อาศรมมิวสิก : ‘ดาวรุ่ง’นิยามความหมายที่ศิลปินต้องก้าวข้ามให้หลุดพ้น : โดยบวรพงศ์ ศุภโสภณ

‘ดาวรุ่ง’นิยามความหมายที่ศิลปินต้องก้าวข้ามให้หลุดพ้น

ทันทีที่จบโน้ตตัวสุดท้ายในบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตของบรามส์ (Johannes Brahms) นั้น เริ่มแรกผู้เขียนตั้งใจจะไม่เขียนถึงคอนเสิร์ตโดยวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) ในครั้งล่าสุดที่บรรเลงผ่านพ้นไปในค่ำวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวผู้เขียนเองไม่ได้ชื่นชมการบรรเลงเดี่ยวของ มายูโกะ คามิโอ (Mayuko Kamio) ในระดับ “ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ” หรือ “เป็นประสบการณ์ดนตรีครั้งสำคัญในชีวิต”

แน่นอนที่สุดเธอเป็นศิลปินเดี่ยวที่สูงด้วยฝีมือและพละกำลังที่ใจถึงเลือกโรแมนติกคอนแชร์โตฟอร์มยักษ์อย่างผลงานของบรามส์ชิ้นนี้มาแสดง และสามารถยืนปักหลักนำพาบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ประดุจขุนเขานี้ผ่านการแสดงไปได้ด้วยดีแบบไม่มีลุ้น ปฏิกิริยาของผู้ชมจำนวนมากชื่นชมการแสดงนี้อย่างแทบจะใกล้ๆ คำว่าถล่มทลาย แต่ตัวผู้เขียนมิได้รู้สึกอะไรมากมายถึงเพียงนั้น จึงไม่อยากเขียนอะไรถึงเธอในตอนแรก

แต่เมื่อเสร็จสิ้นการบรรเลง ซิมโฟนีหมายเลข 2 ของ “ฌอง ซิเบลิอุส” (Jean Sibelius) ในครึ่งหลัง ผู้เขียนก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะความน่าประทับใจในซิมโฟนีบทนี้ โดยสมาชิกนักดนตรีในวง RBSO ล้วนๆ ในครั้งนี้มีประเด็นอะไรๆ ให้น่าคิด, น่าพูดถึง และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

โดยเฉพาะในการตั้งทฤษฎีหรือข้อสังเกตที่ว่า ความสำเร็จในการบรรเลงของวงออเคสตราล้วนๆ นั้น ความสำคัญ, ปัจจัยสำคัญที่เอื้ออำนวยนั้นอยู่ที่ความสามารถของตัวนักดนตรีในวงเอง หรืออยู่ที่ความสามารถของตัววาทยกรผู้อำนวยเพลงกันแน่ มันต้องอยู่ที่ทั้งสองส่วนและทั้งสองส่วนที่ว่านี้ส่วนใดจะมีความสำคัญมากกว่ากัน

นี่ยังคงเป็นประเด็นคำถามที่ตั้งกันเสมอมาในทุกยุคสมัย และคำตอบ (ความเชื่อ) ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันตามประสบการณ์ทาง
ดนตรีที่ได้รับเท่าที่ผ่านมา แม้คำตอบจะยังไม่อาจสรุปได้ แต่มันก็ยังเป็นคำถามที่จุดประกายความน่าสนใจให้กับผู้ฟัง-ผู้รักดนตรีได้เสมอ

สำหรับวงออเคสตราในระดับ “ทุนนิยม” นานาชาติประเภท 20 อันดับแรกของโลก ประเด็นเหล่านี้ยังไม่น่าสนใจมากนักเพราะทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นของสำเร็จรูป-ชิ้นส่วนสำเร็จรูปกันไปหมด เมื่อทุกชิ้นส่วน (สมาชิกนักดนตรีทุกคน) คัดเลือกมาอย่างเป็นเลิศ ก็กลายเป็นรถยนต์สมรรถนะเยี่ยมคนขับ (วาทยกร) ก็ไม่ต้องออกแรงมาก

