คอลัมน์ โลกสองวัย : ‘นันยาง’รองเท้าผ้าใบคู่เท้านักเรียนไทย

แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เกิดอยากใส่รองเท้าผ้าใบแบบนักเรียนมัธยมขึ้นมา ด้วยมีงานให้แต่งลูกเสือ นุ่งกางเกงขาสั้น แม้จะมีรองเท้าหนังสีน้ำตาลอยู่แล้ว แต่ยังอยากใส่ชุดลูกเสือกับรองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลอีกครั้ง

รองเท้าผ้าใบที่ชื่อคุ้นหู คุ้นตา ตั้งแต่เป็นเด็กน้อยเรียนหนังสือ ขั้นประถมคือ “บาจา” กับ “นันยาง”

“บาจา” เป็นรองเท้าจากต่างประเทศที่เข้ามาผลิตในเมืองไทย มีทั้งรองเท้าผ้าใบและรองเท้าหนัง

“นันยาง” เป็นรองเท้าที่ผลิตในประเทศไทยรู้จักตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก กระทั่งทุกวันนี้

Advertisement

วันหนึ่ง วันนั้น ก่อนโรงเรียนเปิดเทอม ห้างโลตัส ชื่อเต็มว่า “เทสโก้ โลตัส” ประกาศผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ว่า รองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนทั้งชายและหญิงลดราคามากถึง 70 %

เย็นวันสุดท้ายของการลดราคา ความอยากได้รองเท้าผ้าใบแบบนักเรียน จึงตรงไปห้างเทสโก้โลตัส

รองเท้าที่อยากได้คือยี่ห้อ “นันยาง” ที่เคยคุ้นเท้ามาสมัยเป็นนักเรียน

Advertisement

ไปถึงบริเวณขายรองเท้า มีรองเท้านักเรียนหลากหลายยี่ห้อ ถามหานันยาง พนักงานบอกว่าหมดแล้ว

ที่สุดจึงต้องหาซื้อรองเท้านักเรียนสีน้ำตาลที่อยากได้มาคู่หนึ่ง ยี่ห้ออะไรอย่าไปสนใจเลยนะน้องหนู

ต้นเดือนที่ผ่านมา นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ขึ้นหน้าปกไว้ว่า

“เปิดเคล็ดวิชา นันยาง ครองตลาดรองเท้าผ้าใบ ต้องเชื่อมั่น ถึงจะขายได้” พร้อมภาพชายหนุ่มถือรองเท้าผ้าใบนักเรียนสีน้ำตาลพื้นสีเขียวไว้ที่มือข้างขวา จะรอช้าอยู่ใย พลิกไปหน้า 18 รีบเปิดอ่านทันที

โปรยเรื่อง “ต้องเชื่อมั่นว่า…ของเราเจ๋ง” คาถาผู้บริหาร-เจน 3 “นันยาง” ครองตลาดมานานกว่าครึ่งศตวรรษ เริ่มต้นด้วยตะกูล “ซอโสตถิกุล” ที่มีสินค้าเก่าแก่ที่สุด อายุเกือบ 70 ปี คือรองเท้าผ้าใบ “นันยาง”

จักรพล จันทวิมล ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของตระกูลซอโสตถิกุล วัย 33 เจ้าของตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดห้องส่วนตัวที่ออฟฟิศย่านสี่พระยา พูดคุยเป็นกันเอง

“ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากคุณวิชัย ซอโสตถิกุล ซึ่งเป็นคุณตาของผม เดินทางมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้ว ท่านก่อร่างสร้างตัว ทำงานทุกอย่าง เริ่มจากซื้อมาขายไปสินค้าสารพัด และหนึ่งในนั้นคือ รองเท้าผ้าใบนันยาง”

ช่วงแรก รองเท้าผ้าใบนันยางเป็นสินค้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ชื่อภาษาแต้จิ๋วคือ “หนำเอี๊ย” ภาษา จีนกลางคือ “นันยาง” ซึ่งคุณตาคิดว่าคำว่า “ยาง” ใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก และพื้นรองเท้าทำมาจากยาง จึงเลือกชื่อยี่ห้อว่า “นันยาง” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ทะเลใต้” หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จักรพลเล่าว่า เมื่อมาขายในไทยได้พักใหญ่ พ.ศ.2496 ผู้บริหารขณะนั้นจึงตัดสินใจซื้อกิจการมาทั้งหมดแล้วย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในเมืองไทย ถึงวันนี้รวมได้ 65 ปี เป็นธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดของตระกูล

“ความท้าทายของการขายรองเท้าผ้าใบนันยางคือ คนเกิดน้อยลง แปลว่าเด็กนักเรียนไม่เพิ่มจำนวนแน่นอน แต่การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทุกคนทำสินค้าเหมือนเราหมด ขณะที่ค่าใช้จ่ายของเราเพิ่มขึ้นทุกปี” จักรพลเล่าให้ฟังแล้วเพิ่มเติมว่า “เมื่อเด็กนักเรียน 10 ล้านคน มีรองเท้าใส่หมดแล้ว ถ้าอยากขายให้เยอะขึ้น ต้องไปเอานักเรียนที่ใส่แบรนด์อื่น กรณีรองเท้านักเรียนชายส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม บอกใส่นันยางแล้วเท่ เด็กประถมไม่ใส่ อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ชอบ มันดูเกเร…”

เมื่อเป็นเช่นนี้ นันยางต้องแก้ปัญหา ด้วยการหาลูกค้าใหม่เป็นเด็กผู้หญิง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าผ้าใบนันยาง เพราะใส่เฉพาะวิชาพละเท่านั้น วันหนึ่งจึงมียี่ห้อ “นันยาง ซูการ์” ขึ้นมา เสริมจุดอ่อน ขายระเบิด

คือต้อง “สวย ไม่แพง และถูกระเบียบ”

ส่วนของเด็กนักเรียนชาย อายุ 6-9 ปี ตัดสินใจออกยี่ห้อ “นันยาง แฮฟ ฟัน” ทำให้ยอด “นันยาง” โตขึ้นทุกปี นั่นเป็นการขยายฐานลูกค้าเมื่อ 3 ปีก่อน

วันนี้ “นันยาง” ไม่เพียงแต่มีรองเท้านักเรียนชายสีน้ำตาล สีดำ ตามระเบียบเท่านั้น ยังมีของนักเรียนหญิง “นันยาง ซูการ์” และนันยางเด็กชาย “นันยาง แฮฟ ฟัน” กับรองเท้าแตะ “ช้างดาว” อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image