อาศรมมิวสิค : ‘สมัครเล่น’ยอกย้อนในความหมาย คำ(ความ)จำเป็นสำหรับดนตรีและศิลปะ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในวงการดนตรีและศิลปะเรามักจะพบกับคำๆ หนึ่ง ที่เมื่อแรกเห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกในเชิงดูแคลน,หรือความรู้สึกที่เป็นไปในทางลบ นั่นก็คือ คำว่า “สมัครเล่น” เพราะไม่มีใครอยากถูกตราหน้าหรือถูกเรียกว่าเป็น “มือสมัครเล่น“ ทุกๆ คนอยากได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าตนนั้นเป็น ระดับ “มืออาชีพ” ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะอะไร?

ก็เพราะว่าคำว่าสมัครเล่นจะให้ความรู้สึกไปในกลุ่มความหมายในทำนองที่ว่า…..ผู้ไม่เชี่ยวชาญ, คนที่ทำอะไรฉาบฉวย, ไม่มีความชำนาญ คนทำอะไรแบบจับจด, คนหยิบโหย่ง, คนไม่รู้จริง, ไม่ได้มาตรฐาน…….ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มคำเหล่านี้ล้วนแต่ชวนให้เกิดความรู้สึกในเชิงดูแคลน ซึ่งไม่มีใครปรารถนาจะได้ชื่อว่าตนอยู่ในระดับสมัครเล่น ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าตนไม่ใช่คนจริง……

แต่เดี๋ยวก่อน……..

คำๆ นี้กลับมีลักษณะที่ย้อนแย้งกัน (Paradox) ในตัวเองอย่างที่สุด ทั้งในภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “Amateur” (ซึ่งหยิบยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส) และภาษาไทยที่เรียกว่า “สมัครเล่น” คำในภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่แสดงนัย-ความหมายเหมือนๆ กันและมีความยอกย้อน-ย้อนแย้งกันในตัวเองเหมือนๆ กันอย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่าคำๆ นี้ก่อให้เกิดความสับสนได้ทั้งในบริบทของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

Advertisement

แท้จริงแล้วคำว่า “Amaeur” (ที่แปลว่า “สมัครเล่น”) นี้มาจากภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า “ผู้ที่มีใจรัก” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทในช่วงยุคสมัยแห่งการพัฒนาศิลปะดนตรีในยุโรปในช่วงราวศตวรรษที่ 18 (ยุคคลาสสิก) ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีด้านการบันทึกเสียง กลุ่มคนเหล่านี้รักดนตรีมากเป็นชีวิตจิตใจ พยายามสร้างเสียงดนตรีกันด้วยการ หัดอ่านโน้ตดนตรีให้เป็น จัดหาเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด (Keyboard) ไว้ประจำบ้านเพื่อบรรเลงดนตรีในลักษณะบทเพลงโซนาตา (Sonata), รอนโด (Rondo), แวริเอชั่นส์ (Variations) หรือบทเพลงเต้นรำแบบมินูเอ็ต (Minuet) ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนทางเทคนิคมากนัก หรือการฝึกหัดขับร้องเพลง (Song) ตามบ้านเรือนอย่างจริงจัง ไปจนถึงขั้นกระทั่งการรวมกลุ่มก่อตั้งวงขับร้องประสานเสียงกันในชุมชน

กิจกรรมการสร้างเสียงดนตรีกันด้วยตัวเองภายในบ้านเรือนและชุมชนของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ที่มีใจรัก” (Amateur) นี้เองที่ได้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้, เป็นวิถีทางในทางธุรกิจดนตรีที่สำคัญนั่นก็คือ ธุรกิจการตีพิมพ์โน้ตดนตรีที่จัดเป็นรายได้อันสำคัญของบรรดานักประพันธ์ดนตรี นักประพันธ์ดนตรีที่ชื่อว่า “โดเมนิโก สการ์ลัตติ” (Domenico Scarlatti มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1685-1757) เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงคีย์บอร์ดที่มีเอกลักษณ์และสร้างสรรค์ผลงานชนิดนี้มากที่สุดในศตวรรษที่ 18

