“วิชเรศ บุญจิตต์พิมล” เจเนอเรชั่น 2 แห่งโรงพยาบาลนวมินทร์ 9

นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงเวลานี้ ก็ร่วม 20 ปีแล้ว ที่นายแพทย์ประจักษ์ บุญจิตต์พิมล ก่อตั้งโรงพยาบาลนวมินทร์ขึ้นมาในย่านมีนบุรี

ก่อนจะขยับขยายบริการดูแลรักษาผู้ป่วย กระทั่งเมื่อ 8 ปีก่อน โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ก็ถือกำเนิดขึ้น พร้อมนโยบายบริการมาตรฐานสากล ในราคาที่คุณจ่ายได้

และในวันนี้ คือเวลาที่ผู้บริหารรุ่นใหม่จากสายเลือดเดียวกันอย่าง “วิชเรศ บุญจิตต์พิมล” ชายหนุ่มผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอำนวยการการปฏิบัติงานด้านแผนยุทธศาสตร์ด้วยวัยเพียง 24 ปี ก้าวเข้ามาทำงานและเตรียมรับช่วงต่อในรุ่นที่ 2

เกิดวันที่ 21 มีนาคม 2535 เป็นบุตรชายคนเล็กของ “นายแพทย์ประจักษ์-คุณวราภรณ์ บุญจิตต์พิมล” ขณะที่พี่สาว “ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล” ก็เป็นอีกเรี่ยวแรงหนึ่งในการดูแลธุรกิจของครอบครัว

Advertisement

ในวัยประถมศึกษา วิชเรศเรียนที่โรงเรียนร่วมฤดี อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อนจะสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ด้วยวัยเพียง 14 ปี แต่ด้วยความคิดที่อยากจะมีพัฒนาการตามวัย ทำให้เด็กหนุ่มตัดสินใจเรียนต่อที่สถาบันเดิมตามหลักสูตรจนกระทั่งจบระดับชั้นมัธยม

ด้วยวัยเพียงเท่านั้น วิชเรศเล็งเห็นอนาคตที่ควรเป็นของเขาเอง นั่นคือการสานต่อธุรกิจโรงพยาบาลของทางบ้านในฐานะเจเนอเรชั่นใหม่ เขาตัดสินใจศึกษาต่อที่คณะแพทย์ตามความถนัดในวิชาชีววิทยาและเคมี สอบเข้าและเรียนคณะแพทยศาสตร์ของโครงการร่วมระหว่างแพทยศาสตร์ มศว กับนอตติงแฮม ซึ่งรับผู้เรียนใหม่เพียงปีละ 10 คนเท่านั้น

แต่ภายใน 6 เดือน เด็กหนุ่มก็รับรู้ชัดเจนว่าคณะแพทย์อาจไม่ใช่ทางเดินที่เหมาะกับเขานัก จึงเบนสายเปลี่ยนมาเข้าคณะที่สนใจ คือวิศวกรรม สาขา Information and Communication Engineering (ICE) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะคว้าคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครอง

Advertisement

นั่นเป็นปริญญาใบแรกในชีวิต ก่อนที่เขาจะมุ่งเข้าศึกษาต่อ Imperial College London ในสาขา Innovation, Entrepreneurship and Management ในระดับปริญญาโท ปัจจุบัน ชายหนุ่มศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำความรู้ความเข้าใจด้านงานบริหารกลับมาช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวอย่างแข็งขัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสามารถของวิชเรศนั้นนำหน้าเกินอายุไปหลายช่วงตัว และรวมถึงวิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่

ที่จะมาดูแลและรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวในวันที่ไม้ผลัดถูกเปลี่ยนมืออย่างเต็มความสามารถ

การไม่ได้จบหมอ จะมีปัญหาในการรับช่วงต่อโรงพยาบาลไหม?

