ประสานักดูนก : นกกระเต็นหัวสีน้ำเงิน : โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกกระเต็นหัวสีน้ำเงินเพศผู้

นกกระเต็นหัวสีน้ำเงิน

ทริปดูนกฟิลิปปินส์ ที่เกาะมินดาเนา เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนี้ จัดว่าไปดูนก 2 ชนิดเท่านั้นเองจริงๆ หมายหลักคือ “นกอินทรีกินลิง” ที่เขียนให้ฟังไปเมื่อวันอาทิตย์ก่อน นกเฉพาะถิ่นอีกชนิดที่โชคดีได้เฝ้าชมพฤติกรรมอยู่นานค่อนวัน เพราะ ดร.มิเกล เดอ ลีออน หมอโรคตานักอนุรักษ์ จัดทำบังไพรไว้ให้ ป้องกันนกตื่นกลัว เพราะนกกระเต็นคู่นี้กำลังป้อนอาหารให้ลูกน้อยในโพรงดิน บนตลิ่งใต้รากไม้เหนือหุบเขาชื้นๆ

นกกระเต็นหัวสีน้ำเงิน หรือ Blue-capped Kingfisher แพร่กระจายพันธุ์บนเกาะมินดาเนาเท่านั้น จัดเป็นนกเฉพาะถิ่นของแดนตากาล็อก ขนาดตัวถือว่าใหญ่ ยาว 27 ซม. ใหญ่กว่านกกระเต็นธรรมดา แต่เล็กกว่านกกระเต็นอกขาว และนกกระเต็นหัวดำ เพียง 2 ซม. เท่านั้น ที่ต่างจากนกกระเต็นไทยข้างต้น คือ เจ้าหัวสีน้ำเงิน เป็นนกกระเต็นป่า เหมือนนกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล หรือนกกระเต็นแถบอกดำ ที่ค่อนข้างหายาก เพราะเลือกจะอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น แทนที่จะเป็นทางน้ำ ริมถนน หรือทุ่งนาตามประสานก กระเต็นทั่วๆ ไป ดังนั้นโอกาสพบเห็นนกกระเต็นป่าจะมีน้อยกว่านกกระเต็นทั่วไป

ที่สำคัญนกกระเต็นป่า ไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อาทิ แม่น้ำ ลำคลองเลย แต่จำเป็นต้องมีป่าดิบที่มีความชื้นสูงเป็นบ้าน หลากหลายด้วยสัตว์เล็กนานาชนิด ที่มันล่าเป็นอาหาร และนำมาป้อนลูกในโพรงที่ขุดด้วยจะงอยปากอวบยาว ปลายแหลม เมื่อนกคาบเหยื่อไว้ยากที่เหยื่อจะดิ้นหลุด เพราะขอบปากทั้งสองข้างคมเหมือนมีดโกนทีเดียว

Advertisement

แมงมุม จักจั่น ปลา ตะขาบ จิ้งจก ตุ๊กแกบิน กิ้งก่า จิ้งเหลน งู ล้วนบันทึกไว้เป็นอาหารป้อนลูกของนกกระเต็นป่าทั้งสิ้น เพียงนั่งมองพ่อนก แม่นก คาบเหยื่อเหล่านี้มาป้อนลูกก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าป่าดิบที่นกกระเต็นป่าอาศัยอยู่นั้น หลากหลายด้วยสรรพชีวิตจริงๆ เหยื่อบางตัวยาวกว่าลำตัวของนกซะอีก พานให้นึกฉงนว่าลูกนกจะกลืนกินเข้าไปได้อย่างไร อีกทั้งบ่งบอกว่า นกกระเต็นเป็นสัตว์นักล่าไม่แพ้เหยี่ยวหรือนกอินทรี กินเนื้อล้วนๆ (carnivore) จะเป็นแมลงหรือสัตว์มีกระดูกสันหลังก็ตาม ต่างจากสัตว์โพรงกลุ่มอื่นๆ อาทิ นกเงือก ที่จัดเป็นสัตว์กินพืชและสัตว์ หรือ omnivore

ในโสตของการล่าเหยื่อ นับว่านกกระเต็นโหดทีเดียว ถ้าเหยื่อไม่สลบหรือตายจากแรงงับของจะงอยปากคมๆ นกกระเต็นจะฟาดเหยื่อกับกิ่งไม้ที่เกาะไว้ ซ้ายทีขวาทีจนเหยื่อหมดลมคาปาก เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกนก ถ้าเหยื่อยังไม่ตาย ในรังของนกกระเต็นขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นเน่าอันน่าสะอิดสะเอียน ก็เพราะเหยื่อหลากหลายที่พ่อแม่นกล่ามาป้อนให้ลูกนกนี่แหละ คาดว่าเหยื่อบางตัวอาจจะใหญ่เกินไป แล้วลูกนกต้องสำรอกออกมาเพราะย่อยไม่หมด ซึ่งการสำรอกเป็นการขับถ่ายเศษซากอาหาร ที่นกกินเนื้อย่อยไม่ได้ออกมา แทนที่จะปล่อยให้ขับเคลื่อนไปทางลำไส้แล้วอาจจะติดขวางเพราะเป็นเศษส่วนของกระดูก หนัง เล็บ หรือเปลือก/ปีกแมลงที่ย่อยยาก

ดังนั้น นกกระเต็นก็เป็นนกที่คายก้อนกากอาหารเหมือนนกกลุ่มอื่นๆ เช่น นกจาบคา เหยี่ยว นกอินทรี และ นกเค้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image