ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต ฟังนักเขียน ‘มติชน’ คิดถึงอะไร? อนาคตแบบไหน?

ผ่านมาครึ่งทางแล้ว สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 (Bangkok International Book Fair 2016)

งานยังคงจัดขึ้นที่เดิม คือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดำเนินไปตั้งแต่วันนี้จนถึง 10 เมษายน 2559

ท่ามกลางแดดที่ร้อนเปรี้ยง หนอนหนังสือยังคงทยอยเดินทางไปเลือกซื้อหนังสือ ฟังนิทรรศการ และร่วมกิจกรรมที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จัดขึ้นอย่างล้นหลาม กลับบ้านพร้อมความรู้ บางคนหอบหิ้วหนังสือติดมือกันจนหลังแอ่น

Advertisement

ที่บูธของสำนักพิมพ์มติชน โซนพลาซ่า ผู้คนมากมายอัดแน่นจนเต็มพื้นที่จัดจำหน่ายหนังสือ นอกจากผลงานคุณภาพที่ปรากฏเรียงรายแล้ว ผลงานแนวสตรีตอาร์ตของศิลปิน รักกิจ ควรหาเวช ก็เป็นที่ดึงดูดผู้คนได้ดีทีเดียว

สำหรับธีมในการจัดบูธของสำนักพิมพ์มติชนปีนี้ สั้นๆ แต่ชัดเจนว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต”

ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีแต่หนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ครอบคลุมผลงานทุกแนวทุกแบบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนน่าสนใจอย่างยิ่ง และการรับรู้ เข้าใจ ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้อย่างรอบด้านนี่เอง จะเป็นเสมือน “เครื่องมือ” ให้เราสร้างอนาคตที่สดใสได้

Advertisement

หยิบเอาเรื่องนี้ไปพูดคุยกับนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน ว่าทันทีที่เขาได้ยินประโยคดังกล่าว มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้? และอนาคตที่พวกเขาและเธออยากให้เป็นนั้น จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง?

เริ่มต้นที่นักเขียนสุดฮอตตลอดกาลประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน เจ้าของเสียงหัวเราะเป็นเอกลักษณ์ และตัวอักษรอารมณ์ดี หนุ่มเมืองจันท์ ปีนี้มีผลงาน “ทางของเราต้องก้าวเอง” มาเป็นหนังสือขายดี (อีกแล้ว)

1คำตอบของเขาต่อคำถามที่ว่า ได้ยินคำว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต” แล้วนึกถึงอะไรนั้น เรียบง่ายและกินใจเหมือนหนังสือของเขาทุกเล่ม

“ผมนึกถึงภาพของสิ่งปลูกสร้างที่มาจากอิฐทีละก้อนๆ และประวัติศาสตร์ คือสิ่งนั้น สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ คือ สิ่งก่อสร้างที่มาจากก้อนอิฐต่างๆ ในอดีต เวลาเราเอาก้อนอิฐมาวางเรียงกันสูงๆ สุดท้าย เรายืนบนก้อนอิฐที่สูงได้เท่าไหร่มองไกลได้เท่านั้น ประวัติศาสตร์ที่มีมากเรื่อยๆ ก็เช่นกัน เราจะมองไกลไปสู่อนาคตได้ชัดเจนกว่าคนที่ยืนแนวราบ ดังนั้น ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ แต่ในพื้นที่อนาคต เราก็ต้องรับว่าเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ด้วย”

ถ้าอย่างนั้นตึกสูงจากการก่อร่างสร้างอิฐที่ “หนุ่มเมืองจันท์” อยากเห็นเป็นแบบไหน?

“คนในอดีต อดีตยาวอนาคตสั้น แต่คนในปัจจุบัน เขายังมีอนาคตยังยาวไกลในโลกใบนี้ และเราควรเปิดโอกาสให้เขากำหนดโลกในวันต่อไปมากกว่าเราไปกำหนดเอง” เป็นคำตอบในน้ำเสียงนุ่มทุ้มของเจ้าตัว

ต่อด้วยเจ้าของผลงาน “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” อีกหนึ่งหนังสือขายดีที่ต้องซ้ำพิมพ์ซ้ำทันที ผลงานของนักเขียนหนุ่ม ภาณุ ตรัยเวช กับเรื่องราวของเยอรมนีที่เปลี่ยนระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นระบอบที่มีอายุยืนยาวอยู่เพียง 14 ปีเท่านั้นในสาธารณรัฐไวมาร์

2.