(คิด) ก็น่าจะมีแหละครับ เช่น ในเรื่องการดูแลฝ่ายแพทย์ก็ต้องให้ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ดูแลไป แต่ว่าในด้านอื่นๆ ในที่สุดผมก็ต้องดูแล การดูแลโรงพยาบาลสักแห่งนั้น มีส่วนที่ต้องดูแลหลายด้านมากๆ การดูแลแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วน ในส่วนอื่นๆ ผมคิดว่าดูแลได้ เช่นด้าน Financial accounting หรือ Human resources

ตอนนี้ผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ ด้าน Public Health Management ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับการบริหารโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมคิดว่าการเรียนมาหลายๆ ด้าน ทั้งวิศวะและบริหาร สามารถนำแนวคิดทางด้านวิศวกรรมมาผสมกับทางด้านบริหาร การที่คนไม่ได้จบสายแพทย์มาทำตรงส่วนนี้ก็จะได้มุมมองด้านธุรกิจที่ต่างออกไป ซึ่งอาจช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปได้สมบูรณ์ด้วย

 

เรียนมาหลากหลายสาขาทำให้มีมุมมองแตกต่าง?

อย่างที่ผมจบ Information and Communication Engineering คิดว่าจะนำความรู้ด้านนี้มาพัฒนาระบบข้อมูลของโรงพยาบาลให้รวดเร็วขึ้นได้ เพราะเทคโนโลยีโลกก้าวไปเร็วเกินกว่าที่คนจะตามทัน การนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ธุรกิจได้อะไรมากขึ้น อาจทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งด้วย

การเรียนคณะเหล่านี้มาทำให้ผมมองอะไรต่างจากคนอื่นด้วยเหมือนกัน และผมเองคิดว่าด้วยแนวคิดของผมเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ในโรงพยาบาลให้ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นแน่ๆ อย่างแนวคิดแบบ Lean Management ซึ่งเป็นแนวคิดทางวิศวกรรมอุตสาหการที่เน้นการตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากการปฏิบัติงานบางขั้นตอน หรือปรับเปลี่ยนบางจุดเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผมจบบริหารมาด้วย คิดว่าน่าจะช่วยควบคุมส่วนต่างๆ ของโรงพยาบาลได้ ขณะเรียนมีหลักสูตร Innovation ซึ่งเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ด้วย คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และเสริมเติมส่วนต่างๆ ได้

 

เริ่มเข้ามาช่วยงานที่โรงพยาบาลหรือยัง?

ผมจบจากที่ Imperial College London แล้วบินกลับมาไทยตอนเดือนตุลาคมปี 2015 กลับมาศึกษางานโรงพยาบาลเพื่อให้เห็นงานส่วนต่างๆ ให้เห็นภาพรวม จากนั้นเดือนธันวาคมก็เรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ และช่วยดูงานที่โรงพยาบาล โดยมีคุณพ่อสอนงาน ตอนนี้ผมก็มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอำนวยการการปฏิบัติงานด้านแผนยุทธศาสตร์ หน้าที่หลักคือวางแผนกลยุทธ์ เพราะโรงพยาบาลเรามีนโยบายหลักคือ High Quality and affordable price คุณภาพสูงและราคาสมเหตุสมผล ผมก็ต้องมาดูวิธีการสร้างรายได้ คุมค่าใช้จ่ายให้น้อยโดยที่มาตรฐานยังสูงอยู่ ปรับระบบการบริหารงานโรงพยาบาลให้เกิดความรวดเร็วมากที่สุด เช่น กระบวนการตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนกว่าจะหาหมอ รับยา ออกมาได้ ทำให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้นสำหรับคนไข้ เป็นต้น รวมถึงคุณภาพการรักษาคนไข้ด้วย ก็หนักประมาณหนึ่งเพราะต้องเรียนไปด้วย

 

แบ่งเวลายังไง?

หนักอยู่ครับ (ยิ้ม) ผมเป็นคนชอบสังสรรค์ประมาณหนึ่ง ต้องแบ่งเวลาดีๆ สมมุติเวลาเรียนก็ต้องไปเรียน และถ้าต้องทำโปรเจ็กต์หรือธีสิส ผมจะกำหนดเลยว่าต้องทำให้เสร็จภายในเวลานี้เลยนะ แต่จะไม่ชุ่ย ต้องทำให้ดี แล้วเข้ามาโรงพยาบาลเพื่อดูงาน

 

เรียนปริญญาเอกวางโปรเจ็กต์อะไรไว้?