Advertisement

สำหรับการบรรเลงของ RBSO ในคืนวันนั้น บทเพลงสรรเสริญพระบารมี (โดยกลุ่มเครื่องสายล้วน) มีความไพเราะสะดุดหูทีเดียว และนี่ก็แทบจะกลายเป็นดัชนีชี้วัด, ทำนายความพร้อมของวงได้อย่างกลายๆ

และข้อสังเกตนี้ก็ไม่ผิดพลาดเพราะเมื่อถึงบทเพลงเอกของรายการคือ ซิมโฟนีหมายเลข 2 ของซิเบลิอุส กลุ่มเครื่องสายของ RBSO ก็โชว์ฟอร์มได้อย่างสวยงามจัดจ้านด้วยสีสันในแบบ “Sibelius Sound” อย่างแท้จริง

ข้อสังเกตที่น่าตั้งคำถามก็คือเหตุใดความสำเร็จในครั้งนี้จึงสูงกว่า การบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของอันโตนิน ดวอชาค (Antonin Dvorak) ที่บรรเลงผ่านไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายในสถานที่เดียวกัน, วาทยกรคนเดียวกัน, วงดนตรีวงเดียวกันภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การบรรเลงซิมโฟนีในสองครั้งนี้แตกต่างกันได้อย่างมากมายเพียงนั้น

ข้อสังเกตจากการติดตามการแสดงของวงดนตรีนี้มายาวนาน การใช้นักดนตรีสลับกันไป-มาอย่างไม่หยุดนิ่งในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา และการที่นักดนตรีรุ่นเก่าที่สูงด้วยประสบการณ์หลายคนห่างหายไปในหลายคอนเสิร์ตนั่นเอง ที่ทำให้เกิดความไม่เสถียรในด้านการบรรเลง และนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของดวอชาคที่เพิ่งบรรเลงผ่านไปเมื่อสองเดือนก่อนต่ำกว่า ซิมโฟนีหมายเลข 2 ของซิเบลิอุสในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่อำนวยเพลงโดยวาทยกรที่สูงด้วยความสามารถอย่าง “มิเชล ทิลคิน” (Michel Tilkin) คนเดียวกัน

แต่ในครั้งนี้สังเกตได้ว่า RBSO ได้นักดนตรีรุ่นใหญ่ลายครามระดับมือชั้นครูกลับคืนมา โดยเฉพาะตำแหน่งที่เป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทสำคัญในการนำ (Lead) การบรรเลงของวง อย่างปี่โอโบ (Oboe) โดย ดำริห์ บรรณวิทยกิจ และนักทรัมเป็ต (Trumpet) อย่าง วานิช โปตะวนิช ซึ่งนักดนตรีในตำแหน่งผู้นำวง ทั้งสองคนนี้ ห่างหายจาก RBSO ไปหลายคอนเสิร์ต นี่อาจจะฟังดูว่าไม่ใช่ข้อสรุปที่ดีหรือน่าเชื่อถือ ที่ว่าการกลับมาของนักดนตรีทั้งสองคนนี้คือความสำเร็จของ RBSO ในครั้งนี้ แต่เราก็สามารถสัมผัสได้ว่าการกลับมาของนักดนตรีในตำแหน่งสำคัญเช่นว่านี้ ได้มีส่วนช่วยนำพาทิศทางการบรรเลงของวงให้มีความแน่ชัดในรูปแบบและลีลามากยิ่งขึ้น ซึ่งเราไม่อาจพึ่งพาหรือฝากความหวังไว้ที่ตัววาทยกรเพียงคนเดียวได้

ในครั้งนี้ผู้เขียนขอออกความเห็นบางอย่างที่อาจสร้างความไม่เห็นด้วยบ้าง นั่นก็คือผู้เขียนให้ความสำคัญกับการ กลับมาของนักโอโบอย่างดำริห์ บรรณวิทยกิจ เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเขาคือพระเอก (ที่ไม่ต้องออกมาแสดงตัวหน้าวง) ในคืนวันนั้น ทั้งในท่อนที่ 3 (Scherzo) ช่วงแนวทำนองที่สอง (Trio) ซึ่งซิเบลิอุส เขียนแนวทำนองเดี่ยวปี่โอโบได้อย่างทั้งงดงามและสง่างามราวกับเป็นโอโบคอนแชร์โต ดำริห์แสดงให้เห็นถึงศิลปะแห่งการสร้างประโยคเพลงอันงดงามประดุจเพลงร้อง บุคลิกภาพทางเสียงโอโบของเขายิ่งใหญ่และนำพาทิศทางการดำเนินไปของอารมณ์ในบทเพลงได้อย่างชัดเจน

