รู้ทัน-เอาตัวรอด ในโลก’สมัยใหม่’ สงครามลับ ก่อการร้าย และความตื่นกลัว

คล้ายกับว่าไม่มีสถานที่แห่งไหนบนโลกใบนี้ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยได้อีกแล้ว เพราะนับแต่เหตุการณ์ “9/11” ไล่เรียงมาจนถึงเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ล่าสุดก็ได้ทำให้โลกทั้งใบตกอยู่ในความตื่นกลัวการก่อการร้าย หรือสงครามลับที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ในฐานะผู้ให้ข่าวสาร ความรู้ และมุมมองแง่คิดกับสังคมเรื่อยมา “สำนักพิมพ์มติชน” มีผลงานที่เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ตีพิมพ์อยู่หลายเล่ม และล่าสุด 3 ผลงานที่จะช่วยฉายภาพให้เห็นถึงเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด ได้แก่ THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ, ISIS : เจาะลึกกองกำลังรัฐอิสลาม และ The Way Of the Knife เจาะลึกสงครามลับซีไอเอ

ทั้งหมดได้มีการเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 ณ ห้องมีตติ้งรูม 4 ที่ใช้เป็นสถานที่พูดคุยในวันดังกล่าว มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาจนเนืองแน่น

โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา, กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระด้านการก่อการร้าย ผู้เขียนหนังสือ THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ และ ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์มติชน ผู้แปลหนังสือ ISIS : เจาะลึกกองกำลังรัฐอิสลาม

Advertisement

กับคำถามแรกที่เอ่ยขึ้น “การก่อการร้ายคืออะไร?”

นิยามคำว่า “ก่อการร้าย”

กับเป้าหมายทำไมต้องเป็น “ยุโรป”?

“สำหรับคำถามนี้ ต้องบอกก่อนว่านิยามของคำว่าการก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน”

“อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ได้มีคำนิยามเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ครอบคลุมมากที่สุด โดย อเล็กซ์ ชมิด นักวิชาการด้านการก่อการร้าย ว่า เป็นการก่อความรุนแรงทางการเมืองชนิดหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์หลักในการส่งเสียงแสดงออกของตัวเองหรือข้อเรียกร้องถึงตัวรัฐ”

Advertisement

นี่คือสิ่งที่กฤดิกรเริ่มต้น ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อว่า ส่วนเหยื่อของการก่อการร้ายนั้นจะเป็นการเลือกมาแบบสุ่ม ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นใคร และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

ขณะที่สมัยก่อนเมื่อมีสงคราม เราก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในพื้นที่สงคราม แต่การก่อการร้ายเป็นรูปแบบของการก่อความรุนแรงที่แทบจะไม่มีโอกาสในการป้องกันได้

“อย่างไรก็ตามนิยามของชมิดยังคงมีข้อบกพร่องคือนิยามของคำว่าความรุนแรงของคนเราที่ไม่เท่ากัน อย่างการรัฐประหารปี 49 บางคนก็มองว่าไม่รุนแรง ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นความรุนแรง ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่าขนาดใดถึงเรียกว่าความรุนแรง แต่ถึงอย่างไรก็เป็นคำนิยามที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกในเวลานี้ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการก่อการร้ายเป็นการสมาทานความคิดก่อนโลกสมัยใหม่เข้ามาในโลกสมัยใหม่” นายกฤดิกรกล่าว

เมื่อถามว่าผู้ก่อการร้ายพยายามส่งสารไปถึงใคร กฤดิกรบอกว่า “การก่อเหตุที่ยุโรปไม่ได้มีเป้าหมายในการส่งสารไปถึงคนยุโรป แต่เป็นคนในพื้นที่ของเขาเองมากกว่า”

“จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ผู้คนพยายามอพยพหนีไปยังยุโรป ซึ่งเปรียบเสมือนกับความหวังของพวกเขาในการเริ่มต้นชีวิตใหม่”

