สุชาติ สวัสดิ์ศรี บทเรียน 4 ปี รัฐประหาร กับ ความนิ่งเฉยของวงการนักเขียน

อีกไม่กี่วันจะครบ 4 ปี ที่คสช.ยึดอำนาจปกครองประเทศ ขณะที่ผลงานซึ่งประกาศว่าจะทำเมื่อตอนเข้ามาก็ไม่เห็นชัดเจน

ความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อก็ยังไม่หายไปจากสังคม เพียงแต่ถูกเก็บซ่อน แสดงตัวออกมาได้ไม่ถนัด

ที่จะชัดเจนคือการแบ่งฝักฝ่ายว่า เอาหรือไม่เอารัฐบาลทหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน กระทั่งกองหนุนบางคนที่เคยเชียร์ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าชื่นชมผลงานที่รัฐบาลทำไว้

Advertisement

ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ทั่ว ไม่เว้นแวดวงนักเขียน ที่แบ่งฝักฝ่ายกันมาตั้งแต่การเมืองเสื้อสี แบ่งกลุ่มก้อนในสมาคม เวทีการประกวดต่างๆ หรือกระทั่งเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาลทหาร ในห้วงเวลาที่เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกซึ่งเป็นหัวใจของวิชาชีพนี้ถูกจำกัด นักเขียนหลายคนยังออกตัวว่า “ไม่เดือดร้อน”

ทั้งที่คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเติบโตผ่านยุคเดือนตุลาที่เข้าใจเรื่องการต่อสู้ภาคประชาชน เห็นผลร้ายของรัฐประหารมาหลายครั้ง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจนอกระบบ หลังการรัฐประหาร 2557

Advertisement

เขายอมรับว่าตัวเองก็เคย “สำนึกพลาด” ที่ขึ้นเวทีเสื้อเหลือง และถอนตัวออกมาเมื่อเห็นว่าจะนำไปสู่อำนาจนอกระบบก่อนการรัฐประหาร 2549

เมื่อมาถึงรัฐประหารครั้งล่าสุดเขาจึงแสดงออกทั้งในหน้าเฟซบุ๊กและการออกไปร่วมกับกลุ่มต้านรัฐประหาร โดยเรียกร้องให้เพื่อนร่วมวิชาชีพแสดงจุดยืน เพราะการเรียนรู้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว

กระทั่งถูกสื่อบางหัวเรียก “นักเขียนอันธพาล” จากเหตุที่เขามักป่าวประกาศให้กวีนักคิดนักเขียนออกมาร่วมต่อต้านเผด็จการ ซึ่งหลายคนรู้สึกว่า “ถูกรบกวน” จากการไปเรียกร้องรายบุคคล

งานวันนักเขียนล่าสุด สุชาติไปร่วมงานซึ่งจัดที่เดียวกับงานรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์-คาร์ล มาร์กซ์ เขาเชิญชวนเพื่อนนักเขียนให้ไปร่วมลงชื่อ “ปลดอาวุธ คสช.” เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่มีผลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้การคุ้มครองสิทธินี้ไว้ ซึ่งเป็นงานที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดในวันเดียวกัน

อาจเรียกได้ว่าไม่ผิดคาดหมายนัก ที่ไม่มีนักเขียนคนใดตามไปร่วมลงชื่อกับเขา แต่อยู่กินดื่มในงานวันนักเขียนและร่วมเชิดชู จิตร ภูมิศักดิ์-คาร์ล มาร์กซ์

มองผ่านสายตาของสุชาติ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับแวดวงนักเขียนไทย

มองท่าทีทางการเมืองของเพื่อนร่วมวงการแล้วรู้สึกอย่างไร?

ผมยังมองในแง่ดี บางคนเข้าใจมากขึ้นเทียบกับช่วงรัฐประหารแรกๆ แต่โดยบทบาทของสมาคมไม่ว่าจะเป็นสมาคมภาษาฯหรือสมาคมนักเขียนฯอยู่ในแวดวงวิชาชีพการคิดการเขียน เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก อย่างน้อยที่สุดองค์กรวิชาชีพต้องแสดงสัญลักษณ์อะไรบ้าง เพราะคนที่ถูกหมายเรียกหรือที่ต้องหลบไปก็มีหลายคนในแวดวง

อะไรทำให้นักเขียนที่เคยมีบทบาทการเมืองในอดีต กลับนิ่งเฉยในวันนี้?

