ศรัทธามหาชน ‘แห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร’ หนึ่งเดียวในไทย

เสียงกลองดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำ ขบวนเรือประมงราว 30 ลำ แห่ขึ้นไปตามลำน้ำ โดยมีเรือเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครเป็นเรือธง สองฝั่งน้ำคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เฝ้ารอการมาถึงของขบวนแห่

งานแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานานเกือบกึ่งศตวรรษ ทุกปี เมื่อถึงวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 ตามปีปฏิทินจีน บรรดาลูกหลานทั้งฝั่งท่าฉลอมและมหาชัย จะพร้อมใจกันปิดร้านรวงเพื่อเข้าร่วมงานประจำปี ประเพณีแห่ทางน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นงานหนึ่งเดียวในประเทศไทย ปีนี้ตรงกับ วันที่ 20-24 มิถุนายน 2561

ในส่วนของ ขบวนแห่จะมีขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าเป็นต้นไป คาดว่าจะมีขบวนเรือประมงเข้าร่วมแห่ทางน้ำราว 30 ลำ ไม่นับเรือตำรวจน้ำ เรือกาชาด-ดูแลปฐมพยาบาล และขบวนแห่ทางบกที่เรียงรายต่อกันเป็นระยะทางไกลถึง 3-4 กิโลเมตร

“เป็นวิถีของชุมชนริมน้ำ ตั้งแต่ถนนหนทางยังไม่เจริญแบบนี้ คนแถวนี้ยังใช้เรือเป็นหลัก ตั้งแต่ศาลเจ้าพ่อยังเป็นศาลหลังเก่า และที่ท่าฉลอมก็ยังไม่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน โดยทุกบ้านจะตั้งโต๊ะบูชารอขบวนแห่อยู่หน้าบ้าน”

Advertisement
กมล ไกรวัตนุสสรณ์

กมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร บอกว่า งานแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 เมื่อแรกเริ่มนั้นแห่เพียงทางบก ทางฝั่งมหาชัยเท่านั้น แต่ต่อมาเนื่องจากมีคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับผู้เฒ่าผู้แก่เดินทางมาร่วมขบวนแห่ไม่ไหว ทางคณะกรรมการจัดงาน รวมทั้งชาวสมุทรสาครจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะมีการแห่ทางน้ำร่วมด้วย

“ผมเป็นประธานกรรมการจัดงานตั้งแต่ปี 2538 ขบวนแห่จากที่มีเรือประมงเข้าร่วม 8-9 ลำ ตอนนี้มีประมาณ 30 ลำ”

แม้ว่าแต่ละลำมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ทั้งค่าน้ำมันด้วย “กมล” บอกอย่างเรือของตนเองก็เพิ่งลงจากคาน ทำไป 4-5 แสนบาท เพราะมันคือความภาคภูมิใจ

Advertisement

“พ่อค้าแม่ค้าทั้งหมดมาร่วมงานด้วยความศรัทธา ตั้งแต่รุ่นเตี่ย ทุกสาขาวิชาชีพ อย่างศิษย์เจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งจะมารวมตัวกันปีละครั้ง ตอนนี้ศิษย์ในบัญชีมีประมาณ 600 คน แต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันไปตามหมวดหมู่การทำงาน

“ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของห้องเย็นพันล้าน คนเข็นปลา คนขี่มอเตอร์ไซค์ก็มาเป็นศิษย์เจ้าพ่อ วันนั้นทุกคนเท่ากันหมด รวย-จนแค่ไหนทุกคนใส่เสื้อสีเดียวกัน มาเดินด้วยกัน ช่วยกันแบกช่วยกันทำงานเหมือนกันหมด ซึ่งวันนั้นผมซึ่งเป็นประธาน ใครๆ ก็ต้องฟังผม”

เพิ่มเกียรติ โพธิเพียรทอง

ทางด้าน เพิ่มเกียรติ โพธิเพียรทอง รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะคนท่าจีน ย้อนเรื่องราวในวัยเยาว์ว่า เมื่อก่อนบ้านตนเองก็อยู่ริมน้ำ จะมายืนที่ท่าน้ำเฝ้ารอดูขบวนแห่

“สมัยเด็กเราชอบงานแห่ ชอบเทศกาลซึ่งปกติเราต้องไปวัด หรือต้องไปที่งานจึงจะเจอ แต่ขบวนเจ้าพ่อจะวิ่งตามลำน้ำขึ้นไป ผมตื่นเต้นมาก ได้เห็นขบวนเรือใหญ่มีเสียงกลองดังไปตลอดทาง ทุกคนจะตั้งหิ้งบูชา ตั้งของไหว้ กระถางธูปอยู่ที่หน้าบ้านตัวเอง”

“คุณพ่อคุณแม่ผมก็เป็นชาวประมง เราเริ่มต้นจากธุรกิจประมงด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ คนทำการค้า หรือกลุ่มอาชีพไหน ทุกคนอยากมาร่วมขบวนแห่ เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของเรา จะทำการค้า จะออกเรือก็ต้องมาไหว้เจ้าพ่อ จะแต่งงาน จะบวช หรือจะมีงานมงคลใดๆ ต้องมาไหว้เจ้าพ่อก่อน แม้กระทั่งเด็กๆ ที่จะไปเรียนต่างประเทศ ก็ต้องมาไหว้ขอพร กลับมาก็ต้องมาไหว้เพื่อบอกกล่าว จะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ กินเจ ฯลฯ ที่ศาลเจ้าพ่อจะมีคนมาไหว้ตลอดเวลา”

เพิ่มเกียรติบอกอีกว่า โดยส่วนตัวจะเข้าร่วมงานตลอด มาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้จัดรถขบวนเข้าร่วมด้วย และเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมขบวนด้วย ก็มีคนสมัครเข้ามามากพอสมควร

ปีนี้เราทำเป็นรูปปะการังเทียม ตามคอนเซ็ปต์ของจังหวัด “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร” ใช้ปะการังเทียมจำลองบรรยากาศของใต้ท้องทะเลบนรถขบวน และใส่กุ้งหอยปูปลาลงไป มีวาฬบรูด้านำขบวน ตามคอนเซ็ปต์ “เรารักทะเล” ชวนให้ร่วมดูแลท้องทะเลด้วยกัน

คือเบื้องหลังขบวนแห่ที่ใหญ่ยิ่งเกิดขึ้นได้ด้วยพลังแห่งศรัทธาโดยแท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image