“ดังนั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงไปก่อเหตุที่นั่นเพื่อที่จะบอกว่าความหวังของคนเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะหนีไปไหนพวกเขาก็ตามไปได้ อีกทั้งยังเป็นการทำให้คนในยุโรปกลัวผู้อพยพอีกด้วย”

“การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการทำลายยุโรป เพราะการก่อการร้ายเพียงครั้งสองครั้ง ไม่สามารถที่จะล้มประเทศในยุโรปได้”

“แต่เป็นการส่งสารแก่คนในพื้นที่ที่กำลังจะอพยพว่าเลิกล้มที่จะหนีและมาเข้าร่วมกับเราดีกว่า”

จากซ้าย จรัญ มะลูลีม, กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
จากซ้าย จรัญ มะลูลีม, กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“อิสลาม” หาใช่ความรุนแรง

และหากไร้ซึ่ง “มุสลิม” การก่อการร้ายก็ยังคงอยู่

ปัจจุบันมีความพยายามทำให้การก่อร้ายถูกมองว่าเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม?

จรัญ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง ได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วคำว่าอิสลามนั้นหมายถึงสันติภาพ ซึ่งเป็นชื่อของศาสนา รวมถึงคำสอนยังต่อต้านการใช้ความรุนแรง

“ดังนั้นผู้ที่นิยมความรุนแรงนั้นเป็นผู้ที่กระทำการขัดกับหลักทางศาสนา อีกทั้งศาสนาอิสลามยังต่อต้านวัตถุนิยมสุดโต่ง และจิตนิยมสุดโต่ง พร้อมให้ดำเนินทางในทางสายกลางอีกด้วย ที่ไม่ตึงในทั้งด้านวัตถุและจิตจนเกินไป”

อย่างไรก็ตาม จรัญได้เสริมว่า ทั้งนี้มีสองสิ่งที่เป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่สามารถให้กระทำได้ในศาสนาอิสลาม หนึ่งคือ การหย่าร้าง และสองคือ สงคราม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สุดท้ายที่พึงกระทำได้เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการอื่น

“แต่สงครามในที่นี้เป็นสงครามเชิงป้องกันมากกว่ารุกราน ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการตีความที่สุดโต่งและไม่อยู่ในหลักศาสนาอิสลาม”

“ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่น่าคิดคือ ทำไมเด็กเยาวชนในประเทศยุโรปจึงให้ความสนใจกับแนวคิดของไอซิสและเดินทางไปเข้าร่วม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการหาคำตอบต่อไป”

จรัญกล่าวอีกว่า อีกกรณีหนึ่งเรามีความเข้าใจผิดว่าการระเบิดพลีชีพมีจุดเริ่มต้นที่ตะวันออกกลาง แต่ความจริงแล้วมีจุดเริ่มต้นในประเทศศรีลังกา และจึงค่อยมีการแพร่กระจายออกไป

“ทั้งนี้ การระเบิดพลีชีพถือเป็นการฆ่าตัวตายซึ่งถือเป็นความผิดบาปในศาสนา และเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ”

“ขณะที่ผู้ที่นิยมความรุนแรงและตีความไปทางความรุนแรงเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การที่จะเหมารวมว่าอิสลามทั้งหมดเป็นผู้นิยมความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

“หากได้มีโอกาสศึกษาจะเห็นว่าหลักการอิสลามไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจของความรุนแรง มีเพียงแต่การสละชีพเพื่อศาสนาในทางที่ปกป้องศาสนาจากการถูกรุกราน ไม่ใช่เป็นการไปรุกรานผู้อื่น”

“ที่สำคัญคือ หากโลกนี้ไม่มีศาสนาอิสลาม ไม่มีมุสลิม จริงๆ ส่วนตัวก็เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ก็จะไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด” จรัญทิ้งท้าย

ที่มาของ “ไอเอส”

การรุกรานอย่างขาดความเข้าใจ

ปิดท้ายด้วย ไพรัตน์ ผู้แปลหนังสือ ISIS : เจาะลึกกองกำลังรัฐอิสลาม ซึ่งได้เริ่มต้นว่า จากทั้งหมดเราสามารถมองเห็นภาพได้ว่าไอเอสเกิดขึ้นมาจาก 3 ส่วน