เป็นหนังสือประวัติศาสตร์อีกเล่มที่ให้มุมมองต่อประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองอย่างครอบคลุมรอบด้าน

กับคำว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต” นั้น นักเขียนหนุ่มให้คำจำกัดความว่า เขานึกถึงความเข้าใจ “เพราะเรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันครับ แต่การรู้เพียงแค่ปัจจุบันก็ยากมากที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต” ดังนั้น สำหรับภาณุแล้ว การจะเข้าใจปัจจุบันได้นั้นก็จำเป็นจะต้องมองย้อนกลับในประวัติศาสตร์ด้วย

“แล้วก็ต้องตั้งความคาดหวังด้วยว่าอนาคตเราหวังอะไร เราต้องมองกลับไป และต้องมองไปข้างหน้า ทั้งหมดนี่ก็เพื่อจะทำความเข้าใจกันได้นั่นเอง” ภาณุกล่าว

ขณะที่อีกเล่มที่มาแรงมากๆ อย่าง THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ จากปลายปากกาของ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช บอกเล่าถึงทฤษฎีแกนกลางของการก่อการร้ายว่าเริ่มอย่างไรและใช้งานอย่างไร

และคำว่า ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต ชวนให้ กฤดิกรนึกย้อนไปถึงหนังสือเรื่อง 1984 ของนักเขียนชาวอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ว่า ผู้ที่สามารถควบคุมอดีตได้คือผู้ควบคุมปัจจุบันและอนาคต

“คำว่าประวัติศาสตร์มันสัมพันธ์โดยตรงกับระบบความคิดความทรงจำของประชากร เช่น การนำประชากรให้เคลื่อนไหวด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ก็ต้องใช้ฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ว่าจะจริงหรือปลอมเป็นเครื่องมืออ้างอิง”

ใน THOU SHALL FEAR ของกฤดิกรเองก็ใช้แนวคิดทางประวัติศาสตร์มาอ้างอิงเพื่ออธิบายถึงต้นกำเนิดการก่อการร้าย

“เรามีภาพว่าการก่อการร้ายเป็นภัยที่รุนแรงด้วยภาพจำจากประวัติศาสตร์ในความทรงจำของเรา เมื่อประวัติศาสตร์นั้นถูกนำมาขยายข้อมูลจนเกินจริง เราจึงรู้สึกว่าการก่อการร้ายยิ่งใหญ่มากจนต้องดึงเอาทุกอย่างเท่าที่มีมาต่อต้านให้ได้ ถามว่าการก่อการร้ายเป็นภัยจริงไหม ก็มีความเป็นจริงอยู่แต่ไม่ได้ใหญ่เท่าที่คิดนั่นเอง”

ส่วน วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด เจ้าของผลงาน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เผยสิ่งที่นึกถึงเมื่อได้ยินธีมของ สนพ.มติชนปีนี้ว่า คิดถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกลบ ถูกบิดเบือน คิดถึงอนาคตที่บูดเบี้ยว

“ประวัติศาสตร์สร้างอนาคตอยู่แล้ว ประวัติศาสตร์คืออนาคตอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง หมายถึงว่าคุณเติบโตมาจากอะไร คุณงอกมาจากอะไร เป็นต้นอะไรก็งอกออกมาเป็นต้นนั้นนั่นแหละ แล้วอนาคตคืออะไร ก็คือต้นที่งอกมาจากเมล็ดอดีต”

เช่นนี้แล้วอนาคตที่งอกมาจากเมล็ดพันธุ์อดีตของเราจะเป็นต้นแบบไหน ?

“บิดเบี้ยว” คือคำที่วีรพรโพล่งออกมาก่อนอธิบายว่า เราเติบโตมากับประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน เราเติบโตมาจากประวัติศาสตร์ที่ถูกลบ เราไปไหนไม่ไกลหรอก เราก็เป็นต้นไม้บิดเบี้ยวต้นหนึ่ง ต้องวิกลจริต

ต่อกันอีกหนึ่งนักเขียนแนวประวัติศาสตร์

เทพ บุญตานนท์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล และผู้เขียน “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” บอกว่า เมื่อได้ยินประโยค “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต” แล้วคิดถึงสิ่งที่จะได้เรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา แล้วพร้อมที่จะรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อมา สิ่งต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นอีกครั้งเราจะจัดการอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้
5.
“ประวัติศาสตร์คงไม่สามารถสร้างอนาคตได้ถึงขนาดที่จะครีเอตขึ้นมาใหม่ แต่ประวัติศาสตร์ทำให้เราสามารถพร้อมจะมีชีวิตอยู่กับอนาคตโดยที่เข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ผมคิดว่าสิ่งที่ผ่านมาหลายๆ อย่าง สังคมเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์น้อยมาก ไม่นำประวัติศาสตร์มาทำความเข้าใจกับตัวเอง แล้วปล่อยให้อะไรต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ไม่เรียนรู้และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเรื่องต่างๆ ที่เรารู้สึกว่าไม่โอเคหรือเรื่องต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า…ทำไมต้องเกิดอย่างนี้อีกแล้ว ก็จะกลับมาแล้วมาอีกเรื่อยๆ เพราะเราไม่ทำความเข้าใจกับมัน”

สำหรับหนังสือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” ของเขาที่เผยโฉมในสำนักพิมพ์มติชนครั้งนี้ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีนัยเกี่ยวพันกับอนาคตเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ด้านอื่น

เทพกล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาในหนังสือเล่มนี้คือ ความจำเป็นของการปรับตัว สิ่งต่างๆ ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ปรับตัวให้เข้ากับสังคมและโลกที่เปลี่ยนไป

“ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ สอนให้เรารู้จักปรับตัว มีชีวิตอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเรียนรู้จากมัน” เทพกล่าว

อีกมุมหนึ่ง

“สิ่งที่มนุษยชาติได้เรียนรู้นั้น มักจะมีวงรอบที่ซ้ำกันอยู่ๆ เหตุและผลที่ทำไมมันจึงเกิดขึ้น ก็มักจะเป็นในรูปแบบเดิม” คือประโยคของ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปลหนังสือ “The selfish Gene-ยีนเห็นแก่ตัว” หนึ่งในหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เขียนโดย ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักชีววิทยาชื่อดัง และเป็นหนึ่งในหนังสือยอดฮิตในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้

ก่อนที่จะเสริมว่า ถ้าเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้มากเพียงพอ เราจะรู้ว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะอะไร และในอดีตนั้นเขาหาทางออกจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

“หากเราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจะไม่รู้เลยว่าปัญหาที่เราเจออยู่ในปัจจุบันจะหาทางออกไปในทิศทางไหน บ่อยครั้งที่มนุษย์ใช้วิธีการที่สุ่มไปเรื่อยๆ ลองใช้วิธีการแก้ปัญหาในทางโน้นที ทางนั้นที มันยากที่จะนำไปสู่ทางออกที่เคยมีคนพิสูจน์มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

เจษฎากล่าวในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ว่า จะเห็นได้ว่านักวิทยาศาสตร์เองก็เรียนรู้วิธีที่ก้าวไปสู่อนาคต ไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ข้อมูลต่างๆ ในอดีตทั้งนั้น ว่าอดีตเคยมีการทดลอง มีการทดสอบแล้วอย่างไรบ้าง

“การเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ทำให้เรารู้ว่าอนาคตควรที่จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือข้อผิดพลาดที่ซ้ำรอยเดิมได้ ถ้าเราทำแต่ซ้ำๆ ผลที่ออกมาก็จะเหมือนเดิม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเราก็จะเท่าเดิม การที่วิทยาศาสตร์พัฒนาได้ก็เพราะเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีต และไม่ทำซ้ำอย่างเดิมเพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลง ก้าวไปสู่อนาคตได้”

ส่วนหนังสือ “ไม้เท้าตีสุนัข” ที่เพียงแค่ชื่ออาจทำให้คอนิยายกำลังภายในต้องนึกถึงหนึ่งในกระบวนท่าชื่อดังของ “พรรคกระยาจก”

หากแต่ไม้เท้าตีสุนัขในที่นี้คือนวนิยายจีนที่ถูกแปลและเรียบเรียงโดย เรืองชัย รักศรีอักษร จากบทละครโทรทัศน์ที่คว้ารางวัลไปมากมายในปี 2557 โดย “กัวจิ้งอวี่”
7
และกลายเป็นหนึ่งในนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ที่กำลังได้รับความนิยมจากคอนิยายชาวไทยอย่างแพร่หลาย

ดังนั้นเมื่อถามถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์คืออนาคต” เรืองชัยจึงดูมีท่าทีให้ความสำคัญกับคำนี้เป็นพิเศษ

“เนื่องจากผมได้มีโอกาสแปลหนังสือประวัติศาสตร์จีนบ่อยครั้ง ก็รู้สึกว่าหลายๆ เรื่องที่เราศึกษาหรืออ่านประวัติศาสตร์ มันทำให้เราเห็นว่าประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย จึงทำให้เราสามารถที่จะเห็นถึงอนาคตในบางแง่มุมได้”

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตบางครั้งเองก็ทำให้เราสามารถเห็นแนวทางในอนาตคได้ว่าเป็นอย่างไร”

เรืองชัยเสริมว่า อย่างประเทศจีนเองได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากจะมีการบันทึกอย่างละเอียด ต่อเนื่อง และยาวนาน ซึ่งเราจะมองเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค แต่ละสมัยของจีนเองที่ห่างกันเป็นพันปีก็ยังเกิดขึ้นซ้ำกันได้

ดังนั้น การเรียนรู้ประวัตศาสตร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่

“ประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราเข้าใจรากของเรา จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจประเทศไทย เข้าใจว่าเหตุการณ์ทำไมบ้านเมืองในวันนี้เป็นแบบนี้” เรืองชัยทิ้งท้าย

และนี่คือ “มุมหนึ่งของ” นักเขียนจาก “มติชน” ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับธีมของบูธสำนักพิมพ์มติชนปีนี้

“ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต”

8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image