จาก ป้อมเพชร ถึง วัดระฆังฯ “นิวาสสถานเดิม” รัชกาลที่ 1

6 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 มีกรุงเทพทวารวดีศรีรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงอันดำรงสถิตสถาพรสืบมา

เรื่องราวมากมายในพระราชประวัติ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างรัชสมัย ได้รับการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ ทว่า ข้อมูลเกี่ยวกับนิวาสสถานเดิม หรือหย่อมย่านบ้านเกิด และที่ประทับของพระองค์ กลับยังไม่เป็นที่รับรู้หรือกล่าวถึงมากนัก โดยเฉพาะเมื่อครั้งยังประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา

ย่านป้อมเพชร

นิวาสสถานครั้งกรุงเก่า

หลักฐานเกี่ยวกับนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของ ร.4 พระราชทาน เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ ซึ่งมีการกล่าวโดยสรุปว่าพระปฐมบรมชนกนาถ สมรสกับธิดาคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุด โดยมีเคหสถานอยู่ตรงมุมตะวันออกเฉียงใต้ภายในกำแพงเมืองอยุธยา นอกจากนี้ เอกสารโบราณอย่างสมุดไทยขาว (สมุดข่อย) เขียนด้วยหมึกจีน 2 เล่มจบ ซึ่งปรากฏชื่อในปกหลังว่า “หนังสือบรรพบุรุศย์ 1249” รู้จักกันต่อมาในชื่อ “อภินิหารบรรพบุรุษ” ยังกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด โดยเล่าถึงตระกูลของรัชกาลที่ 1 ไล่มาถึงพระราชบิดา นามว่า “ทองดี” เป็นเหลนของเจ้าพระยาโกษาปาน มีนิวาสสถานอยู่ภายในกำแพงพระนครศรีอยุธยา ต่อมาครั้นสมรสกับ “ดาวเรือง” บุตรีเสนาธิบดี จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิง ซึ่งก็คือพระชนนี ภายในกำแพงพระนครหลังป้อมเพชร

ข้อความตอนหนึ่งจากเอกสารดังกล่าว มีดังนี้

Advertisement

“..พระยาราชนิกูลทองคำมีบุตรชายใหญ่ชื่อทองดี ได้เป็นที่เสมียนตราในกรมมหาดไทย ชื่อหลวงพินิจอักษร ท่านเสมียนตราผู้นี้คือ สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ซึ่ง เปนสมเด็จพระบรมชนกนารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินปฐมบรมราชวงษกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา ประเทศบางกอกนี้ อนึ่งสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีซึ่งทรงพระนามว่า ทองดี นั้น ท่านเปนเหลนของเจ้าพระยาโกษาปาน เนื่องในเชื้อสายฝ่ายราชนิกูลกรุงเก่าด้วย ท่านตั้งนิวาศน์สฐานอยู่ภายในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยากับพระบิดาท่านที่ตำบลป่าตอง ใกล้วัดบรมพุทธาวาสน์ คือ วัดกระเบื้องเคลือบซึ่งเปนวัดของพระเพทราชาสร้างลงในที่บ้านเดิมของท่าน

เมื่อได้ราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว หนึ่งสมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี ท่านได้ทำการวิวาหมงคล กับสมเด็จพระบรมมหาไปยิกาธิบดีซึ่งทรงพระนามว่าดาวเรือง เปนบุตรีท่านเสนาบดีในกรุงศรีอยุทธา สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีท่านได้เสด็จมาอยู่ที่นิวาศน์สฐานของสมเด็จพระบรมมหาไปยิกาธิบดี ณ ภายในกำแพงพระนครหลังป้อมเพ็ชร์….”

(คัดจาก “อภินิหารบรรพบุรุษ” หน้า 15-16 สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้พิมพ์เป็นของเจ้าภาพชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ พ.ศ.2473 -อ้างจาก “อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์” บุญเตือน ศรีวรพจน์ ชำระต้นฉบับ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน 2545.)

