายคนไทยทั้งในและต่างประเทศผนึกกำลังกัน ถึงจะได้คืนมา แต่ก็เสียเงินไปเยอะ ไม่ใช่ได้ฟรีๆ

เรื่องค่าใช้จ่ายจะมีผลทำให้ภาครัฐไม่อยากดำเนินการไหม

ของอย่างนี้ขอความร่วมมือกับเอกชนได้ คนมีตังค์ในประเทศนี้ และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศก็มี ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่เอกชนช่วยซื้อคืนให้กรมศิลป์ เพราะฉะนั้นเรื่องเงินไม่ควรเป็นอุปสรรค

การทวงคืนในลักษณะนี้ถือเป็นการกระตุ้นแนวคิด “ชาตินิยม” หรือไม่

ไม่เลย นี่เป็นการทำหน้าที่ของมนุษยชาติ ซึ่งมีสิทธิทางวัฒนธรรมที่จะกระทำได้ โบราณวัตถุดังกล่าวเป็นของคนในท้องถิ่น และคนในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เรื่องของชาตินิยม

มองอย่างไรต่อความเห็นที่ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีประติมากรรมรูปแบบเดียวกับโพธิสัตว์อยู่แล้ว ไม่ต้องทวงคืนก็ได้

ตลกนะที่เราจะบอกว่าหน้าตาจะเหมือนกัน ทั้งๆ ที่มันไม่เหมือน อีกเหตุผลหนึ่งคือ มันมีค่าทางจิตใจมากน้อยต่างกัน การเผยแพร่ความรู้อย่างเดียว สักพักคนก็ลืม เพราะไม่มีโบราณวัตถุที่ยึดเหนี่ยวให้เรานึกถึงได้ตลอดเวลา

จะตอบอย่างไรในกรณีที่มีผู้ห่วงใยว่า หากกลับมาไทยแล้วจะดูแลได้ดีไม่เท่าต่างประเทศ อีกทั้งคนเข้าชมน้อยกว่า

เรื่องการดูแลไม่ใช่ปัญหาเลย หากมีงบประมาณเพียงพอ การสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างถนนอีก ส่วนเรื่องการอยู่เมืองนอกแล้วมีคนเห็นเยอะกว่า ถามว่า อะไรคือตัวชี้วัดว่านักท่องเที่ยวในฝรั่งจะเห็นเยอะกว่าบ้านเรา ซึ่งสถิตินักท่องเที่ยวก็ไม่น้อย การได้เห็นโบราณวัตถุวัฒนธรรมนั้นๆ ในดินแดนต้นกำเนิด น่าจะกระตุ้นให้อยากจะเรียนรู้ หรือจะเรียกว่า อิน มากกว่าก็ได้

คำถามสุดท้าย ทวงคืนมา ประชาชนได้อะไร

ประโยชน์สำคัญที่สุด น่าจะเป็นเรื่องการกระตุ้นให้คนกลับมาสนใจที่จะรักษาโบราณวัตถุ หรือโบราณสถานที่บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น อันที่สองก็คือ ทำให้กรมศิลปากรต้องกลับมาคิดให้มากกว่านี้แล้วว่า การที่คุณจะเสนอแหล่งมรดกโลก ควรคิดถึงข้อมูลที่จะได้จากชุมชนให้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันไม่ศึกษาเรื่องชุมชนเลย

นอกจากนี้ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทเขาปลายบัด 3 จุดนี้เป็นแหล่งที่พัฒนาให้เชื่อมโยงกันได้ โดยเป็นเส้นทางวัฒนธรรมที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง

 

ชีวิตวนเวียนของเซียนหนังสือ

ไม่ต้องบอกก็เดาได้ไม่ยากว่าทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้รอบรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมร ย่อมเป็นหนอนหนังสืออย่างไม่ต้องสงสัย หรือหากจะกล่าวไปไกลกว่านั้น อาจเทียบชั้นเป็นเซียนก็ว่าได้ เพราะหนังสือแนวไหนที่อยู่ในความสนใจ เป็นอันรู้หมดว่าพิมพ์ที่ไหน ซื้อประเทศใดได้ราคาถูกกว่า พิมพ์มาแล้วกี่ครั้ง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ แม้กระทั่งการออกทริปต่างประเทศ ก็ยังพาผู้ร่วมเดินทางไปทัวร์ยัง “ร้านหนังสือ” นอกจากนี้ ท่านที่ติดตาม “มติชน” ตลอดมา อาจคุ้นหน้าว่าเป็น “คนในข่าว” กรณีหอสมุดกลาง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เทกระจาดหนังสือล้ำค่าชั่งกิโลขายให้ร้านรับซื้อของเก่า นักวิชาการท่านนี้ก็เป็นอีกคนที่ห่วงใยติดตามไป “ซื้อคืน” ได้หลายสิบกิโลกรัม ก่อนมอบคืนหอสมุดดังกล่าวที่ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าเกิดความผิดพลาดบางประการ

เรียกได้ว่า ชีวิตของทนงศักดิ์วนเวียนอยู่กับการ “ทวงคืน” !

เมื่อถามถึงหนังสือเกี่ยวกับเขมรโบราณตามที่สนใจ ได้คำตอบว่า ในวงวิชาการไทยนั้น ตนเคยไปดูทั้งชั้นในร้านหนังสือแล้วยังไม่มีถูกใจ เพราะสู้ “เมืองพระนคร” ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ที่เขียนไว้นานนมเนไม่ได้สักเล่ม ทั้งที่ควรมีหลักฐานการศึกษาใหม่ได้แล้ว

“หลักฐานใหม่ในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง สามารถเอามาประมวลได้แล้ว แต่กรมศิลปากรยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูล จึงมองประวัติศาสตร์เหมือนเดิมตลอด ทำให้ชุดความรู้ที่ใช้ประกอบการให้ความสำคัญในการเสนอแหล่งมรดกโลกไม่ชัดเจน เพราะไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image