เครือข่ายสังคมค้าขายออนไลน์ : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

AFP

คงไม่มีใครปฏิเสธความใหญ่ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก “เฟซบุ๊ก” ในฐานะคอมมูนิตี้ของคนทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันที่มีมากกว่า 2.2 พันล้านบัญชี

เฉพาะในประเทศไทยมีกว่า 40 ล้านบัญชี แม้อาจน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนคนใช้งานทั้งโลก แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรในประเทศเราเองที่มี 66-67 ล้านคน ถือว่ามากทีเดียว

ยิ่งมาดูข้อมูลการใช้งาน “เฟซบุ๊ก” ในแต่ละวัน และแต่ละเดือนด้วยแล้ว

“เฟซบุ๊ก ประเทศไทย” เปิดเผยว่าในแต่ละเดือนมีคนไทยใช้งานเฟซบุ๊กมากถึง 51 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า และหากคิดเป็นการใช้งานในแต่ละวันจะมีมากกว่า 34 ล้านคนต่อวัน (ข้อมูล ไตรมาส 4/2560)

Advertisement

ไม่ใช่แค่นั้นจากรายงานตลาดประเทศไทยโกลบอล เว็บ อินเด็กซ์ ประจำไตรมาส 4/2560 ระบุว่าคนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตผ่าน “สมาร์ทโฟน” ในแต่ละวันยาวนานที่สุดเป็นอับดับหนึ่งของโลกอีกต่างหาก

แต่ที่น่าสนใจกว่า และน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ “เฟซบุ๊ก” หันมาให้ความสำคัญกับตลาดประเทศไทยมากขึ้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเครือข่ายสังคมค้าขายออนไลน์ (Social Commerce) ในปี 2560 ที่มีการเปิดเผยว่า “ไทย” เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และหนึ่งในห้าอันดับสูงสุดของทั่วโลกที่ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารผ่านการส่งข้อความในการทำธุรกิจมากที่สุด

“จอห์น แวกเนอร์” กรรมการผู้จัดการ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการมุ่งไปที่การต่อยอดนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และปีนี้จะให้การสนับสนุนใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มเอสเอ็มอี 2.ธุรกิจขนาดใหญ่ และ 3.ชุมชนที่มีความสนใจแบบเดียวกันเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในไทย

Advertisement

กลุ่ม “เอสเอ็มอี” ถือเป็นหนึ่งในผู้ใช้กลุ่มแรกที่พัฒนาธุรกิจ Social commerce ที่กำลังขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นเทรนด์หลักที่กำลังมาแรงสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศอื่นๆ ด้วย

“คนไทยมีความกระตือรือร้น และมีความคิดริเริ่มด้านธุรกิจ พร้อมเปิดรับอนาคตในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงบุคคล และกลุ่มต่างๆ ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงผ่านชุมชนสู่สังคมออนไลน์”

ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยเองก็เป็นกลุ่มที่กำลังมองหาช่องทางใหม่ๆ จากการค้าขายผ่านโทรศัพท์มือถือ

จากผลวิจัยในอุตสาหกรรมของภาคธุรกิจพบว่า 89% ของผู้นำองค์กรธุรกิจของไทยเชื่อว่าการเติบโตในอนาคตของธุรกิจขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การทำธุรกิจเชิงดิจิทัล แต่มีเพียง 29% เท่านั้นที่มีกลยุทธ์เชิงดิจิทัลเต็มรูปแบบอีก 70% ที่เหลือจึงเป็นโอกาสของ “เฟซบุ๊ก”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาของบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้งกรุ๊ป (บีซีจี) ยังระบุด้วยว่าโอกาสเติบโตทางธุรกิจในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.2 แสนล้านบาท หากธุรกิจมีการปรับกลยุทธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้องค์กรเดินหน้าได้เร็วขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าได้

ธุรกิจ “เอสเอ็มอี” คือพลังสำคัญในการผลักดันแนวคิด Social Commerce ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตลาด Social Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในโลกที่ “เฟซบุ๊ก” เปิดตัวนวัตกรรมเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Shop ที่ช่วยให้การติดต่อซื้อขาย และสื่อสารกับลูกค้าสะดวกขึ้น หรือ Marketplace ที่ช่วยให้ลูกค้าค้นพบธุรกิจต่างๆ ง่ายขึ้น รวมถึงการชำระเงินผ่านคู่ค้าในประเทศได้

“เฟซบุ๊กพัฒนามาร์เก็ตเพลสขึ้นมาจากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเอสเอ็มอีในไทยเพื่อทำให้ผู้ใช้งานขายสินค้าได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีฟังก์ชั่นนี้ และยังเป็นประเทศต้นแบบในการนำมาร์เก็ตเพลสไปใช้งานทั่วโลกด้วย”

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” ย้ำว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยเป็นแหล่งที่มาของนวัตกรรมและแรงบันดาลใจระดับโลก98% ของธุรกิจในประเทศไทย เป็นธุรกิจ “เอสเอ็มอี” ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงานคิดเป็น 70% ของแรงงานทั่วประเทศ และเป็นที่มาของ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) อีกด้วย

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) กว่า 3 ล้านรายแต่มีมากถึง 2.5 ล้านราย ที่ค้าขายบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว

คนไทยมากกว่า 40 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ

ไทยเชื่อมต่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยบน “เฟซบุ๊ก” และมีผู้คนที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทยกว่า 100 ล้านคน เชื่อมต่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยผ่าน “เฟซบุ๊ก” ในประเทศไทย

โดยประชากรของประเทศอันดับต้นๆ ที่ติดต่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยมากที่สุด คือ พม่า, กัมพูชา, มาเลเซีย, ลาว และฟิลิปปินส์

ไม่ใช่แค่นั้น “เฟซบุ๊ก” ยังพบด้วยว่า 51% ของ “อีคอมเมิร์ซ” ในประเทศไทยเกิดขึ้นผ่านช่องทาง

“โซเชียล” นำห่างประเทศอื่นๆ ค่อนข้างมาก ถัดมาเป็นประเทศอินเดีย (32%) มาเลเซีย (31%) และจีน (27%)

จึงไม่แปลกที่ยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กโลก “เฟซบุ๊ก” จะเข้ามาเปิดสำนักงานในบ้านเราและประกาศว่าจะเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขใดๆ ทั้งเม็ดเงินลงทุน และจำนวนพนักงานในไทยก็ตาม

ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากกลุ่มทุนข้ามชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ในสมรภูมิออนไลน์ที่มองเห็นโอกาสในบ้านเรา ไม่ว่าจะ “อาลีบาบา”, “เจดีดอตคอม”, กลุ่มการีน่า (Sea) เป็นต้น ที่ต่างดาหน้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรากันอย่างคึกคักยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image