อภินิหารบรรพบุรุษ

อัฐิ”พระชนก”ที่เจดีย์วัดสุวรรณดาราราม

ย่านป้อมเพชร ยังมีวัดใหญ่แห่งหนึ่ง รู้จักกันในนาม “วัดสุวรรณดาราราม” มีพระอุโบสถแอ่นท้องโค้งสำเภางดงามตามอย่างศิลปะอยุธยา ข้างกันนั้น ยังมีเจดีย์ทรงระฆังสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่บรรจุอัฐิพระชนกในรัชกาลที่ 1 ผู้สถาปนาอารามสำคัญแห่งนี้ร่วมกับพระชนนี โดยตั้งชื่อวัดตามนาม ทองดี (สุวรรณ) และดาวเรือง (ดารา) พระชนกชนนีนั่นเอง

ข้อมูลข้างต้น ปรากฏใน “หนังสือบรรพบุรุศย์ 1249” หรือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” เช่นเดียวกัน ข้อความมีดังนี้

“ครั้งหนึ่งพระบรมมหาไปยกาธิบดีพร้อมด้วยความคิดพระบรมมหาไปยิกาธิบดี ท่านทั้งสองมีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างอารามแห่งหนึ่งในกำแพงพระนคร ที่ใกล้เคหนิวาศน์สฐานเสร็จแล้ว ตั้งนามว่า วัดสุวรรณดาราราม”

นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับนิวาสสถานเดิม

เจดีย์ทรงระฆังบรรจุอัฐิพระชนกในรัชกาลที่ 1 ในวัดสุวรรณดาราราม
เจดีย์ทรงระฆังบรรจุอัฐิพระชนกในรัชกาลที่ 1 ในวัดสุวรรณดาราราม

สื่อสารยุคใหม่ เผยแพร่ข้อมูลนิวาสสถานยุคอยุธยา

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเด็นของนิวาสสถานเดิมนี้ ควรต้องทำป้ายอธิบาย เริ่มจากการทำให้คนในพื้นที่เห็นก่อนว่าขอบเขตบ้านเกิดของรัชกาลที่ 1 อยู่ตรงไหน และสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยว โดยเป็นการสื่อสารแบบยุคใหม่

“เริ่มต้นอย่างแรก ต้องทำให้เป็นภาพประจักษ์ในพื้นที่ก่อนว่าพื้นที่ตรงไหนคือ เขตบ้านเกิดของรัชกาลที่ 1 อาจไม่ใช่เพียงป้ายธรรมดา แต่เป็นการสื่อสารแบบยุคสมัยใหม่ ควรมีจุดท่องเที่ยวหรือถ่ายรูปบริเวณวัดสุวรรณดาราราม มากกว่ายืนอ่านป้ายอย่างเดียว พอเกิดการเรียนรู้ในท้องถิ่นแล้ว เชื่อว่าจะพัฒนาสู่กระบวนการต่อไปที่ทำให้คนสนใจสืบค้นเอกสาร เดี๋ยวก็มีนักเขียนสารคดีต่อเนื่องตามมา พัฒนาสู่การไปอยู่ในชุดความรู้ที่เป็นลายลักษณ์อักษร สรุปคือ ควรกระตุ้นจากพื้นที่จริงก่อน ถ้าเอาความรู้ไปใส่ในหนังสือเรียนเลย คนอาจรู้สึกเฉยๆ ไม่สนใจ”

นี่คือความเห็นในประเด็นเผยแพร่ความรู้สู่ชาวสยาม กรณีนิวาสสถานครั้งกรุงเก่า

อุโบสถวัดวงศมูล ภายในพื้นที่กรมอู่ทหารเรือ ย่านนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ครั้งยังทรงรับราชการเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในยุคกรุงธนบุรี
อุโบสถวัดวงศมูล ภายในพื้นที่กรมอู่ทหารเรือ ย่านนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ครั้งยังทรงรับราชการเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในยุคกรุงธนบุรี

บ้านเจ้าพระยาจักรี

ในแผนที่สายลับพม่า

ครั้นเข้ายุคกรุงธนบุรี มีหลักฐานเรื่องที่ประทับของรัชกาลที่ 1 ครั้งยังรับราชการเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ปรากฏอยู่ในแผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า

ในช่วงเวลานี้ พระองค์มีนิวาสสถานอยู่ในกำแพงพระนครฝั่งตะวันตก บริเวณวัดวงศมูล ซึ่งปัจจุบันยังหลงเหลือตัวอุโบสถอยู่ในพื้นที่ของกรมอู่ทหารเรือ บริเวณปากคลองมอญขึ้นไปทางเหนือถึงวัดบางหว้าใหญ่ รู้จักต่อมาในนามวัดระฆังโฆษิตาราม ปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานว่าเมื่อทรงปราบดาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯให้รื้อพระตำหนักมาสถาปนาเป็นกุฏิสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่ แล้วถูกใช้เป็นหอพระไตรปิฎก ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยปรมาจารย์ด้านศิลปะของไทยอย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งบันทึกไว้ดังนี้

“….อันหอไตรเรือนสามหลังแฝดนี้ เป็นหอพระไตรปิฎกปฐมบรมราชานุสรณ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลังจากสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ.2331 แล้วไม่นาน โดยได้โปรดให้นำบ้านเดิม อันเป็นเรือนไทยสามหลังแฝดหลังคาจาก ฝากั้นด้วยกระแซง มาปรับปรุงเสียใหม่ คงเค้าบ้านเดิมนั้นเอง เปลี่ยนฝากระแซงเป็นฝาไม้สัก ลูกปะกน ทาสีแดงดิน มีหน้าต่างรอบ กรอบลงรักปิดทอง ฝาหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ รูปเทพดาบาล บานประตูแกะสลักลายกระหนกปิดทองประดับกระจกสีตามช่องไฟ คันทวยรับชายคา สลักเป็นตัวนาคปิดทอง ปิดกระจกกระจังเชองชายกระเบื้องเทพนมประดับอยู่รอบชายคา น่าดูชมเป็นที่ยิ่ง หาดูไม่ได้อีกแล้ว…”

แผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า หมายเลข 2 คือ บ้านเจ้าพระยาจักรี หรือรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา
แผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า หมายเลข 2 คือ บ้านเจ้าพระยาจักรี หรือรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา

ปรับเป็น”มิวเซียม”ศึกษาลึกซึ้ง

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เจ้าของหนังสือ “การเมืองในสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 1” บอกว่า ในประเด็นนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่ารูปแบบเดิมของที่ประทับเป็นอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีลักษณะเป็นเรือนแฝดสามจั่ว ซึ่งไม่น่าจะใช่รูปแบบที่อยู่อาศัย คาดว่าคงถูกปรับเปลี่ยนมาแล้ว เนื่องจากการเป็นที่ประทับ กับการใช้เป็นสถานที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ มีหน้าที่การใช้งานต่างกัน หลังจากนั้น หากเป็นไปได้ควรเน้นการเผยแพร่ความรู้ เช่น นำข้อมูลจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

“หอไตรตรงนี้ควรทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยน่าจะมีข้อมูลบอกว่านี่คือตำหนักเดิมของรัชกาลที่หนึ่ง แต่ที่เราเห็นปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนบ้านมาเป็นหอไตร ซึ่งควรพูดถึงว่า แล้วรูปแบบเดิมเป็นอย่างไร ตอนนี้หอไตรเป็นสามจั่ว ไม่น่าจะเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัย เดิมน่าจะเป็นเรือนไทยธรรมดามากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวเกี่ยวกับนิวาสสถานเดิมของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

หอไตรวัดระฆัง เป็นเรือน 3 หลังแฝด พระตำหนักเดิมของ ร. 1
หอไตรวัดระฆัง เป็นเรือน 3 หลังแฝด พระตำหนักเดิมของ ร. 1
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image