มหัศจรรย์การ์ตูน : พลังชักนำลึกลับจากเสียงเพลง : โดยวินิทรา นวลละออง

พลังชักนำลึกลับจากเสียงเพลง

คุณแม่ท่านหนึ่งแวะมารับยาแทนลูกสาวซึ่งป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ค่ะ ตอนนี้ลูกสาวอาการคงที่ดีแล้ว สามารถไปเรียนหนังสือได้ปกติ วันนี้ติดเรียนจึงฝากคุณแม่มารับยาแทน คุณแม่ท่านโล่งใจว่าลูกสาวกลับมาเหมือนก่อนป่วยเกือบทั้งหมดแล้ว ที่ยังไม่เหมือนเดิมคือน้ำหนักตัวซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสิบกิโลกรัมตั้งแต่เริ่มป่วย สาเหตุเพราะช่วงที่ป่วยจนเรียนไม่ได้ก็จะนอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่ละวันหมดเปลืองไปกับการนอน กินขนม ดื่มน้ำอัดลม และเล่นเกม

“คุณแม่คงต้องควบคุมการกินขนมกับน้ำอัดลมของเขาด้วยค่ะ ถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเลยได้ไหมคะ”
“ถ้าไม่ซื้อมาเขาก็จะบ่นหิวทั้งวัน ห้ามก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็ออกไปซื้อที่ปากซอยอยู่ดี”

“ถ้าเขาเดินไปซื้อเองอย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกายเดินไปปากซอยค่ะ ดีกว่าซื้อมารอไว้ให้กินที่บ้าน แล้วคุณแม่พาไปออกกำลังกายได้ไหมคะ”

Advertisement

“เขาไม่ยอมเลยค่ะ ชวนก็แล้ว ซื้อเครื่องออกกำลังกายมาให้ก็แล้ว”

“แล้วเขากังวลเรื่องน้ำหนักตัวบ้างไหมคะ”

“เขาก็กังวลค่ะ แต่แม่ไปเตือนก็ไม่เชื่อ คุณหมอช่วยบอกเขาหน่อยค่ะ ถ้าคุณหมอ บอกเขาจะเชื่อคุณหมอ”

Advertisement

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยเลยค่ะว่าญาติผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วยได้ จึงขอยืมปากหมอให้ช่วยพูดหรือตักเตือนแทนเพราะเชื่อว่าผู้ป่วยจะรับฟังหมอมากกว่า ส่งผลให้ตัวหมอก็ต้องพัฒนาทักษะการพูดโน้มน้าวให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นและยอมปรับพฤติกรรมเพื่อผลดีต่อสุขภาพ คราวนี้ก็งานยากแล้วค่ะ ถ้าจะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย หมอก็ต้องออกกำลังกายด้วยจึงจะกล้าบอกได้เต็มปากว่าการออกกำลังกายส่งผลดีแค่ไหน โดยส่วนตัวจะลำบากใจที่สุดเมื่อต้องแนะนำผู้ป่วยที่จิตใจไม่สงบก่อนนอนให้สวดมนต์และจดจ่ออยู่กับบทสวดแทนที่จะคิดกังวลเรื่อยเปื่อยจนทำให้นอนไม่หลับ ที่ลำบากใจเพราะทราบดีว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้ผ่อนคลายก่อนนอนได้ดีมากและทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นแต่ตัวหมอเองกลับไม่เคยทำเพราะหลับง่ายอยู่แล้ว

“ถ้าคุณหมอไม่เคยสวดมนต์แล้วคุณหมอรู้ได้ยังไงว่าดี”

เคยมีผู้ป่วยวัยรุ่นหลายคนถามย้อนมาแบบนี้ค่ะ ก็เลยต้องเตรียมคำตอบไว้ก่อน

“หมอไม่ได้สวดมนต์เป็นประจำ เพราะเวลาเครียดหมอมักจะแก้เครียดด้วยการหาสาเหตุของปัญหาแล้วหาทางแก้ไข แต่บางปัญหาแก้ไขไม่ได้ทันทีค่ะ มันเป็นเรื่องของเวลา อย่างเช่นเวลาปวดประจำเดือน หมอแก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็จะใช้วิธีทำใจให้สงบ กำหนดลมหายใจ แล้วก็สวดมนต์”

