ถอดบทเรียน ครอบครัว-การศึกษา สร้าง “เด็ก” เเตกต่าง “เก่ง” ในทางของตัวเอง

ภาพของเด็กหลายคนที่ต้องเผชิญกับความ “คาดหวัง” จากคนรอบข้างว่าจะต้องเรียนให้ “ดี” เเละ “เก่ง” โดยไม่เข้าใจถึงความแตกต่างทางความรู้ ความสนใจ เเละความสามารถของเด็กเเต่ละคน

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ในโลกออนไลน์ได้มีการเเชร์เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่ต้องเรียนพยาบาล เพราะเป็นความคาดหวังของครอบครัว

“พี่โดนบังคับให้สอบพยาบาล เรียนจนจบ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นพยาบาลมันสบาย ดูแลพ่อแม่ได้ เเละเป็นข้าราชการ ทุกวันนี้เหนื่อยมาก เงินน้อย ไม่ได้เป็นข้าราชการ ทุกวันนี้แม่ได้แต่บอกว่าขอโทษ เพราะแม่ไม่รู้ …คืออยากจะบอกน้องๆ ว่า อย่าให้ความไม่รู้ของผู้ใหญ่มาทำลายความฝันของเรา”

เพราะเด็กเเต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้างอาจเรียนดี บ้างก็กิจกรรมเด่น หรือบางส่วนที่มีความสามารถทั้งสองด้าน เเต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เก่งเหมือนกัน จะมีความสามารถเท่ากัน

Advertisement

เนื่องจากความสามารถของเด็กเเต่ละคนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

อย่างกรณี น้องอุ้ม หรือ ฐิติกา ทวียศ เด็กหญิงวัย 4 ขวบที่มีระดับสติปัญญา หรือไอคิวโดดเด่น และได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมคนอัจฉริยะ หรือเมนซ่า (MENSA) แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมผู้มีสติปัญญาระดับสูงหลายเชื้อชาติจากทั่วทุกมุมโลก หลังจากที่ผ่านการทดสอบเวนชเลอร์ (Wechsler Preschool and Primary Scale of Intelligence) ซึ่งนักจิตวิทยาใช้วัดระดับสติปัญญาของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี พบว่าน้องอุ้มมีระดับไอคิวที่สูงถึง 135 ซึ่งมีเพียง 1% ของประชากรโลกที่มีค่าไอคิวระดับนี้ เนื่องจากค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 90-110 เท่านั้น

Advertisement

นับเป็นต้นทุนของเด็กคนหนึ่งที่มีมาตั้งเเต่เกิด สิ่งที่ต้องการหลังจากนี้คือการสนับสนุนจากครอบครัวและคนใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม เด็กที่ต้องการการส่งเสริม ไม่ได้มีเพียงเเค่เด็กที่ฉลาดหรือมีไอคิวสูงเท่านั้น แต่ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่หวังจะได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของตัวเองเช่นกัน

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี


“เด็กไม่ใช่ผ้าสีขาว แต่เป็นสีพื้น เพราะเด็กทุกคนล้วนมีคุณค่า มีความสามารถที่ต่างกัน”

เป็นคำกล่าวของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กและวัยรุ่น พร้อมให้ความเห็นว่า การส่งเสริมความรู้ความสามารถในเด็กไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ แต่เป็นเรื่องระดับประเทศ นับตั้งแต่ฝ่ายบริหารไปจนถึงครูหรือฝ่ายปฏิบัติ

“ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ที่ว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาวแต่เป็นสีพื้น หมายความว่า เด็กทุกคนล้วนมีความสามารถต่างกัน ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรส่งเสริมในสิ่งที่เด็กคนนั้นถนัดให้มากที่สุด และเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด เราพบว่าบางครั้งเด็กที่มีความสามารถในด้านหนึ่งเป็นพิเศษมักจะอ่อนวิชาการใช้ชีวิต ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องวางธงว่า เด็กอยู่บนพื้นฐานที่ต่างกัน อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เปิดโอกาสให้เขาเล่น ให้ได้รังสรรค์ จะต้องไม่มีเด็กหน้าห้อง เด็กหลังห้อง” รศ.นพ.สุริยเดวอธิบาย

พร้อมบอกเล่าถึงคำพูดคนไข้เด็กรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาโรค LD หรืออาการบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) ที่เขาจดจำได้ดี

“คนไข้เด็กรายหนึ่งของผมเคยกล่าวว่า “อย่าย่ำจุดอ่อนของผมจนแกนชีวิตผมเสีย” อันเป็นผลพวงจากระบบการศึกษาของไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมทักษะความสามารถอื่นที่เด็กคนนั้นมี แม้ว่าปัจจุบันเด็กคนนั้นประสบความสำเร็จในการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต่างประเทศไปแล้วก็ตาม” รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

