ความยิ่งใหญ่‘จักรพรรดิฉิน’ : คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ แล้วเรื่องราวของจิ๋นซีฮ่องเต้มีปมปริศนาหลายเรื่องที่นักประวัติศาสตร์จีนหลายคนยังสงสัยกันว่าใครคือ “พระบิดา” หรือ “พ่อ” แท้ๆ ของจักรพรรดิฉินกันแน่
บางกระแสบอกว่า “องค์ชายอี้เหริน”

บางกระแสบอกว่า “หลี่ว์ปู้เหวย” อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน

แต่ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ประวัติศาสตร์กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ของ “องค์ชายอี้เหริน” และ “หลี่ว์ปู้เหวย” น่าจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน

เพราะคนหนึ่งเคยเป็นองค์ประกันทางการเมือง

Advertisement

ขณะที่อีกคนหนึ่งผันชีวิตจากพ่อค้าธรรมดาๆ กระทั่งกลายเป็นผู้ถือครองนาเกลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมัยก่อนการค้าเกลือถือเป็นสินค้าผูกขาดเฉพาะผู้มีอิทธิพลเท่านั้น เนื่องเพราะเกลือจัดเป็นยุทธปัจจัยสำคัญที่มีนัยยะทางการทหาร

“หลี่ว์ปู้เหวย” ตระหนักถึงข้อนี้เป็นอย่างดี เพราะต่อให้เขาร่ำรวยมากแค่ไหน เขาก็คงยังเป็นพ่อค้าอยู่ดี ที่สำคัญ อาชีพพ่อค้าไม่เชิดหน้าชูตาในสังคมจีนโบราณ
เขาจึงพยายามยกฐานะตัวเองให้สู่สังคมชั้นสูง
ถามว่าเขาทำเช่นใด?

คำตอบคือ เขาตัดสินใจยก “จ้าวจี” นางบำเรอคนโปรดของตนให้กับ “องค์ชายอี้เหริน” ที่กล่าวกันว่าขณะนั้นเธอกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่
พร้อมกันนั้น เขาสนับสนุนองค์ชายให้ขึ้นเป็นกษัตริย์จวงเซียงหวางแห่งรัฐฉิน โดยเขาได้รับผลตอบแทนครั้งนี้อย่างคุ้มค่า เพราะนอกจากจะก้าวขึ้นมาเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน
เขายังถูกยกฐานะตัวเองให้ขึ้นสู่สังคมชั้นสูงโดยปริยาย
สำคัญไปกว่านั้น “จ้าวจี” ยังถูกยกฐานะให้เป็นพระมารดาของจิ๋นซีฮ่องเต้ไปพร้อมๆ กันด้วย จนกลายเป็นคำถามผ่านมากว่าหลายพันปีว่า…จิ๋นซีฮ่องเต้องค์นี้คือบุตรของใครกันแน่

Advertisement

เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องตีความกันต่อไป แต่ตามประวัติศาสตร์ในช่วงท้ายชีวิตของกษัตริย์จวงเซียงหวางน่ารันทดพอสมควร เพราะทรงครองราชย์เพียง 4 ปี ก่อนจะสวรรคตจากพระอาการประชวร

ตอนนั้น “จิ๋นซีฮ่องเต้” ยังทรงพระเยาว์ แต่จำเป็นต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งยุวกษัตริย์ โดยมี “หลี่ว์ปู้เหวย” ดำรงตำแหน่งพระบิดาบุญธรรมและผู้สำเร็จราชการที่คอยให้ความช่วยเหลือในการปกครองประเทศ

ขณะที่ “จ้าวจี” แม้จะถูกยกฐานะให้ขึ้นมาเป็นไทเฮาก็ตาม แต่ยังเรียก “หลี่ว์ปู้เหวย” คนรักเก่ามาเข้าเฝ้าอย่างสม่ำเสมอ จนวันหนึ่งเขารู้ว่าน่าจะไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่นัก อีกอย่าง อาจเป็นเพราะภารกิจการปกครองประเทศขณะนั้นค่อนข้างมากมาย

เขาจึงวางแผนส่ง “เล่าไอ่” ชายหนุ่มคนหนึ่งปลอมตัวเป็นขันทีลักลอบเข้าวังเพื่อถวายรับใช้ไทเฮา จนกระทั่ง
“จิ๋นซีฮ่องเต้” ทราบเรื่อง จึงส่งเขาทั้งคู่ไปอยู่ยังตำหนักห่างไกล

แทนที่ “เล่าไอ่” จะสำนึก แต่กลับคิดการใหญ่ด้วยการซ่องสุมกำลังพลและข้าทาสบริวารอีกมากมาย เพื่อวางแผนก่อกบฏ ปรากฏว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” ทราบเรื่องเสียก่อน เขาจึงถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธีห้าอาชาแยกร่าง

