‘ภูเก็ต’ไม่ได้มีแต่การท่องเที่ยว รู้จัก’ศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ด’สร้างรายได้

หมู เห็ด เป็ด ไก่ คือวลีติดปากคนไทยเวลาพูดถึงวัตถุดิบในการประกอบอาหาร

แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่สินค้าราคาแพงมหาโหดไม่เว้นแม้แต่สินค้าของกิน ผู้ที่สามารถผลิตเองได้ดูเหมือนจะมีภาษีที่ดีกว่า

จ.ภูเก็ต เมื่อเอ่ยชื่อแล้ว หลายคนอาจนึกภาพความเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ หาดทรายและท้องทะเล ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนในแต่ละปีเป็นปริมาณล้นหลาม

อาหารที่นักท่องเที่ยวนิยมกินมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ต้มยำกุ้ง” ที่นอกจากกุ้งแล้ว วัตถุดิบที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องมีนั่นก็คือ “เห็ด”

Advertisement

ภูเก็ตเองถือว่าเป็นจังหวัดที่ใช้เห็ดประกอบอาหารเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ทว่า จ.ภูเก็ต กลับต้องนำเข้า “เห็ด” จากที่อื่นกว่า 60% ของความต้องการใช้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตนิยมประกอบธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากกว่าการทำการเกษตรที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้กำไร ประกอบกับไม่มีพื้นที่รองรับในการทำการเกษตรที่เพียงพอในจังหวัด

แต่มีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่สวนกระแสการทำธุรกิจท่องเที่ยวแล้วหันมาทำการเกษตรเพาะเห็ดขาย

โดยการรวมกลุ่มกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่” ตั้งอยู่หมู่ 8 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

Advertisement
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด อาทิ น้ำเห้ด และแหนมเห็ด เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด อาทิ น้ำเห้ด และแหนมเห็ด เป็นต้น

“ติ่ง” อรรถพล ข้อติโก้ รองประธานศูนย์การเรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ เล่าว่า เดิมทีมีการเพาะปลูกเห็ดกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มาก จนมีการรวมกันจัดตั้งกลุ่มเห็ดอินทรีย์ จากนั้นก็ต่อยอดเพิ่มขึ้นอีก มีการเพิ่มกิจกรรม จุดเรียนรู้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจัดจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดให้กับชาวบ้าน ที่ต้องการเพาะเห็ดเอง ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ปี 2554 หมู่บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับอยู่ดีกินดี

“พอได้รางวัลเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จึงมาคิดต่อกันว่าจะทำอะไรต่อดี แนวคิดของเราคือแนวคิดที่ค่อนข้างสวนทางกับคนใน จ.ภูเก็ต ที่นิยมประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่กลุ่มของเรากลับเลือกทำการเกษตร อย่างการเพาะเห็ด ซึ่งเราตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นความต้องการของตลาดเห็ดในจังหวัด ที่ในหนึ่งวันภูเก็ตใช้เห็ดในการประกอบอาหารกว่า 3-5 ตัน แต่กลับผลิตได้เพียง 40% ของความต้องการใช้”

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ มีสมาชิกทั้งหมด 29 คน ซึ่งทางศูนย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาศักยภาพของการทำงานเพาะเห็ดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด มีการร่วมระดมความคิดเห็น สรุปความต้องการของชุมชน ทั้งการให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะเห็ดแบบครบวงจร การผลิตหัวเชื้อที่มีคุณภาพ การทำเชื้อและเพาะเห็ดเศรษฐกิจ

กิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ที่นับว่าเป็นเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์ขึ้นมา เลยก็ว่าได้นั้นคือ 1.การผลิตเห็ดจำหน่ายตลาดใกล้เคียง, 2.แปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น แหนมเห็ด น้ำเห็ด เห็ดสวรรค์ ส่งขายทั่วไทย, 3.ผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า, 4.เป็นจุดการเรียนรู้ของชุมชน, 5.เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน, 6 ส่งเสริมให้คนในชุมชนเพาะเห็ดทานเอง, 7.ทำกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

ชาวบ้านร่วมสาธิตการทำก้อนเชื้อเห็ดร่วมกับทีมเมืองไทยประกันชีวิต
ชาวบ้านร่วมสาธิตการทำก้อนเชื้อเห็ดร่วมกับทีมเมืองไทยประกันชีวิต

ปี 2557 หมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ ถูกแต่งตั้งให้เป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งแรกใน จ.ภูเก็ต

เป็นผลมาจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนในชุมชนที่ช่วยกันขับเคลื่อนการทำงาน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านทางคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

แน่นอนว่าการจะเป็น ศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจร สถานที่ในการจัดตั้งก็เป็นปัจจัยสำคัญ เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงสถานที่ให้มีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การติดฝ้าเพดานห้องผลิตน้ำเห็ด ห้องอุปกรณ์ ปูพื้นกระเบื้อง ปรับปรุงจุดเพาะเห็ดนางฟ้า ฯลฯ ซึ่งได้มีพิธีมอบอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นประธานส่งมอบ

แม้ว่าศูนย์เรียนรู้การผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ แห่งนี้จะเป็นเพียงศูนย์เล็กๆ ในจังหวัดภูเก็ต แต่ผลการตอบรับจากภายนอกค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดี

คนในชุมชนและนอกชุมชน รวมถึงนักเรียนต่างให้ความสนใจในการทำการเกษตรมากขึ้น จนเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจน

ใกล้ความจริงในการจัดตั้งศูนย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเพื่อความยั่งยืนของสังคมเข้ามาทุกที

เมืองไทยประกันชีวิตสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ผลิตเห็ดอินทรีย์
เมืองไทยประกันชีวิตสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ผลิตเห็ดอินทรีย์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image