และว่า สภาพสังคมไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องการเปิดรับทัศนคติใหม่ ด้วยหลักสูตรที่มีลักษณะเป็นระบบอุตสาหกรรมการศึกษาที่เด็กต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด เพราะสังคมตีค่าให้สายอาชีพวิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ มีราคาสูงกว่า ดังนั้นควรปรับแก้ให้เด็กได้เรียนตามสมรรถนะ หรือไชลด์ เซ็นเตอร์ (Child Center) ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่ระดับประถมโดยใช้หลักสูตรแกนกลางที่ “เปิดกว้างความคิด” เพียงครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งคือการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนเองซึ่งจะสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าห้องเรียนเป็นเพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ที่น่าเบื่อหน่าย จะไม่อยากมาโรงเรียนเพียงเพื่อเล่นกับเพื่อน แต่อยากที่จะเข้ามาเพื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่อีกด้วย

“นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันในสภาพแวดล้อม เช่น บ้าน ชุมชน และโรงเรียนก็มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอีกด้วย” นพ.สุริยเดวกล่าวเสริม

จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราธร


ขณะที่ จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราธร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เด็กที่มีความฉลาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเครียดสูงจากความคาดหวังของพ่อแม่และสังคมได้เช่นกัน

พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ในต่างประเทศ พบว่า มีเด็กผู้เข้าแข่งขันในรายการประเภท Child Genius มีอาการเครียดและมีพฤติกรรมก้าวร้าวจนกระทั่งทำร้ายตัวเอง ซึ่งรายการดังกล่าวเป็นการจัดแข่งขันประลองความรู้สำหรับเด็กที่มีไอคิวสูง

“เด็กเก่งก็มีความเครียดสูง จนอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวและทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นได้” จุฑาพรกล่าว

พร้อมให้ความเห็นอีกว่า สำหรับกรณีของน้องอุ้ม ที่มีระดับไอคิวสูงนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่เคสแรกของคนไทย แต่จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมและระบบการศึกษาอาจไม่เอื้ออำนวยให้เขาได้ใช้ศักยภาพที่มีในตัวเองทั้งหมด ซึ่งการสังเกตลักษณะของเด็กที่มีความฉลาด พบว่าเด็กจะมีทักษะความจำที่ดี สามารถอ่านเขียนได้เร็ว มีความสามารถพิเศษที่เด่นชัด และเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย

“ดังนั้นผู้ใหญ่ในสังคมควรปรับทัศนคติที่ดีเสียใหม่ต่อเด็กช่างถาม และสนับสนุนให้เกิดตั้งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน รวมถึงเปิดช่องทางให้เขาใช้ความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ลืมว่าควรให้การสนับสนุนในสิ่งที่เขาชื่นชอบจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการฝืนให้เขาทำกิจกรรมมากเกินไปจนความหวังดีของพ่อแม่ก็อาจทำร้ายลูกของตัวเองได้”

เมื่อถามถึงแนวทางปฏิบัติของระบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่ดูเหมือนจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นั้น จุฑาพรให้ความเห็นว่า เกิดจาก 2 สาเหตุเป็นสำคัญ อันดับแรกมาจากตัวผู้สอนที่ยึดติดหลักธรรมเนียมในหลักสูตรเดิม หรือสถาบันการศึกษานั้นไม่ให้อิสระต่อผู้สอนในการปรับเสริมเติมแต่งหลักสูตรวิชา ทำให้สถาบันการศึกษาบางแห่งยังใช้วิธีการสอนเดิมที่มีเนื้อหาล้าสมัย อันดับต่อมาคือ ตัวผู้เรียนที่ไม่พร้อมจะเป็นศูนย์กลางการเรียน ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงระบบสังคมไทยแต่เดิมที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กกล้าที่จะถาม เกรงว่าคำถามจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ทำให้อายหรือไม่กล้าถาม แม้ว่าธรรมชาติของผู้สอนจะชอบให้เกิดการโต้ตอบระหว่างกัน และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น จำนวนเด็กที่มีมากเกินไปต่อชั้นเรียนทำให้เรียนรู้กันได้อย่างไม่ทั่วถึง

จากข้อเสนอแนะข้างต้นมีความเห็นตรงกันในเรื่องการยอมรับความสามารถของแต่ละบุคคลและการส่งเสริมให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามความชอบของเด็ก ซึ่งนับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญ เเละสามารถสร้างได้ในครอบครัวด้วยการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ไม่ใช่เเค่หวังพึ่งพาระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว

ซึ่งการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด คือการทำความเข้าใจว่า การนำความสามารถของเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ดี

สอดคล้องกับ อ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคลินิกและศูนย์พัฒนาเด็กประถมและวัยรุ่น ที่มีมุมมองความเห็นที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้

อ.พญ.แก้วตาเริ่มบทสนทนาด้วยการตั้งคำถามว่า อะไรคือนิยามของคำว่า “เด็กเก่งกับเด็กที่ไม่เก่ง?”