เขาอยู่เป็นมั้ง(หัวเราะ) ผมก็พยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น คนรุ่นราวคราวเดียวกัน เคยอยู่ในการต่อสู้ ช่วงก่อนและหลัง14ตุลา ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พอมาเหตุการณ์นี้ อย่างน้อยน่าจะเข้าใจเรื่องจุดยืนต่อรัฐประหาร เขาเป็นนักคิดนักเขียนกวีมีชื่อ บางคนก็เป็นศิลปินแห่งชาติ อาจเพราะเขามีสถานะทางสังคม มีความมั่นคง ไม่เหมือนช่วงหนุ่มสาวกำลังแสวงหา มันก็มีคำที่ว่าเป็นธาตุแท้ แต่เพิ่งปรากฏ

อย่างน้อยที่สุด 4 ปีมานี้เขาก็น่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง แต่รอเวลาว่าจะแสดงตัวเมื่อไหร่ บางคนก็มาเขียนกวีว่าไม่ชอบใจลุงตู่ แต่ในภาพรวม 90%ไม่ได้แสดงออกอะไรทั้งนั้น อย่างที่นายกสมาคมนักเขียนบอกว่าสมาคมฯไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งจะครบ4ปี คสช. ผมไม่เห็นมีจดหมายแสดงสัญลักษณ์อะไรของสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเรื่องเสรีภาพทางความคิดแม้แต่ฉบับเดียว

ไม่ใช่ว่าคนในสมาคมฯไม่สนการเมือง แต่แสดงออกบางเหตุการณ์?

ย้อนกลับไปก็มีข้อมูลชื่อคนในสมาคมที่เคยอยู่ในกระบวนการกวีภิวัฒน์ ฝักใฝ่ไปทางกปปส. จะโดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อยู่ในกระบวนการที่มีผลสืบเนื่องมาถึงการรัฐประหาร การร่วมกับกปสส.หมายถึงเขาเห็นด้วยกับหลักการไม่เอาการเลือกตั้ง เพราะเขายุบสภาแล้ว แต่ก็เรียกร้องจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยืดเยื้อมาถึงบางกอกชัตดาวน์ แล้วจะบอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันฟังไม่ขึ้น ผมถึงเรียกร้องมา4ปีแล้วว่าไม่เป็นไร ประกาศทางเฟซบุ๊กก็ได้ว่า “พลาดไปแล้ว” ผมถึงใช้คำว่า สำนึกพลาด คนเราก็พลาดกันได้

ครั้งหนึ่งผมก็เคยขึ้นเวทีเสื้อเหลือง เขียนแถลงการณ์ขอให้ทักษิณเว้นวรรคการเมือง แล้วผมก็เขียนไปแล้วว่าผมพลาด สิ่งที่ปรากฏต่อมาในขบวนนี้คือต้องการนายกฯคนนอก จนเกิดรัฐประหาร 2549 เส้นที่ชัดเจนสำหรับผมคือปี 2553 ที่เอาทหารออกมาทำร้ายประชาชน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง พอมา กปปส. บางกอกชัตดาวน์ ก็ชัดเจนตั้งแต่เขาไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ถ้าคนอยู่ในหลักการประชาธิปไตยต้องชัดเจน ไม่เชื่อในกระบวนการเลือกตั้งยังเป่านกหวีดเป่าขลุ่ยหาเงินให้ลุงกำนัน มีคนเข้าใจผิดโทรมาขอภาพเขียนผมไปหาเงินช่วยลุงกำนัน ผมก็ปฏิเสธไป

แวดวงกวีนักคิดนักเขียนบ้านเราที่เชื่อกันว่าเป็นพลังก้าวหน้ามันไม่ใช่ มันเป็นส่วนหนึ่งของพลังอนุรักษนิยม ธาตุแท้ปรากฏจากรัฐประหารครั้งนี้แหละ คนรอบตัวที่ครั้งหนึ่งเคยเคลื่อนไหวมาด้วยกันเมื่ออายุ20-30 ทำไมไม่เข้าใจเด็กๆที่ไปเคลื่อนไหว

ส่วนใหญ่เรียกร้องผ่านทางเฟซบุ๊ก?