ส่วน “หลี่ว์ปู้เหวย” ถูกพระราชทานสุราพิษ โทษฐานชักนำคนทรยศเข้าสู่ราชสำนัก และหลังจากบุคคลเหล่านี้ตายจากไปประมาณ 3-4 ปี ไทเฮาก็ตรอมใจตายในเวลาต่อมา
กล่าวกันว่า มูลเหตุเหล่านี้เองที่ทำให้ “จิ๋นซีฮ่องเต้” กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นคนโหดเหี้ยม และกลายเป็นคนไม่ค่อยจะไว้ใจใครเท่าไหร่นัก
แต่ในทางกลับกัน “จิ๋นซีฮ่องเต้” กลับมีความใฝ่ดี เพื่อต้องการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว เขาจึงใช้แนวทางการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บริหารบ้านเมืองจนเกิดความเป็นเอกภาพ
จนทำให้รัฐฉินยิ่งใหญ่

“อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล” บอกว่า ความยิ่งใหญ่ของรัฐฉิน นอกจาก “จิ๋นซีฮ่องเต้” แล้ว ยังมีขุนนางคู่คิดอีก 2 คนที่ช่วยให้รัฐฉินแข็งแกร่งคือ “เว่ยเหลียว” กับ “หลี่ซือ”
ทั้ง 2 คนนี้ไม่เพียงทำให้รัฐฉินรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว หากเขาทั้งคู่ยังมีส่วนอย่างมากต่อการวางรากฐานของประเทศ
ยิ่งเฉพาะเรื่องของการสร้างเอกภาพให้กับประเทศ 3 ด้านด้วยกันคือ
หนึ่ง การปฏิวัติเงินตรามาใช้สกุลเดียวกัน
สอง การวางระบบคมนาคมเพื่อให้ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่รัฐฉิน
สาม ยุบรวมพยัญชนะที่มีมากมายกว่าหมื่นๆ คำ ให้หันมาใช้ภาษาของรัฐฉินเป็นภาษาเดียว

เสียดายที่ว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” ครองแผ่นดินเพียง 15 ปีเท่านั้น จักรวรรดิฉินที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรก็ค่อยๆ ล่มสลายลง ซึ่งสาเหตุของการล่มสลาย “อาจารย์วรศักดิ์” และ ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ต่างมองในมุมที่สอดคล้องกันว่าน่าจะมาจาก 3 เหตุผลหลักๆ คือ

หนึ่ง สร้างศัตรูทางการเมืองมากมาย เพราะในยุคที่จิ๋นซีฮ่องเต้ครองราชย์ พระองค์ทรงตี 6 รัฐจนแตกเพื่อรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ผลตรงนี้จึงทำให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายต่างๆ หลายเรื่อง ทั้งในส่วนของการปกครองแบบเข้มงวดและโหดร้ายเพื่อควบคุมชีวิตราษฎรที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ

ที่สำคัญ พระองค์ยังสั่งเผาตำราที่ไม่ใช่การบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐฉินอีก รวมถึงการสังหารบัณฑิตผู้มีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพระองค์

สอง วางนโยบายเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ แต่ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของราษฎรและปากท้อง ทั้งยังเกณฑ์ประชาชนจำนวนมากมาสร้างกำแพงเมืองจีน, พระราชวังเออฝางกง, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ จนทำให้สูญเสียทรัพย์สินเงินทองและชีวิตของประชาชน

สาม ราษฎรรวมตัวกันต่อต้าน เนื่องจากการปกครองที่โหดเหี้ยมทารุณ จนเป็นเหตุให้ประชาชนต่างไม่พอใจ กระทั่งเกิดกบฏชาวนาอยู่บ่อยครั้ง หลายคนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ส่วนผู้รอดชีวิตก็รวมตัวกันต่อสู้ จนกลายเป็นกระแสการโค่นล้มราชวงศ์ฉินกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ

กระทั่งปี 210 ก่อนคริสตกาล “จิ๋นซีฮ่องเต้” ก็สวรรคตด้วยพระอาการประชวรขณะเสด็จประพาสนอกเมือง รวมพระชนมายุ 50 พรรษา
เป็น 50 พรรษาที่พระองค์ทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย รวมถึงพิพิธภัณฑ์สุสานทหารดินเผาจักรพรรดิจิ๋นซีที่ผมมีโอกาสได้ไปชมครั้งนี้ด้วย
ไม่มีคำใดจะเอ่ยแทนคำว่ายิ่งใหญ่อลังการได้เลยจริงๆ
ทั้งยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จีนและประวัติศาสตร์โลกอย่างประเมินค่าไม่ได้ด้วย
จึงอยากนำมาเล่าสู่ทุกคนฟัง
เผื่อใครมีโอกาสไปเมืองซีอาน ต้องอย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สุสานทหารดินเผาจักรพรรดิจิ๋นซีนะครับ

รับรองคุณจะต้องอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจักรพรรดิฉินองค์นี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image