เป็นการสะท้อนถึงมุมมองที่ว่า เด็กเเต่ละคนมีความสามารถ มีสิ่งที่ชอบเเละมีความถนัดต่างกัน ดังนั้นควรส่งเสริมทักษะความสามารถของลูกหลานที่ต่างออกไป เน้นความสำคัญของการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นภายในครอบครัวที่จะช่วยให้สมาชิกมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน

หากสังเกตพฤติกรรมของแต่ละครอบครัวเป็นภาพกว้างจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ห่างเหินกันมากขึ้น ด้วยสาเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือความเป็นส่วนตัวที่ในบางครั้งก็มาจากการเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไป ทำให้คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์น้อยลง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเเปลก เมื่อมีภาพปรากฏของผู้ปกครองต่อว่าลูกที่สอบได้คะแนนน้อย เเละพยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนพิเศษเพิ่มเติม ในมุมมองนี้ อ.พญ.แก้วตาให้ความเห็นว่า “ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่อยู่ยาก ควรรู้เท่าทันระบบการศึกษาเพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ


อ.พญ.แก้วตาบอกอีกว่า ส่วนกระแสการส่งเสียให้ลูกเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา หรือติวเตอร์ เพื่อให้สอบเข้าสถาบันที่มีชื่อเสียงตามค่านิยมของสังคมจนกลายเป็น “อุตสาหกรรมการศึกษา” นั้นอาจไม่ตอบโจทย์ความสนใจที่แท้จริงของลูกตัวเอง ถ้าหากเขามีความสามารถในด้านอื่นที่ไม่ใช้การเรียนตามระบบทั่วไป ในที่นี้หมายถึงการเรียนในสายวิชาชีพที่เน้นปฏิบัติจริง ด้วยต้นทุนความสามารถที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน

คุณหมอยังแนะนำว่าควรเปลี่ยนการเรียนที่เน้นแต่วิชาการ ให้เป็นการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในเด็กวัยประถมที่ควรได้เรียนและเล่นไปร่วมกันซึ่งจะสามารถพัฒนาทักษะให้เขาได้พบตัวตนได้เป็นอย่างดี

อาจกล่าวโดยสรุปว่า สิ่งที่จะส่งเสริมให้บุคคลได้งัดทักษะความสามารถออกมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยไม่หวังให้เกิดการล้มระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมดนั้น ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่เหมาะสม ในสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลาย ภายใต้ความเข้าใจของคนในครอบครัวเป็นเชือกที่คล้องกันนี้ ก็จะมีจำนวนประชากรชาวไทยที่มีคุณภาพรุ่นต่อๆ ไปในสังคมโลกมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกให้การยอมรับกับระบบสวัสดิการรัฐของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนอย่างประเทศฟินแลนด์ ซึ่งครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตของชาวฟินน์ตั้งแต่วัยแรกเกิด โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งต่างไปจากเรามาก

ข้อมูลจากงานวิจัยการศึกษาในเด็กวัยเตรียมอนุบาลของประเทศฟินแลนด์ ตอนหนึ่งระบุว่า ผู้สอนจะเน้นการขับเอกลักษณ์ส่วนตัวของเด็กแต่ละคนภายใต้การดูแลอย่างทั่วถึง รอบด้าน โดยเฉพาะการเข้าสังคมที่จะส่งผลต่อเด็กให้มีความสนใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้คนรอบตัว รวมไปถึงการยอมรับความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรมและเชื้อชาติ สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบได้ด้วยตัวเอง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นในสังคม ส่วนการศึกษาของเด็กในระดับที่สูงขึ้นนั้น การทำการบ้านแทบจะไม่เป็นสิ่งจำเป็นอีกแล้วในประเทศนี้ ด้วยหลักสูตรแกนกลางที่ให้อาจารย์มอบหมายงานในแต่ละวิชาซึ่งจะต้องให้เสร็จภายในโรงเรียน เพื่อที่จะได้กลับไปใช้เวลาส่วนตัวในการพัฒนาศักยภาพที่บ้านอย่างเต็มที่

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เราก็คาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งหลายได้ก่อเกิดเป็นรูปธรรมเสียที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image