ดังนั้น บรรยากาศทางดนตรีในศตวรรษที่ 18 (ในสมัยคลาสสิก) นอกจากการแสดงคอนเสิร์ตโดยพวกนักดนตรีมืออาชีพ ที่เรียกกันว่า “คอนเสิร์ตเพื่อสาธารณชน” (Public Concert) หรือการแสดงละครอุปรากร (Opera) ตามโรงละครต่างๆ แล้ว การสร้างเสียงดนตรีกันเองภายในบ้านเรือนและชุมชนของผู้รักดนตรีนี้แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนวงการดนตรีให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างกว้างไกล จนมีคำในภาษาฝรั่งเศสอีกคำหนึ่งคือ “Connoisseur” (คอนเนอเซอ) ที่ใช้ในความหมายของผู้รักดนตรีที่เล่นดนตรีเป็น (แน่นอนต้องอ่านโน้ตดนตรีเป็นเสมือนการอ่านออกเขียนได้ทางภาษาชนิดหนึ่ง)

Advertisement

และพวกเขาก็เป็นผู้ชมดนตรีคอนเสิร์ตของพวกมืออาชีพอย่างเป็น “ขาประจำ” ซึ่งทั้งหมด,ทั้งหลายที่กล่าวมานี้เรายังคงพอจะเห็นภาพรวมที่ยังคงเป็นวิถีชีวิตอะไรบางอย่างที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ การส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนดนตรี,อ่านโน้ตดนตรีให้ออกเสมือนภาษาอีกภาษาหนึ่งของมนุษย์ หรือการรวมตัวกันในชุมชนเพื่อก่อตั้งวงขับร้องประสานเสียง หรือแม้แต่ “แตรวงชาวบ้าน” (Brass Band) ในประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป ซึ่งนักดนตรีแตรวงชาวบ้านเหล่านี้เป็นผู้ “อ่านออก-เขียนได้” ทางดนตรีอย่างแน่นอน

ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า Connoisseur จึงใช้อธิบายถึง ผู้มีความรู้,ความชำนาญใน ศิลปวัตถุ,อาหาร หรือเรื่องราวเฉพาะทาง ซึ่งเราอาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ในความหมายของคำว่า “นักเลง” นั่นเอง นักเลงที่หมายถึงผู้รักในสิ่งใด,สิ่งหนึ่งเฝ้าทุ่มเทศึกษาหาความรู้จนเกิดความชำนาญขึ้นในตัวเอง (เช่น นักเลงพระเครื่อง)

ในสังคม,ชุมชนในต่างประเทศนั้น แม้จวบจนปัจจุบัน “กลุ่มสมัครเล่น” ทางดนตรียังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย เช่น กลุ่มคนรักดนตรีเปียโนที่ประกอบไปด้วยบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่รักเสียงเปียโนเป็นชีวิตจิตใจที่รวมตัวกันบรรเลงเปียโนฟังกันในกลุ่ม พูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องเปียโนอย่างออกรส บ่อยครั้งที่ความรู้,ความสามารถทางดนตรีของบุคคลเหล่านี้พัฒนากว้างไกลไปจนถึงขั้นระดับเดียวกับ “มืออาชีพ” ทีเดียว

มีเพียงเส้นคั่นบางๆ ที่แยกพวกเขาออกจากพวกมืออาชีพก็คือ พวกเขามิได้มีความจำเป็นต้องหาเงิน,หารายได้หลักจากการบรรเลงดนตรีมาเลี้ยงชีพนั่นเอง มือสมัครเล่นที่มีฝีมือยอดเยี่ยมจนบ่อยครั้งเราก็เสียดายที่เขาไม่ได้ยึดมันเป็นอาชีพหลัก ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับผู้มีใจรัก (หรือ “ผู้สมัครเล่น”) ทางด้านอาหารที่มิได้เป็นแม่ครัวอาชีพแต่มีความสามารถในการปรุงอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยกว่าพวกมืออาชีพด้วยซ้ำไป

กลุ่มคนเหล่านี้ทุ่มเทพิถีพิถันและ “ใส่ใจ” ลงไปในอาหารที่เขาปรุงจนผู้รับประทานสามารถรับรู้ได้ถึง “รสมือ” และที่สำคัญก็คือ “ใจรัก” ที่เขาบรรจงใส่ลงไปในอาหารจานนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราอาจไม่ได้พบเจอจากพ่อครัว-แม่ครัวมืออาชีพด้วยซ้ำไป พวกเขาปรุงอาหารด้วยใจรัก ปรุงอาหารเมื่อจิตใจเบิกบาน พร้อมที่จะทำจริงๆ โดยปราศจากเงื่อนไข, ความจำเป็นอื่นใดมาบังคับ ไม่ได้ทำเพราะต้องการหาเงินเลี้ยงชีพ ซึ่งบ่อยครั้งเช่นกันที่เราเสียดายที่พวกเขาไม่ยอมผันตัวมาเป็น “มืออาชีพ” ปรุงอาหารขายให้เราได้กินอย่างแน่นอนเป็นประจำ