ตอนนี้กำลังเรียนทฤษฎีอยู่เพราะเพิ่งเริ่มเรียน แต่ก็มีคิดๆ โปรเจ็กต์จบของปริญญาเอกไว้แล้วว่าอยากทำเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยก็กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เลยอยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องการรักษา ความเป็นอยู่

ทางโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เองรับคนไข้ทั่วไปทุกแบบทุกช่วงอายุอยู่แล้ว และมีแผนในอนาคต คือ ตอนนี้จะขยายโรงพยาบาลที่เน้นรองรับผู้ป่วยจากในอาเซียนและผู้ป่วยสูงอายุด้วย

 

การขยายโรงพยาบาลรับอาเซียนต้องเตรียมส่วนไหนเพิ่มเติม?

ต้องมีการวางแผนเหมือนกันว่าเราจะเอาเขามายังไง บริการต่างๆ ที่เราจะเตรียมให้เขามีอะไรที่เขาต้องการจากเรา เขาต้องมีเหตุผลที่จะมารักษากับเราที่นี่ เราต้องมีเป้าหมายและเตรียมให้ถูก ส่วนเรื่องบุคลากรต้องเตรียมเรื่องการสื่อสาร เพราะคนไข้มาจากประเทศอื่น เราต้องมีคนที่คุยกันรู้เรื่อง บางประเทศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง แต่บางประเทศอาจไม่ได้ใช้ เราจะต้องมีล่ามหรือเปล่า ต้องเตรียมหลายอย่าง

 

คิดว่าการเข้ามาทำงานขณะอายุยังน้อยจะเป็นอุปสรรคไหม?

(คิด) อาจจะมีเรื่องของประสบการณ์เพราะผมเองถ้าเทียบกับคนอื่นแล้วประสบการณ์ทำงานอาจน้อยกว่าคนอื่น เพราะจบแล้วก็เรียนต่อมาตลอด เวลาตัดสินใจอะไรอาจไม่เฉียบคมเท่าคนที่เจออะไรมาเยอะๆ และอายุผมเองยังน้อยด้วย

 

กดดันไหม?

กดดันครับ กว่าคุณพ่อจะสร้างมาได้ ไม่รู้จะทำได้ดีเท่าคุณพ่อไหม ก็เป็นเรื่องที่เราอยากทำให้ดีด้วย แต่คิดว่าจะทำให้ดีที่สุดด้วย

คิดมาตั้งแต่เด็กไหมว่าจะเข้ามารับช่วงต่อ?

ตอนเด็กๆ คิดตลอดว่าสุดท้ายเราต้องมาช่วยดูแลโรงพยาบาล แต่ก็อยากมีธุรกิจของตัวเอง เป็นสิ่งที่เราสร้างมาด้วยตัวเองจะภูมิใจ ผมเคยลองทำอยู่หลายอย่าง เรียนจบวิศวะ มีการเรียนเขียนโปรแกรมด้วย ก็คิดไว้ว่าอยากทำแอพพลิเคชั่น ซึ่งสมัยนี้ก็มีเยอะเนอะ (หัวเราะ)

ผมเคยลองทำธุรกิจกับเพื่อนหลายอย่าง ล่าสุดผมจัดคอนเสิร์ตกับเพื่อนๆ สมัยเรียนวิศวะ คอนเสิร์ตชื่อ IndieInspiration จัดเป็นครั้งที่ 2 ด้วยสเกล 1,000 คน กระแสการตอบรับค่อนข้างดี เราเอาศิลปินอินดี้ของไทยมาร้องคัฟเวอร์เพลงที่เป็นแรงบันดาลใจของตัวเองจากศิลปินอินดี้อินเตอร์ คราวก่อนที่เพิ่งจัดไปก็มีวงสมเกียรติ, Slur, Yellow Fang มาเล่นในงาน นอกจากนี้ผมก็มีธุรกิจอื่นๆ กับกลุ่มเพื่อนด้วย (ยิ้ม)

 

มีภาพโรงพยาบาลของตัวเองไหม?

