เปิดโลก ‘ซามูไร’ เรื่องน่าทึ่งของดาบญี่ปุ่น ของรัก ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’

เป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีการจัดแสดงชุดซามูไร ดาบ และข้าวของในยุคโบราณของญี่ปุ่น ซึ่งทุกชิ้นล้วนเป็นของแอนทีค สมบูรณ์ระดับงานมาสเตอร์พีซ ผ่านการใช้งานจริงมาแล้วเมื่อ 300-400 ปีก่อน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสมัยเอโดะ นิทรรศการ “ซามูไร” เป็นสิ่งที่ต้องไม่พลาด

“Mr.Pavel Sherashov” และ “ดอยธิเบศร์ ดัชนี” สองนักสะสมผู้หลงใหลในวิถีแห่งซามูไร และครอบครองสิ่งของล้ำค่านานาชนิดที่เกี่ยวข้องกับซามูไร จับมือกันเปิดกรุของสะสมสุดรัก เพื่อให้ผู้หลงใหลในศิลปะและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด ที่ห้อง The Space ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร สี่แยกราชประสงค์

รวมทั้ง ชุดซามูไร ระดับแม่ทัพ สมัยเอโดะ ที่ “ดอยธิเบศร์” ได้มาจากการประมูล และเก็บรักษาอย่างดีในหีบชนิดที่เจ้าตัวเองก็ยังยอมรับว่าเพิ่งได้เห็นจริงๆ ก็เมื่อนำมาจัดแสดงในครั้งนี้

Advertisement

ดาบของพ่อ คือแรงบันดาลใจ

“ผมเป็นคนชอบอาวุธอยู่แล้ว และโดยส่วนตัวคุณพ่อ (ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544) ก็เป็นคนชอบอาวุธเหมือนกัน เป็นของที่เอาไว้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานมากกว่า”

ดอยธิเบศร์ เปิดใจถึงที่มาของการสะสมสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับซามูไร ที่มีจุดเริ่มต้นจากอาวุธญี่ปุ่น

“ผมว่ามันมีเสน่ห์ และถ้าพูดถึงดาบที่เป็นที่สุดของโลกต้องยกให้ดาบญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือวิธีการทำ”

Advertisement

ดาบญี่ปุ่นเล่มแรกที่เขาสัมผัสจับต้องก็คือ ดาบสั้น (วากิซาชิ) ของพ่อ ที่มีคอลเล็กเตอร์นำมาแลกกับภาพเขียนไปหลายรูป เป็นดาบระดับ “ไดเมียว” เพราะด้ามดาบเล่มนี้พันด้วย “พาลีน” คือเหงือกปลาวาฬ ซึ่งคนที่จะฆ่าปลาวาฬได้ ไม่ใช่ชาวบ้านแน่นอน

เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาดาบญี่ปุ่นอย่างจริงจังและลึกซึ้ง จนพบว่าดาบญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแค่วัตถุ แต่เป็นเรื่องของประเพณี เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ สัญสักษณ์ของอำนาจ ของนักรบญี่ปุ่น แม้ว่าในสมัยสงครามโลก ดาบจะมีบทบาทน้อยลง แต่ยังคงมีการผลิตดาบเพื่อให้ทหารพกติดตัวไปด้วย

ส่วนเล่มแรกที่ได้เป็นเจ้าของจริงๆ ดอยธิเบศร์เล่าว่า ได้มาเมื่อ 20 ปีก่อน ครั้งที่เข้าไปตระเวนเสาะหาดาบญี่ปุ่นทางฝั่งพม่า แม้ว่าดาบที่พบส่วนใหญ่เป็นดาบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการทำในระดับอุตสาหกรรม แต่ก็ได้ดาบโบราณมาเล่มหนึ่งตีด้วยมือที่ราคา 20,000 บาท

หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมเรื่อยมา โดยเลือกเก็บเฉพาะดาบโบราณและดาบที่สำคัญๆ ซึ่งหาไม่ได้ง่าย ต้องรอจากงานประมูล กระทั่งมาเจอ “พอล” (Pavel Sherashov) ซึ่งเป็นดีลเลอร์ใหญ่ เป็นคนจัดนิทรรศการ “ซามูไร” นี้ รวมทั้งเคยจัดนิทรรศกาลดาบที่รัสเซียมาแล้ว ทำให้การตามหาดาบสำคัญๆ ได้ง่ายขึ้น