อยากเปรียบเทียบว่า พอรัฐประหาร เขาบังคับให้เราถอดเสื้อผ้าอยู่แต่ในห้อง บังเอิญในห้องแต่ละคนมีคอมพิวเตอร์มีอินเตอร์เน็ต เหมือนเป็นอาวุธอย่างเดียวที่เหลืออยู่ เวลาคนถามผมทำอะไร ผมก็เล่นเฟซบุ๊กไปวันๆ เขายังไม่ให้สวมเสื้อผ้าออกจากห้องไปเลือกตั้งก็ทำได้แค่นี้ แสดงจุดยืนว่าไม่เอารัฐประหาร สิ่งที่เรียกร้องมาตลอดคือให้ทุกอย่างกลับไปสู่สภาวะปกติ ต้องลบล้างสถานะรัฐประหาร ต้องมีการเลือกตั้ง
ที่ผมเรียกร้องให้ไปปลดอาวุธคสช.ด้วยกัน หมายความว่าเราสู้โดยกฎหมาย ที่ยังเป็นปัญหาคือคำสั่งคสช.โดยเฉพาะ3/58ที่ยังมีผล หมายความว่ารัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบไม่มีความหมาย มีกิจกรรมขึ้นมาก็โดนหมายเรียก

เมื่อจะเตรียมเลือกตั้ง กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆควรทำได้โดยไม่โดนหมายเรียก 4 ปีที่ผ่านมาที่ผมทำได้คือเล่นเฟซบุ๊กไปวันๆ สะสมความจดจำ ประกาศตัวเรื่องจุดยืนหลักการ ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง

หวังมากไปไหมที่จะให้นักเขียนที่เปลี่ยนไปเป็นอนุรักษนิยม มาสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม อิสรภาพ เสมอภาค?

ผมคงเรียกร้องมากเกินไป(หัวเราะ) คิดว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน เคยต่อสู้เคลื่อนไหวทางความคิดมาด้วยกัน แต่สิ่งที่เกิดใน4ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าคนที่ใช้ความคิดในบ้านเรา ส่วนใหญ่จำกัดบทบาทตัวเองไว้ในมั่นคงของชีวิต เป็นความปลอดภัย สิ่งที่ผมแสดงออกก็เหมือนไปรบกวน เขามักพูดว่าต้องให้เสรีภาพเขาตัดสินใจ เวลาผ่านมาพอสมควร ก็ให้โอกาสถามว่าไปร่วมลงชื่อกันไหมวิธีการนี้เป็นการแสดงออกที่นักคิดนักเขียนน่าจะเข้าใจมากกว่าคนที่อยู่ในสายวิชาชีพอื่น แต่ก็ปรากฏว่าเขาจะเลือกเคลื่อนไหวเรื่องเสือดำ เรื่องป่าแหว่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่เสียหาย เพราะผมก็เห็นด้วย ยังเชื่อว่าเรื่องสีเสื้อจะค่อยๆกลมกลืนกัน

คนรู้จักที่เคยขึ้นเวทีผมก็ยังให้ความเป็นมิตรอยู่ แต่บางคนที่ไปเป็นองคาพยพของคสช. ผมถือว่ามีสิทธิวิจารณ์ เพราะผมเสียภาษีให้เขาไปทำหน้าที่ แค่บอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ต้องเรียนรู้ใช้สัญลักษณ์เป็นกวีเป่าขลุ่ยไป

ความสัมพันธ์ในวงการนักเขียนเป็นอย่างไร?

