ศิลปินต้องสร้างผลงานใหม่ ไม่ใช่คอยหาประโยชน์จากงานเก่า : โดย สุกรี เจริญสุข

ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะดนตรี ในปัจจุบันการสร้างผลงานน้อยลง เพราะมีการเก็บค่าลิขสิทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำงานเก่ามาขายซ้ำมีความสำเร็จมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ศิลปินเพลงปัจจุบันมีความขี้เกียจ เห็นแก่ตัว และงกเงินมากขึ้นด้วย เพราะมีเทคโนโลยีช่วยให้การทำซ้ำของเก่าได้ง่าย จึงไม่ต้องคิดจะสร้างงานใหม่

ศิลปินในยุคใหม่ขยันที่จะทำงานน้อยลง แต่จะขยันนำเสนอชื่อเสียงผลงานเก่าเพื่อต้องการให้มีรายได้ที่สูง เมื่อไม่สร้างงานใหม่ก็ต้องกินบุญเก่า นอนกินมรดก ในที่สุดผลงานที่สุดยอดของชีวิตก็มีน้อยลง แต่การทำงานซ้ำของเก่ามีจำนวนมากขึ้นจนหมดโอกาสยุคทองของตัวเอง

การสร้างพื้นที่ใหม่เป็นการสร้างตลาดใหม่สำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่ และเปิดโอกาสให้ศิลปินได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจการแสดง อุตสาหกรรมเพลง เพราะว่ามีบริษัทที่รับผิดชอบศิลปิน มีค่ายเพลง มีเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง การยึดและถือครองสิทธิทำให้เพลงตายเร็ว นำเพลงไปทำซ้ำได้ยากขึ้น เพราะคุณค่าของเพลงต่ำ แต่ค่าลิขสิทธิ์กลับสูง ศิลปินที่เป็นเจ้าของผลงานทั้งหลายก็ขี้เกียจจะสร้างงานใหม่ ต้องการอาศัยหากินกับงานเก่า ไม่มีเวลาที่จะทำงานชิ้นใหม่ เมื่อศิลปินท้องอิ่ม การสร้างสรรค์ก็จะน้อยลง ความเป็นศิลปินต้องออกไปแสดงโชว์ตัว ทำให้ไม่มีเวลาที่จะสร้างงานชิ้นใหม่

สำหรับศิลปินเพลงไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเพลงผลิตออกมาจำนวนมาก แต่เพลงไทยเหล่านั้นมีอายุสั้น ผลงานเพลงที่ผลิตออกมาคนอื่นจะนำเอาเพลงไปทำซ้ำก็ทำได้ยาก เพราะมีเจ้าของผู้ยึดครองสิทธิที่ต่างก็มีเงื่อนไข การซื้อลิขสิทธิ์เพลงไทยนั้นไม่คุ้มเพราะตลาดของไทยแคบ มีพื้นที่ทางธุรกิจที่จำกัด ซึ่งแตกต่างไปจากตลาดเพลงสากลที่มีตลาดใหญ่กว่า สามารถขายผลงานเพลงได้ทั่วโลก เพลงฝรั่งแม้จะซื้อลิขสิทธิ์แพงแต่ก็ยังคุ้มที่จะทำ เพลงไทยเมื่อดำเนินการทางลิขสิทธิ์แบบเพลงสากล

Advertisement

การทำธุรกิจไม่คุ้มราคาที่จะต้องจ่าย ทำให้เพลงไทยตายง่ายและตายเร็ว เพลงอมตะจึงมีน้อย

ศิลปินผู้สร้างเพลงไทยเกิดด้วยตัวเองไม่ได้เพราะต้นทุนสูง ก็ต้องมีผู้ให้การสนับสนุนเป็นค่ายเพลง เจ้าของค่ายเพลงมุ่งกำไรสูงสุด ศิลปินเพลงเองแม้จะเกิดได้แต่ก็มีค่าตัวต่ำ เพราะเงินที่ได้ก็ต้องไปชดใช้เงินลงทุนของเจ้าของค่ายเพลงก่อน

