คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน : พญาหงส์เหนือบัลลังก์มังกร : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ เรื่องราวของพญาหงส์ผู้ครองแผ่นดินมังกร “บูเช็กเทียน” ถูกรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์

ไปจนถึงงานศิลปะอย่างละครเวที
ภาพจิตรกรรม
และประติมากรรมในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ เพราะ “บูเช็กเทียน” เป็นหญิงสาวที่มีความงาม มีปัญญา และมีกลวิธีในการปกครองบ้านเมือง จนถึงขนาดก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน

โดยก่อนหน้า ผมเองรับรู้เรื่องราวของ “บูเช็กเทียน” ผ่านสื่อต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์เรื่องบูเช็กเทียน ที่เคยเผยแพร่ทางช่อง 3 ในปี 2557

Advertisement

หรือหนังสือเรื่อง “วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน” ที่ เสถียร จันทิมาธร เป็นผู้เรียบเรียง และตีพิมพ์ออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ปัจจุบันพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ละครโทรทัศน์ผมดูแต่เพียงผ่านๆ

ขณะที่หนังสือก็อ่านไม่ทันจบดี แต่กระนั้นก็พอทำให้เข้าใจเรื่องราวของบูเช็กเทียนในมิติต่างๆ อยู่บ้าง แม้จะไม่แจ่มชัดนักก็ตาม

กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสไปวัดหวงเจ๋อซื่อ วัดสำหรับการบวงสรวงพระนางบูเช็กเทียนเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของเชิงเขาอูหลง ริมฝั่งแม่น้ำเจียหลิงเจียง เมืองกว่างหยวน มณฑลเสฉวน
ภาพจำต่างๆ จึงค่อยๆ ผุดพรายขึ้น

Advertisement

เพราะ “บูเช็กเทียน” ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ อีกทั้ง “อู่ซื่อเย่ว์” บิดาของพระนางยังเป็นผู้บัญชาการทางทหารที่เมืองแห่งนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าถังไท่จง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเขาเคยเป็นพ่อค้าไม้แห่งเมืองเหวินสุ่ยมาก่อน ส่วนมารดา “หยางซื่อ” มาจากตระกูลสูงศักดิ์ เป็นบุตรีของหยางต๋า เสนาบดีแห่งราชวงศ์สุย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “บูเช็กเทียน” จะมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดี จนสามารถอ่านออกเขียนได้แต่วัยเยาว์
อีกทั้ง “อู่ซื่อเย่ว์” ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “หลี่ยวน” หรือ “จักรพรรดิถังเกาจู่” ในเวลาต่อมา เพราะเขาทั้งสองได้ร่วมกันรัฐประหารราชวงศ์สุย ดังนั้น เมื่อ “หลี่ยวน” ขึ้นครองราชย์เป็น “จักรพรรดิถังเกาจู่” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง บิดาของ “บูเช็กเทียน” จึงมีความดีความชอบในฐานะขุนนางผู้ร่วมบุกเบิกแผ่นดินด้วย

ทั้งเขายังมีโอกาสรับใช้ราชวงศ์ถังในเวลาต่อมา
ยิ่งเฉพาะ “หลี่ซื่อหมิน” โอรสองค์รองของจักรพรรดิถังเกาจู่ ที่ต่อมามีโอกาสขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังไท่จง ความสำคัญอยู่ตรงนี้เอง เพราะ “อู่ซื่อเย่ว์” ได้ส่งตัว “บูเช็กเทียน” เข้าวังมาเป็นสนมชั้นสามัญตั้งแต่อายุ 14 ปี ในตำแหน่ง

ไฉเหริน อันมีความหมายว่าผู้มีปัญญา

กล่าวกันว่า “บูเช็กเทียน” ไม่เพียงมีความงามเย้ายวน หากยังมีความรู้ เฉลียวฉลาด จนทำให้จักรพรรดิถังไท่จงโปรดปรานอย่างมาก จนถึงกับพระราชทานฉายาให้ว่า “เม่ยเหนียง” อันมีความหมายว่าแม่สาวพราวเสน่ห์

ความสาวพราวเสน่ห์ของ “บูเช็กเทียน” ไม่เพียงทำให้พระสวามีหลงใหลในความงาม หากความสาวพราวเสน่ห์ยังทำให้โอรสองค์ที่ 9 ของ “จักรพรรดิถังไท่จง” หรือ “จักรพรรดิถังเกาจง” ในเวลาต่อมาต่างรู้สึกมีใจปฏิพัทธ์ด้วย
แม้จะเจอกันเพียงบังเอิญก็ตาม
แต่ความรู้สึกรักแรกพบยังเกาะกินหัวใจ “จักรพรรดิถังเกาจง” อยู่ จนกระทั่งพระบิดาสวรรคต และขณะนั้น “บูเช็กเทียน” ออกบวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดกั่นเย่ซื่อในนครฉางอาน

