สิบสองปันนา ไทยในแดนจีน : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

เมื่อพูดถึงประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนมากเราก็มักมองถึงไทย พม่า ลาว เวียดนาม ซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลผ่านเป็นระยะทางยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากมาย หากทว่าแม่น้ำโขงตอนต้นอันเป็นจุดกำเนิดสายน้ำ ได้ไหลผ่านดินแดนจีนตอนใต้ซึ่งมีวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา คล้ายคลึงกับคนไทยและลาวเป็นอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงบนแผ่นดินจีนที่มีส่วนคล้ายกับไทยเป็นเรื่องสำคัญที่น้อยคนนักจะรู้จักและตระหนักถึง

เขตปกครองตนเองชนชาติไท ซือชวงป่านน่า (Xishuangbanna Dai Autonomous Prefecture) หรือดินแดนสิบสองปันนา เป็นเขตปกครองตนเองย่อยสังกัดมณฑลยูนนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไท ได้ถูกจีนควบรวมเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตในปี 1952 และล้างระบอบเจ้าครองนครเชียงรุ่งลงในปี 1956 ก่อนจะอพยพชาวจีนฮั่นจากมณฑลต่างๆ ให้มาตั้งรกรากร่วมกับชาวไท จนกระทั่งในปัจจุบัน คนจีนฮั่นมีประชากรมากกว่าชนเผ่าไทที่ 30% ต่อ 27%

ในทศวรรษที่ 1960-1970 มีการทำลายวัฒนธรรมไทลื้อในสิบสองปันนาอย่างรุนแรง ทั้งการทำลายวัด สึกพระสงฆ์ ถอดฐานันดรและลงโทษเจ้าเชียงรุ่ง แต่ภายหลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมและการเปิดประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง เชียงรุ่งได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นเมืองปากประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรื้อฟื้นวัฒนธรรมและภาษาไทลื้อเพื่อการท่องเที่ยว โดยการก่อสร้างบ้านเรือน สถานที่ราชการ และถนนหนทาง เพิ่มเติมสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าไท รวมถึงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทเลียนแบบแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร

เมืองจิ่งหงนี้เองที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธ ศาสตร์แม่น้ำโขงสองประการคือ เขื่อนจิ่งหง และท่าเรือกวนเหล่ย

Advertisement

เขื่อนจิ่งหง เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า กั้นแม่น้ำโขงหรือหลานชางเจียงบริเวณเมืองจิ่งหง มีขนาดใหญ่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,750 เมกะวัตต์ และกั้นน้ำโขงนับตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาถึงเขตประเทศลาวตอนกลาง ทำให้ภาวะน้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ในหน้าแล้งหากเกิดพายุฤดูร้อนในสิบสองปันนา เขื่อนจิ่งหงอาจปล่อยน้ำลงมาทำให้หาดและสวนผักริมแม่น้ำโขงของไทยและลาวเสียหาย แต่ข้อดีคือทำให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอต่างจากในอดีตที่ไม่สามารถเดินเรือสินค้าขึ้นล่องได้ในยามแล้งแม่น้ำแห้งขอด

ท่าเรือกวนเหล่ย เป็นท่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 500 ตัน ขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขงได้ ทางรัฐบาลจีนกำหนดให้สินค้าที่ล่องทางเรือแม่น้ำโขงต้องขึ้นลงที่ท่าเรือกวนเหล่ยเท่านั้นเผื่อผ่านพิธีทางศุลกากร จากเดิมที่สามารถขนส่งลงท่าเรือได้หลายแห่ง และผู้นำเข้าส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนเป็นบริษัทสัญชาติจีน ท่าเรือกวนเหล่ยจึงเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญที่สุดในลำน้ำโขง ปริมาณการค้าที่ผ่านท่าเรือกวนเหล่ยใน 3 ปีหลังสร้างเสร็จและเปิดใช้ (2014-2016) มีจำนวนกว่า 350,000 ตันและมูลค่ากว่า 635 ล้านเหรียญสหรัฐ (20,000 ล้านบาท)

เมืองเชียงรุ่งยังเป็นฐานปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงของจีน ซึ่งขึ้นตรงต่อกองทัพประชาชนจีนภายหลังการปฏิรูประบบตำรวจและทหารในต้นปี 2018 ที่ผ่านมา

Advertisement

นับว่าหน่วยปฏิบัติการดังกล่าวมีนาวานุภาพสูงสุดในลำน้ำโขง สามารถปราบปรามและสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่เมืองต่างๆ ตามลำน้ำโขงที่เคยอยู่ในภาวะบ้านป่าเมืองเถื่อนให้มีระเบียบมากขึ้น

ชนชาติและเผ่าพันธุ์ไทก็กำลังกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในบ้านของตนเอง ผู้มีอำนาจและได้ผลประโยชน์จากการค้าล้วนเป็นจีนฮั่นและสนองตอบยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนส่วนกลาง

หากจะไปค้นหาความเป็นไทซึ่งเป็นญาติพี่น้องทางสายเลือดกับเรา คงต้องรีบไปชมก่อนที่จะถูกสลายกลายเป็นเพียงของขายนักท่องเที่ยวในไม่ช้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image