ยีนเห็นแก่ตัว

ในบรรดาหนังสือออกใหม่ของสำนักพิมพ์มติชนที่กำลังอวดโฉมเหล่าบรรดาหนอนหนังสือ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อยู่ขณะนี้ มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้ผู้อ่านไปหาซื้อกัน

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “The Selfish Gene” หรือในชื่อภาษาไทยคือ “ยีนเห็นแก่ตัว” ที่มี “ริชาร์ด ดอว์กินส์” เป็นผู้เขียน ส่วนผู้แปลคือ “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์”

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1972

หรือเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

Advertisement

แต่เนื้อหายังคงมีความทันสมัย โดยเฉพาะมุมมองใหม่ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ด้วยการมองผ่านสายตาของยีน หน่วยทางชีววิทยาที่เล็กที่สุดหน่วยหนึ่ง แต่กลับนำมาซึ่งวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ

เพราะ “ริชาร์ด ดอว์กินส์” พยายามอธิบายวิวัฒนาการของพฤติกรรมอันสลับซับซ้อนต่างๆ เช่น การเลี้ยงดูลูกหลาน การเกี้ยวพาราสี ความก้าวร้าว และการร่วมมือ

แม้แต่เรื่องพฤติกรรมอันเป็นปริศนาที่สุดในวงการชีววิทยาอย่างการเสียสละเพื่อผู้อื่นในธรรมชาตินั้น อันที่จริงแล้วกลับวิวัฒนาการขึ้นมาจากความเห็นแก่ตัวของยีน

Advertisement

ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดและน่าหาคำตอบ

เพราะวัตถุประสงค์ของ “ริชาร์ด ดอว์กินส์” อย่างง่ายๆ คือการทำสำเนาแพร่กระจายตัวเองให้มากที่สุด เหนือยีนที่เป็นคู่แข่ง เพราะยีนเริ่มพัฒนามาเป็นสิ่งมีชีวิต เริ่มเรียนรู้เทคนิคในการทำสงครามเพื่อความอยู่รอด การวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั่วโลก

เนื่องจากสัตว์แต่ละตัวมีเอกลักษณ์ และพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากยีนเห็นแก่ตัวจากผู้เป็นนายของมัน จนรังสรรค์ออกมาเป็นสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติแสนมหัศจรรย์ เพราะทุกอย่างล้วนมาจากการบงการของยีนผู้เห็นแก่ตัว

“ริชาร์ด ดอว์กินส์” บอกว่าเมื่อตอนหนังสือยีนเห็นแก่ตัววางแผง ผมถูกนักวิทยาศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการอุปมาเปรียบเทียบกับตัวบุคคล เพราะผมอุปมากับตัวบุคคล 2 ระดับคือ ระดับยีนและระดับสิ่งมีชีวิต

การอุปมายีนเป็นบุคคลนั้นไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะคงไม่มีคนสติดีคนไหนคิดว่าโมเลกุลดีเอ็นเอจะมีบุคลิกภาพเป็นตัวตนขึ้นมาได้ และก็คงไม่มีนักอ่านที่มีเหตุผลคนไหนกล่าวหาผู้เขียนด้วยความเข้าใจผิดเช่นนั้น

แต่การอุปมาตัวบุคคลกับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ ดูจะมีปัญหามากกว่า เพราะสิ่งมีชีวิตไม่เหมือนยีนตรงที่มีสมอง ดังนั้น จึงอาจมีแรงจูงใจให้เห็นแก่ตัว หรือเอื้ออารีในบางสิ่งบางอย่าง ดังความรู้สึกส่วนตัวที่เรารับรู้ในใจเราเองก็เป็นได้

ผมเชื่อว่าการอุปมาเชิงบุคคลทั้ง 2 ระดับนี้ไม่น่าสับสนแต่อย่างไร ถ้าได้อ่านเนื้อหาครบถ้วน เพราะการคำนวณโดยการสมมุติทั้ง 2 ระดับจะนำไปสู่ข้อสรุปเดียวกัน ถ้าใช้งานอย่างเหมาะสม นั่นคือการใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับการพิจารณาความถูกต้อง

แม้หนังสือเรื่อง “ยีนเห็นแก่ตัว” จะถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และรุ่นเก่าวิพากษ์วิจารณ์ไปในหลากหลายแง่มุม แต่กระนั้นก็มีนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกชื่นชมแนวคิดของ “ริชาร์ด ดอว์กินส์” ถึงขนาดเขียนบทความนำเสนอกรอบความคิดตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ

“ปีเตอร์ เมดะวอร์” เขียนบทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์เดอะ สเป็กเตอร์ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 1997 ดังความตอนหนึ่งว่า…ริชาร์ด ดอว์กินส์ ได้หักล้างมายาคติหลายๆ ข้อเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการเห็นแก่ผู้อื่นที่แพร่หลายกันในชีววิทยาเชิงสังคม แต่อย่าคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะหักล้างความเชื่อโดยเด็ดขาด