ศิลปินนั้นแม้จะมีชื่อเสียงแต่กลับไม่มีเงิน จึงต้องอาศัยงานแสดงเพื่อให้ได้เงินใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ไส้จะไม่แห้ง แต่ก็เป็นวิถีชีวิตแบบกรรมกร เป็นผู้ใช้แรงงาน “ผู้หาค่ำกินเช้า” การที่จะเล่นเพลงของตัวเองก็ต้องขอลิขสิทธิ์ เพราะเมื่อในยามยากได้มอบลิขสิทธิ์ให้กับค่ายเพลงไปแล้ว หากมีงานแสดงจะร้องเพลงของตัวเองก็ต้องขออนุญาตเพื่อนำเพลงไปแสดง ดูสภาพก็น่าอนาถ

Advertisement

การเปิดสถาบันการศึกษาดนตรีในระบบการศึกษาไทย ทำให้ผลิตผู้ที่มีความสามารถทางดนตรีได้มากขึ้น สถาบันดนตรีเป็นการสร้างพื้นที่ เป็นการเปิดเวทีให้กับศิลปินหน้าใหม่โดยไม่ต้องเริ่มต้นอาชีพด้วยการยอมจำนนต่อค่ายเพลง แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็เกิดขึ้นแล้ว มีนักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลงหน้าใหม่เกิดขึ้น เพราะเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างผลงานได้

สำหรับศิลปินหน้าใหม่นั้นมีความสามารถสูง มีพื้นฐานดี เป็นศิลปินที่มีสำนัก “เป็นศิษย์ที่มีครู” ทุกคนที่ออกไปเป็นศิลปินต่างมีความเชื่อมั่น มีพลังพร้อมที่จะสร้างงานให้เกิดความแตกต่างไปจากเพลงที่มีอยู่เดิม เพลงในค่ายใหญ่ก็เริ่มถดถอยและเริ่มมีบทบาทน้อยลง หลายค่ายเพลงเริ่มปิดตัวลงหรือหันไปทำธุรกิจเสริมแทนการทำค่ายเพลงแต่อย่างเดียวอย่างแต่ก่อน

ศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่อยู่ในค่าย ไม่สามารถที่จะลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อใหญ่ได้ ศิลปินเกิดใหม่ก็ต้องช่วยตัวเองและทำงานเองทุกอย่าง ตั้งแต่การทำงานเพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน การฝึกซ้อม การเล่นดนตรี การขับร้อง การบันทึกเสียง การจัดจำหน่ายผลงาน การหางานแสดง และการจัดการแสดง มีเพียงเวที มีเครื่องมือ มีอุปกรณ์ และมีพื้นที่ให้ทดลอง กลุ่มศิลปินเพลงเหล่านี้เป็นพวกนอกกระแส ทำงานทั้งใต้ดินและบนดิน ดำรงสร้างผลงานอยู่ได้เพราะพึ่งสื่อสมัยใหม่ที่ลงทุนน้อยลง

แตกต่างไปจากศิลปินที่มีค่ายเป็นต้นสังกัด ซึ่งอาจจะเป็นดาราได้ชั่วข้ามคืน เพราะดารานักแสดงแม้ความจริงจะมีความสามารถไม่สูงนัก แต่ก็เน้นหน้าตาดีเป็นหลัก หากมีเสียงที่คุณภาพสูงประกอบกับหน้าตาดีก็จะเป็นดาวไปได้เลย แต่ถ้าหากมีหน้าตาดีแต่ความสามารถทางดนตรีต่ำ ต้นสังกัดก็ใช้กำลังการโฆษณาเป็นกลยุทธ์ในการขาย อยู่ได้ตามกำลังโฆษณา

เมื่อหมดงบโฆษณาก็จะหล่นหายไปลงในถังขยะ

ดาราที่เป็นศิลปิน เมื่อผ่านการยอมรับของสังคม ส่วนใหญ่ต้องผ่านสื่อโฆษณาสาธารณะ ก็จะมีค่าตัวที่แพงจนเหลือเชื่อ แค่ปรากฏตัวก็ได้เงินแล้ว โดยที่ยังไม่ได้แสดงฝีมือแต่อย่างใด ดาราได้กลายเป็นมืออาชีพที่ลูกค้าจะต้องจ่ายในราคาที่แพง เพราะว่ามีผู้คนคลั่งไคล้และติดตาม สำหรับผู้คลั่งไคล้ไทยนั้นมีแต่อารมณ์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีความรู้ และอ่อนแอทางปัญญา