คนเจอผมที่วันนักเขียนก็ยกมือไหว้นะ ทั้งที่ในเฟซบุ๊กผมเคยทราบว่าเขาเคยเขียนในลักษณะว่าผมบ้าไปแล้ว เกลียดเหมือนขี้เลย หรือบอกว่าแดงกะทันหันบ้าง ตอนผมไปเยี่ยมพวกที่ติดคุกที่เรือนจำกรุงเทพ มีโรม ไผ่ แมน เด็กๆทั้งนั้น ผมก็คิดว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก ผมแค่ไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ ก็ประกาศในเฟซบุ๊กว่าอยากไปชุมนุมนักเขียนช่อการะเกดที่หน้าเรือนจำ เท่าที่จำได้มีนักเขียนช่อการะเกดไป2คน เป็นคนรุ่นใหม่และเป็นข้าราชการด้วย ผมถือว่าเขากล้าหาญ มีนักเขียนแบบนี้แต่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

ก็มีบางคนที่เขาก็เข้าใจ แต่บังเอิญเขาก็มีผลประโยชน์ เช่นยังต้องพิมพ์กับสำนักพิมพ์นี้ เขาก็พิมพ์มาว่าเขาเข้าใจผม แต่อยู่ในฐานะที่พูดอะไรไม่ได้ ผมก็จดจำชื่อไว้ อย่างที่บอกว่าสะสมความจดจำ

ผมเปลี่ยนได้ เขาก็น่าจะเปลี่ยนได้ แต่ใช้เวลา 4 ปีแล้ว ไม่กี่วันนี้ที่ผมไปงาน 88 ปี จิตร ภูมิศักดิ์กับงานวันนักเขียน เขาก็ยังคิดว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง ยังร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ยังพูดถึงคาร์ล มาร์กซ์ ปฐมบทการต่อสู้ทางชนชั้น พวกกวีนักคิดนักเขียนไม่รู้เหรอว่ามีเด็กอยู่ที่ลานปรีดีเรียกร้องให้คสช.คืนสถานะปกติ ให้มีการเลือกตั้ง ทำตามโรดแมป

มีคนบอกว่าอย่างน้อยผมก็ยังมีเสรีภาพ ยังเล่นเฟซบุ๊กด่าเขาได้ ไม่โดนเรียกไปปรับทัศนคติ ช่วงปีแรกพันโทคนหนึ่งโทรมาหาผม คุยกันอย่างสุภาพ ก่อนวางสายเขาก็บอกว่ายินดีที่ได้รู้จักผม สุภาพไหมล่ะ(หัวเราะ) ในฐานะลูกทหารผมยังมองทหารในฐานะที่เป็นทหารอาชีพที่อยู่ข้างความถูกต้อง ไม่ใช่ทหารการเมือง ไม่ใช่ทหารรัฐประหาร ได้อำนาจมาจากการฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มสภา ผมเชื่อมั่นว่ายังมีทหารหนุ่มที่มีสามัญสำนึกรับรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง ในกลุ่มกวีนักเขียนศิลปินก็น่าจะยังมีอยู่ แต่ก็ไม่เห็น

เดือนต่อมาหลังโทรศัพท์มีรถตู้ลึกลับ มาถามหาบ้านศิลปินแห่งชาติ แต่ไม่เข้ามา ผมก็รอดไป อย่าคิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผม ที่บอกว่าเขาให้เสรีภาพ เขาเลือกครับ แล้วคงประเมินพอสมควร

ในอดีตก็มีนักเขียนหลายฝ่ายและมีคนที่เข้าไปรับใช้อำนาจรัฐ

มีครับ แต่ผมว่าไม่เบลอเหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มองคุณทักษิณเป็นพลังของทุนใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาท ทักษิณมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง แต่เป็นนักการเมืองมาโดยการเลือกตั้ง อยู่ในที่สว่าง ต่อสู้กันในสภา ประชาชนได้รับรู้มีบันทึกการประชุม แต่พอเข้าสู่สถานะรัฐประหาร ทุกอย่างเข้าไปอยู่ในที่มืด

สิ่งที่ปรากฏใน 4 ปีที่ผ่านมา คงมีกวีนักคิดนักเขียนบางคนที่อยากกลับตัว ผมคิดว่าเป็นอาการหลังระเบิดลงแล้วช็อก คนในกลุ่มกปปส.หลายคนบอกว่าไม่ได้คิดว่าจะมาถึงจุดนี้