ภาวะของการสร้างความงดงามทางดนตรีแบบนี้ เป็นเรื่องของความสามารถ+ประสบการณ์เฉพาะตัวของนักดนตรีที่วาทยกรไม่อาจกำหนดใดๆ ได้จากเพียงการโบกไม้บาตอง (Baton) ไป-มาในอากาศ

อีกช่วงหนึ่งแห่งความประทับใจก็คือ ท่อนช้า (Adagio) จากไวโอลินคอนแชร์โตของบรามส์ ที่เขาเขียนแนวทำนองเปิดท่อนสำหรับปี่โอโบอย่างยืดยาวและงดงาม ก่อนที่ผู้บรรเลงเดี่ยวไวโอลินจะรับช่วงบรรเลงต่อ ณ จุดนี้เองที่ผู้เขียนขอ กล่าวอะไรที่อาจจะเป็นจุดล่อแหลมไปบ้างนั่นก็คือ ในคืนวันนั้นดำริห์ แสดงถึงศิลปะการสร้างประโยคเพลงในดนตรีจังหวะช้าอย่างกินใจนี้ได้อย่างชัดเจนกว่า การบรรเลงเดี่ยวของ มายูโกะ คามิโอเสียอีก

ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธเรื่องความเป็นเลิศทางเทคนิคและพละกำลังทางดนตรีอันเต็มล้นปรี่ในตัวเธอ แต่เรื่องศิลปะแห่งการสร้างประโยคเพลงทางดนตรีนั้น ขอกล่าวได้อย่างไม่กลัวถูกประณามเลยว่า เธออาจจะเรียนรู้ได้จากการเดี่ยวโอโบเปิดท่อนของดำริห์ได้ด้วยซ้ำไป

ถึงจะมีมาตรฐานการบรรเลงที่ขึ้น-ลงอย่างน่าใจหายในรอบหลายๆ เดือนที่ผ่านมานี้ แต่ซิมโฟนีหมายเลข 2 ของซิเบลิอุส ในครั้งนี้ยังคงเป็นแสงสว่างและความหวังของ RBSO ได้ว่าในยามที่พวกเขาทำอะไรๆ ได้ดีขึ้นมานั้น มันจะเป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยพลัง, ความอุตสาหพยายาม, ความมานะ, ความจริงใจ และความลึกซึ้งในกระแสเสียงดนตรีที่บางครั้งพวกเราผู้ฟังก็หาไม่ได้ในการบรรเลงของวง “ระดับโลก” บางวง ที่ยังเห็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเป็นเพียงที่ซ้อมใหญ่

ประเด็นที่อยากจะกล่าวต่อไปอีกก็คือ การกลับมานำทิศทาง (Lead) ของกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง (กลุ่มแตร) โดย วานิช โปตะวนิช (หัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ต) ได้อย่างสวยงามและกลมกล่อมละเมียดละไมมากขึ้น หัวหน้ากลุ่มทั้งสองคนนี้เองที่อยู่ในวัยที่กำลังสูงสุดด้วยความพร้อมทางประสบการณ์ทุกๆ ด้าน สามารถเปล่งประกาย (Aura), รัศมีผู้นำทิศทางทางดนตรี ให้เราสัมผัสได้แม้จะไม่ได้ออกมายืนกำกับอยู่หน้าวงก็ตาม สำหรับกลุ่มเครื่องสายนั้นพวกเขาสามารถสร้างสรรค์ “เสียงซิเบลิอุส” ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง (เปรียบเทียบกันในรอบหลายๆ เดือนที่ผ่านมา) มีความกลมกลืน, มีพลัง, มีความร้อนแรงในระดับพอเหมาะพอดี กับดนตรีในแบบฉบับของซิเบลิอุส

ดูจะไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ถ้าเราจะไม่กล่าวถึงคุณงามความดีและความเป็นเลิศทางดนตรีของ มิเชล ทิลคิน ซึ่งผู้เขียนมีความปักใจเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า วาทยกรที่เคยผ่านประสบการณ์เป็นนักดนตรีในวงออเคสตรามาก่อนแบบเขา จะมีข้อได้เปรียบ, รัศมีและบารมีอะไรบางอย่างที่สามารถสื่อสารทางดนตรีกับนักดนตรีในวงได้ดีกว่า

ความสำเร็จทางดนตรีในครั้งนี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์, ตีความ และ “ฝึกซ้อม-เคี่ยวกรำ” ในครั้งนี้ เพียงแต่สิ่งที่อยากจะสื่อสารก็คือ เรื่องของวงออเคสตรานั้นหากความสามารถเฉพาะตัว, ความฟิต-ความพร้อมของนักดนตรียังไม่มากพอ เราไม่อาจจะฝากความหวังทั้งหมดไว้ได้กับวาทยกรเพียงคนเดียว ที่มีเพียงไม้บาตองอันเดียวอยู่ในมือ (และไม้บาตองก็ไม่มีเสียงเสียด้วย!) ถ้าเราได้โค้ชฟุตบอลชั้นเยี่ยมในการวางแผนเดินเกมอย่างสุขุมรัดกุม, มีผลงานสร้างชัยชนะมามากมาย แต่หากต้องมาควบคุมทีมที่มีแต่นักเตะไม่ฟิตซ้อม, ไม่มีแรงวิ่ง, ไม่มีหัวหอกกองหน้าอันแหลมคมที่จะเจาะประตู เขาก็ไม่อาจสร้างชัยชนะในเกมนั้นได้

วงออเคสตราก็เฉกเช่นเดียวกัน

และประเด็นที่เป็นกรณีศึกษาแบบนี้ วงที่ยังไม่ติดลมบนแบบวงระดับโลกนี่แหละจะเป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดเจนดีที่สุด เพราะเราต้องเฝ้ามองติดตามพัฒนาการกันอย่างยาวนานให้เห็นและรู้สึก, สัมผัสได้ถึงปัจจัยปรุงแต่งในทุกองค์ประกอบ

สําหรับตัวของ “ดาราใหญ่” อย่างเป็นทางการในครั้งนี้คือ มายูโกะ คามิโอ นั้นเธอเป็นศิลปินในระดับ “นานาชาติ” ที่มีเกียรติประวัติรับประกันอย่างแน่นหนา ในทุกระดับ ศิลปินผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันไวโอลินรายการ “Tchaikovsky Competition” จากรัสเซีย (ประจำปี ค.ศ.2007), การออกแสดงเดี่ยวกับบรรดาวงซิมโฟนีออเคสตราและวาทยกรระดับโลกที่ล้วนมีชื่อเสียงอยู่ในระดับอ้างอิงตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

อีกทั้งเธอยังมีผลงานบันทึกเสียงกับบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่อย่าง RCA Red Seal และโซนีคลาสสิก (Sony Classical) เธอใช้ไวโอลินที่เสมือนกระบี่คู่ใจอย่าง สตราด ในปี ค.ศ.1721 (Rabinff Stradivari 1721) เกียรติยศซึ่งเธอครอบครองอยู่ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้เขียนคาดหวังกับการแสดงของเธอตามเกียรติคุณที่รับประกันอยู่ทั้งหมดนี้เป็นอย่างสูง ซึ่งการแสดงเดี่ยวคอนแชร์โตของบรามส์ในครั้งนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงเทคนิคและพละกำลังที่ไม่ธรรมดาในตัวเธอ

คอนแชร์โตของบรามส์ชิ้นนี้เป็นผลงานฟอร์มยักษ์ที่กินเวลาราวๆ 40 นาที (ในครั้งนี้ทางวงไม่ต้องสรรหาเพลงโหมโรงมาบรรเลงเปิดรายการเพราะบทเพลงนี้เพียงเพลงเดียวก็ยาวพอสำหรับครึ่งแรกแล้ว) เธอได้พิสูจน์ถึงการฟิตซ้อมที่สูงด้วยระเบียบวินัยความรับผิดชอบในแบบฉบับคนญี่ปุ่น (ที่เราน่าเอาเป็นแบบอย่าง) ยืนปักหลัก บรรเลงเดี่ยวได้อย่างเต็มกำลังในทั้ง 3 ท่อน

