คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น : แก้ให้‘ตรงจุด’ : โดย จันทร์รอน

 

นัดกินข้าวกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่ว่าไปก็พบกันเป็นประจำอยู่แล้ว เดือนสองเดือนครั้ง แต่คราวนี้พิเศษหน่อย ตรงที่เพื่อนเล่าให้ฟังว่าไปตรวจร่างกายครั้งล่าสุดแล้วแพทย์ผู้ตรวจแจ้งว่า อาจจะเป็น “มะเร็งตับ” เพราะผลการตรวจเบื้องต้นด้วยทีซีสแกน และอาการโดยรวมๆ อย่างเช่น ท้องอืด เบื่ออาหาร ทำให้สันนิษฐานไปเช่นนั้น

ความจริงแล้วอยากจะบอกเพื่อนอยู่เหมือนกัน การจะสรุปว่าเป็นโรคร้ายชนิดนี้หรือไม่ แค่ตรวจพบความผิดปกติของก้อนเนื้อโดยการสแกนด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ยังไม่น่าจะสรุปได้ชัดเจน ถึงแม้จะมีอาการอื่นมาเสริมก็เถอะ เพราะหากจะให้รู้จริงจะต้องตัดชิ้นเนื้อนั้นไปเข้าแล็บวิเคราะห์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหมอที่เพื่อนอ้างก็ยังแค่นัดมาตรวจละเอียดอีกครั้ง ไม่ควรที่เพื่อนจะสรุปเอาเองไปก่อนว่าเป็นโรคร้ายเสียแล้ว

แต่เมื่อเจอกันเพื่อนเอาแต่พูดถึงเรื่องโรคร้ายของตัวเองอย่างให้ความรู้สึกว่ายินดีปรีดา ไม่มีอาการของคนที่เป็นทุกข์เพราะเป็นโรคร้ายอยู่เลย ทั้งที่เชื่อเป็นตุเป็นตะว่าถูกคุกคามด้วยโรคร้ายนี้แน่นอน

Advertisement

เรื่องราวที่เพื่อนเล่าให้ฟังคือ มองว่าป่วยด้วยโรคร้ายแรงเช่นนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อบอกกล่าวกับใครก็มีแต่คนแสดงความปรารถนาดี ส่งกำลังใจ และช่วยกันหาคนทางที่จะช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ให้เพื่อน

น้ำจิตน้ำใจของคนรอบข้างตั้งแต่คนในครอบครัว จนถึงเพื่อนๆ ทั้งที่สนิทและไม่สนิททำให้แทนที่จะทุกข์ด้วยโรคร้าย กับยินดีมีสุขเพราะการได้รับน้ำใจเช่นนั้น

“รู้สึกดีมากที่รู้ว่าใครต่อใครพากันเป็นห่วงเป็นใย อย่างไม่เคยได้รับมาก่อน” เพื่อนบอกอย่างนั้น

Advertisement

ฟังแล้วสรุปว่า อย่าเพิ่งไปคิดว่าป่วย เพราะผลการตรวจเป็นแค่เบื้องต้น หากตรวจละเอียด ชนิดได้ผลแน่นอนแล้วอาจจะไม่ได้เป็นก็ได้ ก็เพราะฟังเพื่อนแล้วเกิดความรู้สึกว่าระหว่างความทุกข์จากการเจ็บป่วยทางร่างกาย กับความสุขที่ได้รับการเยียวยาความปรารถนาในใจ อันหมายถึงความรู้สึกได้ถึงความรักความห่วงใจที่คนรอบข้างทั้งใกล้ตัวไกลตัวมีให้นั้น

ด้านที่เป็นความสุขเอ่อล้นจนบดบังอาการที่จะทดท้อกับชีวิตจนหมดสิ้น

หากไปบอกว่า “เพื่อนยังไม่ป่วยหรอก แค่คิดเอาเองว่าป่วย” ซึ่งความจริงเป็นคำพูดที่สมควรจะส่งผลในด้านให้กำลังใจ เพราะเป็นไปในทางที่ยังมีความหวังว่าจะไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่เห็นสีหน้าค่าตาของเพื่อนแล้วจะกลับกลายเป็นว่า การบอกว่า “ไม่ป่วย” ดูจะเป็นการทำร้ายใจของเพื่อนเสียมากกว่า

เพราะในความรู้สึกของเพื่อน “ป่วย” เป็นเหตุให้ได้รับน้ำใจ กำลังใจ และความห่วงใยที่เป็นความสุขมากมายของเพื่อน

การไปบอกว่า “ไม่ป่วย” อาจจะเป็นเรื่องไปทำลายความรู้สึกเต็มตื้นของเพื่อนก็ได้

ดังนั้น การนั่งฟังเพื่อนพูดถึง “ความห่วงใยที่ได้รับทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิต เพราะรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว ยังมีคนรัก คนห่วงใยอยู่เยอะ” จึงเป็นทางเลือกที่คิดในตอนนั้นว่าน่าจะดีกว่า

แต่เพราะรู้ว่า “เพื่อนกำลังเขวไปหลงในความยินดีปรีดาในความรัก ความห่วงใย” ซึ่งไม่ใช่ตัวปัญหาที่แท้จริง

ปัญหาที่จะเกิดกับเพื่อนคือ “ป่วยเป็นโรคร้าย”

ทางแก้ปัญหานี้คือ ทำอย่างไรที่ไม่ให้โรคร้ายนั้นสร้างความทุกข์ให้ หรือจิตยังฝึกไม่ถึงที่จะ “เผชิญหน้ากับโรคร้ายโดยไม่หวาดกังวล” ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานั้นให้ตรงกับเรื่องของมัน

ก่อนที่จะแยกย้ายไป จึงได้แต่บอกว่า ให้ไปตรวจให้รู้ให้ชัดว่า “มะเร็งตับ” จริงหรือไม่

ถ้าจริง ก็ให้เปิดใจยอมรับว่า ในตับมีมะเร็ง
จากนั้นหาวิธี “หยุดยั้งและรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้องที่สุด”

จะกินอาหารแบบไหน เพื่อไม่ไปส่งเสริมให้ลุกลาม จะหาแพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างไร จะทำตัวทำใจอย่างไรกับการดำเนินชีวิตต่อไปนี้

ตั้งสติอยู่กับความเป็นจริงนี้

อย่าให้ใจหลุดไปอยู่กับอารมณ์อื่น เช่น กลัวจนทุรนทุรายแล้วหาวิธีจัดการที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล

หรือเอาความเจ็บป่วยของตัวเองมาเป็นเงื่อนไขที่จะเรียกร้องความห่วงใยจากคนรอบข้าง

ทั้งความกลัว และความห่วงใย เพื่อเกิดขึ้นหรือได้รับ จะต้องรู้เท่าทันว่านั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปตามอารมณ์ อย่าไปหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านั้นจนลืมนึกว่า ที่จะต้องคิดต้องจัดการคือโรคร้าย

ไม่ใช่ไปจมอยู่กับความกลัวของตัวเอง หรือความห่วงใยของใคร

ก็ได้แต่บอกไปอย่างนั้น แต่เพื่อนจะรับสารที่พยายามจะสื่อให้หรือไม่

เรื่องของ “เครื่องรับสาร” จะจูนไว้ที่คลื่นเดียวกับ “เครื่องส่งสาร” หรือไม่

เป็นเรื่องที่ต้องรอดูผลกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image