แต่เปรียบเทียบการปวดประจำเดือนทีไรผู้ป่วยผู้ชายก็มักจะนึกภาพไม่ค่อยออกค่ะ (ฮา) ถ้าเราสามารถโน้มน้าวผู้คนได้ด้วยกิจกรรมบางอย่างที่ดูนุ่มนวลและไม่ได้เป็นการบังคับกันเกินไปก็น่าจะดีค่ะ ลองนึกถึงร้านกาแฟสักร้านที่ลูกค้ายินดีเดินเข้าไปใช้บริการด้วยความเต็มใจ ร้านนั้นคงมีแรงดึงดูดบางอย่าง เช่น อาหารอร่อย บรรยากาศดี แต่ในแอนิเมชั่นเรื่อง “Rokuhoudou Yotsuiro Biyori” บอกเราว่า “หนุ่มหล่อ” คือแรงดึงดูดที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย แอนิเมชั่นเรื่องนี้กล่าวถึง “ซุย” ชายหนุ่มที่ตัดสินใจลาออกจากงานบริษัทมาสืบทอดร้านน้ำชาแบบญี่ปุ่นของคุณปู่ เขามีเพื่อนหนุ่มหล่ออีก 3 คนมาช่วยทำขนม ทำอาหาร ชงกาแฟ และดูแลลูกค้า นอกจากดึงดูดสาวๆ แล้วยังเป็นขวัญใจคนสูงอายุที่นิยมกินขนมญี่ปุ่นคู่กับน้ำชาอีกด้วย เป็นแอนิเมชั่นที่ดูแล้วสบายใจเพราะมีแต่ขนมอร่อย น้ำชาอร่อย และหนุ่มหล่อเต็มเรื่องไปหมดค่ะ

ถ้าพลังชักนำที่ลึกลับจากหนุ่มหล่อสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านได้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Academy of Marketing Science บอกว่า ความดังของเสียงดนตรีก็มีผลชักนำให้ลูกค้าเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน แรกสุดเขาลองศึกษาในร้านกาแฟแห่งหนึ่งด้วยการเปิดเพลงที่มีระดับความดังของเสียงต่างกันแล้วเก็บข้อมูลว่าลูกค้าจะเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เช่น สลัด) ไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น ขนมเค้ก) หรืออาหารที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ (เช่น ชา กาแฟ) ผลพบว่าเมื่อร้านเปิดเพลงเสียงเบาๆ ลูกค้าจะเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ฟังเพลงเสียงดัง เขาทดลองอีกครั้งโดยใช้ดนตรีเฮฟวี่เมทัลบ้าง โดยแบ่งเป็นกลุ่มเสียงเบาและเสียงดัง ผลก็ยังสอดคล้องกับการศึกษาเดิม คือลูกค้าที่ฟังดนตรี
เฮฟวี่เมทัลเสียงเบาจะสั่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากลุ่มที่ฟังเสียงดังถึงเท่าตัว นอกจากนั้นเขาเพิ่มการปิดเสียงดนตรีไปอีกทางเลือกหนึ่ง ผลพบว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรีกับดนตรีเสียงดังจะเลือกอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในระหว่างที่กลุ่มที่ฟังดนตรีเสียงเบาจะเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า ผู้วิจัยอธิบายว่าดนตรีเสียงเบาส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและความรู้สึกผ่อนคลายนี้ทำให้อยากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ถ้ามีดนตรีเสียงเบาๆ ในโรงพยาบาลอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและอยากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นก็ได้ค่ะ ไม่แน่ใจว่าถ้าหมอพูดด้วยเสียงเบาๆ นุ่มนวลชวนให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย บางทีผู้ป่วยอาจจะยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอในการรักษาสุขภาพได้เหมือนกัน จะไปทดลองปฏิบัติดูนะคะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image