ผมว่าน่าจะถึงจุดเปลี่ยน 4 ปีมานี้น่าจะได้บทเรียนได้รับรู้อะไรพอแล้วสำหรับคนในแวดวงวิชาชีพเสรีภาพทางความคิด แต่ผมเข้าใจผิด ยังอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนผะอืดผะอม ไม่ชัดเจน บทเพลงเพื่อชีวิตบอกว่าอยู่ในภาวะที่พระเจ้าหลับใหล จำได้ไหมเพลงของใคร (หัวเราะ)

เขาเลือกทำกิจกรรมแบบ 88 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ตัวบุคคลก็เห็นอยู่ว่าเคยเกี่ยวข้องกับกปปส. ไม่เห็นใครเขียนบทกวีว่าพลาดไปแล้วที่ร่วมกับกปปส. ในกวีภิวัฒน์เห็นคนเดียวที่ออกมาประกาศว่าให้เรื่องไปเพราะไม่ได้คิดว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ลุงกำนัน หลายคนเห็นรายชื่อก็เพื่อนผมทั้งนั้น อย่างน้อยที่สุดก็กลับมาให้เห็นความชัดเจนสักเล็กน้อย เขาพร้อมเขียนบทกวีพูดถึงเสือดำมากกว่าจะเขียนว่าทำไมอากงจึงตาย เขียนบทกวีให้ดาราที่เสียชีวิตแทนที่จะเขียนให้ไผ่ดาวดิน

ยุคเดือนตุลา การเมืองซับซ้อนน้อยกว่าทำให้นักเขียนเดินไปทางเดียวกัน?

ตอนนั้นอย่างน้อยมีจุดร่วมกันเรื่องสังคมนิยม ต่อต้านฐานทัพอเมริกัน ตีกระทบมาถึงการต่อต้านรัฐประหาร มีผลที่เกิดจากการเติบโตของกรรมกรชาวนาด้วย มีจิตสำนึกเรื่องชนชั้น เห็นใจผู้ทุกข์ยาก ผู้ถูกกดขี่ ตอนนั้นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์เห็นชัด แต่ต่อมาเห็นกรรมกรชาวนาก็มีมือถือ แทนที่จะมองว่าเขาก็ยังอยู่ในชนชั้นเดิม เป็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทักษิณ เป็นเสื้อแดง พวกนี้ถูกยิงก็มองว่าสมควรแล้ว แทนที่จะมองในแง่มนุษย์ คิดแล้วกันว่า กวีนักคิดนักเขียนกับคนพวกนี้ใครเป็นมนุษย์มากกว่ากัน

นักเขียนของเราเวลานี้อ้างความเป็นมนุษย์โดยไม่ได้มีความรู้สึกร่วมว่าจะไปต่อสู้ให้ แค่ถอนหายใจเขียนบทกวีเขียนเรื่องสั้นไป แต่ก่อนมันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ อยู่กับผู้ทุกข์ยากชาวนากรรมกร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการมาหาความหมาย แนวการเขียนที่เรียกกันว่าเพื่อชีวิตจึงชัดเจนตรงนี้

เมื่อเกิด 14 ตุลาความชัดเจนจึงปรากฏ 6 ตุลายิ่งชัดมาก เข้าป่าจับอาวุธเลย คนในเมืองก็สู้ตามหนทาง แต่มีเป้าเดียวกันว่าไม่เอารัฐประหาร

ปี 2535 คนกลุ่มนี้เป็นคนชั้นกลางมีสถานะทางสังคมแต่ก็ยังเห็นในม็อบมือถือไม่เอารสช. ไม่เอารัฐประหาร
หลังการขึ้นมาของทุนใหม่ ทักษิณเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ช่วงปี 2548-49 ผมยังใช้คำว่าทักษิณเป็นตัวปัญหา เพราะไม่ชัดเจนหลายเรื่อง และคงเห็นทักษิณเป็นตัวปัญหาต่อไป ถ้าไม่มีรัฐประหารของบิ๊กบัง

ประเทศนี้เฉลี่ยรัฐประหารทุก 6-7 ปี ตรงข้ามกับมาเลเซีย ตั้งแต่ได้รับเอกราชปี 2500 ทหารมาเลเซียไม่เคยยุ่งกับการเมืองเลย ทั้งที่การเมืองมาเลเซียก็น้ำเน่าไม่ต่างจากเรา แต่ก็มีเลือกตั้ง มหาธีร์ก่อนนี้ก็ตัวร้าย ตั้งแต่เปลี่ยนจากสหพันธรัฐมลายูมาเป็นประเทศมาเลเซีย 60 ปีที่ผ่านมาทหารมาเลเซียไม่ทำรัฐประหารสักครั้ง แต่ของเรากี่ครั้งไปนับเอา

กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตมีส่วนต่อความสนใจสังคมยุคนั้น?

