หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีชีวิต(1)

ในปี 2015 เมืองหลวงพระบาง ได้รับรางวัล Award of Merit จากองค์กร UNESCO และได้รางวัล Best City จาก Wanderlust Travel คนไทยหลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดเมืองเล็กๆ ของประเทศเล็กๆ อย่าง สปป.ลาว ถึงประทับใจนักท่องเที่ยว และองค์กรระดับโลกต่างๆ ได้มากขนาดนี้

หลวงพระบางเป็นเมืองโบราณ เก่าแก่นับพันสามร้อยปี ตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อเดิมว่า เมืองซัว ขุนลอโอรสของขุนบูลม วีรกษัตริย์ในตำนานของเผ่าไตได้ยึดเอาเมืองซัว แล้วสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐนามเชียงทอง ปกครองสืบต่อมาสิบห้ารุ่น ก่อนจะถูกอาณาจักรน่านเจ้ายึดครอง สลับเปลี่ยนมือมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจ จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มประกาศเอกราชตั้งอาณาจักร

ล้านช้างสถาปนาเชียงทองเป็นนครหลวง และพระเจ้าโพธิสารราชอาราธนาพระบาง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาประดิษฐาน จึงได้นามหลวงพระบางเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรลาวล้านช้างสืบต่อมา

เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จนิวัติกลับมาจากปกครองนครเชียงใหม่ ทรงพิจารณาว่า หลวงพระบางเป็นเมืองในหุบเขายากจะขยายให้เป็นเมืองใหญ่ จึงย้ายนครหลวงไปสร้างที่เมืองซายฟอง ตั้งเป็นนครหลวงเวียงจันในปี ค.ศ. 1560 ทำให้หลวงพระบางเป็นเมืองหลวงทางเหนือมีเชื้อพระวงศ์ล้านช้างปกครอง จนกระทั่งกลับมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางอีกครั้งในสมัยที่ลาวแตกเป็นสามอาณาจักร และอยู่ในความคุ้มครอง (Protectorate) ของฝรั่งเศส ภายหลังสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1901

Advertisement

ความงดงามของเมืองหลวงพระบาง ในปัจจุบัน เกิดขึ้นผสมผสานระหว่างวัดวาอารามโบราณในยุคล้านช้าง กับบ้านเรือนตึกรามที่สร้างขึ้นในยุคอาณัติปกครองของฝรั่งเศส ประกอบกับการทำนุบำรุงรักษาอย่างดีและมีรสนิยมร่วมกันระหว่างทางการเมืองหลวงพระบาง กับโครงการอนุรักษ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝรั่งเศส รวมถึงความช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคจากญี่ปุ่น ทำให้หลวงพระบางสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ความสงบเรียบง่ายงดงาม วิถีชีวิตของชาวลาวทั้งเชื้อสายลาวและชนเผ่า ไปพร้อมกับการปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวเป็นที่น่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน

การสร้างหรือต่อเติมอาคารใหม่ในเขตอนุรักษ์ของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง มีข้อจำกัดและข้อบังคับมากมายเพื่อรักษาสภาพและรูปลักษณ์ของเมืองให้กลมกลืนกันในแบบเฟรนช์โคโลเนียล ในส่วนของวัดวาอาราม ก็ได้รับการวางแผนบูรณะและฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ร่วมดำเนินการ และใช้ผู้รับเหมาในท้องถิ่นซึ่งเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับศิลปะล้านช้างหลวงพระบางรับงาน มากกว่าจะเน้นราคาประมูลหรือให้ผู้รับจ้างรายใหญ่รับงานไปทำ

นอกจากนี้ ผู้อาศัยในเขตเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ยังมีทั้งชาวลาวที่อยู่อาศัยเองมาแต่เดิม และผู้ที่เข้ามาเช่าหรือซื้ออาคารต่างๆ ปรับปรุงเป็นเรือนพัก

Advertisement

เกสต์เฮาส์ หรือโรงแรมสมัยใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นคนลาวหรือชาวต่างชาติ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการก่อสร้าง การทิ้งขยะ ระบบบำบัดน้ำเสียและการตกแต่งอาคารให้เข้ากับเมืองอย่างเคร่งครัด

ความสงบเรียบง่าย ความเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเหล่านี้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เลือกมาหลวงพระบางส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก หรือญี่ปุ่น เกาหลี ที่มาเป็นครอบครัว ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่านี้มีมารยาทและเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตของเมือง จับจ่ายใช้สอยเป็นเม็ดเงินจำนวนมากต่อหัว ทำให้เศรษฐกิจของเมืองหลวงพระบางสามารถดำเนินไปด้วยการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้แก่ชาวลาวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อรสนิยมและความงดงามของเมืองและของประเทศอีกด้วย

แต่ชีวิตของชาวหลวงพระบางนอกเขตเมืองมรดกโลกจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image