คู่มือฉลาดซื้อ”บ้านประชารัฐ”

เพิ่งจะรู้แฮะ ซื้อบ้านประชารัฐยุ่งยากกว่าที่คิด

ดังนั้น วันนี้จึงขออุทิศพื้นที่ข้อมูลให้กับโครงการนี้อีกสักครั้ง เพราะปรากฏว่ามีผู้บริโภคตาดำๆ หลายรายสอบถามเข้ามาแถมบ่นอีกต่างหากว่า ซื้อไม่ได้บ้าง เขาไม่ให้ซื้อบ้าง

คำว่า “เขา” น่ะหมายถึงใคร? คำตอบคือก็ทั้งทางฝั่งธนาคารกับฝั่งเจ้าของโครงการนั่นแหละ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เนื่องจากโครงการบ้านประชารัฐทางรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนทั้งผู้ซื้อกับฝั่งผู้พัฒนาโครงการ เพราะอยากให้มีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นผลเร็วๆ

Advertisement

ประเด็นอยู่ที่ในเมื่อเป็นโครงการของรัฐบาลก็แปลว่าใช้เงินหลวงมาสนับสนุน ดังนั้น จำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสซื้อบ้านหลังแรกในชีวิต ปัญหาอยู่ที่ว่าจะตรวจสอบยังไงดีล่ะเพื่อให้เจอผู้มีรายได้น้อยตัวจริงเสียงจริง และซื้อเป็นบ้านหลังแรก

วิธีการจึงไปสร้างช่องทางไว้กับเจ้าของโครงการ อย่างน้อยที่สุดต้องมาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ หลังจากนั้น ลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์กับโครงการ เงื่อนไขมีอยู่ว่าทางบริษัทเอกชนต้องออกใบรับรองแนบท้ายหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย สำหรับให้ผู้บริโภคนำไปประกอบเป็นหลักฐานการขอกู้อีกต่อหนึ่ง

ใบรับรองแนบท้ายดังกล่าว จะเรียกว่าเจ้าของโครงการ เซ็นสลักหลังŽ หรือ endorse ให้ก็ว่าได้ (ปกติ การเซ็นสลักหลังจะใช้ในกรณีเซ็นกำกับเอกสาร หรือเซ็นหลังเช็กหรือตั๋วแลกเงินสำหรับนำไปใช้ขึ้นเงินสด) เหตุผลก็เพื่อให้รัฐบาลอุ่นใจว่าผู้ซื้อนั้นซื้อเป็นบ้านหลังแรก อย่างน้อยที่สุดทางผู้ประกอบการก็ช่วยสกรีนหรือช่วยตรวจสอบให้เบื้องต้น

Advertisement

อย่าลืมว่าไฮไลต์ของโครงการบ้านประชารัฐก็คือวงเงินสินเชื่อสุดพิเศษนั่นเอง (ดูกราฟิกประกอบ)

กราฟฟิกประชารัฐ

ตัวอย่างข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ มีกลุ่มลูกค้าอยู่กลุ่มหนึ่งที่จะเรียกว่าเป็นกลุ่มสุญญากาศก็ว่าได้ เพราะมีการไปจองซื้อบ้านในโครงการจัดสรร แต่ดันไปติดต่อจองซื้อไว้เมื่อ 1-2 เดือนที่แล้ว ตอนนั้นโครงการบ้านประชารัฐก็มัวแต่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เป็นมติอนุมัติออกมา แต่ล่าช้าไป 5 สัปดาห์เต็ม เพิ่งจะคลอดเป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

พอเป็นมติ ครม.อนุมัติปุ๊บ ผู้บริหาร ธอส. กับ ธ.ออมสินก็ใจดีรีบแถลงข่าวว่าสินเชื่อบ้านประชารัฐมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป

เรื่องน่าจะจบแต่มันไม่จบ เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารยืนกรานว่า เจ้าของโครงการจะต้องเซ็นสลักหลัง หรือมีหนังสือแนบท้ายว่าที่อยู่อาศัยนั้นอยู่ในโครงการบ้านประชารัฐ ตามเงื่อนไข ครม.เป๊ะ (ทั้งๆ ที่ราคาอสังหาฯ ถ้าไม่เกิน 1.5 ล้านก็น่าจะพิจารณาปล่อยกู้ได้เลย)

เรื่องยุ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปตีความว่า ออกหนังสือแนบท้ายให้

ไม่ได้เพราะ 1.การจองซื้อก่อนมติ ครม. 22 มีนาคม ถือว่าไม่มีผลย้อนหลัง แปลอีกทีทางบริษัทมองว่าจองซื้อไปแล้วถือว่าเลยตามเลย ถ้าอยากได้สิทธิประโยชน์บ้านประชารัฐจะต้องยกเลิกยอดจองเดิมแล้วมาเลือกซื้อแปลงใหม่ 2.หนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อตัวแทนบริษัทไปตีความว่าบ้านประชารัฐจะเป็นยูนิตที่บริษัทกำหนดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกยูนิตที่ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

เรื่องนี้ถ้าพยายามทำความเข้าใจให้ดี บริษัทคงมองว่าการเข้าร่วมโครงการประชารัฐทำให้ตัวเองเข้าไปพัวพันกับเงื่อนไขที่ไปรับปากรัฐบาลไว้ว่าต้องแจกโปรโมชั่นผู้บริโภค 5% ของราคาซื้อขาย (มาจากฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปีแรก 1%, ฟรีค่าโอน 1%, ฟรีค่าจดจำนอง 1%, ส่วนลด 2%) เลยตีความว่าบริษัทต้องเป็นคนชี้ว่ายูนิตไหนที่จะ endorse ให้ผู้ซื้อบ้าง

ถ้ามีโครงการไหนงอแงหรือว่าเรื่องเยอะ ให้เดาไว้ก่อนเลยว่าเป็นความเขี้ยวลากดินของทีมเซลหรือฝ่ายขายโครงการ คงจะถือโอกาสผลักดันยอดขายอสังหาฯ แปลงที่ขายยากๆ ก็อีตอนนี้แหละ

เห็นไหมว่าเรื่องไม่น่ายุ่งก็ยังยุ่งเลย เราเป็นผู้บริโภคไม่ต้องไปงงกับเขาหรอกค่ะ เลือกแปลงที่เราอยากได้ จากนั้นก็แค่ยืนยันกับโครงการที่เราจะซื้อว่าช่วยออกใบแนบท้ายให้ด้วยก็แล้วกัน เพราะบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทถือเป็นราคาบ้านประชารัฐทั้งสิ้น

ที่สำคัญขอให้มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่าอำนาจต่อรองอยู่ที่ผู้บริโภค งานนี้เป้าหมายมีไว้พุ่งชน เด้อค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image