ในความเห็นผมคำว่า “เพื่อชีวิต” จบพร้อมกับ 66/23 แต่แปลก หลังคาราวานออกจากป่า คำว่าเพื่อชีวิตกลายสภาพไป ในแง่การออกคอนเสิร์ต ออกอัลบั้ม ทำมาหากิน อยู่ตามร้านคาราโอเกะ ตามผับเพื่อชีวิต ผมมักใช้คำว่า “เทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ” พูดถึงปัญหาชาวนากรรมกร แต่เป็นแค่เนื้อหาสไตล์เพลง ไม่ชัดเจนเหมือนช่วง 14 ตุลา ที่สอดประสานกับชีวิต

ช่วงปะทะการเมืองสีเสื้อ ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ร้องเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ กปปส.ก็เอา “สู้ไม่ถอย” มา เพลงที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่งช่วง 14 ตุลา นั่นเพลงต่อต้านเผด็จการนะครับ แต่กปปส.เอาไปเชื้อเชิญเผด็จการ ใช่หรือเปล่า ตอน คสช. รัฐประหารสำเร็จก็มีคลิปเขาไปเลี้ยงฉลองแล้วร้องแสงดาวแห่งศรัทธา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม งานจิตร ภูมิศักดิ์ จึงมาอยู่วันเดียวกับที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้กวีนักเขียนศิลปินช่วยร่วมเป็นกำลังใจให้เขา

นักเขียนยังมีพลังเข้าไปเสริมขบวนการนักศึกษา-ประชาชนได้?

ผมว่าได้ เริ่มต้นจากการเขียนเฟซบุ๊กนี่แหละ หมดยุคไปแจกใบปลิวแถลงการณ์เหมือนสมัย14ตุลาแล้ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต่อสู้ทางความคิดเชิงสัญลักษณ์ เปิดเผยชัดเจนว่าสันติวิธี ถ้าพวกนี้จะต่อสู้ด้วยอาวุธ ผมก็ไม่เอาด้วย ผมไม่ต้องการสภาวะสงครามการเมือง

เราเปลี่ยนได้ แต่ในแง่องค์กรของเรายากที่จะพัฒนาไปสู่ระดับสากล แต่ก่อนผมก็ไม่ชอบที่พวกเพื่อชีวิตเสียดสีสมาคมนักเขียนฯ ว่าวันนักเขียนแค่เป็นวันนัดกินเหล้าปีละครั้ง แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า ใช่

ส่วนสมาคมภาษาฯก็วางบทบาทแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก และผมคิดว่าเขาขัดสมาชิกภาพของสมาคมนักเขียนสากล (PEN) ไปแล้วด้วย ต่อไม่ติดกับสากล อย่าคิดว่าทางโนเบลเขาไม่ติดต่อ เขาติดต่ออยากให้ช่วยแนะนำข้อมูลนักเขียนไทยคนไหนน่าสนใจที่จะเสนอชื่อให้ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนพิจารณา ก็ไม่ตอบเขา ผมรู้เพราะเคยไปสตอกโฮล์ม เขาบอกมีจดหมายมาสมาคมก็ไม่ตอบเขา

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งพยายามอธิบายว่าถ้ามีการเลือกตั้ง สถานะรัฐประหารจะยุติลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่ แม้จะเป็นนายกฯคนนอกก็ว่ากัน แต่ไม่ง่าย ผมอยากให้กวีนักคิดนักเขียนศิลปินทั้งหลายเห็นว่านี่คืออนาคต แม้จะไม่ค่อยแจ่มใสนัก แต่ก็คืออนาคต

พวกนักคิดนักเขียนศิลปินน่าจะเข้าใจก่อนใครเพื่อน วันนักเขียนผมน่าจะได้พวกที่ชื่นชมจิตร ภูมิศักดิ์หรือคาร์ล มาร์กซ์ ตามผมมาร่วมลงชื่อปลดอาวุธ คสช. ขบวนเป็นหางว่าวออกจากหอศิลป์กทม.เลย(หัวเราะ)