มีคิดไว้ครับ เราก็มีไอเดียของเรา พ่อเขาเป็นรุ่นหนึ่ง เราโตมาโดยอะไรหลายอย่างแตกต่างกันไปตามยุคสมัย อย่างเรื่องเทคโนโลยี เรื่องแนวคิดต่างๆ เราอาจจะคิดไม่เหมือนรุ่นก่อนๆ เราอยากใช้เทคโนโลยีมาช่วยการทำงานของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เวลาเข้าไปหาหมอแล้วหมอจดอาการคนไข้ ผมก็คิดว่าทำไมต้องใช้มือจด เวลาค้นข้อมูลจะทำยังไง ต้องมานั่งหา ทำไมไม่ฝึกให้มีการคีย์เข้าไปในคอมพิวเตอร์ เวลาเสิร์ชก็คีย์เข้าไปสามปุ่มก็ขึ้นมาเลยว่ามีอะไรบ้าง ด้วยความที่เรียนวิศวะคอมเราจะคิดในแง่ไอทีเยอะ มีแนวคิดหลายอย่างที่อยากเอามาใช้ ถ้ามีโอกาสได้มาดูเต็มตัวในอนาคต

 

เริ่มไปศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่อื่นหรือยัง?

ช่วงนี้มีการเปิดเออีซี เพิ่งไปดูงานที่พม่ากับคุณพ่อ คิดว่ามีโอกาสที่จะขยายสาขาโรงพยาบาล หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam เลยไปดูงานกับคุณพ่อและได้ไอเดียอะไรกลับมาเยอะ

การขยายออกไปประเทศอื่นเป็นสิ่งที่มองไว้ ต้องค่อยๆ สร้างกันไป ที่พม่ามาก็ผิดกับที่เราได้ยินมาว่าสิ่งอำนวยความสะดวกอาจไม่ดีหรือไม่มี จริงๆ เขาก็มีโรงพยาบาลดีๆ เหมือนกัน แต่เป็นความเชื่อมากกว่า เหมือนความคิดที่ว่าหมอไทยดีกว่าหมอพม่าทำให้เศรษฐีพม่ายินดีรักษาที่ไทยมากกว่าประเทศตัวเอง ทั้งที่โรงพยาบาลที่ดีมากๆ ของเขาก็มี แต่อาจด้วยราคาที่ค่อนข้างแพงทำให้คนพม่าที่ส่วนใหญ่รายได้ไม่สูง อาจไม่ได้รักษาในโรงพยาบาลที่ดีขนาดนั้น การเปิดโรงพยาบาลที่พม่าอาจเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นการร่วมมือในส่วนที่เขาขาดอาจเป็นไปได้ ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้ไปดูโดยละเอียดแต่วางแผนไว้ว่าจะไปดู

 

คิดยังไงกับสวัสดิการประกันสุขภาพในไทย?

สวัสดิการสุขภาพในไทย ถ้าเทียบประเทศอื่นผมคิดว่ามีคุณภาพมากกว่า ตอนผมอยู่อังกฤษเข้าโรงพยาบาลยากมาก ถ้าเป็นอะไรไปก็แย่ก่อน ตั้งแต่ขั้นตอนของการเข้าโรงพยาบาล กว่าจะถึงหมอ ต้องลงทะเบียนโน่นนี่ รอคิวเป็นชั่วโมงๆ แค่เป็นหวัด กว่าจะได้เจอหมอก็เป็นวันๆ คงหายก่อน ผมไปอยู่โน่นป่วยก็ดูแลตัวเอง

 

ตอนเด็กๆ ที่บ้านปลูกฝังมาอย่างไร?

ตั้งแต่เล็กๆ ผมก็เรียนรู้แนวทางการใช้ชีวิตและแนวทางการทำธุรกิจจากคุณพ่อคุณแม่มากพอสมควร ด้านธุรกิจท่านก็ปลูกฝังว่า เราเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของธุรกิจ มีหน้าที่ดูแลธุรกิจให้คงอยู่ และต่อยอดธุรกิจ ขยายออกไป ด้วยการผสมผสานแนวคิดใหม่ๆ เพื่อมาใช้กับโลกปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ก็บอกตลอด

แต่ในด้านแนวคิดการใช้ชีวิต คุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนให้ทำให้เต็มที่ สอนเราหลายเรื่อง อย่างพวกเรื่องความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม พวกท่านก็จะพูดตลอด โดยเฉพาะคุณพ่อที่จะสอนเสมอว่า เวลาทำอะไรก็ให้คิดถึงทุกกรณี เพราะเหตุการณ์ที่เกิดไม่ได้เป็นแบบเดียวตามที่คิดไว้ ต้องมีแผนสองแผนสามรองรับไว้เสมอ