(ซ้าย) รองเท้าระดับหัวหน้า ถ้าเป็นพลทหารจะใช้รองเท้าฟาง (ขวา) หมวกนักรบ
(ซ้าย) รองเท้าระดับหัวหน้า ถ้าเป็นพลทหารจะใช้รองเท้าฟาง (ขวา) หมวกนักรบ

หลักฐานความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

ไม่เพียงสนุกกับการตามหาดาบญี่ปุ่นเล่มสำคัญๆ เขายังเป็นกูรูดาบญี่ปุ่น ที่คอลเล็กเตอร์ในระดับโลกให้การยอมรับว่า เป็นเจ้าของดาบสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันในแง่ประวัติศาสตร์ ดอยธิเบศร์บอกว่า ประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่สมัยอยุธยา ถ้าดูจากดาบ ประวัติศาสตร์ของเราเกี่ยวข้องกันตั้งแต่อยุธยา สมัยยามาดะ นางามาสะ ซึ่งเข้ามารับราชการและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

จะเห็นว่าพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะคล้ายดาบญี่ปุ่น รวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพิธีสำคัญๆ เกือบจะทั้งหมดเป็นพระแสงดาบญี่ปุ่น หรือได้แรงบันดาลใจจากดาบญี่ปุ่นทั้งสิ้น

“ตั้งแต่สมัยอยุธยาก็มีนักรบของญี่ปุ่นมาช่วยในการสงคราม ถ้าสังเกตดาบอาญาสิทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็มีลักษณะแบบดาบญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระแสงดาบญี่ปุ่นเหมือนกัน ผมว่าดาบญี่ปุ่นไม่ได้ห่างจากสังคมไทย เพียงแต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้น”

ด้วยความที่สนใจดาบญี่ปุ่น นอกจากการค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจังแล้ว ยังเคยแม้กระทั่งไปลองตีดาบที่ญี่ปุ่น

“การจะตีดาบญี่ปุ่นได้ต้องฝึกนานถึง 3 ปี จึงจะให้เริ่มเป็นช่าง ซึ่งผมไม่ได้ลึกซึ้งขนาดนั้น และเคยเรียนโพลิชชิ่ง (การขัดเงา) เพราะดาบญี่ปุ่นนั้นในขั้นตอนการผลิตใช้ช่างหลายคน ตัวดาบก็ 1 ช่าง ช่างขัด ทำอะไหล่ และอะไหล่แต่ละชิ้นก็ใช้ช่างแยกไปตามแต่ละตระกูล ฉะนั้น ดาบแต่ละเล่มจะใช้ช่างอย่างน้อย 10 คน ส่วนใหญ่จะมีตระกูลช่างของเขา”

ที่ญี่ปุ่นจึงมีนักดาบที่ได้รับการยกย่องศิลปินแห่งชาติ ซึ่งใน 1 ปี จะตีดาบได้เพียง 20 เล่มเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ดาบแต่ละเล่มที่ผลิตออกมาเป็นดาบที่มีคุณภาพจริงๆ การตีดาบจึงเป็นศิลปะ

ขณะเดียวกันการจะไปหาซื้อดาบญี่ปุ่นก็ไม่ง่าย เพราะดาบทุกเล่มต้องมีทะเบียนเหมือนปืน และต้องแจ้งทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าของ ไม่ใช่ว่าซื้อปุ๊บเอากลับได้เลย ทั้งยังต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมายในการนำออกนอกประเทศ

ดาบตระกูลโทกุกาว่า ผ่านการคัตติ้ง เทสต์ มาแล้ว 8 ร่าง ที่ด้ามจะสลักและคร่ำด้วยทองคำบอกประวัติของดาบ (ภาพเล็ก) ตราประทับของตระกูลโทกุกาว่าบนด้ามดาบ
ดาบตระกูลโทกุกาว่า ผ่านการคัตติ้ง เทสต์ มาแล้ว 8 ร่าง ที่ด้ามจะสลักและคร่ำด้วยทองคำบอกประวัติของดาบ (ภาพเล็ก) ตราประทับของตระกูลโทกุกาว่าบนด้ามดาบ

คอลเล็กชั่นส่วนตัว เน้นเฉพาะดาบสำคัญลำดับต้นๆ

ดอยธิเบศร์บอกต่ออีกว่า ในส่วนของงานสะสมส่วนตัวนั้นจะเน้นดาบสำคัญ ที่มีความพิเศษ เช่น ดาบของตระกูลกัสสัน ต้นตะกูลดาบที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มาก