“จักรพรรดิถังเกาจง” มีโอกาสไปทำบุญที่วัดแห่งนี้และมีโอกาสพบกับแม่ชี จึงชักชวนให้เข้าวังอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้พระนางถูกแต่งตั้งให้เป็นจาวอี๋ หรือพระสนมอันดับต้นๆ

ต่อมาจึงขึ้นเป็นฮองเฮา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของสตรีในวังหลวง ด้วยกลเกม จริต มารยาต่างๆ จนทำให้พระมเหสีองค์ก่อนๆ หลุดจากวงโคจร พร้อมกันนั้นฮองเฮาก็วางแผนกำจัดขุนนางอำมาตย์ที่เป็นปรปักษ์ จนที่สุดเมื่อวันหนึ่งจักรพรรดิถังเกาจงสวรรคต
“บูเช็กเทียน” จึงแต่งตั้งโอรสอีกหลายพระองค์ขึ้นครองราชย์ โดยมีพระนางเป็นผู้ว่าราชการหลังพระวิสูตร

กระทั่งเมื่อพระนางเจริญวัย 60 พรรษา จึงขึ้นว่าราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ โดยมีพระนามว่า “อู่โฮ่ว” หรือ “ราชินีอู่”

ก่อนที่จะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดินี พร้อมๆ กับสถาปนาราชวงศ์โจวในเวลาต่อมา พระนางทรงครองราชย์กว่า 15 ปี ก่อนจะสละราชบัลลังก์ให้แก่ถังจงจงฮ่องเต้ในช่วงปลายของชีวิตแล้ว

รวมเบ็ดเสร็จที่พระนางบูเช็กเทียนกุมอำนาจราชวงศ์ถังน่าจะร่วม 50 ปีเศษ

กล่าวกันว่า หลังจากพระนางบูเช็กเทียนทรงสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินี พระองค์บริจาคเงินเพื่อก่อสร้าง และซ่อมแซมวัดหวงเจ๋อซื่อเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ภายในวัดจึงประดิษฐานประติมากรรมรูปเหมือนของ “บูเช็กเทียน” จนกลายเป็นวัดประจำพระนางโดยเฉพาะ

ภายในวัดแห่งนี้ นอกจากจะมีตำหนักเอ้อร์เซิ่ง (ตำหนักสองพระองค์) เพราะภายในประดิษฐานรูปปั้นเคารพของจักรพรรดิถังไท่จงเคียงข้างอยู่กับพระนางบูเช็กเทียน ยังมีรูปปั้นของเหล่าขุนนางคนสนิทอีก 9 ท่านรวมอยู่ด้วย

ส่วนด้านหลังของตำหนักเอ้อร์เซิ่งมีตำหนักเจ๋อเทียน อันเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปเหมือนของพระนางบูเช็กเทียนในช่วงปลายชีวิต แกะสลักจากหินทรายทั้งก้อน มีอายุกว่า 1,300 ปี ลักษณะรูปปั้นมีใบหน้าคล้ายคนชรา หน้าผากเหลี่ยม คอยาว สวมเสื้อผ้าคลุมยาวตามแบบแม่ชี ประดับด้วยสร้อยหยกอยู่ในท่านั่งสมาธิ

นอกจากนั้น ภายในตำหนักยังมีศิลาจารึกเซิงเซียนไท่จื่อ เนื้อหาบนศิลาจารึกเป็นนิทานเกี่ยวกับรัชทายาทของอ๋องโจวหลิง ที่สำคัญ ยังมีคำขวัญของ “มาดามซ่งชิ่งหลิง” ภรรยาคนสุดท้ายของ “ดร.ซุนยัตเซ็น” เขียนไว้บอกว่า…พระนางบูเช็กเทียนเป็นจักรพรรดิพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน เป็นนักปกครองหญิงอัจฉริยะแห่งสังคมศักดินา
สิ่งสำคัญภายในวัดอีกอย่างคือ “ต้าฝอโหลว” หน้าผาที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปต่างๆ อาทิ พระอมิตาภพุทธะ, พระอานนท์, พระมหากัสสปะ และพระพุทธรูปอื่นๆ
ซึ่งสูงใหญ่มาก

ที่สำคัญ ยังมีวัดประจำตระกูลอู่รวมอยู่ด้วย โดยภายในประดิษฐานรูปปั้นสมาชิกครอบครัวตระกูลอู่ทุกคน อาทิ อู่ซื่อเย่ว์, หยางซื่อ, ลูกชาย 2 คนกับภรรยาหลวง (เซียงหลี่ซื่อ), พี่สาว, น้องสาว และพระนางบูเช็กเทียน

จนทำให้รู้สึกว่าวัดแห่งนี้สมกับเป็นวัดประจำพระนางบูเช็กเทียนจริงๆ
เพราะนอกจากจะทำให้เราซึมซับความขรึมขลังของสถานที่ ยังทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดินีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน
ผู้เป็นพญาหงส์เหนือบัลลังก์มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image