ตรงกันข้าม กลับวางหลักเกณฑ์อันยอดเยี่ยมให้กับปัญหาหลักในชีววิทยาเชิงสังคมในแง่ทฤษฎีทางพันธุกรรมในการคัดเลือกโดยธรรมชาติ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความรู้ ใช้สำนวนเปี่ยมไหวพริบ และเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี

แม้ว่า “ยีนเห็นแก่ตัว” จะไม่ใช่หนังสือที่แย้งไปหมดทุกอย่างโดยตัวเอง แต่ก็กลายเป็นส่วนที่จำเป็นมากๆ ต่อแผนการขจัดลดทอนการสำคัญตัว อวดอ้าง อวดรู้ของบุคคลที่ไม่เห็นด้วย

เพราะข้อถกเถียงในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับมนุษย์เรา และสัตว์อื่นๆ ทุกชนิดล้วนแล้วแต่เป็นจักรกลที่สร้างขึ้นจากยีนเราเอง

เช่นเดียวกับ “ดับเบิลยู. ดี. แฮมิลตัน” ที่เขียนบทความตีพิมพ์ในวารสารไซเอนซ์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 1977 ดังความตอนหนึ่งว่า…ยีนเห็นแก่ตัวเป็นการตีความใหม่ คล้ายๆ กับบทละครของเชกสเปียร์ เพราะเนื้อหาทั้งหมดมีอยู่ในบท เหมือนกับถูกมองผ่านข้ามไปเท่านั้น

เนื่องจากมุมมองใหม่ที่กำลังพูดถึงไม่ได้แฝงอยู่ในบทละครแห่งวิวัฒนาการของดาร์วินมากเท่ากับที่แฝงอยู่ในบทละครแห่งธรรมชาติ และช่วงเวลาที่หลุดรอดไปจากความสนใจของเรานั้น ก็อยู่ในระดับแค่ 20 ปี ไม่ใช่เป็นหลักร้อยปี

“ริชาร์ด ดอว์กินส์” เริ่มต้นจากตัวอย่างเหล่าโมเลกุลที่พันเกลียวผันแปรไป ซึ่งตอนนี้เรารู้จักค่อนข้างดีอยู่แล้ว ขณะที่ในอดีต ชาร์ล ดาร์วิน ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับโครโมโซม หรือการจัดคู่เต้นรำแปลกๆ ของโครโมโซมในกระบวนการทางเพศ แต่ถึงจะแค่ 20 ปี แต่ก็นานเกินพอที่จะก่อให้เกิดความประหลาดใจได้

นอกจากนั้น “ดับเบิลยู. ดี. แฮมิลตัน” ยังชื่นชม “ริชาร์ด ดอว์กินส์” ในบทสุดท้ายอีกว่าเขาเขียนเรื่องที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับวิวัฒนการของวัฒนธรรม เขายกคำว่ามีม (ย่อมาจากมีเมเม) ขึ้น สำหรับบางอย่างในทางวัฒนธรรมที่เทียบเท่ากับคำว่ายีน ศัพท์คำนี้อาจจะกำหนดขอบเขตได้ยาก

แน่นอนว่าจะต้องยากกว่าคำว่ายีน แต่อนาคตคำๆ นี้อาจถูกใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะกับพวกนักชีววิทยา และหวังว่าจะสืบเนื่องไปจนถึงนักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ และคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างยิ่งใหญ่ในวงการชีววิทยาเกิดข้อถกเถียงพูดคุยกันถึงทฤษฎีวิวัฒนาการในมุมมองใหม่

ที่ไม่เพียงจะทำให้ “ริชาร์ด ดอว์กินส์” ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางจนต่อเนื่องมาถึง 44 ปีเต็ม และอีกต่อไปในอนาคต

ฉะนั้น การที่สำนักพิมพ์มติชนหยิบหนังสือเล่มนี้มาแปล และมาวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 10 เมษายน 2559 จึงน่าจะเป็นหนังสือไฮไลต์อีกเล่มหนึ่งที่สำนักพิมพ์มติชนภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างมาก

ลองไปหาอ่านดูนะครับ

โดยเฉพาะกับเหล่าบรรดาหนอนหนังสือที่ชอบงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ เพราะไม่เพียงอ่านง่าย เข้าใจง่าย ยังจะทำให้เราเพลิดเพลินไปกับทฤษฎีวิวัฒนาการแห่งจินตนการที่ผู้เขียนปล่อยออกมาอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ถ้าไม่เชื่อต้องรีบไปหาอ่านโดยพลัน ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image