“1.มาจากองค์ความคิดรวมที่ว่า จะใช้วิธีใดในการต่อสู้กับฝ่ายตะวันตกที่มีอำนาจมีอาวุธเหนือกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอเอสได้รับความคิดมาจากโอซามา บินลาเดน ซึ่งได้รับแนวคิดมาจากทางสหรัฐ ผ่านทางซีไอเอที่เข้ามาช่วยฝึกเป็นกองกำลังในการต่อต้านการเข้ามายึดครองอัฟกานิสถานของโซเวียตอีกทีหนึ่ง”

“2.ไอเอสจะไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการบุกและเข้าไปยึดครองอิรัก ซึ่งสหรัฐในตอนนั้นมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือเข้าไปก่อนเพื่อโค่นซัดดัม แต่ไม่ได้มองเห็นความซับซ้อนของสังคมอิรักเลยแม้แต่น้อย”

“เห็นได้ชัดว่าเมื่อโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ที่นับถือนิกายสุหนี่ สหรัฐก็นำอำนาจไปให้กับนิกายชีอะห์โดยทันที โดยไม่ทำความเข้าใจสังคมอิรัก อันเป็นการผลักให้ผู้ที่นับถือนิกายสุหนี่หลายกลุ่มต้องไปเข้าร่วมกับการก่อการร้าย”

“3.ตัวซัดดัมเอง ที่ก่อนถูกโค่นล้มได้พยายามสร้างระบอบที่ใช้ในการกุมอำนาจต่อเนื่องขึ้นมา อันเป็นระบอบที่อิงอยู่กับอำนาจของเครือข่ายสืบราชการลับ ทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ โดยให้สิทธิคนที่อยู่ในอำนาจทำทุกอย่างได้ตั้งแต่ค้าของเถื่อนไปจนถึงฆ่าคน”

“แต่เมื่อซัดดัมถูกโค่นล้ม ถามว่าคนพวกนี้หายไปไหน คำตอบคือมาเข้ากับคนที่เคยมีแนวคิดในการก่อการร้าย อันเป็นองค์ประกอบส่วนที่สามที่ทำให้เกิดไอเอส”

ไพรัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่ว่าศาสนาอิสลามหรือมุสลิมเป็นที่มาของขบวนการก่อการร้ายนั้น ส่วนตัวมองว่าขบวนการก่อการร้ายเป็นขบวนการทางการเมือง เป็นขบวนการเพื่อแสวงหาอำนาจทางการปกครอง แสวงหาความเป็นรัฐ โดยใช้ศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือมากกว่า

ขณะคำถามที่ว่าทำไมจึงมีคนไปเข้าร่วม ไพรัตน์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าคนที่เดินทางไปเข้าร่วมมักจะถูกจูงใจด้วยการตีความทางศาสนา ถูกจูงใจด้วยชุดความคิดที่มองว่าสิ่งเหล่านี้ดีกว่า หรือมีค่ากว่าชีวิตของตนเอง

“ขณะที่อีกส่วนไปเข้าร่วมเพราะเป็นกลุ่มผู้อพยพที่ถูกกดขี่และถูกบีบด้วยสภาพทางสังคม มองว่าตัวเองไม่มีราก ไม่มีบ้าน ถูกคนในยุโรปมองว่าเป็นคนนอก แต่เมื่อกลับไปที่บ้านเกิดก็ถูกมองว่าเป็นคนเบลเยียม ฝรั่งเศส”

“การไม่ถูกยอมรับ ไม่มีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิต จึงถูกโน้มน้าวชักจูงให้เข้าร่วมโดยกลุ่มไอเอสได้” ไพรัตน์กล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเสวนาเท่านั้น

ซึ่งสามารถติดตามย้อนหลังได้ในเพจ Matichon TV และอ่านศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือทั้ง 3 เล่ม

เพื่อที่จะเข้าใจคำว่า “ก่อการร้าย” กันมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image