เมื่อเรามองย้อนกลับไปดูบรรยากาศทางดนตรีในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในประเทศรัสเซีย “กลุ่มสมัครเล่นทางดนตรี” (ไม่อยากใช้คำว่า “กลุ่มดนตรีสมัครเล่น”) นี้เองที่ได้พลิกบทบาทดนตรี “สำนักรัสเซีย” (Russian School) ให้มีบทบาทโดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีของโลก ซึ่งเรารู้จักกลุ่มนี้กันเป็นอย่างดีในนาม “The 5” (กลุ่มนักประพันธ์ดนตรี 5 คน ที่นำเอาลีลา,สำเนียงดนตรีพื้นบ้านรัสเซีย ตลอดไปจนถึงตำนานพื้นบ้านรัสเซียสอดแทรกเข้าไปในศิลปะดนตรีซิมโฟนีและอุปรากรสากล) ซึ่ง 4 คน ใน 5 คน ของนักประพันธ์ดนตรีกลุ่มนี้เริ่มต้นชีวิตในสาขาอาชีพอื่นๆ แต่ด้วยความพ้องกันในเรื่องความรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ จึงรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มดนตรีชาตินิยมสำนักรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างดนตรีคลาสสิกสำนักรัสเซียที่มีลีลา สำนวน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างไปจาก “สำนักออสเตรีย-เยอรมัน” หรือดนตรีสากลในยุโรปกลาง ซึ่งพวกเขาก็ทำได้อย่างประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม จนเป็นที่ประจักษ์ชัดจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีและมีความหมายในวงการดนตรีจวบมาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นิโคไล ริมสกี-คอร์ซาคอฟ” (Nikolai Rimsky-Korsakov) ที่สามารถคิดค้นสิ่งที่เราอาจเรียกมันว่า “เสียงดนตรีออเคสตราแบบรัสเซีย” (Russian Orchestration)

นั่นคือวิชาศาสตร์แห่งการจำแนกเสียงสำหรับเครื่องดนตรีในวงออเคสตรา ที่แตกต่างไปจากวิธีคิดในการจำแนกเสียงเครื่องดนตรีแบบสากล (ยุโรปกลาง) ที่มีอยู่เดิม เสียงดนตรีของวงออเคสตราแบบสำนักรัสเซียที่ริมสกีคอร์ซาคอฟทดลองคิดค้น ประดิษฐ์ขึ้นด้วยตนเองนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าให้สุ้มเสียงที่แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ, เจิดจ้าด้วยความหลากหลายทางสีสัน หากแต่มีความโปร่งเบาในเนื้อเสียง (Texture) ที่ดูจะแตกต่างไปจากเนื้อเสียงที่แน่นทึบแบบ “สำนักเยอรมัน” กลายเป็นเสมือนแนวคิดในด้านศิลปะการสร้างเสียงดนตรีแบบซิมโฟนีที่แตกต่างตรงกันข้ามกัน

ศาสตร์ที่ริมสกีคอร์ซาคอฟคิดค้นขึ้นนี้ เขาทดลอง,คิดค้นแบบ “ลองผิด-ลองถูก” อยู่นานหลายปี อ่านตำราเองคิด วิเคราะห์ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายจึงทำการ “สังเคราะห์” มันขึ้นมาใหม่จนเป็นผลสำเร็จเป็นแนวทางให้บรรดานักประพันธ์ดนตรีรัสเซีย (ตลอดไปจนถึงนักประพันธ์ดนตรีชาติอื่นๆ) พากันนิยมชมชอบ, เห็นดีเห็นงามเดินตามแนวทางนี้ยึดตำราแบบริมสกีคอร์ซาคอฟกันมากมาย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เราต้องไม่ลืมว่า แท้จริงแล้วปรมาจารย์ผู้คิดค้นศาสตร์การจำแนกเสียงวงออเคสตราแบบใหม่ (ในขณะนั้น) แรกเริ่มเดิมทีเขาเป็นทหารเรือผู้มีใจรักดนตรีธรรมดาๆ ผู้หนึ่งเท่านั้น

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างอันสำคัญของคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้ที่ได้ชื่อว่า “สมัครเล่น”