“สมัยก่อนมีโฆษณาของโรเล็กซ์ ซึ่งพรีเซ็นเตอร์ปกจะมีดารา นักแสดงมีชื่อเสียงระดับโลก กัสสัน ซาดาอิจิ เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโรเล็กซ์ ใส่โรเล็กซ์แล้วถือดาบ ผมสนใจมากว่าทำไมในบุคคลสำคัญๆ ระดับโลกจึงเลือกกัสสันเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น จึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งวันหนึ่งเราก็ได้เป็นเจ้าของดาบของต้นตระกูลเขา”

เวลาเก็บผมจะเก็บดาบแต่หัวๆ เช่น ดาบต้นตระกูล โดยจะเลือกดาบที่มีขนาดประมาณ 70 ซม. เผื่อใช้เองด้วย เพราะดาบญี่ปุ่น เป็น “คัสตอม เมด” (Custom made) ตีตามลักษณะผู้ใช้ ขนาดมือ ส่วนสูง คนญี่ปุ่นเมื่อก่อนจะตัวเล็ก ดาบส่วนใหญ่จะขนาด 60 กว่า ซม. การจะเลือกดาบที่ตีโดยต้นตระกูลดาบเอง และมีความยาว 70 ซม. จึงหาไม่ง่าย

นอกจากการเลือกสะสมเฉพาะดาบต้นตระกูลดังๆ แล้ว ดอยธิเบศร์ยังหลงใหลดาบที่เป็น “คัตติ้ง เทสต์” คือย้อนกลับไปสมัยเอโดะ การทดสอบความคมของดาบจะใช้วิธีการฟัน “ร่างกายมนุษย์” ช่างที่ฟันต้องเป็นนักดาบเท่านั้น ซึ่งยุคนั้นการประหารชีวิตคนก็จะใช้ดาบซามูไรเช่นกัน

ลักษณะของการคัตติ้ง เทสต์ จะมีแบบฟัน 1 ศพ ฟัน 2 ศพ หรือฟัน 3 ศพ คือ เอาศพมาเรียงซ้อนกันแล้วฟัน ส่วนใหญ่จะใช้ศพที่ตัดคอแล้ว คือเป็นนักโทษประหาร โดยจะมีท่าฟัน และตำแหน่งการฟัน เช่น ฟันกลางตัว ฟัน 45 องศา เหล่านี้ผมคิดว่าหมื่นเล่มจะมีสัก 1 เล่ม

ซึ่งเมื่อฟันแล้วจะสลักข้อความลงบนดาบและคร่ำด้วยทองคำ เช่น ฟันกี่ศพ วันเดือนปีที่ฟัน ท่าที่ฟัน และต้องให้เจ้าหน้าที่หรือนักดาบฟัน ฉะนั้น ผมสนใจดาบพวกนี้เป็นพิเศษ แต่หายาก และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก อย่างทางอเมริกา ซึ่งดาบที่แพงสุดที่ประมูลไปราคา 20 ล้าน เป็นดาบสมัยศตวรรษที่ 13

ดาบ (พร้อมฝัก) ของช่าง 1 ใน 5 ที่ได้ชื่อว่าทำดาบได้คมที่สุด เล่มนี้คัตติ้ง เทสต์ 2 ร่าง
ดาบ (พร้อมฝัก) ของช่าง 1 ใน 5 ที่ได้ชื่อว่าทำดาบได้คมที่สุด เล่มนี้คัตติ้ง เทสต์ 2 ร่าง

อาถรรพ์หรือไม่ อยู่ที่คนเชื่อ

ในเมื่อดาบประเภทหนึ่งที่ดอยธิเบศร์เน้นคือ ดาบที่ผ่านการ “คัตติ้ง เทสต์” หมายความว่า จะต้องทดสอบความคมของดาบด้วยการฟันร่างมนุษย์ ซึ่งโดยมากเป็นนักโทษประหาร มีทั้งที่เป็นศพแล้ว และที่ยังเป็นๆ ยังไม่นับอีกเป็นร้อยเป็นพันศพที่ต้องสังเวยคมดาบบนสนามรบ