มีโครงการหนึ่ง เป็นการนำวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ซึ่งเล่นดนตรีคลาสสิก มีความประสงค์จะร่วมแสดงกับศิลปินไทยทั้งที่เป็นวงดนตรี นักดนตรี นักร้องสมัยนิยมที่มีอยู่ในสังคม โดยแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ซึ่งถือเป็นพื้นที่หรูสำหรับการแสดงดนตรีในประเทศไทยไปแล้ว ความพยายามที่จะเชื่อมโยงกับศิลปินอาชีพที่อยู่ในตลาดเพลง พบว่าศิลปินไทยเรียกค่าตัวแพงจนน่าตกใจ มีราคาแพงจนคิดอะไรต่อไม่ได้ ทั้งเป็นค่าจัดการ เป็นค่าตัว และเป็นค่าลิขสิทธิ์เพลง

ที่สุดโครงการแสดงร่วมกับศิลปินไทยของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยก็ต้องล้มเลิกอย่างไม่เป็นท่า เพราะมีค่าใช้จ่ายแพงเกินไป ไม่คุ้มค่าจัดการ ฝ่ายศิลปินนั้นเชื่อว่ามีผลงานดีมีคนนิยม ส่วนผู้จัดการศิลปินก็รู้สึกว่าจะต้องขายศิลปินให้ได้ราคาสูง แต่ความไม่คุ้มในการจัดงานนั้นหนักกว่า

ศิลปินที่อยู่ในอาชีพศิลปะการแสดง ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักดนตรี แตกต่างไปจากผู้ที่ใช้แรงงาน เพราะจะต้องสร้างผลงานและขายฝีมือ ขายการแสดง ขายความคิดสร้างสรรค์ การขายงานเพลงนั้น เมื่อมีโอกาสได้แสดงซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะว่าผู้ชมก็คือรายได้ และเป็นโอกาสที่จะสร้างโอกาสต่อไป เมื่อศิลปินปฏิเสธโอกาส ก็เป็นเรื่องการฆ่าตัวตายในอาชีพของนักแสดง

การแสดงสดของศิลปินแตกต่างไปจากการแสดงแห้งมาก แม้จะมีการบันทึกเสียงการแสดงอย่างดี ขายเทป ขายแผ่นเสียง ซีดี และขายการแสดงสดในยูทูบ (YouTube) แต่ก็เป็นการแสดงในอดีต เป็นภาพที่ตายไปแล้ว เหมือนกับการดูภาพเก่าในอดีต ส่วนการแสดงสดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คาดหวังอะไรจากการแสดงสดไม่ได้ แต่มีชีวิตชีวาและมีบรรยากาศ ซึ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้น

ดังนั้นการแสดงสดจึงเป็นสินค้าที่อยู่ยงคงกระพัน จัดได้ทุกเมื่อ และไม่ตาย

ศิลปินตัวจริงควรแสวงหาโอกาส แม้จะเป็นเศษของโอกาสหรือแค่เสี้ยวของโอกาสก็ตาม ซึ่งควรจะฉวยโอกาสนั้นไว้ ทุกโอกาสควรอยู่ในมือของศิลปิน ส่วนผู้จัดการหรือเจ้าของค่ายเพลงทำให้โอกาสของศิลปินมีน้อยลงหรือทำให้โอกาสหดไป ยกเว้นศิลปินใหญ่ที่เป็นดาวค้างฟ้า ก็อาจจะพอเล่นตัวได้บ้าง ไม่ถึงกับตายเสียทีเดียว แต่ศิลปินใหม่หรือศิลปินที่พอมีชื่อเสียงอยู่บ้าง หากถือโอกาสเล่นตัวเสียแล้ว โอกาสก็จะหดลงอย่างน่าใจหาย

การยึดถือลิขสิทธิ์เพลงของค่ายอย่างเข้มงวดนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงไทยโดยศิลปินไทยทั้งหลายก็เริ่มนับวันตายของเพลงได้เลย เพราะเมื่อไม่มีใครนำผลงานเพลงไปร้องต่อ ก็จะเป็นความตายของเพลง และเป็นความตายของศิลปินด้วย ดังนั้นการมีลิขสิทธิ์ก็คือการทำให้เพลงตายเร็วขึ้น เพราะเพลงไทยและศิลปินไทยยังไม่ดังพอที่จะขายลิขสิทธิ์เพลงแล้วรวย หรือมีเพลงดังอยู่ได้ชั่วชีวิต เมื่อเพลงตาย ศิลปินเจ้าของเพลงก็ตายตามไปด้วย