ดังนั้น เมื่อเราพิจารณากันถึงความยอกย้อน-ย้อนแย้งในความหมายของคำว่า “สมัครเล่น” นี้เราน่าจะมาพิจารณา ว่าแท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่เป็นเส้นคั่นแบ่งระหว่างคำว่า สมัครเล่นและคำว่ามืออาชีพ เพราะเมื่อพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบและกว้างขวางแล้ว การทุ่มเทอย่างสุดชีวิตให้กับดนตรีหรือศิลปวิทยาการใดๆ ที่บุคคลมีใจรักนั้น ระดับความทุ่มเทไม่ใช่ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดอาจจะเป็นแค่ว่า เขายึดสิ่งนั้นเป็นหนทางในการหารายได้เลี้ยงชีพเป็นหลักหรือไม่ และบ่อยครั้ง ผู้ที่ได้ชื่อว่าสมัครเล่นนี้แหละที่กลับมีจิตใจรักที่แน่วแน่มากกว่า,ทุ่มเทอุทิศ และเสียสละให้มากกว่า โดยไม่หวังเงินทอง สิ่งตอบแทนใดๆ แน่นอนที่สุดก็จะมาย้อนเข้าถึงเรื่อง “กฎแห่งกรรม” นั่นก็คือ หว่านพืชสิ่งใดย่อมออกผลเช่นนั้น หว่านเมล็ดพันธุ์อะไรก็ได้บริโภคสิ่งที่หว่านไว้นั่นเอง ผู้มีใจรักและทุ่มเทอุทิศตนปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงได้รับดอกผลเป็นวิชาความรู้-ความเชี่ยวชาญติดตัวไปตามปัจเจกบุคคลจากผลกรรมที่ตนได้ทุ่มเทอุทิศทำมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะยึดสิ่งนั้นเป็นอาชีพหลักในชีวิตหรือไม่

วิถีปฏิบัติด้วยหัวจิตหัวใจแบบ “สมัครเล่น” นี้ยังก่อให้เกิดผลแบบยั่งยืน,ยาวนานตามมาอีกนั่นก็คือ “เป้าหมายสูงสุดในความเป็นมนุษย์” ในด้านการเป็นผู้ค้นหา,ผู้แสวงหา (Researcher) อย่างไม่รู้จบสิ้น ผู้มีใจรักสมัครเล่นจะเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต สนุกสนานในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองอย่างไม่มีวันหยุดนิ่ง ในทางตรงกันข้ามผู้ที่สำนึกรู้สึกว่าตนเองเป็นระดับ “มืออาชีพ” แล้ว ย่อมเป็นผู้สำเร็จสมบูรณ์แล้วจึงมักจะเต็มอิ่มอยู่กับความสมบูรณ์นั้นโดยไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ในอันที่จะต้องหาความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอีก ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้อื่นอีก หู, ตา ประสาทสัมผัสต่างๆ จึงปิดลงด้วยความเต็มอิ่มนั้น ซึ่งจะเป็นสภาวะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ ผู้มีใจรัก, ผู้สมัครเล่นที่จะเปิดหัวใจ, เปิดการเรียนรู้, การรับรู้สรรพสิ่งใหม่ๆ ไปจนตลอดชีวิตตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ผู้เขียนเองมีความเชื่อเสมอมาว่าดนตรีหรือศิลปะสามารถสะท้อนความจริงแห่งชีวิตได้ และมันก็ควรจะนำพาเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง, การพัฒนาทางความคิดมิใช่เป็นเพียงเรื่องของมหรสพ, ความบันเทิงหย่อนใจ (ซึ่งเป็นเพียงการพอกพูนกิเลสในที่สุด) และเมื่อเราเชื่อเรื่องความเชื่อมโยงของดนตรี-ศิลปะกับชีวิตแล้ว วิถีแบบผู้มีใจรัก,แบบความหมายของคำว่า “สมัครเล่น” (แบบวิถีปฏิบัติในศตวรรษที่ 18) นี้เองที่จะสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพในทุกๆ สาขาวิชาชีพ นั่นก็คือ การทำอะไรด้วยใจรักอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงวิธีหารายได้เลี้ยงชีพ ไม่น่าเชื่อว่าคำๆ นี้ยอกย้อนในความหมายยิ่งนัก

มันคือความจำเป็นและหัวใจในการทำงานดนตรีและศิลปะทีเดียว ทำแบบผู้มีใจรัก (สมัครเล่น) ด้วยหัวใจและวิธีปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในแบบ “มืออาชีพ”!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image