แต่…ผลงานของบรามส์ชิ้นนี้ไม่ได้ชี้วัดถึงในด้านพละกำลังและเทคนิค มันยังชี้วัดถึงประสบการณ์ทางความคิด, ความสุกงอมในทางวุฒิภาวะทางดนตรีในตัวศิลปินในระดับลึกซึ้ง ตรงนี้เองเป็นประเด็นที่อ่อนไหวจนเมื่อแรกเริ่มผู้เขียนไม่อยากจะ “แตะต้อง” เธอเนื่องจากเห็นปฏิกิริยาตอบรับอย่างชื่นชมใกล้ๆ จะถล่มทลายจากผู้ชมในคืนวันนั้น

ลีลาการบรรเลงของเธอยังเต็มไปด้วยกำลังโดยตลอดทุกช่วงจนแทบจะเบาไม่ลง, Dynamic (เฉดแห่งความดัง-ค่อยของเสียง) ที่
ออกไปในทางดุดันราวกับดินระเบิด เจิดจ้าร้อนแรงอย่างไม่มีหยุดหย่อน ซึ่งยังเป็นบรามส์ ในนิยามความหมายที่ผู้เขียนเห็นว่าเธอยังเก็บได้ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในอีกด้านหนึ่งของความเป็นบรามส์เท่าที่ผู้เขียนรับรู้มาตลอดชีวิต นั่นคือมิติในเฉดแห่งความละเมียด, สุภาพ, ละเอียดอ่อนโยนล้ำลึกในมิติแห่งอารมณ์ความรู้สึกตลอดไปจนถึง “รูปทรงทางดนตรี” ที่ผู้เขียนยังรู้สึกว่า เธอยังก้าวเดินไปไม่ถึงจุดนั้น

ความคิดนี้ได้รับการยืนยันเมื่อเธอเลือกบรรเลงเพลงแถม (Encore) ด้วย “คาพริซ” หมายเลข 24 ของนิคโคโล ปากกานินี (Niccolo Paganini) ที่ผู้เขียนรู้สึกได้ชัดเจนอย่างมิได้ต้องการเสียดสีใดๆ ว่านี่แหละคือผลงานที่เหมาะกับเธออย่างแท้จริงเพราะมันทั้งลื่นไหล, เป็นธรรมชาติ อย่างแท้จริงเธอสามารถอวดสีสันของบทเพลงและกระบี่คู่ใจ (สตราด ปี 1721) ได้อย่างไร้ข้อกังขาใดๆ ทั้งปวง

ผลงานที่ไม่เน้นรูปทรงทางดนตรี และความละเมียดลึกซึ้งแบบบรามส์ มายูโกะ คามิโอ เป็นศิลปินที่เราควรใช้เธอมาเป็นบทเรียน ในการศึกษาหาประสบการณ์ทางดนตรีกับเรามากกว่าเพียงที่จะสยบยอมกับชื่อเสียงเกียรติคุณ, เทคนิคอันเป็นเลิศและพลังดนตรีอันร้อนแรงในตัวเธอ โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงเธอในด้านการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ชื่นชมเธอ ก็คือเธอน่าจะก้าวพ้นจากนิยามความหมายของความเป็น “ดาวรุ่งพุ่งแรง” ได้แล้ว และเสริมด้วยวุฒิภาวะความสุขุมลึกซึ้งเพื่อที่จะก้าวให้ถึงความเป็น “ตำนานระดับอ้างอิง” นั่นแหละคือหนทางสำหรับเธอในวันข้างหน้า

สำหรับ RBSO เพื่อนยากของเรา ณ วันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาควรเลิกฝากความหวังทั้งหมดไว้กับตัววาทยกรเพียงคนเดียวได้แล้ว แก่นแห่งเนื้อในคือความฟิตพร้อมของสมาชิกนักดนตรีในวงยังเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จำเป็นเสมอ วาทยกรไม่ใช่พ่อมดน้อยแฮร์รี พ็อตเตอร์ ที่จะใช้ไม้วิเศษในมือเนรมิตเสียงดนตรีให้งดงามได้ด้วยเพียงตัวคนเดียว

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image