การที่ศิลปินเพลงนั่งรอคอยเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์เพลงของตัวเอง ทำให้ศิลปินหมดโอกาสในการสร้างผลงานต่อ ผลงานก็ออกมาได้น้อย หากมัวแต่จะกินบุญเก่า อย่าลืมว่าเพลงเก่าที่อยู่เดิมนั้นไม่มีใครเอาไปทำอะไรต่ออีกแล้ว เพราะมีค่าลิขสิทธิ์ที่แพง ในที่สุดเพลงเก่าก็ตาย เพลงใหม่ก็ไม่มี ศิลปินเพลงไทยจึงเกิดเร็วและตายเร็ว เกิดปุ๊บตายปั๊บ ตายคาจอโทรทัศน์ก็ยังมี

ทำไมศิลปินเพลงฝรั่งจึงอยู่ได้นาน เพราะเป็นเพลงที่ได้สร้างแล้วเป็นตำนาน เพลงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในวงกว้าง ฝรั่งขายเพลงทั่วโลก เพลงฝรั่งจึงเป็นที่รู้จัก การซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงฝรั่งเพื่อนำไปทำซ้ำ ทำแล้วคุ้มค่าสำหรับการลงทุน มีคนนิยมซื้อเพลงไปทำซ้ำอีกหลายครั้ง ที่สำคัญก็คือทำซ้ำแล้วได้กำไร ลิขสิทธิ์ของฝรั่งมีราคามาตรฐานทั่วโลก ซื้อก็ราคานี้ ขายก็ราคานี้ ผู้ซื้อรู้สึกภูมิใจที่ได้ซื้อ ภูมิใจที่มีสิทธิได้ทำและนำเพลงไปสร้างสรรค์ใหม่ได้

ศิลปินเพลงฝรั่งต้องผ่านการกลั่นกรองคุณภาพหลายขั้นตอน เพราะสังคมฝรั่งเป็นผู้นำวัฒนธรรมเพลง โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมและคุณค่า ผู้ฟังมีการศึกษา ศิลปินแต่ละคนกว่าจะฝ่าด่านขึ้นไปสู่ระดับโลกได้ก็ต้องเก่งจริง ผู้ฟังก็เป็นนักวิจารณ์ที่มีความรู้

ในแวดวงสื่อมวลชนก็เป็นผู้ที่มีความรู้และมีจรรยาบรรณ มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล เมื่อได้เป็นเพลงดังของโลก คนทั้งโลกก็นิยมร้องเพลงดัง เพลงจึงเป็นที่รู้จัก

ศิลปินเพลงไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน เพราะผู้ใช้แรงงานเป็นการทำงานโดยขายแรงงานและขายฝีมือความเป็นช่าง ได้ค่าตอบแทนตามเวลาและราคาของฝีมือ แต่ศิลปินนั้นขายฝีมือบวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในผลงาน เพียงแต่ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในงานนั้นไม่ตาย ความคิดสร้างสรรค์มีชีวิตเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา ความคิดสร้างสรรค์บ่งบอกถึงพลังที่ซ่อนอยู่ในผลงานศิลปะเหล่านั้นด้วยตัวมันเอง

พ่อค้าเป็นผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจทุกมิติ นักธุรกิจจะขายงานศิลปะได้เพราะรู้ถึงคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในงาน พ่อค้าต้องการสะสมงานศิลปะไว้เพื่อจะขายเอากำไร การสร้างคุณค่างานศิลปะโดยพ่อค้าก็เพื่อปั่นราคาของงานให้สูงขึ้น แต่พ่อค้าก็ขายได้เฉพาะงานเก่าเท่านั้น

ศิลปินควรชื่นชมกับงานที่สร้างไว้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บอกว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” เมื่อพลังของเพลงได้ส่งต่อพลังให้แก่ผู้ฟัง เพิ่มพลังได้อย่างต่อเนื่อง พลังของเพลงจะเปล่งประกายและปลุกให้พลังของผู้ที่ชื่นชมเพลงตื่นขึ้น

ดังนั้น ศิลปินจะต้องตั้งหน้าตั้งตาสร้างผลงาน ไม่ควรจมปลักอยู่กับความสำเร็จในอดีต แล้วปล่อยให้พ่อค้านำพลังเก่าไปขาย โดยทำลายพลังอนาคตของศิลปินจนสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image