ที่บ้านให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนค่อนข้างมาก แต่คุณพ่อก็จะบอกเสมอว่าคนเราควรมีทั้งไอคิวและอีคิว ผมก็เลยเป็นคนที่พยายามสมดุลทั้งสองอย่างให้ได้ เรียนก็จริงแต่ต้องมีกิจกรรมกับเพื่อนเสมอ

ผมเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก เป็นมือกลอง (ยิ้ม) มีวงของตัวเองตั้งแต่เด็ก เล่นทุกเดือน แสดงในโรงเรียน เหมือนเด็กทั่วไป เล่นเกม อ่านการ์ตูน แต่ถ้าถึงเวลาต้องสอบก็อ่านหนังสือ คือพยายามทำชีวิตของตัวเองให้ครบและสมดุลเสมอ

 

เป็นคนเครียดไหม?

ไม่ครับ ไม่เลย ค่อนข้างชิว ชอบสังสรรค์กับเพื่อน เป็นคนกิจกรรมเยอะ ผมเล่นดนตรี ชอบฟังเพลงมาก ฟังทุกชนิด เลยจัดคอนเสิร์ตอินดี้ จริงๆ ฟังทุกแนว ทั้งอีดีเอ็ม ร็อก ป๊อป อินดี้ ฟังหมดเลย วงโปรดเปลี่ยนเป็นช่วงๆ อย่างช่วงนี้ฟังเอ็ด ชีแรน อาร์กติก มังกี้ วงไทยก็ฟังทั่วไป บอดี้สแลม สมเกียรติ ชอบดนตรีมาก ชอบดูหนังดูซีรีส์ แล้วก็ชอบทานอาหารมาก (หัวเราะ) จะมีแก๊งเพื่อนไปทานร้านเปิดใหม่ เล่นเฟซบุ๊กบ่อย แล้วก็เล่นอินสตาแกรม ใช้ชื่อว่า atomb_

 

ถ้าโรงพยาบาลมาถึงมือเราอย่างเต็มตัวในรุ่นที่สองมีภาพเป็นยังไง?

อย่างแรกต้องดูแลให้โรงพยาบาลคงอยู่ดำเนินงานได้ มีคนไข้มารักษาเรื่อยๆ ในระดับนี้ อย่างที่สองคือต้องขยายไป ในสเต็ปแรกอาจต้องเรียนรู้วิธีการดูแลโรงพยาบาลให้คงอยู่ก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้นหรือขยายไปที่อื่นได้ ผมคิดว่าถ้าถึงมือผมอาจจะไฮเทคขึ้น (หัวเราะ) เพราะผมเรียนวิศวะคอมเน้นด้านระบบภายในบริษัท information system การรวมข้อมูลให้อยู่ในแหล่งเดียว เข้าถึงง่ายรวดเร็ว ซึ่งจริงๆ เป็นหัวใจของทุกบริษัทอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่โรงพยาบาล ไม่ว่าบริษัทอะไรต้องมีระบบการส่งถ่ายข้อมูลที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วพอพูดถึงระบบ information system ของโรงพยาบาลยิ่งสำคัญ เพราะว่าข้อมูลคนไข้ต้องเป๊ะ ต้องมีการบันทึก

ถ้าถึงมือผมคงมีการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการต่างๆ ในโรงพยาบาล การจัดวางเรื่องต่างๆ กระบวนการดำเนินงานต้องมีการปรับเปลี่ยนให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้สูญเสียน้อยที่สุดแต่ได้กลับมามากที่สุด

 

มีมุมมองกับคำว่า “โรงพยาบาลที่ดี” อย่างไร?

ง่ายๆ เลย โรงพยาบาลที่ดีควรจะใส่ใจคนไข้ และคนไข้ควรจะมาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นหัวใจของการมีโรงพยาบาล ทำไมต้องมีพยาบาล ก็เพื่อรักษาคนไข้ สิ่งแรกคือการใส่ใจคนไข้ ทำทุกอย่างให้คนไข้หาย ให้คนไข้พอใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image