‘หลวงแม่ธัมมนันทา’ จากอาจารย์สู่ภิกษุณี เพชรน้ำหนึ่งใน 80 ปี ‘ผู้หญิงธรรมศาสตร์’

ขอบคุณภาพจาก FB : Thai Bhikkhunis

“กว่าจะเป็นภิกษุณีธัมมนันทา” คือชื่อของเสวนาวิชาการเมื่อไม่นานมานี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอประวัติของภิกษุณีรูปแรกของประเทศไทย เพื่อสะท้อนบทบาทเพศสตรี จัดโดยโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “ชีวิต แนวคิดและผลงานของผู้หญิงธรรมศาสตร์ในรอบ 80 ปี” ของ ผศ.จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง

โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา เป็นโครงการตามนโยบายพิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สังกัดสำนักงานอธิการบดี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2529 เป้าหมายที่จัดตั้งเพื่อเป็นสถาบันสตรีและเสริมสร้างความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคระหว่างชาย หญิง และต้านการถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสภาพความเป็นจริงในสังคมมนุษยชาติที่สตรีและเยาวชน ทั้งชายและหญิง

ผศ.จุไรรัตน์เปิดหัวข้อเสวนาด้วยคำถามว่าภิกษุณีธัมมนันทามีส่วนที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นพัฒนาไปทางไหนบ้างและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พัฒนาภิกษุณีธัมมนันทาในด้านไหนบ้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือปัจจุบันคือ ภิกษุณีธัมมนันทา อดีตอาจารย์สอนวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ เพื่อบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาสายเถรวาทคนแรกของประเทศไทย ณ ประเทศศรีลังกา ได้ฉายาว่า “ภิกษุณีธัมมนันทา” ผู้คนเรียกท่านด้วยความเคารพว่า “หลวงแม่” ซึ่งในวันนั้นท่านเล่าว่า ม.ธรรมศาสตร์ มีบรรยากาศที่เปิดกว้างให้อิสรภาพ ทำให้ได้วิธีคิด โดยหาไม่ได้ง่ายๆ เมื่อธรรมศาสตร์ไม่ปิดกั้น ทั้งยังสนับสนุนให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ มากมายทั้งจากในและต่างประเทศ

Advertisement

“ตอนสอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ จะมาทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อมาจองที่จอดรถ เพราะหากมาสาย 5 นาที จะมีคนมาจอดแทน เราตั้งใจให้เต็มที่ลูกศิษย์ จนได้สมญานามว่า อ.หิน เราจะเคี่ยวเข็ญจนเขาได้ดี” หลวงแม่กล่าว

ภิกษุณีธัมมนันทายังย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากบวช นั่นคือเมื่อครั้งที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จัดประชุมหัวข้อ “อนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร”

“ตอนนั้นประเทศไทยไม่มีภิกษุณี ยกเว้นภิกษุณีวรมัย ได้ฉายา มหาโพธิธรรมาจารย์ ซึ่งคนทั่วไปมักใช้สรรพนามเรียกท่านว่าหลวงย่า ตลอดเวลาที่นั่งฟังการกดขี่ผู้หญิงที่มันรุนแรง ได้สัมผัสถึงการที่เพศหญิงถูกกดขี่ทางสังคมโดยเพศชายเป็นใหญ่ และสำนึกได้ว่า ตัวเองนั้นมีข้อมูลทั้งหมดในมือ แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ข้อมูลที่มีไม่ได้ให้ประโยชน์กับใคร ตั้งแต่บัดนั้นก็เปลี่ยนความคิดใหม่ ออกจดหมายข่าวชื่อ News-letter on International Buddist Women’s Activties (NIBWA) เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับสตรีชาวพุทธจนเกิดเครือข่ายผู้หญิงที่จัดประชุมระดับโลก และจัดกิจกรรมเชิงวิชาการสืบเนื่องต่อมา”

Advertisement

ใน พ.ศ.2544 รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ ก็บรรพชาเป็นสามเณรี มีฉายาว่า ธัมมนันทา และ พ.ศ.2546 ท่านได้ตัดสินใจสละเพศฆราวาส ครองตัววิถีนักบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ นับเป็นภิกษุณีรูปแรกของประเทศไทย

ภิกษุณีธัมมนันทากล่าวว่า ปัจจุบันภิกษุณียังไม่เป็นการยอมรับในประเทศไทยและมหาเถรสมาคม โดยให้เหตุผลว่า ภิกษุณีได้หมดไปจากประเทศไทยแล้ว

“อุปสรรคก็คงเพราะการที่เราเป็นผู้หญิง การมีอคติทางเพศ และเป็นประเพณีนิยม เพราะว่าไม่เคยมีภิกษุณีในไทย แต่ภิกษุณีมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่ากำลังอยู่ในช่วงขยายเผยแผ่ภิกษุณีในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในศาสนาพุทธ โดยอยู่ในพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยทำหน้าที่ศึกษาพระธรรม นำไปปฏิบัติ ปกป้อง และเผยแผ่ศาสนา เมื่อประเทศไทยก็ยังยืนยันว่าไม่มีภิกษุณีแล้ว อุปสรรคที่เกิดขึ้น อย่างเวลาบัตรประชาชน พาสปอร์ตของภิกษุณี ยังต้องใช้ว่านางหรือนางสาว และไม่มีสิทธิเหมือนที่พระภิกษุ อย่างเช่นการขึ้นรถโดยสารโดยที่ไม่ต้องเสียเงินของพระภิกษุ แต่ภิกษุณียังต้องเสียในราคาเต็ม การรักษาพยาบาลก็ยังถือภิกษุณีเป็นฆารวาส วัตรทรงธรรมกัลยาณี วัดของภิกษุณีถูกเก็บภาษี ต่างจากวัดอื่นๆ ที่ไม่เก็บภาษี” ภิกษุณีธัมมนันทากล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ปัจจุบันของภิกษุณีคือกำลังทำให้รัฐบาลยอมรับโดยที่ไม่ต้องผ่านมหาเถรสมาคม เพราะถ้าเข้าไปสู่มหาเถรสมาคมก็จะกลับไปสู่แบบเดิมคือการไม่ยอมรับภิกษุณีในประเทศไทยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image