‘ซีไรต์’ ต้องปรับใหญ่ หวัง ‘คนรุ่นใหม่’ ก้าวข้ามสู่อนาคต

หนึ่งในข้อถกเถียงวงการนักเขียนแทบจะทุกปีคือเรื่อง รางวัลซีไรต์ ที่สุชาติมองว่าหลังจากปีนี้น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่สะสมมาในระยะหลัง

เขาบอกว่าซีไรต์เป็นรางวัลวรรณกรรมในระดับภูมิภาค ประเทศอื่นก็จะเลือกบุคคลประกาศเกียรติในฐานะผู้ที่ทำงานมีคุณค่ามาทั้งชีวิต (Lifetime Achievement Award) ในไทยปีแรกๆก็เป็นการคัดเลือกไม่ใช่ส่งประกวด จนกรรมการบางคนบอกว่าอยากให้โอกาสนักเขียนใหม่จึงเกิดการประกวดลักษณะ “3 ช่า” ขึ้นมา (นิยาย-เรื่องสั้น-บทกวี) โดยไม่รวมงานด้านอื่นอย่างสารคดีเข้ามา จนกลายเป็นรูปแบบ “The Winner Take All” จนมามีปัญหา 2 ปี หลังนี้ที่ยังไม่มอบเงินให้ผู้ได้รับรางวัล

ในอดีตสุชาติเคยถูกชวนให้เข้าร่วมสมาคมภาษาและหนังสือฯ แต่เขาบอกถ้าเข้าร่วมสิ่งแรกจะเอาสมาคมออกจากการเป็นเครื่องมือให้รางวัลซีไรต์

“ผมเห็นว่าสมาคมนักเขียน-สมาคมภาษา มีพันธกิจในการสร้างสรรค์รางวัลของตัวเองให้มีเกียรติ ได้รับการยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่งของซีไรต์ก็เหมือนไปเป็นเครื่องมือขององค์กรที่เขาขอให้มาเป็นตราประทับ ผมเคยเสนอว่าเป็นได้ แต่สมาคมต้องได้เงินสนับสนุนในการทำวารสารหรือกิจกรรม ก็ไม่เห็นปรากฏ

“ผมคิดว่าปีหน้าหรือปีต่อไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เจ้าภาพก็คงไม่ค่อยสนุกในการจ่ายแบบนี้ เดาเอาเองว่าจะกลับไปสู่การประกาศเกียรติเป็นผลงานตลอดชีวิต และเข้าใจว่าคงให้แต่เกียรติมั้ง ระยะหลังคุณภาพของกรรมการต่างๆ ก็วนเวียนซ้ำซาก ไม่ว่าจะซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติ หรือพานแว่นฟ้า มีอคติ ก็เห็นชัดอยู่”

สุชาติเห็นว่าต้องมีการปรับใหญ่ เริ่มจากโครงสร้างสมาคม จนถึงเรื่องระบบร้านหนังสือ ระบบแปล ที่จะเป็นสะพานสู่โลกภายนอกสู่รางวัลบุคเคอร์หรือโนเบล อยู่ที่การพูดคุยระดับนโยบาย ที่ต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างสังคมการเมืองต้องกลับไปสู่สถานะปกติ มีการเมืองที่มีเสรีภาพเป็นประชาธิปไตย

ความเคลื่อนไหวหนึ่งคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ในวงการพยายามสร้างรางวัลวรรณกรรมใหม่ขึ้นมาเอง ซึ่งสุชาติสนับสนุนและอยากให้ทำต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“เขาพยายามเป็นตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นต่อสมาคมหรือกรรมการชุดเดิม ต้องเป็นวิธีนี้แหละที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องมีอะไรใหม่

“มองในแง่คนหนุ่มสาวแล้วเขาต้องมีอนาคต สำหรับผมคนแก่แล้วอนาคตของผมก็คือมองพวกคนหนุ่มๆสาวๆว่าเขาจะก้าวข้ามตรงนี้ได้แค่ไหน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image