แน่นอนว่า คำถามหนึ่งที่ต้องไม่พลาด คือเรื่องของอาถรรพ์

“เรื่องอย่างนี้แล้วแต่คนเชื่อ ซึ่งดาบพวกนี้ฆ่าคนมาหลักร้อยหลักพันคน เพราะผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี” ดอยธิเบศร์แบ่งรับแบ่งสู้

ผมศึกษาเรื่องเหล่านี้มา ผมมีความรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง มีจิตวิญญาณ เพราะถูกตีขึ้นมาด้วยความตั้งใจ คนตีต้องถือศีล ฯลฯ ฉะนั้น มันต้องมีความสำคัญ

“ถามว่าเจอเรื่องประหลาดมั้ย-ก็มี พอเอาเข้าบ้านช่วงนั้นก็มีอุบัติเหตุตกจากที่สูง ส่วนตัวผมไม่ได้เอามาผูกกันมาก แต่ก็มีเรื่องแปลกๆ อยู่นิดหน่อย เราก็ขออนุญาตเขานิดนึง ตอนที่ผมได้ดาบคัตติ้ง เทสต์ มา ตอนจะเอากลับบ้านผมก็เอาเงินญี่ปุ่นโบราณไปขอซื้อกลับมา ก็เหมือนกับเวลาเราให้ของมีคมกันก็จะให้สตังค์” ดอยธิเบศร์บอก และแย้มว่า

ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าเก็บไว้หรอกครับ แต่ผมไม่ได้กลัว เพราะเกิดมาก็เห็นอยู่แล้ว และเรามีเจตนาดี ในอนาคตเราก็จะทำเป็นมิวเซียมที่เชียงราย อาจจะจัดนิทรรศการใหญ่ที่กรุงเทพฯสักครั้ง ก่อนจะย้ายไป เพราะผมเชื่อว่าดาบที่ผมมีมีคุณค่ามากมาย

‘ซามูไร’ มาสเตอร์พีซล้วนๆ

ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับนิทรรศการ “ซามูไร” ที่จัดแสดงที่ห้อง The Space ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร ดอยธิเบศร์ บอกว่าอยากให้คนไทยได้เข้ามาชมกันมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่นำเอาชุดเกราะสำคัญ ระดับแม่ทัพบัญชาการรบ เก่าแก่ในราวศตวรรษที่ 16-17 มาให้ชม ซึ่งถือเป็นชิ้นไฮไลต์

“ชุดนี้มีรายละเอียดที่พิเศษมาก ผมไม่เคยเอาออกจากตู้เลย แม้กระทั่งตัวเองก็ยังไม่เคยเห็น เพราะเก่าแก่ระดับ 300-400 ปี จึงไม่อยากย้ายไปมา อย่างเสื้อตัวในที่เป็นผ้าไหมแทบเปื่อย แค่จับก็ยุ่ยแล้ว อยากให้มาดูกัน เพราะงานนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองไทยจัดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีที่ทางญี่ปุ่นนำเข้ามาจัดแสดง แต่เป็นของใหม่ เพราะการจะเอามาจัดแสดงต้องขออนุญาตต่างๆ มากมาย โอกาสที่จะได้ดูจึงไม่ง่าย”

นอกจากนี้ ยังมีชุดเกราะระดับนายพล และนายทหารระดับล่าง รวมทั้งภาพเขียนสีโบราณในตู้กระจกด้านหน้าทางเข้าห้องจัดแสดงที่เล่าถึงการรบของซามูไรเมื่อสมัยเอโดะ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทย นั่นก็เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ

ส่วนดาบซามูไรนั้น ดอยธิเบศร์บอกว่า พร้อมจะนำมาให้ชม แต่ต้องมีตู้จัดแสดงที่ควบคุมอุณหภูมิโดยเฉพาะ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก

ที่สำคัญคือ อันตรายมาก เพราะเป็นของมีคม และคมมากด้วย

อย่างดาบ 2 เล่มที่นำมาให้เก็บภาพ เล่มหนึ่งเป็นดาบของสายตระกูลโชกุนโทกุกาว่า ที่ผ่านการคัตติ้ง เทสต์มากถึง 8 ร่าง และอีกเล่มเป็นดาบของคุมาโมโต้ ซึ่งเป็นท็อป 5 ของนักทำดาบที่จัดว่าคมที่สุด โดยดาบเล่มนี้ผ่านการคัตติ้ง เทสต์มาแล้ว 2 ร่าง

นิทรรศการ “ซามูไร” เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เมษายน 2559 แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image